๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส (๒)

กรมศิลปากร

วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓๑ เดือนก่อน โปรดประทานคำนับจำนวนภาษาญี่ปุ่นมานั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้รับไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

การนับอย่างชุดแรก เห็นจะเปนภาษาของญี่ปุ่น ส่วนชุดที่สองเปนคำภาษาจีนที่ญี่ปุ่นได้ไป ข้าพระพุทธเจ้าเคยสังเกตเสียงของญี่ปุ่น เมื่ออ่านคำภาษาจีนในเมื่อมีตัวหนังสือจีนเทียบไว้ด้วย รู้สึกด้วยเกล้าฯ ว่าเสียงพยัญชนะ ก จ ด บ ญี่ปุ่นออกเป็นเสียงไม่ระเบิดไม่ได้ เป็นต้น เสียง บ เกิดที่ริมฝีปาก มี ๓ ระยะ ระยะ ๑ พุ่งลมออกมาจากลำคอโดยแรง แล่นออกมาพอถึงปากถูกริมฝีปากกักไว้ ไม่ให้ลมออกมา ลมก็พยายามจะดันออกไปให้ได้ ระยะนี้เป็นระยะที่ ๒ ในทันทีกัน ริมฝีปากเปิด ลมก็ระเบิดออกมาเป็นเสียง บ เพราะฉะนั้นเสียงพยัญชนะเหล่านี้จึงเรียกว่าพยัญชนะเสียงระเบิด เมื่อออกเสียงเป็นแม่ กก กด กบ เสียงตัวสกดอยู่ในระยะที่ ๒ เท่านั้น เป็นเสียงที่อุบไว้ไม่ให้ออกมา ซึ่งญี่ปุ่นจะทำไม่ได้ ต้องอาศัยเสียงสระเข้าช่วย เช่นแม่ กก ต้องเติม อุ ก๊ก ก็เป็น โก๊ะกุ แม่ กด ก็เติมเสียง สุ ซึ่งเป็นเสียงพยัญชนะเกิดที่ฟันเหมือนกันกับ ด แต่เป็นชะนิดที่ลมเสียดแซกออกมาได้ ลิ้นปิดกักลมไม่สนิท คำว่า มิต จึงเป็น มิตสุ แม่ กบ ก็เติมเสียง อุ กับ ก็เป็น กับบุ เรื่องออกเสียง อุบ ไม่ให้ระเบิด ในภาษาอังกฤษก็ดูเหมือนจะออกไม่ได้ เช่น cock ก็จะออกเสียง ก ตัวสกดเป็นเสียงระเบิดนิดๆ ฝรั่งพูดคำว่า ดอก จะมีเสียงเป็น ดอกคะ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ในภาษาสํสกฤตก็เป็นเช่นเดียวกัน คำท้ายพยางค์สุดท้ายของคำต้องอ่านมีเสียง อะ อยู่ด้วย เช่น ปท วิกรม ก็เป็น ปทะ วิกรมะ แต่ในภาษาอินเดียปัจจุบันออกเสียงเป็น ปัท วิกรม ไม่มีเสียงระเบิดได้ ส่วนแม่ กง กน กม ดูเหมือนจะออกเสียง อุบ ไม่ระเบิดได้ แทบทุกภาษา พิจารณาคำญี่ปุ่นที่ทรงจดประทานมา คำว่า เอด หรือ อิ๊ด ในภาษาจีน ญี่ปุ่นเป็น อิดจิ ก็แสดงอยู่ว่ามีเสียง จ เป็นตัวสกด แล้วเติมเสียง อิ ในภาษาไทยรุ่นเก่าเขียน เอจ ก็มีเหตุผล เดี๋ยวนี้แก้เป็น เอ็ด ก็เพราะเข้าใจว่าคำสกดด้วย จ ไม่ใช่เป็นคำในไทยเดิม แต่ข้าพระพุทธเจ้าเคยพบคำในภาษาไทยขาวที่สกดด้วย จ ก็มี แต่มีเพียง ๒-๓ เท่านั้น เป็นเรื่องที่ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นสอบไม่ได้ตลอด คำว่า สอง ในภาษาญี่ปุ่นเป็น นี่ กับ ยี่ ก็ตรงกัน เทียบ ได้ด้วย นุง กับ ยุ่ง สาม เป็น สาน ลางทีแม่ กม ในภาษาญี่ปุ่นจะไม่มี อย่างเดียวกับคำในจีนหลวง คำว่า โระกุ ก็ตรงกับ ลก ลัก เพราะญี่ปุ่นออกเสียง ล ไม่ได้ เจ็ด กับ แปด เป็น หิจ หรือ เหจ แปลกมาก เสียงวรรค จ วรรค ป ในคำที่ไม่มีเสียงหนักหรือเสียงสูง ไม่น่าจะกลายเป็นเสียง ห ได้ อย่าง หิจ-เจด เหจ-แปด สิบ อ่านว่า ชุ อาจเป็นเสียงกร่อนไปจาก จั๊บ ในภาษาจีนชาวฮกเกี้ยน เพราะคำจีนที่ญี่ปุ่นได้ไปเป็นสำเนียงฮกเกี้ยนทั้งนั้น เพราะแผ่นดินอยู่กันตรงข้ามทะเล คำว่า ร้อย เป็น หิยัก เทียบกับ ปัก ในภาษาจีนซึ่งแปลว่าร้อย ก็มีเค้าอยู่บ้างว่า เสียง ป ในญี่ปุ่นน่าจะไม่มีใช้เป็นหน้าของคำ เพราะแปด ก็เปน เหจ ร้อยหรือ ปาก ก็เปน หิยัก คำว่า พัน ตรงกับจีนว่า ฉีน หรือ เฉียน ในภาษาชาวแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน หรือ เสี่ยน ในไทยขาว ไทยโท้และไทยถือ ส่วน หมื่น ในภาษาจีนก็เรียกว่า หมั่น และ บ้วน ในกวางตุ้งและแต้จิ๋ว

ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบถามคำว่า ปิ่นโต จากศาสตราจารย์ญี่ปุ่น ชื่อเบียวโด ว่าเป็นคำญี่ปุ่นไม่ใช่คำจีน เมื่อให้เขียนเปนตัวจีน ก็เขียนคำซึ่งเมื่อให้คนจีนอ่าน ก็มีเสียงและความหมายไปคนละทาง ข้าพระพุทธเจ้าแน่ใจว่า ปิ่นโต จะเป็นคำญี่ปุ่นโดยตรง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ