๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส

กรมศิลปากร

๒๙ กันยายน ๒๔๘๔

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๗ และวันที่ ๒๔ ไว้แล้ว

ที่ทรงพระเมตตาตรัสประทานเรื่องต้นเหตุของเพลงคำนับชาติไทยแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกปลาบปลื้มในพระกรุณาเป็นล้นเกล้า ฯ ข้อความที่ประทานมานั้นมีค่าเป็นความรู้มากที่สุด

ถ้อยคำในเพลงสรรเสริญพระนารายน์ ซึ่งลาลูแบจดไว้ ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยเดาหลายครั้ง แต่เดาไม่ได้ตลอด เพิ่งได้ทราบเกล้า ฯ ด้วยว่าเคยเป็นเพลงที่มีผู้นำมาเล่นแต่ก่อนแล้ว

ข้าพระพุทธเจ้าได้ค้นคำ ซอ ในพจนานุกรมไทยใหญ่ แปลไว้ว่าร้องเพลง ลางทีก็ใช้ว่า ซอกวาม (ความ) นักร้องเพลงใช้ว่า หมอความ คือผู้ที่ชำนาญในการพูดในการร้องเพลง ในสมุทโฆษคำฉันท์ ตอนไหว้ครู กล่าวความไว้ตอนหนึ่งว่า ทนายผู้คอยความ เร่งตามได้ส่องเบื้องหลัง จงเรืองจำรัสทัง ทิศาภาคทุกพาย ทนายผู้คอยความในที่นี้ คือคนพากย์หนัง ถ้าเทียบกับคำว่า หมอความ แปลว่าผู้พูดผู้ร้อง ในไทยใหญ่ก็ใกล้กันมาก ในไทยใหญ่มีทั้ง ความ และ คาม (คำ) แปลว่า คำพูด ภาษา คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า คาม เสียงจะถูกกว่า คำ เพราะมีคำว่า ความ มาเข้าคู่ ลางทีจะเกรงว่าเสียงซ้ำกับ คามนิคม จึงหดให้สั้นลง คำที่แปลว่า ความ ก็มีอยู่ ในการนับบทกลอนเป็นคำ คำหนึ่งก็คือได้ความตอนหนึ่ง คำว่า หมอ ไทยใหญ่แปลไว้ว่า รู้หรือถนัด และใช้ผสมกับคำอื่นได้มาก เช่น หมอมือ-ผู้ถนัดในการใช้ฝีมือ หมอยา หมอเลกหมอลาย ผู้ถนัดเรื่องหนังสือ หมอหมิบ-ผู้ถนัดนวด หมอช่าง-ผู้ถนัดในการช่าง ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามชาวพายัพถึงคำว่า ซอ เขาชี้แจงว่า ซอ เป็นร้องเพลง ถ้ามีเครื่องดนตรีเข้ด้วยก็บอกชื่อเครื่องดนตรีนั้น เช่น ซอปี่ ซอซึง (ว่ารูปคล้ายพิณ จะเป็น เจ่ง ของจีน ซึ่งในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า เซ้ง) ถ้าการร้องนั้นมีกรับหรือฉิ่งเป็นจังหวะและมีลูกคู่ เรียกว่า ขับ ตรงกับ ขับเสภา ถ้าเป็นร้องอย่างเหล่าเทศน์เป็น ลำนำ คำว่า ลำ ไม่มีใช้ ในภาษาไทยใหญ่ ขับ อธิบายไว้ว่า ร้องเพลงผลัดกัน เช่นหญิงและชายร้องผลัดกันอย่างธรรมเนียมลาว แสดงว่า ขับ คงเป็นคำฉะเพาะในพายัพ ส่วนอีศานไม่มีคำว่า ขับ ในความหมายว่าร้องเพลง แต่จะใช้ว่า ลำ ซึ่งในพายัพและในพจนานุกรมไทยใหญ่ไม่มีคำในความหมายนี้ ทางหลวงพระบางมีคำว่า ขับ แปลว่าร้องเพลง ถึงจะมีลูกคู่รับก็เรียกว่า ขับ คำว่า ซอ ซึ่งพายัพและไทยใหญ่ว่าร้องเพลง ทางอีศานไม่มีใช้ มีแต่ ซอ เป็นเครื่องดนตรี ลางที่อีศานจะได้คำนี้ไปจากหลวงพระบาง เพราะทางนั้นมีคำว่า ซอ ที่แปลว่าเครื่องดนตรี แต่ตัวซอทางอีศานไม่มีใช้ มีใช้แต่แคนอย่างเดียว ซึ่งทางหลวงพระบางพายัพและไทยใหญ่ไม่มี มีผู้ว่าแคนเป็นของมนุษย์ตระกูลชวามลายู ไม่ใช่ของไทยมาแต่เดิม ซอ เครื่องดนตรีนั้นไทยใหญ่เรียกว่า ต๊ารอ หรือ ต้ายอ เทียบเสียงก็ ตร ตรงกับ ซ แล้วมี ตย ไว้ด้วย แสดงว่า ไทยใหญ่ได้ไปทางภาษาพม่า และคงเป็นคำเดียวกับ ซอ ยังมีคำ แอ่ว อีกคำหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ร้องลำกับแคน แอ่ว ไม่มีใช้ทางอีศาน เป็นคำมีอยู่ทางพายัพและไทยใหญ่ แปลว่า เที่ยวแวะเวียนไป เทียบกับคำว่า อิ๋ว ในภาษาจีน แปลความเดียวกัน หนังสือเรื่อง ไซอิ๋ว ก็แปลว่าเที่ยวไปทางตะวันตก ลางทีจะเอากิริยาที่ขับร้องและเป่าแคนแวะเวียนไปตามบ้านในเวลากลางคืน เป็นเรื่องของหนุ่มสาว แล้วความหมายกลายเลือนไปเป็นว่า ขับร้องเข้ากับเสียงแคน ข้อแปลกที่แคนเป็นของอีศาน ทางพายัพไม่มีใช้ แต่แอ่วเป็นของพายัพ ซึ่งทางอีศานไม่มี แต่ที่ใช้เรียกกันอยู่ในกรุงเทพฯ ออกจะสับสน คำว่า ญวน ทรงเห็นว่าชาวพายัพ ลาว หมายถึงชาวอีศาน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในพระกระแสพระดำริ ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในพจนานุกรมไทยใหญ่ มีคำ ยวน แปลว่าเป็นคนลาว ซึ่งในที่นี้หมายถึงชาวพายัพ ในตำนานของไทยใหญ่ใช้คำว่า ลาว เมื่อหมายความถึงชาวพายัพตลอดไปจนถึงชาวอีศาน คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ยวน กับ ยูน ในคำว่า ยูนนาน เป็นคำเดียวกัน ลาวกาว ก็ควรจะมาจาก ลาวแกว ดังที่ทรงพระดำริ เพราะแคว้นตังเกี๋ยนั้น จีนเรียกว่า กาวจี๋ ญวนเป็น ยาวจี๋ ชาวอีศานเรียกญวนทั่วไปว่า แกว แท้ที่จริงจะหมายถึงญวนแกวในแคว้นตังเกี๋ย แล้วภายหลังจึงเลื่อนมาหมายความถึงญวนทั่วไป ญวน กับ ยวน คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเป็นคนละคำ ในคำว่า ญวน จะเกี่ยวข้องกับคำว่า เซ่า หรือ ชวา แคว้นหลวงพระบาง ซึ่งเป็นชื่อชาติข่าครั้งโบราณพวกหนึ่ง

ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบถามนายสดถึงคำว่า แสน นายสุดชี้แจงว่า มีใช้แต่แสนที่หมายความถึงจำนวนนับสิบหมื่น และหมายถึงน้ำหนัก เช่นแสนหนึ่งเท่ากับร้อยชั่ง และแสนซึ่งแปลว่ามากมายนัก เท่านั้น

ข้าพระพุทธเจ้าได้ค้นคูในภาษาไทยต่าง ๆ ไม่พบคำว่า แสน มีแต่ในไทยใหญ่และอาหม เขียนว่า แสญ แปลว่าสิบหมื่นเท่านั้น ส่วนแสน ไม่มีคำในภาษาไทยใหญ่ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า แสนท้าวพระยาลาว จะออกมาจาก แสญ สิบหมื่น ทางพายัพ มีชื่อตำแหน่งคุมคน คือ กวาน เป็นนายพวก มีจำนวนตั้งแต่ ๓ คน ถึง ๖ คน เป็นอย่างมาก ถัดมามีหัวเซา (นายยี่สิบ) หัวร้อย เจ้าพัน เจ้าหมื่น เจ้าแสน และ พระยา ตำแหน่งแสน เช่น แสนสุรินทร แสนเมืองไฟ และตำแหน่งพระยา เป็นชั้นแม่ทัพ เพราะฉะนั้น แสนท้าวพระยา ก็คงเป็นชั้นหัวหน้าคุมคนมากตั้งแสน ทางอีศานมีตำแหน่งหมื่นแสนและเพี้ย (ไม่ใช้พระยา) ตำแหน่งนายสิบ นายร้อย นายพัน ไม่มีใช้ คำว่า จ่าแสนยบดี ก็คงมาจากแสญในภาษาไทย จะไม่ใช่เพี้ยนไปจากคำ ไสน ในสํสกฤต ข้าพระพุทธเจ้าระลึกได้ว่า ดูเหมือนมีคำว่า แสนพลล้าน แกว่นพลแสน เป็นชื่ออยู่ในทำเนียบบรรดาศักดิ์ แสน ในชื่อเหล่านี้ จะเป็นคำเดียวกับ แสญ แปลว่าสิบหมื่น คำว่า ท้าว ทางพายัพ และอีศาน หมายความถึงบุตรผู้มีตำแหน่ง แต่ทางพายัพจำกัดแต่เมื่อเป็นเด็กจึงเรียกว่าท้าว ถ้าเป็นผู้ใหญ่มีตำแหน่งหน้าที่เรียกว่า ขุน คำว่า กวาน ญวนใช้เรียกเป็นตำแหน่งนายทหารชั้นจ่านายสิบ ในภาษาจีนมีคำว่า กุน หรือ กวน หมายความว่าขุนนาง แต้จิ๋วออกเสียง กุน เป็น กัว ไป เช่นภาษาจีนหลวงเรียกว่า กัวอ้วย ถ้าเป็นกวางตุ้งก็เป็น กุนหว่า หว่า แปลว่าพูด ว่าว่า คือคำพูดของกุน

คำไทยที่สกดด้วย จ ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาพบในไทยขาวได้คำเดียวคือ กิจ แปลว่า แผ่นอิฐ คำนี้เห็นจะไม่ใช่คำเดิมในภาษาไทย อาจเป็นคำญวนเพราะใช้คำเดียวกัน ส่วนในไทยใหญ่เรียกอิฐ ว่า อุต ซึ่งอาจเป็นภาษาพะม่า คำในหนังสือทางอีศาน ที่สกดด้วย ร ก็มี นายสุดจดมาให้ข้าพระพุทธเจ้าคือ คำว่า เหมือน หมื่น ดอน เขียนเป็น เหมือร หมื่ร ดร คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เดียรดาษ จะแผลงไปจากคำว่า ดื่นดาด น่าจะเขียนเป็น ดี่รดาด แล้วเพียนเป็นเสียงสระสังโยค ดี่ร ก็เป็น เดียร ไป คำว่า ดาษ ก็จะเป็นเรื่องเขียนให้เป็นรูปสํสกฤต เดิมจะเป็น ดาด ตามธรรมดา ส่วนสกดด้วย ญ นั้น มีดาดดื่นอยู่ในไทยใหญ่ และถ้าคำใดสกดด้วย ญ เสียงมักแปรเป็นเสียงนาสิกค้าง เช่น มุ่ญ อ่าน ว่า ม่วย แปลว่า มุ่นมวย ผม โหญ อ่านว่า หอย แปลว่า ห้อยโหน กุ๋ญ อ่านว่า กุ๋ย แปลว่า ฝ้าย ร้อง เรียกร้องออกมา กุญ อ่านว่า กุ้ย แปลว่า กล้วย ที่คงเสียงอยู่ก็มี เช่น แกญ (แกน) แก่ญ (แก่น) แก้ญ (ก้าน) แกญ (แคน และ แกน) แก้ญ แปลว่า แค้นหรือติดขัดในลำคอ

กลา ตามที่แปลไว้ในพจนานุกรมที่ชำระใหม่ว่า องค์แห่งพิธีบูชา ความเข้ากันได้กับคำที่ว่า กองกูณท์กลาพิธี ข้าพระพุทธเจ้าลองค้นดูในพจนานุกรมภาษาฮินดูสตานี ในคำว่า กลา ไม่พบคำที่ต้องการ คงมีแต่ กลา ในภาษาสํสกฤตซึ่งแปลว่า ภาคส่วนของพระจันทร์ มีคำเสียงใกล้ กลาบาด อยู่คำหนึ่ง คือ กลาปัตติ แต่แปลไว้ว่าดอกหมัน ยาเรือ อุดไม่ให้รั่ว เสียงของคำ ปัตติ ใกล้กับ บัดตรี ในภาษาไทย ความก็ใกล้กัน นอกนี้ พบคำว่า กาไล แปลว่า ดีบุก เคลือบด้วยดีบุก เห็นจะเป็นคำเดียวกับ กาไหล่ ในภาษาไทย

เรื่องพระนามอย่างจีนของพระเจ้าแผ่นดิน ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาในหนังสือทางหอสมุด ยังไม่พบ สอบถามใครก็ไม่ได้ความ เพราะเจ้าหน้าที่เป็นคนรุ่นหลังทั้งนั้น การอ่านการจำยังไม่กว้างขวาง แต่พระนามอย่างจีนนี้เคยประทานข้าพระพุทธเจ้าไว้ มีอยู่ในลายพระหัตถ์ถึงข้าพระพุทธเจ้าลงวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ในนั้นตรัสว่า พระเจนจีนอักษรจำได้และได้กราบทูลถวายไว้ คือ

แต้ฮั้ว รัชกาลที่ ๑

แต้ฮก รัชกาลที่ ๒

แต้เหมง รัชกาลที่ ๓

แต้ฮุด รัชกาลที่ ๔

ตามที่พระเจนจีนอักษรจดถวายไว้นี้ ข้าพระพุทธเจ้าเกรงว่าพระเจนจีนอักษรอาจหลงลืมก็ได้ เพราะมีผู้บอกแก่ข้าพระพุทธเจ้าว่า แต้เหมง เป็นรัชกาลที่ ๔ เขายืนยันว่าจำได้แม่น เพราะเทียบ เหมง กับ มงกุฎ เมื่อมีผู้ท้วงขึ้นเช่นนี้ ประกอบทั้งที่ตรัสว่าทรงจำได้ว่า แต้ฮุด เป็นรัชกาลที่ ๑ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ข้าพระพุทธเจ้าสงสัย ผเอิญข้าพระพุทธเจ้ายังมีลายดวงตราเป็นหนังสือต้านยี่ประจำ ๔ รัชกาล จึงพยายามอ่านดู เพราะมีแนวอยู่แล้ว ก็อ่านออก ข้าพระพุทธเจ้าให้พนักงานภาษาจีนในหอสมุดอ่านสอบ ก็ตรงกัน คงได้ผลดังนี้ แต้ฮุด รัชกาลที่ ๑ ตรงกับที่ทรงจำได้ แต้เหมง รัชกาลที่ ๔ ตรงกับที่มีผู้ท้วง แต้ฮั้ว รัชกาลที่ ๒ และ แต้ฮก รัชกาลที่ ๓ เพราะฉะนั้น แต้เจี่ย ที่มีอยู่ในลายพระราชลัญจกร จึงเห็นว่าเป็นรัชกาลที่ ๕ เป็นอื่นไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายลายดวงตราทั้ง ๔ มาพร้อมกับหนังสือนี้ด้วย

เรื่องเขียนคำบาลีเป็นตัวสกดซ้อนอย่างคำว่า รัชชกาล ข้าพระพุทธเจ้าเกิดรู้สึกรำคาญเมื่อคราวเขียนเรื่องพระราชลัญจกร เพราะต้องเขียนซ้ำคำนี้อยู่มากครั้ง ข้าพระพุทธเจ้าได้ปรารภแก่พระสารประเสริฐว่า แต่ก่อนก็ไม่สู้เขียนตัวสกดซ้อน นอกจากจะเป็นคำสนธิเข้ากับตัวอื่น เช่นราชกิจจานุเบกษา ไม่มีเหตุผลจำเป็นอย่างไรที่จะเขียนให้เหมือนของเดิมให้เสียเวลา ควรจะแต่งตัวให้เป็นไทยเสียดีกว่า พระสารประเสริฐก็เห็นด้วย ในเวลานี้ คำที่มีตัวสกดซ้อน ถ้ามีช่องทาง พระสารประเสริฐและข้าพระพุทธเจ้าเป็นเขียนอย่างเก่าหมดไม่ซ้อนตัว เว้นไว้แต่จำเป็น ด้วยเหตุนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงเขียน รัชชกาล เป็น รัชกาล ดังที่กราบทูลมาข้างตันนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

----------------------------

อักษรจีนศิลาอ่อน มีรูปสิงโตหมอบ

<img>

รัชกาลที่ ๑ ตราอณาโลม

รัชกาลที่ ๒ ตราครุฑ

รัชกาลที่ ๓ ตราปราสาท

รัชกาลที่ ๔ ตรามงกุฎ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ