๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม และวันที่ ๓ พฤศจิกายน รวม ๒ ฉะบับไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ที่ทรงพระเมตตาตรัสประทานเรื่องฉลองพระชันษา และ เฉลิมพระชันษา แก่ข้าพระพุทธเจ้า เป็นความรู้ใหม่ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าทราบเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าเยเห็นรูปถ่ายพระพุทธรูปว่าเป็นพระชัยประจำรัชชกาลต่าง ๆ ก็นึกเสียว่าคงจะทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างขึ้นรัชชกาลละองค์ ครั้นเมื่อทรงพระเมตตาตรัสถึงเรื่องฉลองพระชันษาและเฉลิมพระชันษา ก็มารู้สึกด้วยเกล้า ฯ ว่า ข้าพระพุทธเจ้าขาดความรู้ในเรื่องที่ควรจะรู้ไว้ ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระบารมีปกเกล้าฯ ขอประทานทราบเกล้าฯ เรื่องพระชัยด้วย เรื่องฉลองวันเกิดในหนังสืออังกฤษเล่มหนึ่งลงสันนิษฐานไว้ว่า น่าจะมาจากประเพณีอียิปต์เป็นปฐม เพราะปรากฏว่าชาวยียิปต์สมัยโบราณมีประเพณีฉลองวันเกิดของทวยเทพและของพระราชาและพระราชินี ในคัมภีร์ไบเบิลก็มีกล่าวถึงฟาโรห์ กษัตริย์อียิปต์ฉลองวันเกิด พวกคฤสตังรุ่นแรกไม่นิยมฉลองวันเกิด เพราะถือว่าเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นความทุกข์ ไม่ควรจะแสดงความยินดีปรีดา ต่อมาในชั้นหลังชาวยุโรปจึงได้ถือวันฉลองวันเกิดเป็นประเพณีสืบมา

เรื่องวิธีเติมเสียงของคำเข้าข้างหน้ากลางหรือหลัง เพื่อให้มีความหมายเปลี่ยนแปลงไปนั้น เมื่อทรงทักถึงคำเติมที่ไม่ใช่เสียง น ก็มี เช่น รำ เป็น รบำ ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้สติ กลับไปตรวจดูในคำรานิรุกติศาสตร์อีก ก็ได้ความว่าข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลไปยังบกพร่องอยู่ ในตำราเล่มนั้นกล่าวว่า การเติมเสียงลงกลางคำ คือเติมเสียงเดียวหรือหลายเสียงลงในคำทีเป็นตัวตั้งและเสียงที่เติมนั้นต้องมีความหมาย มิฉะนั้นก็เป็นแต่เติมเสียงเฉย ๆ เท่านั้น เสียงที่เติมกลางนั้นมักเป็นเสียงนาสิก (ง ญ น ม) หรือเสียงลิขวิด (คือ ร ล) เสียง ร ล เข้ากล้ำกับพยัญชนะเสียงอื่นได้ มีลักษณะดั่งน้ำเหลวที่ผสมกับของอื่นได้ จึงได้เรียกว่าลิขวิด หรือเหลวอย่างน้ำ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า รำ เป็น รบำ จะเป็นเพราะมีเสียง ร อยู่แล้ว เสียงที่แซกจึงเป็น บ ไป ไม่เป็น น หรือ ม เสียง ร เป็น โฆษะ เลยลากเสียงที่เติมเป็นโฆษะไปด้วย คือเสียง บ ไม่เป็นเสียง ป หรือ ฟ ทั้งนี้จะผิดถูกสถานไร ขอพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง

ชอำ กับ ฉ่ำ ชอุ่ม กับ ชุ่ม ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องกับที่ทรงพระดำริว่าเป็นคำเดียวกัน ในที่นี้น่าจะยืดหรือเติมเสียงสระ อ ซึ่งเป็นโฆษะ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ชื้อ จะเป็น ชรอื้อ ช้อน ในคำว่า อ่อนช้อน หรือ อรชร จะเป็น ชะอ้อน ข้าพระพุทธเจ้านึกไถลไปถึงคำว่า อรไทย ซึ่งในปทานุกรมว่ามาจาก อร-อุทัย คำ อรไทย ทางพายัพหมายความว่า นางกษัตริย์ ข้าพระพุทธเจ้าค้นคำ ไท ในภาษาไทยถิ่นต่างๆ ก็มีแต่คำที่เป็นชื่อชาติเท่านั้น ในภาษาชาวกวางตุ้งมีคำ ไต๋ แปลว่าพระเจ้าแผ่นดิน ตรงกับ ตี่ ในแต้จิ๋ว และ เต้ ในฮกเกี้ยน ถ้าถือว่า ท้าวไท กับ ไต๋ เป็นคำเดียวกัน อรไทย ก็ควรเป็น นางกษัตริย์ ถ้าถือว่า ไทย คือ ชาติไทย ท้าวไทย ก็ควรเป็นกษัตริย์ไทย อรไทย ก็เป็นนางสาวไทย คำที่เป็นชื่อชาติ มักเลือนมาเปนความหมายว่า คน ใหญ่ เลิด เป็นการยกย่องชาติของตนและเหยียดชาติอื่น ชื่อชาวป่าชาวเขา เช่น ข่า กะจีน และชื่ออื่นซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจำไม่ได้ก็ล้วนแปลว่า คน คือเป็นคนแต่ชาติของตน ชาติอื่นไม่ใช่ ทางอีศานถ้าจะยกย่องพวกอื่นว่าเป็น คน ก็มักใช้ ไทย นำหน้าชื่อชาติ เช่น ไทยแสก กระทำให้หลงผิดไปว่า แสก เป็นไทยพวกหนึ่ง แต่ แสก เป็นเชื้อชาติข่าในตระกูลมอญ-เขมร ลาว ในภาษาไทยอีศาน และ ไทยย้อยก็แปลว่าใหญ่ ครั้นถึงคำ ข่า ซึ่งแปลว่า คน กลับแปลเป็น ข้าทาสไป คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ไท ไท้ ที่แปลว่ากษัตริย์ อาจมาแต่ ไทย ซึ่งเป็นชื่อชาติก็ได้ แล้วความเลื่อนมา

เรื่องภาษาเขมร ฟังเสียงพูดก็ผิดกับในตัวหนังสือ คิดด้วยเกล้าฯ ว่าเพราะได้ตัวอักษรมาจากอินเดีย ซึ่งมีเสียงลางเสียง ไม่ตรงกับเสียงของชาติที่นำเอามาใช้ จึงทำให้เขียนกับอ่านไม่ตรงกัน เพราะหาเสียงมาแทนได้โดยประมาณเท่านั้น เมื่อคราวที่วิทยุกระจายเสียงเป็นภาษาเขมร พระยาอุปกิต ฯ บ่นว่าฟังไม่ออก ต่อเมื่อมหาฉ่ำอธิบายจึงได้เข้าใจ ข้าพระพุทธเจ้าเคยบนกับชาวอังกฤษว่า ฟังชาวอังกฤษต่ออังกฤษพูดกันก็ไม่เข้าใจตลอด ไม่เหมือนกับที่ตัวเขาพูดกับข้าพระพุทธเจ้า เขาหัวเราะตอบว่า เวลาพูดกับชาวอังกฤษด้วยกันก็พูดอย่างธรรมดา เมื่อพูดกับคนไทยก็พูดอย่างระวัง จึงทำให้ผิดกัน อย่างเดียวกับที่เขาฟังไทยต่อไทยพูดกันก็ฟังไม่ออกทั้งหมด คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ตัวหนังสือเป็นเครื่องหมายสำหรับเสียงพูด ไม่สามารถจะถ่ายเอาเสียงได้ตรงทีเดียว ได้แต่พอประมาณเท่านั้น เมื่อเรียนภาษาของอีกชาติหนึ่งจากตัวหนังสือ จึงทำให้ผิดกับเสียงที่พูดกันเป็นปกติ เช่นคำ มิได้ ในภาษาไทย เมื่อพูดเสียงก็เพี้ยนเป็น หมีได้ ไป หนังสือ ก็เป็น นังสือ ข้าพระพุทธเจ้าเคยสำเนียกคำ พระผู้มีพระภาคเจ้า ในวิทยุกระจายเสียง เมื่อมีกระจายเสียงพระธรรมเทศนาในฤดูเข้าพรรษา ปรากฏว่าเป็น พระภูมิภาค โดยมาก ต่อเมื่อได้สติพระภิกษุผู้เทศน์จึงจะออกเสียงว่า ผู้ ตามตัวหนังสือ

ติ ทรงเห็นว่าเป็นคำไทย เตียน เป็นคำเขมร ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบค้นในภาษาไทยใหญ่และสอบถามชาวพายัพและอีศาน คงได้ความเป็นอย่างเดียวว่า มีแต่ ติ ส่วน เตียน ไม่มี ตรงดังที่ทรงคาดหมายไว้

เสียง อึ อือ ในภาษาไทยถิ่นอื่นไม่มี มีแต่เสียง เออ ในไทยใหญ่ ลึก ก็เป็น เลิก เมือง ก็เป็น เมิง ถึง เป็น เถิง นายสุดชี้แจงว่าเวลาเขียนทางอีศานจะใช้สระ เออ แต่เมื่ออ่านให้อ่านเป็นเสียง เอือ กลายๆ คือ ครึ่งเออครึ่งเอือ ลางทีเสียง อึ อือ จะเป็นเสียงที่ไทยได้มาจากชาติอื่น แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังสอบสวนไม่ได้ตลอด

ที่ประทาน ความหมายในคำ จบ ว่าเคลื่อนที่มาหลายต่อ เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด เพื่อให้เห็นความหมายย้ายที่ ในตำรานิรุกติศาสตร์อธิบายไว้ว่า ความหมายของคำเป็นดั่งลูกโซ่ มีแนวเทียบเป็นเครื่องเชื่อมให้ต่อกันเป็นเส้นเดียว คือความหมายเดิมในคำ ขยายตัวออกไป โดยเอาไปเทียบเข้ากับสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แล้วนำเอาคำนั้นไปใช้ในความหมายใหม่ ห่างไกลออกไปทุกที มีลักษณะดั่งลูกโซ่ฉะนั้น

เรื่องคำเขมรกับคำไทยพ้องกัน ถ้ามีอยู่ในคำไทยทุกถิ่น แต่ไม่มีอยู่ในตระกูลภาษามอญ-เขมร ข้าพระพุทธเจ้าก็ถือว่าเป็นคำไทย คำที่กล่าวนี้จะต้องเป็นคำที่ชาติต่าง ๆ ต้องมีคำใช้มาแต่เดิม เช่น คำที่เนื่องด้วยชื่อต่างๆ ของร่างกาย ชื่อเครือญาติ เช่น พ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา เป็นต้น ชื่อสิ่งธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ ชื่อที่เกี่ยวกับลักษณะอาการสามัญ เช่น กิน เดิน นั่ง นอน คำซึ่งเกี่ยวกับที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Cultural borrowing จะต้องกันเอาไว้ต่างหาก เพราะต่างชาติอาจยืมคำที่ตนไม่มีมาใช้ได้ ข้อแปลกในคำเดิมของไทย ไม่มีคำว่า เดิน และ จมูก ไทยอื่นทุกแห่งเรียกจมูกว่า ดัง ลัง ทั้งนั้น จมูก มีอยู่ในตระกูล มอญ-เขมร ทุกพวก ผิดเพี้ยนกันแต่ในเรื่องเสียงย้ายที่ตามกฎของกริมเท่านั้น ด้วยเหตุดั่งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงถือว่า เดิน และ จมูก เป็นคำในตระกูลมอญ-เขมร ไม่ใช่คำไทยเดิม

ก สองตัว หรือ น สองตัว คำอธิบายในปทานุกรมก็เรียกว่า ก หัน น หัน เหมือนกัน ร หัน พอจะเห็นเหตุ เพราะเมื่อออกเสียง รอ ปลายลิ้นซ้อนขึ้นดังรูปหันอากาศ แต่ที่เรียกว่า ก หัน น หัน จะอาศัย ร หัน เป็นแนวเทียบหรือจะอย่างไร ข้าพระพุทธเจ้ายังจนด้วยเกล้า ฯ

พระ ทรงคิดว่าตั้งใจจะผสมตัวให้เป็น ฟ้า เทียบคำ เจ้าพระขวัญ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริทุกประการ ในคำไทยโบราณมีคำว่า พระหาม หรือ พระฮาม แปลว่า เวลาเช้ามืดจวนจะสว่าง รุ่งฟ้า คำนี้ทางพายัพใช้ว่า ฟ้าฮ่าม ข้าพระพุทธเจ้าลองค้นเสียง ฟ ในภาษาต่างๆ ได้ความจากหนังสือเล่มหนึ่งว่า สํสกฤต ทมิฬ มงโกเลียน ตาดลางพวก พะม่า มอญ ไม่มีเสียง ฟ ในภาษาจีน พวกที่ออกเสียง ฟ ไม่ได้ คือแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน และไหหลำ ตลอดจนญวน ถ้าเป็นคำมีเสียง ฟ ในชาวอื่น ก็จะเป็น ฮ ฮว และ พ เช่น ฟุก ฟัด ฝุง ในกวางตุ้ง ก็เป็น ฮก ฮวด ฮง ในแต้จิ๋ว และฮกเกี้ยน เป็น พุก พัด พง ในไหหลำ แล้วมาเป็น พุกนะ พัฒน์ และ พงศ์ ในภาษาไทย ไทยใหญ่ อาหม ไทยนุง ไทยขาว ไม่มีเสียง ฟ ใช้เสียง พ แทน ไทยโท้ใช้เสียง ว แทน คงมีเสียง ฟ แต่ไทยย้อยเท่านั้น ข้าพระพุทธเจ้ายังรวนเรใจในข้อที่เสียงไทยเดิมมี ฟ หรือไม่ ถ้าจะดูตัวอย่างที่กราบทูลมาข้างต้น น้ำหนักไปข้างไม่มีเสียง ฟ มาแต่เดิม เพราะไทยถิ่นอื่นส่วนมากไม่มีเสียง ฟ

เรื่องเสียงสั้นเสียงยาวตามตัวอย่างที่ประทานแก่ข้าพระพุทธเจ้า ดีเป็นที่สุด เพราะทำให้เห็นชัดว่ามาจัดให้ต่างกันขึ้นในทีหลัง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นคำเขียนมีสระอาในภาษาไทย แต่ในหนังสือไทยใหญ่เขียนเป็นพยัญชนะตัวเดียว ไม่มีสระอาก็มี ที่ลากข้ามสระอาก็มี เช่น ก๊=ค้า กา=กา (นก) ก้า=ค่า จ๊=ช้า (ชั่ว) จ๋า=จา(หารือกัน) จา=ช้า (หยาบ) ท=ท้า ถา=ถา(โกน) ท่า=ท่า(คอย) น=น้า หนา=หนา น่า=น่า(ตา) นา=นา พ=พร้า พ=ฟ้า ผา=ฝา ผ่า=ฝ่า ผา=ผา ผ้า=ผ้า ม=ม้า หมา=หมา หม่า=บ่า ม่า=บ้า มา=มา ล=ล้า หล่า=ด่า ล่า=ล่า ลา=ลา พิจารณาตามตัวอย่างเหล่านี้ เสียงสั้นในไทยใหญ่ กลายมาเป็นเสียงยาวเท่ากันหมด คำมีประวิสัญชนี เช่น กะ จะ ชะ ปะ พะ ละ เป็นต้น ทางอีศานและพายัพมีใช้ แต่หนังสือพายัพไม่ประวิสัญชนี ส่วนอีศานใช้ประเสมอไป คำเหล่านี้แปลก ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยพบในไทยใหญ่และในไทยถิ่นอื่น ๆ สักคำเดียว คำเสียงสั้นยาวมี น้ำ อีกคำหนึ่ง ซึ่งชาวชนบทลางแห่งออกเสียงสั้นตามตัวหนังสือ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เสียงสั้นยาวจะมาผิดเพี้ยนกันไปเพราะด้วยระดับเสียง คำที่มีระดับเสียงไม้โท อีศานออกเสียงเป็นไม้เอก เช่น ม้า ก็เป็น ม่า ฟังเสียงสั้นกว่า ม้า เล็กน้อย เสียงอักษรกลางที่เป็นเสียงปกติของไทย ก็เป็นเสียงจัตวาในไทยถิ่นอื่น เช่น กะ จะ ปะ ก็เป็น ก๊ะ จ๊ะ ป๊ะ ฟังยาวออกไปนิดหนึ่งด้วยอำนาจไม้ตรี

เรื่องขุน ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในพจนานุกรมไทยใหญ่ ในคำว่า ขุน แปลไว้ว่า เจ้า ผู้ครองเมือง ผู้มีตำแหน่งในราชการ ถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินใช้ว่า ขุนหอคำ ซึ่งพะม่าและไทยเอามาใช้เรียกว่าพระเจ้าปราสาททอง ขุนหลวง แปลว่า อัครมหาเสนาบดี ลางที ขุน มีคำว่า กวัน เข้าคู่เป็น ขุนกวัน แปลว่า ขุนนาง ญวนเรียกขุนนางว่า กวัน ซึ่งอีศานก็มีใช้ อาจได้ไปจากญวน ในภาษาจีนมีคำว่า กวั๊น ในเสียงกวางตุ้ง และ กัว ในเสียงแต้จิ๋ว แปลว่า ขุนนาง ข้าพระพุทธเจ้าคิดนอกทางออกไปว่า ขุน ในคำว่า ขุนนาง จะเป็นคำเดียวกับ กวัน ไม่ใช่ ขุน ที่หมายความว่า เจ้า เผอิญเสียงใกล้กันมาก อาจเอามาใช้สับสนกันได้ แต่ทำไมจึงมีคำ นาง ต่อท้าย ดูคำว่า นาง ในไทยใหญ่ ก็แปลว่า เจ้าหญิง หญิงมีสกุล ภรรยาของขุนนาง และเป็นคำประกอบหน้าคำที่เป็นชื่อผู้หญิง ความก็ตรงกันกับของไทย ข้าพระพุทธเจ้าค้นไม่ได้ความว่า นาง ในคำว่า ขุนนาง แปลว่าอะไร นอกจากตราเอาไว้ว่า นาง คือภรรยาขุน เอามาเข้าคู่กัน คำ ลูกขุน ก็แปลก ถ้าเป็นโอรสพระเจ้าแผ่นดิน ไทยใหญ่เรียกว่าลูกขุนหอคำ ในภาษาจีนมีคำว่า หลกกุน เป็นชื่อตำแหน่งราชบัณฑิต ๖ ตำแหน่ง มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเกี่ยวด้วยราชพิธีโหราศาสตร์และประเพณี ถ้าจะพิจารณาดูเรื่องลูกขุนของไทยกับหลกกุนของจีน ทั้งเสียงและความหมายก็ใกล้กันมาก คุณ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เคยตรัสบอกข้าพระพุทธเจ้าว่า จะมาแต่คำว่า คน เพราะอาหมเขียนคน เป็น คุณ แต่ในหนังสืออาหม ถ้าจะอ่าน คน ต้องเติม อุ อย่างเขมร มิฉะนั้นจะอ่านเป็น คอน ไป ที่ คุณ ขุน ไม่มี คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเนื่องมาแต่เสียงใกล้กัน ไม่ถนัดปาก หรือว่า คุณ จะเพี้ยนไปจาก ขุน ในภาษาจึงไม่ใช้เข้าคู่

ข้าพระพุทธเจ้าถวายคำตอบลายพระหัตถ์ยังขาดอยู่อีกหลายข้อ เพราะข้าพระพุทธเจ้ากำลังสอบสวนค้นคว้าต่อไป เพราะได้แนวทางจากข้อความที่ตรัสไว้ในลายพระหัตถ์

ข้าพระพุทธเจ้าพบชื่อตำบลในจังหวัดเชียงรายว่า บัวสลี ชาวจังหวัดนั้นชี้แจงว่า บัว แปลว่า ตรา สลี แปลว่า โพ ย่อมาจากคำ ศรีมหาโพธิ์ บัวสลี หมายความว่า ตราใบโพ คำ บัว นั้นใช้ตลอดไปถึงตราประทับ เช่น ตราหงส์ ก็เรียกว่า บัวหงส์ เป็นคำสามัญใช้อยู่เป็นปกติ ถ้า บัว แปลว่า ตรา บัวแก้ว ก็ควรเป็น ตราแก้ว เหมาะที่จะเป็นตราเจ้าพระยาพระคลัง เพราะเกี่ยวด้วยแก้วแหวนเงินทอง แต่ข้าพระพุทธเจ้าสอบค้นคำบัว ในภาษาไทยถิ่นอื่น ที่แปลว่าตรา ไม่มี คงมีแต่คำ บัว ซึ่งเป็นชื่อไม้เท่านั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ