๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ยส

สำนักนายกรัฐมนตรี

๕ มีนาคม ๒๔๘๕

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

เมืองตองอู เขียนตัวโรมันเป็น Tounoo หรือ Tongu อาจอ่านเป็น ตอนกู ได้ ทรงเห็นว่าควรจะเขียนแบ่งตอนเป็น Toung-oo พระดำรินี้ไปตรงกับในหนังสืออังกฤษเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือราชการว่าด้วยประเทศพม่า ในหนังสือเล่มนั้นเขียนเมืองตองอู แบ่งตองเป็น Toung-ngoo กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่า ตองอู ที่ถูกอาจเป็น ตองงู ก็ได้ แต่ก็ไม่แน่ เพราะการถอดเสียงจากคำต่างประเทศ สำคัญอยู่ที่ผู้บอก ถ้าผู้บอกเป็นชาวพะม่าด้วยกัน แต่เป็นคนละถิ่น ก็อาจออกเสียงผิดหรือเพี้ยนกันได้ เมืองย่างกุ้ง หรือ แรงกุน ตามที่เขียนเป็นตัวโรมัน ชาวพะม่าออกเสียงว่า ยันกูน ก็มี ยังกุ้ง ก็มี เมือง พะโค พะม่าเรียกว่า แป่กู้ เสียงใกล้กับ Pegu ของฝรั่ง ซึ่งคงได้มาจากเสียงชาวพะม่า ส่วนพะโคของไทยอาจได้มาจากชาวมอญ แม่น้ำสะโตงในภาษาอังกฤษ เขียนเป็น sittang ในหนังสืออังกฤษเล่มที่กราบทูลไว้ข้างต้นเขียนเป็น Tsittaung คือ จิตตอง

Sabotage เป็นคำฝรั่งเศษอ่านว่า สโบตาจ แปลว่าลอบทำอันตรายแก่สิ่งของหรือสถานที่สาธารณะ เป็นคำที่อังกฤษยืมเอาไปใช้ไม่สู้ช้านาน จึงไม่มีในพจนานุกรมภาษาอังกฤษดั่งที่มีพระดำริ ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านอย่างอังกฤษเป็น สโบเตช ชื่อเมือง Vichonigpgn เป็นคำในภาษาฮอลันดา ข้าพระพุทธเจ้าก็จนด้วยเกล้า ฯ อ่านไม่ได้ pgn ถ้าถือว่า g เท่ากับ ย ก็จะต้องเป็น ปิญ ทั้งหมดก็ควรจะเป็น วฉอนิกปิญ มีเมืองอยู่เมืองหนึ่ง อยู่ทางประเทศโปแลนด์ คือเมือง Przemysl ว่าเป็นคำในภาษาสลาฟ ข้าพระพุทธเจ้าเคยทูลถามหม่อมเจ้าทองทีฆายุว่าอ่านอย่างไร ก็ได้ยินเสียงพรืดติดกันหมดเป็นทำนอง เปชมิชสลี จดเป็นตัวไทยไม่ลง ในตำรานิรุกติศาสตร์ว่า ภาษาโปล มีสระ ร ซึ่งไม่มีใช้อยู่ในภาษาอื่น

เมือง Ipoh แขกมลายูอ่านว่า อิโป คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ตัว h เห็นจะต้องการให้เป็นเสียงผัน เสียงไม้โทในอักษรสูง อักษรกลาง ถ้าออกเสียงไม่ระวังก็มักทำให้เสียงสั้น การใช้อักษร ถ้าอยู่หลังสระเป็นเครื่องหมายว่าเป็นเสียงสั้น ถ้าอยู่หน้าหรือหลังพยัญชนะ ก็ทำให้พยัญชนะนั้นเป็นเสียงสูงขึ้น ซึ่งในตำราเรียกว่าเสียงหนัก เสียงหนักมีสองอย่างคือ หนักอย่างแขง ได้แก่ ห และอ่อนได้แก่ ฮ (hard and soft aspirates) เช่น ก+ห=ข ก+ฮ=ค ที่เขียน บาท ว่า baht ต้องการจะให้ ht เท่ากับเสียง ท แต่ตัวสกดในคำ บาท ไทยออกเสียงอุบไว้ไม่ได้ มีเสียง ท ระเบิดออกมา ประโยชน์ที่ได้ในการเขียน baht ก็แต่ตัวหนังสือเท่านั้น จะใช้ bat ก็ออกเสียงเป็น บาท เท่ากัน

ล่องกับร่อง คิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะเป็นคนละคำ ในไทยใหญ่ ล่อง หมายความว่ารู ใช้เป็นคำคู่ว่า ฮูล่อง ล่อง อีกคำหนึ่งหมายความว่าลอย หรือไปตามน้ำ ส่วน ร่อง (ห้อง) หมายความว่า ลำห้วยขนาดใหญ่ แม่น้ำขนาดเล็ก แม่น้ำ ที่ซึ่งอยู่ในระหว่างสองเสาของเรือน ความหมายหลังแสดงว่าห้องเรือนไม่ต้องกั้นฝา ก็เรียกว่าห้องได้ ในปทานุกรมว่าห้องคือที่กันเป็นส่วนของเรือนหรือตึก คงแปลเอาตามความหมายที่เข้าใจกันในปัจจุบัน ในหนังสือเก่ามีคำ เช่น ทรงพระปริยัตติธรรมแตกฉานในห้องพระไตรปิฎก อันมีมาในห้องพระไตรปิฎก ห้อง ในที่นี้คงหมายถึงส่วนแบ่งของพระไตรปิฎก เป็นความหมายขยายตัว ในภาษาไทยมีคำที่ใช้ ร ล สับเปลี่ยนกันได้ เท่าที่ข้าพระพุทธเจ้านึกได้มีอยู่สองคำคือ รังรอง-ลังลอง กุเรา-กุเลา คำแรกเกิดจากออกเลียง ร ไม่ได้ แล้วกลายเป็น ลังลอง และรับเข้าเป็นถูกในภาษา ส่วน กุเรา-กุเลา เป็นคำในภาษามลายู ซึ่งมีอยู่ในพจนานุกรมมลายู ว่าใช้สับเปลี่ยนกันได้ เสียง ร ล ท็มีใช้กันอย่างสับสนก็ในระหว่างภาษาสํสกฤตกับปรากฤต

ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า คำไทย หรือ คำไทยที่ได้มาจากภาษาอื่น จะควรใช้เป็นนามเป็นกริยาหรือคำวิเศษณ์ไม่สำคัญ ความสำคัญอยู่ที่การเรียงคำเข้าประโยค การเรียงนั้นเองเป็นเครื่องบอกให้ทราบถึงหน้าที่คำเหล่านั้น คำพูดกล่าวออกไปได้น้อยคำก็เข้าใจ ผู้พูดผู้ใช้ก็มักนิยมใช้คำนั้น เมื่อใช้กันจนแพร่หลายเป็นที่เข้าใจกันดี สมความมุ่งหมายของผู้พูดและผู้รับรู้แล้ว คำนั้นก็เป็นภาษาขึ้น เช่น หมอรักษาโรค ก็เข้าใจกันดี นับได้ว่าเป็นภาษา ถ้าพิจารณาแยกความหมายแต่ละคำ คำว่า รักษาโรค ก็ดูประหนึ่งจะเฝ้าถนอมโรคนั้นไว้ ถ้าจะเติมคำให้ชัดว่า รักษาโรคให้หาย ความเยิ่นเย้อเพราะไม่มีใครใช้กัน คงจะเป็นเพราะเหตุนี้ ลางทีจึงแก้เป็น บำบัดโรค ก็มี โดยเหตุที่คำว่า รักษา มาใช้ในที่นี้จนเป็นที่ซึมทราบกัน จึงเป็นลักษณะหนึ่งของคำที่มีความหมายย้ายที่ เกิดเป็นความหมายขึ้นอีกความหมายหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า คำ แพ้ ซึ่งแปลว่าชนะ มากลับเป็นมีความหมายตรงกันข้ามหมายว่า พ่าย ก็น่าจะเป็นความหมายย้ายที่ หรือเคลื่อนที่ อย่างคำว่า รักษาโรค หากแต่งยังเก็บเอาตัวอย่างที่ใช้กันอยู่มาพิจารณาไม่ได้เพียงพอเท่านั้น ลักษณะพิเศษของคำพูดเช่นนี้ น่าจะมีอยู่ทุกภาษา เช่นในภาษาอังกฤษ walking stick แยกแปลก็เป็นให้เดินได้ ถ้าเติมคำให้ชัด เป็น stick for walking ก็ไม่เป็นภาษา ตามเหตุผลที่กราบทูลมานี้ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะใช้คำว่า พิมพ์ เป็นกิริยาก็ได้ ในภาษาอังกฤษ print ก็เป็นได้ทั้งนามและกิริยา ใกล้เข้ามาในลักษณะภาษาคำโคด มากกว่าเป็นภาษามีวิภัติปัจจัย ซึ่งเป็นเนื้อแท้ของภาษาอังกฤษ คำว่า ตีตรา เห็นจะได้มาจากสำนวนของจีนซึ่งใช้ว่าตีและติดเข้ามาในภาษาไทย จนกระทั่งคำว่า ตีตั๋ว ปิดตรา ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าถูก เพราะใช้กันแพร่หลายในภาษาแล้ว แต่ถ้าคิดไปก็เป็นอย่างรักษาโรค ดูเป็นว่าเอาอะไรไปปิดทับบนดวงตรา ถ้าพูดว่า ปิดตราบนซอง ความก็ชัด แต่เมื่อใช้เพียงสองคำว่า ปิดตรา ก็เข้าใจ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าภาษาย่อมถือเอาคำที่สั้นกว่าเป็นถูก ในตำรานิรุกติศาสตร์มีหมวดหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงคำ Metaphor ข้าพระพุทธเจ้าใช้ว่าคำอุปมา เขาอธิบายว่าคำแต่เดิมก็มีแต่ที่ใช้แก่สิ่งที่เป็นรูปธรรมก่อน เมื่อเจริญขึ้นจึงนำเอามาใช้แก่สิ่งที่เป็นนามธรรม โดยอาศัยแนวเทียบเป็นดั่งสะพาน เช่น แหลม กลม ก็ใช้แก่สิ่งที่เป็นรูปธรรม แล้วเอาลักษณะที่เห็นนี้เป็นแนวเทียบไปใช้กับสิ่งที่เป็นนามธรรม อันมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เกิดเป็น คนตรง ปัญญาแหลม รสกลมกล่อม เป็นต้น โดยเหตุที่นำเอาคำอุปมาไปใช้ในภาษาเสียนาน คำเหล่านั้นก็ไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นอุปมา เช่น ฝากฝัง หยาบคาย ถูกใจ นิ่มนวล เป็นต้น คำว่า ทิ้งไฟ คิดด้วยเกล้า ฯ ก็เป็นอย่างลักษณะที่กราบทูลมาข้างต้นนี้ ทิ้ง จะไม่ใช่ภาษาไทย ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ทั้งได้สอบถามผู้รู้ภาษาพายัพและอีศาน ก็ไม่ใช้คำ ทิ้ง คงใช้ว่า ถิ่ม หรือ ทิ่ม ทุกถิ่น พิจารณาคำที่ใช้ในภาษา ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริว่า ทิ้ง จะหมายความว่าปล่อยปละละไป จะละไปด้วยลักษณะไหนก็แล้วแต่คำประกอบ จึงได้มีคำว่า ละทิ้ง ทิ้งขว้าง ทอดทิ้ง (ทอดปลา คงจะหมายถึงเอาปลาไปวางในกระทะ) ทิ้งร้าง สายทิ้ง ทิ้งลอย ทิ้งตัว ที่ประทานความหมายของคำ ทิ้ง ว่า ไม่เอื้อเฟื้อ เหมาะที่สุด

ชื่อวัดไตรมิตต์วิทยาราม ข้าพระพุทธเจ้าก็เคยสดุดตา ได้ทราบเกล้า ฯ ว่าสมเด็จพระวันรัต (เฮง) วัดมหาธาตุ เป็นผู้ให้ ลางทีสมเด็จพระวันรัตจะคุ้นต่อการเขียน มิตต์ อย่างบาลี จะเป็นทำนองเดียวกับมนุษย์ ที่เขียนเป็น มนุสฺส ก็เคยมี กลายเป็นเขียนรุ่มร่ามไป ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกด้วยเกล้า ฯ ว่า ที่โบราณเขียนคำที่รุ่มร่ามให้น้อยตัว ท่านคงเห็นความลำบากมาแล้ว คนภายหลังรู้ไม่เท่าถึงการจึงเห็นเป็นว่าผิด ไปเติมให้เต็มตามลักษณะของภาษาเดิม ก็เป็นอย่างที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ ฯ เคยกล่าวว่า เขียนไม่เป็นไทยอย่างกันเองเสียเลย คำที่ข้าพระพุทธเจ้ารำคาญมีอยู่อีกคำหนึ่ง คือ ปรารถนา แต่ก่อนก็ไม่มี ร อยู่กลาง เมื่อเติม ร เข้าให้ถูกอย่างของสํสกฤต ก็ยังอ่านว่า ปราดถนา อยู่นั่นเอง คำในภาษาอังกฤษ ที่เขาได้มาจากกรีกและละติน และขึ้นทะเบียนเป็นคำสามัญในภาษาอังกฤษแล้ว ก็ไม่ได้เขียนตามอย่างกรีกและละตินเจ้าของเดิม

ข้าพระพุทธเจ้าพบเรื่องขำในชื่อถนนสุรวงษ์ ค่อยเลือนไปเป็น สุริวงศ์ แล้วก็เป็น สุริยวงศ์ เพราะ สุริยวงศ์ มีผู้รู้คำแปลมากกว่า สุรวงศ จึงได้ลากเอาไปเป็นเช่นนั้น ป้ายบอกชื่อถนนทางปากทางด้านใต้ต่อกับถนนเจริญกรุง เขียนว่า ถนนสุริยวงศ์ แต่บัดนี้มีใหม่ขึ้นอีกป้ายหนึ่งทางด้านเหนือเป็น ถนนสุรวงษ์ เห็นทีจะไปทราบขึ้นว่าเป็นชื่อของเจ้าพระยาสุรวงษวัฒนศักดิ์ แต่ป้ายเดิมก็ไม่ปลดออก เป็นฟ้องแย้งกันอยู่ในตัว

เสียง g ข้าพระพุทธเจ้าเคยใช้ถ่ายเสียงเป็น ก อันที่จริงเสียง g ก็เป็นเสียง ก แต่ทำให้เกิดเสียงก้องเท่านั้น ที่ตรงลูกกระเดือกคนมีเอนคู่ฝรั่งเรียก vocal chorde ข้าพระพุทธเจ้าถามแพทย์ในโรงพยาบาลศิริราชว่าเรียกเส้นเสียง สำหรับปิดเปิดช่องลูกกระเดือกที่ลงไปสู่หลอดลม เมื่อเวลาหายใจ ช่องลูกกระเดือกจะเปิดเป็นปรกติ ถ้ากลั้นใจ เส้นเสียงจะยืดตัวปิดช่องลูกกระเดือกไว้ ถ้าเส้นเสียงปิดช่องไว้ไม่สนิท ลมที่พุ่งขึ้นมาโดยแรงก็กระทบริมเส้นเสียง ทำให้เกิดอาการสั่นสะบัด ลมที่หลุดออกมาถูกโคนลิ้นกระดกขึ้นไปปิดเพดานอ่อน กักลมไว้ แล้วเปิดโผละออกมา ก็เกิดเป็นเสียง ค เป็นเสียงที่ไม่มีเสียงสระ อ เข้าช่วย ในตำราบาลีจึงอธิบายว่าพยัญชนะไม่มีเสียงในตัวของมัน ต้องอาศัยเสียงสระเข้าช่วยจึงจะออกเสียงได้ แท้จริงพยัญชนะก็มีเสียง แต่เป็นเสียง noise ไม่ใช่เสียง voice เท่านั้น เสียง ค นั้นถ้าลมไม่ออกทางปากแต่ไปออกทางจมูก โดยลิ้นไก่ปิดช่องไว้ไม่ให้มาทางปาก เสียงนั้นก็เป็น ง ถ้าเส้นเสียงไม่ยืดตัวมาก ลมที่แล่นออกมา ไม่กระทบเสียดสีเส้นเสียง ก็จะเป็นเลียง ก เสียงพยัญชนะเหล่านี้ ถ้ามีเสียงหนักตามออกมาก่อนหรือมาหลัง ในระยะเวลาพร้อมกันก็เกิดเสียงหนักเป็น ข ค และ gh และ หงอ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นแปลกอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าภาษาใดมีเสียง ง ที่ใช้เป็นพยัญชนะขึ้นต้นของคำ ภาษานั้นก็ไม่มีเสียง g ถ้ามีเสียง g ก็ไม่มีเสียง ง ตามที่ทรงพระดำริว่า กะ หนังสือก็เป็น กับ เป็น แก่ ตะ ก็เป็น แต่ ลา หรือ ล่ะ ก็เป็น แล เป็น แล้ว และ กับ แหละ เป็นสมัยใหม่ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องกับกระแสพระดำริ คำเหล่านี้เป็นจำพวกคำกร่อน ได้มีผู้ใช้คำ กะ และ กับ ในลักษณะผิดกัน คือ กะ ใช้เมื่อผู้ใหญ่พูดกะผู้น้อย และใช้ กับ เมื่อผู้น้อยพูดกับผู้ใหญ่ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะ ก็เป็น จัก ได้มีผู้ใช้ จะ ในความหมายธรรมดา และ จัก ในความหมายที่บังคับ เช่น จักไป คือ ต้องไป ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูคำเหล่านี้ในไทยใหญ่ มีคำ กับ แปลว่า เชื่อม ต่อ แก่ แปลว่าคนมีอายุ หัวหน้า สุก มั่นคง ไม่มีคำ แก่ ที่แปลความอย่าง กับ ต่อ แปลว่าพบกันซึ่งหน้า ตีกัน เช่น ไก่ตีกัน ที่พบกันตรงที่เชื่อมกัน แต่ แปลว่าตั้งขึ้น แต่เหง้า ว่า เริ่มต้น คำ แล และ ในไทยใหญ่ ใช้ว่า แล่ แปลเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า with, and, all ตรงกับทั้งในไทยกลาง ส่วนคำว่า แล้ว ที่หมายความว่าเสร็จสิ้น ไทยใหญ่ใช้ว่า เย้า

ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกในพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ ที่ประทานความหมายของคำว่า โล่ เขน และ ดั้ง ว่ามีลักษณะผิดกันอย่างไร ในภาษาไทยใหญ่เรียกโล่ว่า แฮ้ ซึ่งมีความหมายว่าป้องกัน ปัดเป่า ขัดขวางไว้ เอาอะไรกันไว้ ว่าเป็นคำใช้อย่างเดียวกับ แขญ แปลความเดียวกัน แต่ แขญ ไม่ใช้ในความหมายที่ว่าโล่ แขญ กับ แขน ก็ใกล้กัน แต่ยังไม่พบคำนี้ในภาษาไทยถิ่นอื่น เพื่อยืนยันว่าเป็นคำเดียวกัน ส่วน โล่ และ ดั้ง ข้าพระพุทธเจ้า ยังค้นไม่พบ ในภาษาจีนมีคำ โหลว แปลว่าโล่ขนาดใหญ่ ป้อมบนกำแพงเมือง รถรบที่มีหอคอยระวังเหตุ พายสำหรับคัดท้ายเรือ คำ โหลว นี้มีตัวไม้แซกไว้เป็นคำธาตุ แสดงว่าเดิมทำด้วยไม้ทั้งนั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ