๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ ยส

วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๕

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓ เดือนนี้ เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าเขียนว่า นกพิราบ ไม่กล้าเขียนเปน พิลาป เพราะเกรงด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเป็นอย่างที่ในตำรานิรุกติศาสตรเรียกว่า popular etymology ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเรียกในภาษาไทยว่า ลากเข้าความ คำพูดในภาษาซึ่งเป็นคำโบราณ หรือเป็นคำต่างประเทศซึ่งแปลไม่ออก ตามธรรมดามักเขียนหรือพูดลากเข้าความที่แปลได้ เช่น กะโถน ก็ว่าเพี้ยนมาจาก กะถ่ม เพราะ กะ แล้วจึง ถ่ม ไข้หวัดก็ว่ามาจาก วัสส เพราะมักเป็นในฤดูฝน จมูก ก็ว่ามาจาก จามมูก ดั่งนี้เป็นต้น ข้าพระพุทธเจ้าเคยพบคำ กระโต ในภาษามลายูว่าเป็นภาชนะบ้วนน้ำหมาก เมื่อสืบสาวต่อไปก็ได้ความว่าคำนี้มีอยู่ในภาษาฮินดูสตานี เรียกภาชนะชะนิดหนึ่ง ทำด้วยโลหะสำหรับใส่ของ และว่ามาจากคำโปรตุเกส หวัดในไทยใหญ่ก็เรียกว่า หวัด จึงไม่น่าจะเป็นคำเพี้ยนไปจาก วัสส จมูก ก็เป็นภาษาในตระกูลมอญเขมร มีอยู่ทั่วไปในภาษาเขมรมอญ และพวกข่า และไทยคงได้คำ จมูก มาทางเขมร ข้าพระพุทธเจ้าเคยวินิจฉัยที่มาของคำผิดพลาดบ่อยๆ เพราะด้วย ลากเข้าความ ชวนให้หลง เหตุนี้คำใดโบราณเขียนมาอย่างไรถึงจะแปลไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่กล้าแก้ ด้วยจะเป็นลากเข้าความ จนกว่าจะสอบสวนได้ความชัด เท่าที่คิดว่าแน่แล้วจึงจะแก้ แต่ถ้าคำใดมีผู้แก้และใช้กันมาจนชินแล้ว ถึงจะว่าผิด ข้าพระพุทธเจ้าก็ยอมใช้ตาม ไม่เช่นนั้นก็ไม่เป็นคน ดังที่ตรัสไว้

สัตว์โม่หราก ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นรูปภาพที่ชาวอิสลามเขียนและเข้ากรอบไว้ เป็นรูปม้ามีปีก หน้านางมนุษย์ เป็นม้าที่พาพระมหมัดเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ ขึ้นสวรรค์ไปเฝ้าพระเจ้าอ้าหล่า ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านเรื่องสัตว์โม่หราก แต่สอบค้นใหม่ไม่พบ ข้าพระพุทธเจ้าได้สติจากข้อที่ตรัสว่าสฟิงก์นั้น คือนรสิงห์ ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยเฉลียวนึกไปถึง เรื่องสัตว์พิสดาร มีรูปครึ่งสิงห์ครึ่งคน มีอยู่มากในจำพวกเทวดาของอียิปต์โบราณ ทั้งนี้ก็เพราะ ไลอ้อน เป็นสัตว์มีอยู่ในทวีปแอฟริกา เรื่องราชสีห์ในคติพุทธศาสนา ก็มีนักปราชญ์ฝรั่งมีความเห็นว่า ได้มาจากเปอร์เซียหรืออิหร่าน ไม่ใช่ของอินเดียเอง

ข้าพระพุทธเจ้าเคยสงสัยชื่อเมืองหนึ่งในพะม่าอยู่ถัดอำเภอแม่สอดออกไป ในแผนที่เขียนไว้ว่า เกาะเกรียก ข้าพระพุทธเจ้าเคยสงสัยว่าทำไมคำว่าเกาะจึงไปมีอยู่ในพม่า เพราะคำเกาะมีอยู่แต่ทางเขมรและคงเป็นคำเขมร เพราะไทยเรียกเกาะว่า ดอน สอบถามได้ความว่าที่นั่นเป็นเกาะหรือเปล่า ก็ว่าไม่ใช่ เพิ่งมาทราบเกล้า ฯ จากที่ตรัสถึงคำว่า คอกะเหรียก นี้เอง ที่มาเพี้ยนเป็น เกาะเกรียก

หนองหมอน ในภาษาไทยใหญ่ คือ หนองบอน เป็นแคว้นไทยใหญ่ขนาดเล็ก ๆ แคว้นหนึ่ง อยู่แนวเดียวกับเมืองนาย ไปทางตะวันตก ในภาษาไทยใหญ่ไม่มีเสียง บ ถ้าคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียง บ ก็ต้องเป็น ม หรือ ว ใช้สับเปลี่ยนกันได้ หนองบอน ก็เป็น หนองหมอน หรือ หวอนบัว ก็เป็น หมัว หรือ หัวว คำที่ขึ้นต้นด้วยอักษรกลาง และเป็นคำที่เป็นเสียงปกติในไทยกลาง จะต้องเป็นเสียงไม้จัตวาในไทยใหญ่เสมอไป ทางพายัพก็เช่นเดียวกัน เช่น กิน เป็น ตา ก็เป็น กิ๋น เป๋น ต๋า คิดด้วยเกล้าฯ ว่า เสียงไม้จัตวาที่กราบทูลนี้จะเป็นเสียงของไทยเดิม ซึ่งตกมาถึงไทยกลาง ศูนย์เสียแล้ว เพราะเสียงพยัญชนะของไทยต้องมีสูงกับต่ำเป็นคู่กัน เช่น ข กับ ค ง กับ หงอ ก กับ ก๋ เหตุนี้เสียง ค ช ท พ ไม่ต้องใช้ ห นำ เพราะมี ข ฉ ถ ผ เข้าคู่กำกับอยู่แล้ว เสียงอนุนาสิก ง น ม และอรรธสระ ย ร ล ว ซึ่งยังไม่มีคู่ จึงใช้ ห นำเพื่อให้มีเสียงสูงเข้าคู่ ส่วน ก จ ต ป ไม่มี ก็เพราะเสียงทั้ง ๔ ตัวนี้ เดิมคงเป็นเสียงสูงอยู่แล้ว อย่างในไทยใหญ่และพายัพ ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีเครื่องหมายวรรณยุตใช้ก็แต่ไม้เอกและไม้โท เสียงไม้ตรีและไม้จัตวาไม่มีใช้ เสียงไม้ตรีไม่สู้มีในภาษาไทย ที่มีใช้ขึ้นในไทยกลาง คงเป็นเพราะจะเขียนถ่ายเสียงคำมาจากต่างประเทศซึ่งมีเสียงนั้น อาจจะใช้เขียนคำจีน เพราะจีนแต้จิ๋วมีเสียงไม้ตรีมาก ส่วนคำเป็นเสียงไม้จัตวามีมากในไทย แต่ไฉนในศิลาจารึกจึงไม่มี คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าคงมีแต่เขียนไว้ไม่มีไม้จัตวา เพราะเป็นคำมีเสียงนั้น เป็นปกติอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องหมายวรรณยุต ครั้นแล้วเสียงนี้คงมาศูนย์หายในไทยกลาง จะเพราะด้วยเหตุไร ยังไม่ทราบเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าลองค้นคำไทยใหญ่ในคำว่า กัน คัน กั้น คัน ว่าจะมีระดับเสียงอย่างไร คงปรากฏดังนี้

กัน ไทยใหญ่เป็น กั๋น แปลว่า ล้อมไว้

คัน ไทยใหญ่เป็น คัน แปลว่า สิ่งที่กั้นไว้

กั้น ไทยใหญ่เป็น กั้น แปลว่า ต้านไว้ซึ่งกิริยาอาการ ที่เป็นไปธรรมดา เช่น กั้นใจ หรือ กลั้นใจ

คั่น ไทยใหญ่เป็น ขั้น แปลว่า เอาอะไรวางไว้ในระหว่างแยกออก แบ่งออก เช่น คั่นไหล คือ คั่นกะได

คัน ไทยใหญ่เป็น กัน แปลว่า ด้าม

เมื่อนำเอามาเรียงกันดู คงได้ความว่า กัน คัน คั่น กั้น มีความหมายไม่เหมือนกัน คำ กัน ต้องเป็น กั๋น ถ้าในไทยกลางเป็น คัน ซึ่งมีสองความ คือ สิ่งที่กั้นไว้และด้าม ไทยใหญ่แยกเสียงเป็น คัน คำหนึ่ง และ กัน คำหนึ่ง แต่ไทยกลางจะแยกอย่างนี้ไม่ได้ เพราะ กั๋น ในไทยใหญ่เป็น กัน ในไทยกลางเสียแล้ว ส่วนคำขึ้นต้นด้วยเสียงอักษรกลาง มีเสียงไม้โทเป็นอันตรงกัน เช่น กั้น ก็เป็น กั้น ก้าน ก็เป็น ก้าน แต่ถ้าไทยใหญ่เป็น กาน ในไทยกลางจะเป็น คลาน ส่วนคำขึ้นต้นด้วยอักษรสูงเสียงไม้โท ในไทยใหญ่ใช้พยัญชนะตัวเดียว เป็นเสียง ข หรือ ค ก็ได้ สุดแล้วแต่คำ ตกมาถึงไทยกลางเสียงคงอยู่ แต่การเขียนสับสน เช่น ขั้น-คั่น ส้อม-ซ่อม ข้า-ค่า ถ้า-ท่า คำเหล่านี้ลางคู่ก็รู้ได้ว่าแยกเขียนคนละตัว ลางคู่ก็ยากที่สังเกต ข้าพระพุทธเจ้าได้รวบรวมคำเหล่านี้ขึ้นไว้พิจารณาในเวลาว่าง แต่ข้าพระพุทธเจ้าจะใฝ่ฝันถึงเวลาว่างเห็นจะไม่สำเร็จ ต้องใช้เวลาที่ไม่ว่าง เจียดเอามาเป็นว่างแซกในระหว่าง เป็นการแก้ความหมกมุ่นอยู่ด้วยงานการได้ดี ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าก็ปลาดใจ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า งานคล้ายคลึงกันหรืออย่างเดียวกัน ถ้าอย่างหนึ่งเป็นงานอีกอย่างหนึ่งเป็นเล่น ก็ผิดกันไกล

ที่ตรัสว่ามีผู้กราบทูลว่า กุหลาบ เป็นภาษาเปอร์เซีย มาจาก กุล กับ อาป แปลว่า น้ำกุล นั้นถูกต้อง พวกแขกซิก (มาจาก สิกข์ หรือ ศิษย์) ตั้งชื่อตนว่า กุหลาบสิงห์ ก็เคยมี อาบ เป็นภาษาเปอรเซียแปลว่าน้ำ แคว้น Punjab ก็เป็นภาษาเปอร์เซีย ตรงกับ ปัญจ+อาป แปลว่า แม่น้ำทั้งห้า คำไทยที่มาจากเปอร์เซีย นอกจาก กุหลาบ สีกุหร่า เข้มขาบ ส้ารบับ ยังมีคำ กลาสี มาตาบ ดอกไม้เทียนจุดเป็นแสงนวลมอคราม คำนี้คงเพี้ยนมาเป็นดอกไม้ตาบหรือตาด อังกูร มาเป็น องุ่น ในภาษาไทย แต่มีคำหนึ่งมาพ้องเข้ากับคำปากของไทยอย่างปลาด คือ เบ้อเร่อ ในภาษาเปอร์เซียมีคำว่า บารา แปลว่าใหญ่ บาราข่าน แปลว่า เจ้าใหญ่ ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่แน่ใจว่า เบ้อเร่อ กับ บารา จะเป็นคำเดียวกัน

ในภาษามลายูมีคำ บาไล แปลว่า ห้องประชุม เรือนซึ่งจัดไว้ในคราวมีงานการพิเศษ ไม่ใช้เป็นที่อยู่โดยปกติ เรือนพักหน้าร้อน ยังมีคำ บาไลรง แปลว่า ท้องพระโรง ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกขุนนางและทรงวินิจฉัยตัดสินคดี อยู่ระหว่างพระลานกับพระที่นั่งที่ประทับ บารง แปลว่ากระท่อมปลูกไว้ในท้องนา บารงบารง ว่าร้านขายของ ในคำมลายูเหล่านี้มีคำที่มีเสียงและความหมายคล้ายคำว่า พาไล และ โรง ในภาษาไทย ข้าพระพุทธเจ้าสังเกตเห็นเรือนทางภาคอีศาน ไม่มีเพไลหรือพาไล พอขึ้นกะไดก็ถึงชาน ถัดชานเรือนก็ถึงห้องนอน ซึ่งเขาเรียกว่า ส้วม ครัวไฟ ซึ่งเขาเรียกว่า เตาไฟ เพราะ ครัว เขาหมายถึงข้าวของหรือเครื่องใช้ไม้สอย เขาก็อยู่ในส้วมเรือน เขารับรองข้าพระพุทธเจ้าที่ในส้วม คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าถ้าเขารับแขกกันเอง คงเป็นนอกชานหรือที่ใต้ถุนเรือน ในส้วมหรือห้องนอนเปิดโถง เป็นห้องเดียว และเขามีประเพณี ที่ผู้ชายจะล่วงแนวขื่อเรือนของส้วมไม่ได้เป็นผิดผี เป็นการป้องกันการละลาบละล้วงเพราะด้วยผีเป็นผู้พิทักษ์ ลางเรือนที่ในส้วมมีกั้นเป็นส้วมน้อย นอนได้เฉพาะสองคนพอดี ฝากั้นสูงเพียงยืนชะเง้อถึงเท่านั้น เห็นจะเป็นเพราะลักษณะส้วมน้อยนี้เอง ที่มากลายเป็นคำไม่ดีขึ้นในคำไทยกลาง ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า การรับแขกหรือทำธุระการงานกัน ถ้าไม่มีหอนั่งเป็นพิเศษ ก็มักจัดทำกันที่เพไลเรือนหรือที่ระเบียงห้อง คำว่า เพไล กับ บาไล ของมลายูที่แปลว่าที่รับแขกหรือห้องประชุม อาจเป็นคำเดียวกันก็ได้ โรง ก็อีกคำหนึ่ง จะเป็นคำมลายูเอาไปจากคำไทย หรือไทยได้มาจากคำมลายู ก็ไม่ทราบเกล้า ฯ ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ก็ยังไม่พบ ถ้าจะเปลี่ยน โรง เป็น โฮง ก็ใกล้กับคำ ห้อง แต่ห้องนั้นไม่มีความหมายไปถึงโรงด้วย คำจีนมีคำว่า ล้ง เช่น กงสีล้ง ฮวยจุ้นล้ง มีความหมายอย่างเดียวกับ โรง ในคำไทย แต่คนจีนก็ว่าไม่ใช่คำจีน เป็นคำของไทยที่จีนนำเอาไปใช้

นายกี อยู่โพธิ์ นำเอาชื่อชาวมลายูสองคำมาให้ข้าพระพุทธเจ้าดู คือ เกจิลบาซา แปลว่า น้อยใหญ่ และ เกจิ๊ลมุดา แปลว่า น้อยอ่อน (มูดา ในคำว่า รายามูดา แปลว่า ยุวราช) ทางปักษ์ใต้ ตั้งชื่อคนว่า น้อยใหญ่ น้อยกลาง จะได้แนวมาจากมลายูก็ได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ