- แถลงการณ์ของสำนักพิมพ์
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กันยายน ๒๔๘๖
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖
- ภาคผนวก
บันทึก เรื่องพระราชลัญจกร
๑. อ่านท้องความก็เกิดสงสัยขึ้น ว่าตราสุริยมณฑล กับ จันทรมณฑลนั้น จะเปนพระราชลัญจกรอันได้เคยทรงประทับ หรือโปรดให้ทำขึ้นใหม่ พระราชทานสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อยไปก็ไม่ทราบ รู้ได้ว่าเปนตราหลวงก็แต่ที่ได้เหนตราของหลวงมีอุณาโลมอยู่ในบุษบก กับมีรูปกระต่ายอยู่ข้างท้าย อันรู้ได้ว่าเปนรถพระจันทร์นั้นอย่างหนึ่ง กับที่ส่งคืนนั้นอีกอย่างหนึ่ง จึงทำให้ทราบได้ว่าเปนตราหลวงพระราชทาน แต่ตราน้อยนั้นจะเปนของพระราชทานหรือท่านจะทำเองก็ไม่ทราบ จะถือเอาการส่งคืนเปนเหตุก็ไม่ถนัด อาจที่ผู้ยังจะส่งคืนเพราะเหนเปนของคู่กันก็ได้ อันตราน้อยนั้น เสนาบดีกรมมหาดไทยทำตัวอย่างขึ้น คือตราน้อยใช้ประทับหนังสือส่วนตัว ตราใหญ่ใช้ประทับท้องตราดำเนินกระแสรพระบรมราชโองการ ทีหลังใครที่เปนใหญ่เปนโต ถึงจะไม่มีหน้าที่ต้องมีหนังสือส่วนตัวก็ต้องมีตราน้อย เพราะเหตุที่มีความสงสัยและรู้ไม่ได้อยู่หลายอย่างดังนี้จึงตัดออกเสียเกือบหมด เอาไว้แต่ตรานารายณ์เกษียรสมุทดวงเดียว ซึ่งออกจะเข้าใจว่าได้เคยทรงใช้ หรือจะอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่เหนว่าตัดเสียหมดเหลือไว้แต่ดวงเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว
๒. เมื่อเขียนชื่อตราก็อึกอัก ด้วยไม่รู้จะเขียนอย่างไร เพราะอักขรวิธีเราเปลี่ยนไปเสมอ แต่ความเหนฉันเหนว่าจะเปลี่ยนได้แต่คำพูด ส่วนชื่ออะไรต่าง ๆ ซึ่งท่านแต่ก่อนท่านตั้งไว้นั้นไม่ควรเปลี่ยน แต่ความเหนของท่านจะเปนอย่างไรไม่ทราบ แลก็คิดตกว่าหนังสือเปนของท่าน อันชื่อนั้นเขียนมาอย่างไรก็ปล่อยไปเช่นนั้น ไม่แก้
๓. พระครุฑพาห องค์ที่ประทับบนพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ ๖ ฉันไม่ได้เขียนถวาย จึ่งวงเอาชื่อฉันออกเสีย ที่จริงพระราชลัญจกรองค์ที่ประทับบนพระปรมาภิไธย กับองค์ที่เปนรูปกลมรี (ตั้ง) ไม่ควรจะใช้ชื่ออย่างเดียวกัน เรียกให้ผิดกันเสียจะดีกว่า องค์ที่เปนรูปกลมรี(ตั้ง) ควรเรียกว่า นารายณ์ทรงครุฑ (เพราะมีรูปนารายณ์ทรงครุฑอยู่จริงๆ) ส่วนองค์ที่ประทับบนพระปรมาภิไธยนั้นจึงเรียกว่า พระครุฑพ่าห์
๔. การเรียงประกาศ หรือพระราชกฤษฎีกา และพระราชบัญญัติอย่างใดนั้น ผู้เรียงย่อมไม่รู้ความจริงที่เปนมานั้นก็อย่างหนึ่ง แต่ถึงจะรู้ลางความก็ต้องเรียงผันแปรไปตามที่ต้องการ ล้วนแต่ทำให้คนอ่านภายหลังหลงไปทั้งนั้น
๕. ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระราชดำริห์จะเลิกพระราชลัญจกรอันมีอยู่มากมายนั้นเสีย ก็เปนพระราชดำริห์อันเลิศ แต่ในรัชกาลที่ ๖ ก็โปรดให้ทำพระราชลัญจกรสำหรับประทับบนพระปรมาภิไธยอันมีหนังสือรวมขึ้นใหม่ ก็อย่างเดียวกับพระราชลัญจกรอามเก่านั้นเอง เมื่อสิ้นแผ่นดินแล้วก็ต้องรุะ ไม่เปนไปอย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำริห์ไว้ มีความเสียใจที่จะต้องใช้คำว่า ถอยหลังเข้าคลอง
นึกถึงตราที่ทำใช้กันในตำแหน่งต่าง ๆ ก็ทำกันเปน แฟแช่น ซึ่งทำกันอยู่ในเวลานั้น ไม่สู้จะได้คิดว่าควรทำอย่างไรดี
คิดถึงต้นรากของตรา เหนว่าอย่างเส้นชาดนั้นมาทางตวันออก ถ้าจะว่าไปก็เปนมาแต่จีน จึงใช้แต่ตราเปล่า เพราะจีนเขาไม่เซนชื่อ ส่วนตราครั้งนั้นมาทางตวันตก มีทางอินเดียเปนต้น จึ่งมีคำว่า มุทรา อันแปลว่าแหวนตรา แต่เขาจะเซนชื่อด้วยหรือไม่นั้นไม่ทราบ แต่ฝรั่งนั้นเหนเซนชื่อและประทับตราครั่งด้วย ที่ปิดตราดุนนั้นเปนสมัยใหม่ (ลางทีจะเปนเก่าจึ่งมีคำว่า ปิดตรา) เราทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ เขียนชื่อบอกตำแหน่งด้วย แต่จะเปนลายมือใครก็ได้
๖. จะบอกท่านให้ทราบไว้ ว่าที่ทำพระราชลัญจกรองค์ใหม่ ซึ่งใช้ประทับบนพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งพื้นเปนเปลวไฟนั้น เอามาจากคำในหนังสือฉันท์อนิรุทธ ซึ่งมีว่า “ฤทธิครุธคือเพลิงเผาผลาญ นาคราชประหาร ประหับประเหิรผกพัน” ดั่งนี้ ไม่ทำกนกก็เพราะกนกนั้นเปนต้นไม้ ขึ้นในอากาศไม่ได้ จึงไปฉวยเอาคำในอนิรุทธคำฉันท์มา
เห็นเอาครุฑ ขาโต มือหงิก ปากแหก ดำพ่ำพำมาปิดไว้ แรกดูก้ไม่เข้าใจว่าเอามาปิดไว้ทำไม ทีหลังจึงเข้าใจ ที่พูดถึงปีกห่อปีกกางนั้น ไม่เข้าทางช่างเลย ที่แท้ปีกห่อก็คือปีกสั้น ปีกกางก็คือปีกยาว แต่ทั้งสั้นทั้งยาวฉันก็ทำขึ้นทั้งนั้น ที่ทำในพระราชลัญจกรเปนปีกสั้นก็เพราะจะให้ตัวครุฑโต จะทำปีกยาวก็ได้ แต่ต้องลดตัวครุฑให้เล็กลงไป จะมีพื้นมากขึ้น จึ่งได้ทำปีกสั้น ถ้าจะพูดถึงความแปลกแล้วพูดถึงปีกซึ่งมาอยู่ที่ไหล่กับตีนเปนนกจะดีกว่า เพราะครุฑที่ทำกันมาก่อนนั้นปีอยู่ที่เอวกับตีนก็เปนราชสีห์ ที่ช่างเขาทำมือหงิกนั้นเปนของเขาคิด จะทำให้เปนนกขึ้นกว่ามือรำ แต่ที่ทำขาโตปากแหกนั้นเปนเขลา
๗. ใบแซกซึ่งมีความว่า เจ้าพระยาธรรมาธิกรณรับพระบรมราชโองการไปทูลถามสมเด็จพระมหาสมณเจ้านั้น เหนว่าไม่ควรเขียน จะทำให้คนคิดวิจารณในกระแสรพระราชดำริห์กับทั้งพระดำริห์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าไปเปล่า ๆ ที่จริงการยุ่งเหยิงนั้นเปนมานานแล้ว เช่นคำ มหินทรายุทธยา เปนต้น พระราชลัญจกร ครุฑพ่าห์ ก็เปนสำหรับกรุงอยุทธยา เท่านั้น ไม่มี มหินทร ปนอยู่เลย
๘. คำ ไอราวต ในพจนานุกรมของอาจารย์ชิลเดอแปลให้ไว้ว่า ต้นส้ม เฉไปถนัดใจ แล้วทำไมจึงเปนช้างสามเศียรขึ้น แต่หนังสือผิดกัน ที่มีตัว ย สกด ไอ ขึ้น จะอย่างไรก็ดี เหนว่าตราดดวงนั้นเดิมจะประจำตำแหน่งพระอินทราชา ทั้งเหนว่ากวีก็สดุดใจมาแล้ว จึงมีพระราชลัญจกรเอราวรรณ ที่ว่ามีสามสิบสามเศียร ก็ว่าไปตามเคย ไม่ให้ช่องแก่ช่างเลย ช่างก็สำคัญ ทำหัวช้างอย่างที่กวีว่านั้นจนครบ ไม่แบ่งให้เปนช้ายเปนขวา จะเปนรูปอย่างไรก็ตามที อนึ่ง คำว่า วิมาน เมื่อพูดแก่ช่างก็จะต้องเข้าใจว่าอ้ายแดง ๆ สามช่อง แต่ที่จริงวิมานก็หมายว่าเรือนเท่านั้นเอง จะแดงหรือไม่แดงและจะเปนกี่ช่องก็ได้ บนหลังช้างเอราวัณ แม้จะเปนแต่กูบอย่างที่ผูกช้างกันเท่านั้น ก็เหนว่าเปนวิมานได้พอแล้ว
๙. บรรดาตราทุกดวง ควรจะสังเกตอายุได้ เว้นแต่ความรู้จะไม่พอที่จะพยากรณ์ทุกดวงไปเท่านั้น จะพยากรณ์ได้แต่ว่า ถ้าเปนรูปอื่นไปนอกจากกลมแล้วเปนรัชกาลที่ ๔ ลงมา ถ้ามีหนังสือแล้วก็เปนรัชกาลที่ ๕ ลงมา
คำว่า พระราชลัญจกร นั้นก็ชอบกล หมายเปนตราของพระเจ้าแผ่นดินจำเพาะแต่ที่ใช้ประทับเท่านั้น อย่างอื่นไปก็ไม่เรียกว่า พระราชลัญจกร
๑๐. พระราชลัญจกรจักรรถนั้น เปนของฉันคิดและเขียนขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๕ ตลอดถึงขนานชื่อด้วย ดั่งฉันได้บอกแก่ท่านให้เข้าใจเหตุแล้ว จะได้มีพระราชลัญจกรเก่ามาก่อนนั้นหามิได้ ตามที่ท่านเชื่อว่ามีพระราชลัญจกรเก่า ก็เปนเชื่อตามที่มีความอยู่ในประกาศ
อนึ่งจะบอกท่านให้ทราบอีกข้อหนึ่งเปนทางพิจารณา เขาว่าธงไทยในรัชกาลที่ ๒ นั้นเปนรูปช้างเผือกยืนอยู่ในวงจักร จริงหรือไม่จริงก็ไม่ทราบ เกิดไม่ทัน แต่ข้อนี้เป็นข้อขัดกับความในพระราชบัญญัติ ที่ว่าเติมช้างลงในวงจักร เมื่อทำเงินเหรียญในรัชกาลที่ ๔
ดีใจที่ได้ทราบว่าตราจักรในเงินพดด้วงนั้นหมายถึงพระราชวงศ์ ทำให้นึกถึงตราพระราชวงศ์ซึ่งมีตรีศูลขัดอยู่ในจักรนั้น แปลว่าโกรธกับหนังสือ เข้าใจว่า กรี กับ ตรี นั้นเหมือนกัน อันตราอามนั้นแรกผูกขึ้นก็ใช้เปนลายประดับพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร (คือห้องเหลือง) แล้วจึ่งเอามาทำเปนพระราชลัญจกรขึ้นต่อภายหลัง
อนึ่งตามที่จดไว้ถึงพระาชลัญจกรครุฑพาห องค์ที่ประทับบนพระปรมาภิไธย ว่าองค์เก่าจะอยู่แห่งใดไม่ปรากฏนั้น ทำให้เข้าใจว่าพูดถึงพระราชลัญจกรองค์ที่เปนอาม ถ้าถูกก็ควรเติมความลงเสียให้ชัดว่าเปนองค์นั้น
๑๑. พระราชลัญจกรพวกโลโต ซึ่งทำเทียบของเก่า ดูเปนหนังสือ ๖ ตัว ไม่ใช่สี่ตัวเปน เสี้ยม-โหล-ก๊ก-อ๋อง ควรจะให้ผู้รู้เขาดูเสีย กับองค์ใหญ่ที่ว่าเปนสีทองดอกบวบนั้น ดูเหมือนที่มุมขอบลายจะเปนหนังสือจีนแต่เหนไม่ชัด ถ้าได้ให้ผู้รู้ดูก็จะได้ดูที่มุมลายขอบด้วย แหละถ้าเปนหนังสือจีนจริงก็จะได้อ่านด้วยว่าเปนความอย่างไร
อนึ่งพระราชลัญจกรองค์ที่ว่าเปนหนังสือจีนตัวปรกติ ผู้รู้อ่านว่าเปน เสี้ยม-ก๊ก-แต้-เหมง นั้น ถ้าหากคำ แต้เหมง เปนพระนามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็รู้ได้ว่าพระราชลัญจกรองค์นั้นเปนครั้งรัชกาลที่ ๓
๑๒. พระราชลัญจกร มังกรหก (ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลว่า ฮก) นั้น เปนตราครั่ง ถ้าจะใช้ประทับชาดก็เปนขอไปที ตราชาดก็ดูเปนของทำใหม่ ทั้งตราชาดและตราครั่งดูเปนของทำในนี้ทั้งสองดวง ไม่ใช่มาแต่เมืองจีน เพราะเหตุดั่งนั้นที่จะถือเอาความในพระราชสาส์นคำหับก็ยาก
ฉันเคยเหนครั่งประทับพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ ประจำครั่งทั้งสองด้าน เจ้าพนักงานผู้รักษาบอกว่า งบ แต่ทำทำไมนั้นบอกไม่ได้ มาได้ความประกอบจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าทางนครศรีธรรมราชก็มีงบอย่างนั้น แต่ดูเหมือนจะเปนพระราชลัญจกรมหาโองการ ต่อมาก็ได้เหนหนังสือ เปนว่าเขาใช้ต่างพระองค์ ถ้าทำงบใช้ต่างพระองค์แล้วก็ควรแก่การ เพราะพระราชลัญจกรประจำครั้งแต่ละองค์โตไล่เลี่ยกับพระราชลัญจกรประจำชาดทั้งนั้น เปนหน้าที่ของเราที่จะต้องค้นหนังสือเก่า ทั้งคิดประกอบด้วย ที่คิดว่าทำกล่องพระราชสาส์นให้โตเท่ากับพระราชลัญจกร แล้วผนึกพระราชลัญจกรลงไปเปนผ้านั้นผิดแน่ กล่องพระราชสาส์นทำถุงใส่เสีย ใช้พระราชลัญจกรแต่องค์เล็ก ๆ ผนึกที่เชือกผูกถุงเท่านั้นก็ได้
๑๓. เคยได้เหนเอกสารเครื่องลายคราม ประทับพระราชลัญจกร จ.ป.ร. เข้าใจว่าพระราชลัญจกรองค์นั้นทำสำหรับการนั้น ตลอดถึงพระราชลัญจกรองค์ที่มีคำว่าสยามด้วย แต่พระราชลัญจกรองค์ที่มีคำว่าสยามนั้นไม่ได้เหน หรือได้เหนแต่จำไม่ได้ ให้การไม่ถูกก็เปนได้
๑๔. สยามมกุฎราชกุมาร นั้นมีสององค์ คือ สมเด็จเจ้ามหาวชิรุณหิศก่อน เมื่อสวรรคตแล้วจึงเปนสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อตั้งสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษภูวนารถเปนผู้รับราชสมบัติต่อไปนั้น จึงเปลี่ยนคำใช้ว่า รัชทายาท เปนอันเตรียมถอน เพื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระโอรส แม้คำ สยามมกุฎราชกุมาร ทีหลังก็แก้เหมือนกัน เปนอันเหลือแต่ มกุฎราชกุมาร
พระตราซึ่งเรียงไว้ ดวงต้นเปนของ มกุฎราชกุมาร องค์ถัดมาแน่ เพราะมีหนังสือบอกอยู่ แต่ต่อไปข้างหลังเกรงจะเปนครั้งมกุฎราชกุมารองค์แรก
๑๕. พระตราพระลักษณ์ทรงหนุมานนั้นเปนบิดชื่อ ด้วยวังหน้าเปนพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ จึงว่าเปนพระลักษณ์ แต่ความจริงที่ทรงหนุมานนั้นเป็นพระรามทีเดียว ที่ทรงรถพระอินทร์นั้นปางเดียว แต่เมื่อทศกรรฐ์ล้มเท่านั้น พระตราพระลักษณ์ทรงหนุมานก็ดูไม่สู้เก่า เข้าใจว่าเปนครั้งรัชกาลที่ ๔ นั่นเอง อาจเปนได้ที่เมื่อไม่พอพระราชหทัยเข้าแล้วจึ่งเปลี่ยนเปนเทวดาประจำปืนใหญ่อย่างองค์ใหญ่ แล้วก็ไม่พออีก จึงทำองค์รูปกลมรี (ตามยาว) ซึ่งเปนรูปนารายณ์ประจำปืนใหญ่ขึ้น อันนารายณ์นั้นมือคู่หน้าขวาถือสังข์ ซ้ายถือตรีศูล มือคู่หลังขวาถือจักร ซ้ายถือปืน แสดงว่าหมายพระนามพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวชัดเจน (ที่พูดเปนมือนั้น พูดแบบอินเดีย)
๑๖. ดูพระตราพระบรมราชโองการก็เหนขัน ทำอย่างพระราชลัญจกร พระบรมราชโองการ แต่ยักไปเปนหนังสือไทย เหนลายขอบทำเปนอาวุธ ๘ อย่าง ก็ให้นึกสดุ้งใจ กลัวจะเปนพระแสงอัษฎาวุธ
๑๗. มีความเหนแตกออกไป ว่าตำแหน่งจตุสดมภ์นั้นเปนตำเหน่งภายใน (คือประจำเมือง) ด้วยนึกได้ว่ามีตำแหน่งกรมการเปน หลวงเมือง หลวงวัง หลวงคลัง หลวงนา ก็คือตำแหน่งจตุสดมนั้นเอง แต่จะมีจำเพาะเมืองใหญ่ซึ่งควรเปนเมืองลูกหลวง หรือมีทุกเมืองไปก็ไม่ทราบ แต่ความรู้ซึ่งแตกออกไปใหม่นี้ จะได้ขัดกับความรู้ซึ่งพูดมาแล้วก็หามิได้
๑๘. พระราชกฤษฎีกาซึ่งจดว่าซ้ำนั้น ข้างต้นทีจะมีกล่าวผิดอยู่บ้าง เพราะได้ยินว่าก่อนมีสุพรรณบัตร หิรัญบัตร ใช้ออกหมายตั้งใครเปนเสนาบดีก็เปนไปจนตาย ไม่เคยได้ยินว่ามีย้ายตำแหน่งหรือลาออกอย่างเดี๋ยวนี้ เพราะเหตุนั้นจึงเปนประเพณีที่ไปรับตราตำแหน่งกันเอาเองด้วยตัวเสนาบดีตาย ไม่มีใครจะถวายตราตำแหน่งคืน เสมียนตราอันมีตำแหน่งได้รักษาตรา ก็เฝ้าไม่ได้ ความเปนไปบังคับให้ต้องเปนเช่นนั้น ส่วนความใหม่ข้างหลังนั้น จะให้เปนอย่างไรต่อไปในภายหน้าก็เปนได้
๑๙. ตราพระราชสีห์นั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตรัสว่า ที่ใช้อยู่นั้น ไม่เหมือนกับที่ประทับกฎหมายซึ่งเรียกว่า กฎหมายตราสามดวง ตามที่ตรัสนั้นก็ได้เรื่องกับที่ว่าแกะรุก แต่จะรุกได้ก็น้อยหนแล้วต้องทำใหม่ (เพราะเปนรูปเรียว) ช่างผู้เขียนดวงใหม่จะไม่ได้เรียนดวงเก่า หรือลางทีจะไม่ได้เหนดวงเก่าเลยก็เปนได้
๒๐. ตราพระคชสีห์นั้นไม่ได้ดูเทียบกับกฎหมายตราสามดวง จะเหมือนหรือไม่เหมือนก็ไม่ทราบ แต่อย่างไรก็ดี ดูตัวอย่างรู้สึกว่าขาดตราคชสีห์เดินดง อันเป็นรูปคชสีห์เดินบุกอยู่ในหมู่ไม้ไม่ใช่กนก เปนตราประจำตัวเสนาบดีกรมพระกระลาโหม อย่างตราพระราชสีห์น้อยของเสนาบดีกรมมหาดไทย ส่วนตราพระราชสีห์ฝ่ายเหนือนั้นอยู่ที่พระยามหาอมาตยาธิบดี ตราพระคชสีห์ฝ่ายเหนือนั้นอยู่ที่พระยามนตรีสุริยวงษ์ นี่พูดถึงแต่ก่อน เดี๋ยวนี้จะอยู่ที่ไหนไม่ทราบ
๒๑. ตราบัวผันนั้นดูเปนสองอย่าง เปนตราประทับครั่งก็มี ประทับชาดก็มี อย่างไหนจะมาก่อนก็ไม่ทราบ แต่ตราบัวแก้วดุนนั้น ทราบแน่ว่ามีขึ้น ครั้งเจ้าพระยาภาณุวงษมหาโกษาธิบดีเปนเสนาบตี ในกรมต่างประเทศนั้น
๒๒. ตราพระรามทรงรถก็เปนแต่เรียกตั้งกันเอาเอง ผู้ทำเขาจะตั้งใจให้เปนเช่นนั้นหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่เมื่อดูตราตัวอย่าง ดวงแรกเปนเทวดาทรงรถถือจักร เห็นจะเปนพระรามไม่ได้ แต่ดวงหลังเปนเทวดาทรงรถถือธนูศร จะว่าเปนพระรามได้ นี่พูดถึงตราใหญ่ ส่วนตราน้อยนั้นว่าเปนรูปวิศุกรรม ดูตัวอย่างก็เหนไม่ชัด จับได้แต่ว่าเปนเทวดาหัวโล้นถือหางนกยูงเปนรูปวิศนุกรรม์ ตามที่เข้าใจกันอย่างซึมซาม เหนจะเปนตราใหม่ ฉันได้เคยคิดเปนรูปวิศวกรรมอย่างอินเดียอันมีมือถือผึ่ง แต่จะคิดให้กระทรวงโยธาธิการหรือกรมโยธาก็ลืมเสียแล้ว เวลานั้นยังไม่ได้พระราชทานตราแก่กระทรวงโยธาธิการ
๒๓. ตราเสมาธรรมจักรของเก่าเปนรูปจักราวุธอยู่ในบุษบก แล้วมีใบเสมาขนาบอยู่สองข้าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ชอบพระราชหทัย จึงทรงพระราชดำริห์ให้ทำเปลี่ยนพระราชทานใหม่ จึ่งจำเปนที่ท่านต้องบอกรูปตราดวงใหม่ ท่านก็บอกไปตามประกาศ แต่ประกาศนั้นใช้คำว่า บัลลังก์สิงห์ เปนคำโลกกับภาษาช่างปนกัน ภาษาช่างนั้น บังลังก์ ก็มี แต่เขาประกอบบัวอย่างหนึ่ง สิงห์ ก็มี แต่เปนตัวไม้ชนิดหนึ่ง จึงแก้เปน เสมาตั้งบนแท่น เพื่อให้พ้นผิด ที่จริงทำเปนล้อรถก็เปนอย่างจักรพรรดิ์ไป คำ เสมาธรรมจักร เหนจะหมายว่าเขตวงพระศาสนา ที่เอาคำ เสมา มาใช้ก็ทีจะให้เปนทางศาสนาขึ้น จักรก็หมายความว่าวงกลม ๆ ว่าตัวอย่างก็มี เช่น อาณาจักร เปนต้น ที่ทำเปนรูปอะไรก็เปนสมมตทำทั้งนั้น
๒๔. ที่ว่าตรานารายณ์เกษียรสมุทเปนตราตำแหน่งกรมยุทธนาธิการทหารบก และตรานารายณ์ทรงปืนเปนตราตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือนั้น ให้รู้สึกว่าไขว้กันเสียนี่กะไรเลย เพราะตรานารายณ์ทรงปืน เปนตราบนดินแท้ ทั้งที่โปรดให้เขียนเพื่อจะพระราชทานเปลี่ยนใหม่ก็เปนรูปนารายณ์แผลงศร เข้าใจว่าคือนารายณ์ทรงปืนนั่นเอง ตรานารายณ์เกษียรสมุท นั่นแหละควรจะเปนสำหรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ เพราะเปนน้ำ ๆ แต่ก็เปนตราศรพระขรรค์ ไป ถ้าได้ถือ ตรานารายณ์ทรงปืนมาก่อนก็จะต้องเปนพระราชทานเปลี่ยนสามครั้ง ครั้งแรกเปนตรานารายณ์ทรงป็น ถัดมาเปน ตราศรพระขรรค์ ครั้งหลังที่สุดจึงเปนตรามัศยาวตาร ที่พูดถึงผู้บัญชาการทหารเรือก่อนนั้นไม่เหนเปนไร เพราะทหารบกหรือทหารเรือ ผู้บัญชาการก็มียศเสมอกัน ทางฝรั่งเขาก็เอาผู้บัญชาการทหารเรือออกหน้าผู้บัญชาการทหารบกด้วยซ้ำ อีกประการหนึ่งเราพูดถึงตรานารายณ์เกษียรสมุท ในหน้า ๒๙ ก็ต่อกับหน้า ๓๐ ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะตรานารายณ์ทรงปืนเข้ามาคั่นอยู่ แต่ก็ได้ร่างใหม่ ด้วยจงใจจะให้เปลี่ยนเก่ามาแล้ว
๒๕. ตราศรพระขรรค์ ที่ว่าพระราชทานสมเด็จเจ้าพระยา (บรมมหา) ศรีสุริยวงษ์ไปใช้นั้น ฉันไม่ทราบ ทราบแต่ก่อนขึ้นไป ว่าพระราชทานกรมหลวงวงษาธิราชสนิทไปใช้ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๕ ตรัสส่งเสริมให้กรมขุนไชยนาทนเรนทรทำตราลูกศร หรือพระขรรค์อะไรใช้ประจำพระองค์ก็ลืมเสียแล้ว
๒๖. เหนรูปนกวายุภักษ์ในตราของพระยาราชภักดี ซึ่งท่านคัดมาไว้ก็นึกเสียใจ ว่าถ้าทำเปนรูปอย่างเก่าแต่ทำขนเปนอย่างใหม่ก็จะดีกว่านั้น ตามที่ทำไว้เปนธรรมดามากเกินไป นี่เปนทางที่ใจกลับกลอกของมนุษย์
๒๗. ตราพระคเณศ ซึ่งโปรดให้ทำพระราชทานแก่วรรณคดีสมาคมนั้น ดูเหมือนจะเปนด้วยฉันกราบบังคมทูลว่า พระคเณศเปนผู้ชำนาญ
หนังสือ ด้วยฉันเห็นในต้นคัมภีร์มหาภารตยุทธ ว่าฤษีเสาติ ไปจดเอาความมาแต่พระคเณศ คงจะทรงทราบอยู่แล้วจึงทรงปฏิบัติ แต่ทีหลังฉันพบกล่าวถึงเทวราชหลายองค์ที่ชำนาญหนังสือ พระราชดำริห์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ มีอยู่ว่า อันเทวราชนั้นท่านจะถืออะไรก็ตามแต่ธุระของท่านในปางนั้น ไม่จำเปนว่าจะต้องถืออะไรเปนจับตัววางตาย พระราชดำริห์อันนี้เปนถูกยิ่งนัก
๒๘. จะกล่าวถึงตราร่วง ๆ ที่เปนแต่สงสัยอยู่ก็มี ที่รู้แน่ก็มี จะบอกแต่ลางดวงดังต่อไปนี้
(๑) ที่จดไว้ว่า บุษบกลอย เหนลักษณะเปนวิมาน (ช่วงเดียว) อยู่ในเมฆ ในวิมานนั้นมีเทียนจุดไฟ ให้สงสัยไปว่าจะเปนตราที่เรียกว่าบุษบกตามประทีป ซึ่งว่ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงถืออยู่ก่อน แต่ดูฝีมือเปนใหม่กว่าดวงที่เรียกว่าบุษบกตามประทีป อันมีแต่ตะเกียงนั้นมาก
(๒) ที่จดไว้ว่า พระยานาคให้น้ำ กับ
(๓) ที่จดว่า นาคบัลลังก์ นั้น สงสัยว่าจะเปนตราเถื่อนทั้งสองดวง ผู้ยังส่งคืนด้วยสำคัญว่าเปนตราพระราชทาน เจ้าพนักงานไม่รู้ก็รับไว้ ที่จดว่า นาคบัลลังก์ นั้นไม่ใช่นาค เปนมังกรจึ่งมีเขา กับที่จดว่าพระยานาคให้น้ำ ก็เปนแสดงความเขลา นาคที่ให้น้ำก็เปลี่ยนตามปี ไม่อยู่ที่ว่าจะต้องเปนตัวเดียว
(๔) ที่จดว่า เวสสุวรรณยืนแท่น นั้น พิจารณาเหนเปนตราเก่า แต่จะได้แก่ตำแหน่งอันใดหรือไม่นั้นไม่ทราบ
(๕) ที่จดว่า นารายณ์ทรงครุธ นั้น คือตราเสนาบดีกระทรวงวังเก่า ซึ่งรู้ไปแล้ว ที่เรียกว่าตราเทพยดาทรงพระนนทิการ
(๖) ที่จดว่า หงส์ นั้น สงสัยว่าจะเปนตราเถื่อน อย่างที่พูดมาแล้ว
๒๙. เหนหนังสือพิมพ์เขากล่าวถึงเรื่องตรา ว่ากระทรวงใดถือตราอะไร เปนกระทรวงเก่าก็มี ใหม่ก็มี จึงจดมาเพื่อจะช่วยหนังสือนี้ (๑)
สำนักนายกรัฐมนตรี ตราคชสีห์ราชสีห์รักษารัฐธรรมนูญ (๒) กระทรวงการคลัง ตราปักษาวายุภักษ์ (๓) กระทรวงการต่างประเทศ ตราบัวแก้ว (๔) กระทรวงการสาธารณสุข ตราคบเพลิงมีปีกและมีงูพันคบเพลิง (๕) กระทรวงการอุตสาหกรรม ตรานารายณ์เกษียรสมุท (๖) กระทรวงเกษตราธิการ ตราพระพิรุณทรงนาค (๗) กระทรวงคมนาคม ตราพระรามทรงรถ (๘) กระทรวงพาณิชย์ ตราพระวิศุกรรม (๙) กระทรวงมหาดไทย ตราราชสีห์ (๑๐) กระทรวงยุติธรรม ตราพระดุลพ่าห์ (๑๑) กระทรวงศึกษาธิการ ตราเสมาธรรมจักร (๑๒) สำนักพระราชวังและราชเลขานุการในพระองค์ ตรามงกุฎและอุณาโลม (๑๓) เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตรารัฐธรรมนูญประดิษฐานบนพาน ๒ ชั้น (ขาดกระทรวงกลาโหมตราคชสีห์ เพราะเรื่องตรานี้เขียนไว้ในเครื่องแบบซึ่งทหารไม่ใช้)