๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๔๘๕

นาย ย อนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๓ มิถุนายน ได้รับแล้ว ขอบใจเปนอันมาก ที่บอกอะไรต่างๆ ให้รู้

คำว่า ครัวไฟ แต่ก่อนเรียกอย่างนั้นเปนแน่ แล้วก็ถูกตัดคำไฟออกเพราะจะพูดให้สั้นก็เลยเข้าใจผิด

ดีมาก ที่ได้ทราบว่า ตันหยง คำมลายูหมายความว่าแหลม ผิดกันมากกับที่ชวาหมายความว่าต้นพิกุล ความหมายที่ต่างกันไปเพราะประเทศอยู่ไกลกันนั้นเปนแน่ แม้ในประเทศเดียวกัน ต่างถิ่นสำเนียงก็ยังต่างกันไปได้

อันคำทั้งหลายนั้น หนังสือก็เขียนไปตามหลักอันใดอันหนึ่ง หรือไม่เช่นนั้นก็เขียนไปตามเสียงคนพูด ถ้านักปราชญ์แลดูหนังสือคำไหนเข้าและได้แก้คำนั้น คำนั้นก็เปนอันเขียนถูก ถ้าคำไหนที่นักปราชญ์ไม่ได้ดูไม่ได้แก้ คำนั้นก็หนักไปข้างผิด ไม่ประหลาดอะไรเลย

ฉันไม่ได้คิดไปถึงเลย ว่า กด กับ สกด เปนคำเดียวกัน หากแต่ท่านบอกจึงคิดได้

คำ เยาว์ ซึ่งฉันสงสัยว่า จะลากเอาเข้าคำมคธนั้น เปนอันถูกทีเดียว โดยท่านบอกว่าเปนคำจีนกวางตุ้ง เขาว่า เย้า ดีมาก ซ้ำรู้คำว่า นิ่ว กับ เยี่ยว เข้าอีกด้วย ขอบใจมาก

คำว่า ห่า กับ ห้า ก็ดีเหมือนกัน แต่เราไม่ควรเปลี่ยนตามเขา จะทำให้ยุ่งไปเปล่าๆ คงไว้ตามที่เคยพูดก็แล้วกัน คำที่ซ้ำกันมีถมไป เปนแต่เพียงรู้เท่านั้นก็พอแล้ว การที่พระเจ้าอู่ทองหนีโรค ท่านจะบอกให้ทราบต่อทีหลังนั้น ขอบใจมาก

ท่านบอกคำ กรรเจียก ว่าเปนคำของเขมร เขาเรียกว่า ตรเจียก นั้นดีมาก ฉันไม่ได้พบคำนั้นเลย ดูพจนานุกรมภาษาเขมร เขาแปลให้ไว้ว่า หู ตรเจียก เปน กรเจียก แล้วก็เปน กรรเจียก ก็เปนไปได้โดยง่าย แต่ที่ว่าแต่งเปนอย่างไรนั้นไม่พบ ถ้าคำว่า จร เปนตุ้มหู แล้วเขียนว่า กรรเจียกจร ก็แปลว่าหูใส่ตุ้ม เสียดายที่นายสุดบอกไม่ได้ว่า กะจอน แปลว่าอะไร แต่เปนธรรมดาคนก็ต้องรู้บ้างไม่รู้บ้าง อันตุ้มหูนั้นฉันก็คิดว่าเดิมเปนดอกไม้ ไม่ใช่โลหะ

คำ ทวาราวดี หรือ ทวารวดี จะเปนอย่างไรก็ตามที แต่ที่ว่ามีเมืองชื่ออย่างนั้นอีกเมืองหนึ่ง ใกล้มัทราสนั้น ฉันไม่เคยรู้ หมายว่าเปนเมืองทวารกะ ของพระกฤษณะ ซึ่งอยู่ทางเมืองบอมเบ

พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท นั้นมีของเก่าอยู่มาก แต่เราเหยียดกันว่าเปนพระป่าลิลัยก์ทั้งนั้น การที่เราพยากรณ์พระพุทธรูปว่าเปนปางใดนั้นผิด โดยมากพระนั่งห้อยพระบาท ลางทีทำพระหัตถ์เปนอย่างที่เราว่าขอฝน ไม่ใช่อย่างปาลิลยกะก็มี แม้วัดที่เมืองสุพรรณก็เรียกกันว่า ป่าเรไร จะเปนป่าอันมีเรไรก็ได้ ชาวเมืองเรียกกันแต่ว่า วัดป่า เท่านั้นเสียด้วยซ้ำ มีไม้เอกไม่ใช่ ปา เสียด้วย ทั้งรูปช้างและรูปลิงก็ทำไว้ที่เสา เหนได้ว่าเปนของทำใหม่ แม้เสานั้นเองก็เหนได้ว่าวิหารนั้นทำประกอบเข้าทีหลัง เดิมไม่มี ไม่มีทั้งเสากับทังรูปช้างและลิง

ฝรั่งเขามาพูดว่าพระที่มีพระรัศมี (คือไฟลุกอยู่บนหัว) นั้นเปนของไทย จริงอย่างเขาว่า แต่ก่อนฉันไม่ได้สังเกตเลย จะสังเกตได้ง่ายที่สุด

เรื่องทูตประจำ ฉันไม่ได้นึกเลยว่าจะเก่าแก่ถึงพันห้าร้อยปี ขอบใจท่านเปนอันมากที่สอบเวลาบอกให้ได้

คำ แต่งงาน ถ้ามาแต่ ติ้นหงัน แล้วใกล้กว่า นกหงึน แต่จะเปนอะไรก็เดาทั้งนั้น

จากพราก เปนคำไทย มคธเปน จกฺกวาก สังสกฤตเปน จกฺรวาก แต่เปนพวกเป็ดอย่างหนึ่งแน่ ไม่มีสงสัย

ถนนสุรวงษ์ แล้วก็เปน สุริวงษ์ แล้วเปน สุริยวงษ์ นั้น ไม่ใช่แต่พระยาประชาจะรู้ คนเก่า ๆ รู้ทั้งนั้น มาทำให้ฉันรู้ขึ้นใหม่แต่ว่าท่านผู้หญิงตลับเปนพี่สาวพระยาประชา

อันการให้ชื่อนั้นผิดกันมาก แต่ก่อนนี้ไม่มีหนังสือพิมพ์ คนเรียกก็มักตัดชื่อให้สั้น เอาแต่เรียกคล่องปาก แล้วคนตั้งชื่อก็ตั้งให้สั้นตามที่คนพอใจ เช่น โรงเรียนบ้านสมเด็จ เปนต้น ก็เปนอย่างนั้น เดี๋ยวนี้มีหนังสือพิมพ์ พนักงานหนังสือพิมพ์ก็สืบชื่อลงให้หมด ถ้าไม่หมดก็จะเปนเขลาไป เพราะเหตุนั้นชื่อสิ่งทั้งปวงก็คิดจะยาวมากไป เช่น โรงเรียนบ้านสมเด็จ ก็เปน โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ทำไมไม่เรียก โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมพ.ศ.ีสุริยวงษ์ ให้แจ่มแจ้ง วัดปทุมคงคา ก็มีคำต่อออกไปอีก แต่ลืม จำไว้ไม่ได้ ทีหลังก็หายไป ที่ว่านี้พอเปนตัวอย่าง ยังมีอีกมาก

ท่านถามถึงคำ บโทน ฉันก็แปลไม่ออกบอกไม่ได้ ได้เคยคิดมาทีหนึ่งแล้ว แต่คิดไม่ออกก็ทิ้งไป เคยได้ยินแต่ฝีพายคู่ที่นั่งหน้ากันยา (เรือ) เขาเรียกกันว่า บโทน หนังสือเก่าต่าง ๆ ก็ได้เหน แต่เหนน้อยกว่าท่าน คำ บโทน มีอีกไม่ใช่แต่ฝีพาย คำ สัตโทน นั้นไม่เคยเหน แต่อย่างไรก็ดี จะบอกได้แต่ว่า บโทน นั้นเปนคน ไม่ใช่ของ

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ