๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ยส

กรมสิลปากร

๕ สิงหาคม ๒๔๘๕

ขอประทานกราบทูล ซงซาบไต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๓ กรกดาคมไว้แล้ว เปนพระเดชพระคุนล้นเกล้า ฯ

เรื่อง แม่ดำ กลายเปน คุนหิงดำ ตามที่ทรงพระเมตตาตรัดเล่าไห้ฟัง ข้าพระพุทธเจ้าอ่านแล้วก็เหนขบขัน คำ Madam อ่านเปน มาดำ ก็ได้ มีผู้เล่าไห้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า ผู้หยิงไทยคนหนึ่งไปหาแหม่ม แหม่มคนนั้นพูดไทยได้บ้าง ได้ทักทายปราสัยผู้หยิงไทยคนที่ไปหาว่า มาดำมาแล้ว ผู้หยิงคนนั้นได้ยินเปนว่าแหม่มเรียกตนว่า หมาดำ ก็โกรธ นำมาเล่าถวายกรมหลวงประจักส์ว่า ไปหามันดี ๆ มันกลับเรียกหม่อมฉันว่าหมาดำ หม่อมฉันฉุนเลยตอบมันว่า หมาดำมาหาหมาแดงนะซิ

คำหัวเราะ พูดเปน หัวร่อ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าคำนี้จะเลียนเอามาจากเสียงหัวเราะนั่นเอง ข้าพระพุทธเจ้าเคยจดเสียงคนหัวเราะเอามาพิจารนาดู มีเสียงเปนต่าง ๆ กันเปน เห็อเหอ ก็มี ก๊าก กิ๊ก ก็มี เฮาะๆ หรือ หอๆ ก็มี ฮ่าๆ ก็มี หัว ไนคำต้นของ หัวเราะ ไกล้กับคำ หอๆ เหอๆ เราะ ไกล้กับคำ เฮาะๆ หรือ หอๆ โดยเปลี่ยน หอ ฮอ เปน รอ หาๆ เปน เฮฮา ร่า (เริง) แต่ทำไมจึงเปลี่ยนจากเสียง ห ฮ ซึ่งเปนเสียงง่ายมาเปนเสียงซึ่งออกเสียงยากกว่าก็ไม่ซาบเกล้า ฯ กิ๊ก เทียบได้กับคำว่า ขิกๆ ริกๆ รริก ก๊ากเปนหัวเราะก๊าก ในภาสาไทยไหย่ ไทยขาว และไทยนุง คำหัวเราะไช้ว่า ขัว ก็ไกล้กับคำว่า ยิ้มหัว ยิ้มขัว ข้าพระพุทธเจ้าคิดต่อไปถึงเสียงร้องด้วยทุขเวทนา ก็มีคำเช่น โอ๋ย อ๋อย ไอ๋ เอ๋ย จีนร้อง ไอ๊ย่า ก็คือ ไอ๊ ลากเสียงหลังเปนครึ่งสระ เพื่อสะดวกไนการออกเสียง คำว่า ร้องไห้ ไอ๊ ก็เทียบได้กับไห้ (ร่ำ) ไร โอ๋ย กับ โหย โรย รา อ๋อย กับ (ละ) ห้อยหา (สำ) ออย ข้าพระพุทธเจ้าเคยนึกถึงคำปากตลาดที่พูดว่า ร้องแรกแหกกะเชอ ก็ไกล้กับคำว่า แรก แปลว่า ร้องเรียก แปลง ร เปน ห เปน เรียก-แรก-แหก เชอ จะเปนเจ้า คำว่า ลือชา คือ ลือกันเซ่งแซ่หรือเสียงจ้า ดีมิดีอย่าตรีชา ตรี- ติ ชา-คือจ้า หรือ ลือชา ตามที่กราบทูลมานี้ เปนเรื่องข้าพระพุทธเจ้าคิดเล่น ไม่มีอะไรเปนหลักถานมายืนยันได้ว่าถูกหรือผิด ไนตำรานิรุติสาตรว่า คำเติมไนภาสาที่มีกำเนิดมาจากเสียง มีหยู่เปนอันมาก หากเมื่อนำคำนั้นมาไช้เปนคำพูดไนภาสา กิกำหนดเสียงไห้แน่นอน ถือแต่เสียงพอเปนประมานเท่านั้น ไม่ต้องการไห้ตรงเสียงอันแท้จิง ซึ่งไม่สามาถจะจดเปนตัวหนังสือได้ เพราะเสียงทิได้ยินนั้นเปนเสียงซับซ้อน อาดฟังเปนต่าง ๆ ได้ เมื่อนำเสียงนั้นๆ ขึ้นทะเบียนภาสาแล้ว ก็เปนแต่เสียงก้องหรือสะท้อนกลับมาหย่างชั้นที่สอง (Secondary echoism) เสียแล้ว จึงมองไม่เหนว่ามาจากเสียงธัมชาต

เรื่องตัดส่วนคำผิด ไนอิสานเรียกเมลดมะกล่ำ ว่า หมากล่ำ ก็เปนเรื่องตัดส่วนคำผิดจากคำ หมา-กล้ำ

ข้าพระพุทธเจ้าได้สืบเรื่องสี่นอหาม ได้มาหลายราย แต่เปนชะนิดปริสนาธัมทั้งนั้น เปนชะนิดพวกภพ ๔ อริยสัจ ๔ และอะไรไนทำนองนั้น ยังหาได้คำอธิบายที่พอจะลงความเหนด้วยได้ไม่ คำ บโทน ข้าพระพุทธเจ้าพบพูดไว้ไนเรื่องเจ้าพระยานคร มีความว่า บโทน คนไช้ไร่นา ตามตำราประเพนี ๑๒ เดือน ชวนไห้คิดไปว่า บโทน คงจะเปนพวกหนึ่งของคนใช้ผู้มีอำนาตวาสนาที่มีกำหนดไว้ไน พระราชพิธี ๑๒ เดือน ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีโอกาสจะพบกับพราหมน์สาสตรี บโทน คำนี้อาจมาทางทมิลหรืออินเดียไต้ได้ เพราะอ้างถึงพิธี ๑๒ เดือน ซึ่งได้คติมาจากอินเดียได้เปนส่วนมาก

เรื่องคำว่า โค ซึ่งเปนคำเรียกรวม ไนภาสาอังกริดต้องไช้แยกเปนพ่อโค แม่โค และลูกโค เพราะไม่มีคำรวม ก็เปนเรื่องขัน ข้าพระพุทธเจ้าอาจจะเผลอเช่นนั้นได้ ไนเมื่อแปลจากภาสาอังกริด อังกริดมีคำรวมเรียกพ่อแม่ (parents) พี่และน้องชาย พี่และน้องหยิง (brothers and sisters) ไทยต้องแยก ไม่มีคำรวม แต่ไทยมีพี่และน้อง ซึ่งเปนคำรวมทั้งหยิงและชาย ส่วนอังกริดมีพี่ชาย-พี่สาว น้องชาย-น้องสาว คำรวมหย่างไทยไม่มี ไทยไม่มีคำว่าสัตว์ ซึ่งเปนคำรวม ต้องไช้แยกเปน ช้าง เสือ หมู หมา กาไก่ นก เป็ด ไก่ ช้าง ม้า งัว ควาย คำว่า าติ ก็ไม่มี เปน พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่ป้าน้าอา พี่น้อง ลูกหลาน คำว่า อาวุธ ไม่มี ต้องแยกเป็น ไม้พลองตะบองสั้น ปืนผาหน้าไม้ ในภาสาชาวลิทูอันเนีย คำรวมเรียกสีไม่มี ต้องแยกเปน ดำ ขาว แดง เขียว ฯลฯ ชาวซูลูไนแอฟริกาไต้เลี้ยงงัวมาก แต่คำรวมเรียก งัว ไม่มี ต้องแยกเปน งัวเหลือง งัวดำ งัวด่าง ชาวเกาะตัสแมนเนียข้างเกาะออสเตรเลีย ไม่มีคำว่า ลม ต้องพูดว่า ลมแรง ลมพายุ ฯลฯ ชาวออสเตรเลียลางพวกไม่มีคำว่าต้นไม้ ต้องพูดเปน ต้นสน ต้นยาง ฯลฯ ทั้งนี้เปนด้วยความคิดเดิมของชนชาตินั้น ๆ ไม่ได้คิดรวมพวก คำรวมจึงไม่มี

ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งซาบเกล้า ฯ ว่า จำเริน เปนคำไทยเดี๋ยวนี้เอง เคยหลงผิดคิดเปนคำเขมนมาเสียนาน

ควนมิควนแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า ย.ส. อนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ