๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ได้รับแล้ว

เรื่องพระชัยนั้น ฉันบอกท่านแต่เท่าที่รู้และคิดเห็น ที่ว่าพระชัยมาแต่พระมารวิชัยนั้น ก็เปนแต่คาคคะเณเอา จะถูกหรือไม่ถูกก็ไม่ทราบ พระมารวิชัยก็ได้ฟังอธิบายกันมาเปนสองอย่าง ว่าพระหัตถ์ซึ่งพาดอยู่บนพระเพลานั้น เพื่อกดพระเพลาไว้ไม่ให้ลุกหนีพวกมารไป อีกนัยหนึ่งว่าจี้พระธรณีอ้างเปนพยาน ในทางสันนิษฐานอย่างหลังนี้มีสิ่งประกอบ คือมีนางธรณีมาบิดช้องผม กับพระพุทธรูปมารวิชัยเก่า ๆ ลางองค์ มีมือที่ทอดอยู่บนพระเพลาจรดถึงพื้นด้วย อันชื่อว่าพระมารวิชัยนั้น เข้าใจว่าเปนชื่อมาแต่อินเดีย อันพระชัยนั้นแต่ก่อนสร้างกันแต่ผู้มีหน้าที่ต้องไปทัพ ทำเปนเครื่องราง แต่ที่หลังใครๆ แม้ไม่มีหน้าที่ไปทัพก็สร้างไว้ เปนการเคลื่อนไป

ฉันอยากให้ท่านช่วยคิด ว่าพระถือตาลปัตรนั้นอะไรกัน เพราะฉันคิดไม่เหน นอกจากเปนว่าที่พระชัยถือตาลปัตรนั้น นึกให้ว่าเพื่อบังอาวุธ ถ้าจะว่าถึงแบบอย่าง ก็นึกได้ว่าพระถือตาลปัตรนั้นมีสามอย่าง ข้างไทยมีสองอย่าง คือ พระชัย กับ พระศรีอารย์ ข้างต่างประเทศมีอีกอย่างหนึ่ง ทำถือตารปัตรเมื่อเทศน์ แต่คิดว่าใหม่ด้วยกันทั้งนั้น ในเรื่องพัชกับแส้ ฉันก็ได้วานพระที่ท่านชอบดูหนังสือภาษาบาลีช่วยตรวจ เพราะที่กล่าวถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ก็เถียงกันนัก ลางแห่งก็ว่าเปนพัช ลางแห่งก็ว่าเปนแส้ แต่ได้ความสันนิษฐานว่าพัชกับแส้นั้นเปนอันเดียวกัน คือ กำขนนก ถ้าผูกแบนก็เปนพัช ถ้าผูกเปนกำก็เปนแส้ แล้วก็ทำเทียมด้วยอะไรต่ออะไร นั่นคิดว่าทีหลัง

ข้อที่ท่านพบในไบเบิล ว่าพวกยิวรบกันมีคนหาม ตาบาเกิล (วอ) นำหน้านั้น ทางแขกเจ้าเซนก็มี แต่เขาทำเล็ก ๆ ลดหามเปนทูลหัว คนสามัญเรียกกันว่า ทูลรังไก่ แต่ชื่อเพลงยาวมีว่า เจ้าเซนเต้นต้ำบุด คำนี้อาจเขียนพลาดไปได้ แต่ก็ทีอย่างนั้น ได้สอบถามพวกแขกเจ้าเซน เขาบอกว่าเรียก ตาบุส หมายความว่า วอ คือ วอของพระเจ้า ผู้รู้ทางฝรั่งเขาเคยบอกว่าแต่ก่อนนี้ ไม่ว่าพวกไหน จะรบกันแล้วต่างก็มีวอพระเจ้านำหน้าทุกพวกไป ตามที่ว่านั้นในวอจะต้องว่างเปล่า ทำวออุทิศถวายพระเจ้าเท่านั้น ที่เรามีพระชัยนำทัพ ก็มาแต่วอพระเจ้านั้นเอง แต่แรกเราก็ไม่มีรูป มีอาสนบูชาอยู่เปนตัวอย่าง ที่มานับถือรูปก็เพราะพวกกรีกมาทำรูปพระเจ้าขึ้น เราก็ฉวยเอามา เพราะไม่มีรูปนั้นว้าเหว่ใจ

ท่านคิดจะเขียนประเพณีอะไรของเราไว้นั้น ไม่มีที่ติเลย

เรื่องคำเติม หน้า กลาง หลัง นั้น ต่างก็เติมกันสับสน ถูกของท่าน ทำให้เปนเหตุที่เรารู้ไม่ได้ว่าอะไร

คำ ละอ่อน ถ้าถูกก็เปน หล่อน ได้ดี ถึงคำ ลูกอ่อน ก็เปน หล่อน ได้เหมือนกัน ทั้งตำรานิรุกติศาสตร์ปรับไว้ว่า ร ล เปนลิขวิดก็เอามาเติมเข้าเปน หล่อน ได้เหมือนกัน คำ อร นั้น ถ้าท่านสืบได้ว่าเปนอย่างไรแล้ว บอกให้ฉันทราบด้วย ฉันก็งมอยู่เหมือนกัน ตำรานิรุกติศาสตร์ ซึ่งท่านบอกนั้นเข้าใจแล้ว ยิ่งพิโยคพิเกณฑ์ไปกว่าที่ฉันนึกเสียอีก

เรื่อง ว เปน พ นั้น ฉันเข้าใจมานานแล้วว่าเปนไปด้วยเหตุใด ที่เขียนมาให้ก็เพื่อจะให้เหนว่าผิดกัน คือถ้าเขียนด้วยตัว พ แล้วเสียงสูง ถ้าเปน ว แล้วเลียงต่ำ ไม่เสมอกัน คำ อ้ายนั้นอ้ายนี้ ก็ควรที่จะเปน อ้ายนั่นอ้ายนี่ ตามเสียงพูด ที่มหาฉ่ำว่า นั้น มีในคำเขมร แต่ นี้ ไม่มีนั่นดี แต่ฉันกลัวว่า นั้น จะเปนคำไทย เขมรจำเอาไปใช้ นึกคำเขมรได้แต่ เนาะ กับ เนะ จะให้ตัวอย่างแต่ที่จำได้ เช่น กาลเนาะ รเดนมนตรี........... กาลเนาะ เข้าใจว่าเทียบเอา เมื่อนั้น เพราะ เมื่อ ก็เปนคำไทย นั้น ก็เปนคำไทย

ที่เขียน อึ นั้นทางเรามีมาก ฉันนึกให้มาทางเขมร แต่เขาจะออกเสียงอย่างไรนั้นรู้ไม่รอบ ท่านจะค้นคว้าสระ อึ นั้นดีแล้ว ฉันจะได้พลอยรู้ด้วย

ข้างไทยย่อมใช้คำโดด ๆ ไม่มีสนธิ ที่ใช้ตามบาลี เช่น วาณิช และ วาณิชย ฉันออกจะกริ้ว ๆ เพราะทางเราใช้ผสมคำ ถ้าจะผสมคำว่า พวกวาณิช ก็จะเข้าใจเช่นเดียวกับ วาณิชย์ เหมือนกัน ถ้าเขียนว่า พวกวาณิชย์ แล้วก็เกิน

ไปเห็นหนังสือวิลันดาทางเมืองชวา เขาใช้ tj เปน จ ใช้ dj เปน ช ก็ให้นึกชอบ ( j เขาถือและอ่านเปนตัว ย) คำสังสกฤตซึ่งมีตัวต่างไปก็จำเปนต้องเขียนทุกตัวอยู่เอง ส่วนคำมคธที่ซ้อนสองตัวเอาแต่ตัวเดียวนั้นควร ราชกิจจา ถึงจะอ่านว่า ราด-ช่ะ-กิ-จา ก็เปนไรไป คำ ราช ก็สับปลับอยู่แล้ว เราอ่านเปนสกดว่า ราด-ช่ะ แต่ในภาษามคธ สังสกฤตเขาอ่านเรียงตัวเปน รา-ช

ฉันยอมแล้วว่า ฝาเรือน ตรงกับคำว่า ฟ้า นั้นเอง เพราะมีคำ ผ้า เปนประธานอยู่ บรรดาเรือนโรงทั้งปวงก็ทำโปร่ง ๆ ก่อน แล้วเอาม่านหรือผ้ากั้นเปนฝาเข้าทีหลัง ท่านจะไต่สวนตัว ฟ นั้นดีแล้ว ฉันจะได้พลอยรู้ด้วย ส่วนคำ ฟาก ที่ปูเรือน ยังคิดไม่เห็นจำจะเปนคำเดียวกับ ฟากฝั่ง เพราะต่างกันมาก ทั้งคำ ฝาก และ ผาก ก็มีอีก แต่ล้วนความหมายต่างกันไปทั้งนั้น

เมฆ กับ หมอก นั้นควรจะรู้ว่าเปนอันเดียวกัน แต่สำคัญว่าเปนต่างกันไปด้วยความเขลาเท่านั้น ที่จริงมีอะไรหลายอย่างที่ควรจะรู้ได้

คำ ตากแดดตากนาย เราใช้กันอยู่เสมอ แต่ไม่ทราบว่า นาย แปลว่ากะไร ครั้นมีคนบอกว่าคือน้ำค้างก็พอใจ เหนทีเดียวว่าคำ น้ำค้าง เปนคำผูกใหม่ หมายความว่าน้ำที่ค้างอยู่บนต้นไม้ใบหญ้า

คำว่า ตรา นั้นจะหมายถึงอะไรก็ดี แต่เราหมายว่า ผูก เปนแน่นอน ส่วนพจนานุกรมอาหม ซึ่งแปลว่าตราเงินรูปีย์นั้น ย่อมเห็นได้ว่าทำทีหลัง เงินรูปีย์ เงินตีตราก็มีมานานแล้ว แต่เขาจะเรียกตราหรือเรียกอย่างไร ไม่ทราบได้

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ