๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ยส

สำนักนายกรัฐมนตรี

วันที่ ๑๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๓ และวันที่ ๑๔ มีนาคม รวม ๒ ฉะบับไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

จะปิ้ง ในภาษามลายู เป็นคำได้มาจากคำ จะปิญ (Chapiñ หรือ Chapinh) ในภาษาโปรตุเกส หมายความว่าแผ่นโลหะเล็กสำหรับปิดรูภาชนะหรือสิ่งของ ความหมายนี้ยังคงอยู่ในภาษาทมิฬ ภาษามลายู และภาษาไทย เช่น จะปิ้งกุญแจ จะปิ้งเรือ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าเมื่อนำไปใช้เป็นเครื่องปิดบังของหยาบกันเป็นพื้น ความหมายเดิมซึ่งเป็นความหมายกว้างๆ ก็ค่อยหมดไปจนกลายเป็นมีความหมายฉะเพาะ เป็นลักษณะอย่างเดียวกับคำว่า กรรม เมื่อนำไปใช้ในทางที่ร้าย ความหมายก็ค่อยแคบเข้าเป็นหมายความว่า กรรมชั่วไปในคำที่ใช้กันเป็นสามัญ คำว่า ศีลธรรม ก็อีกตัวอย่างหนึ่ง ตามลำพังศีลธรรมก็หมายความในทางดีทางเดียว แต่เมื่อนำเอาคำว่า อันดี เข้าไปประกอบต่อท้าย เพื่อจะเน้นความให้เด่นขึ้น เป็น ศีลธรรมอันดี และเมื่อได้ใช้กันอย่างนี้ แพร่หลายนานเวลาเข้าคำว่า ศีลธรรม ก็อาจมีความหมายเป็นกลาง ๆ ไม่ดี ไม่ชั่วไป

ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งได้ทราบเกล้า ฯ ถึงลักษณะของ พไล ที่ทรงพระเมตตาตรัส ประทานให้ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นเรือนฝากระดานในสวน เขาต่อเป็นหลังคาลาดเทจากฝาข้างเฉลียงบ้านด้านในด้านหนึ่ง ปลูกอยู่กับพื้นดิน ใช้เป็นที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องของสวนที่เก็บเอามา เช่น เป็นที่เรียงพลู เป็นต้น ลักษณะที่ต่อออกมาอย่างนี้ เห็นจะตรงกับ พไล ที่ตรัส เฉลียง ทรงเห็นว่าจะแปลว่า เฉ และ โรง จะเป็นปลูกกับพื้นดิน เรือน เป็นปลูกสูงแทนปลูกโรงบนโคก ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริ ข้าพระพุทธเจ้าได้ความรู้ คิดเห็นกว้างออกไป คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เฉ เฉียง และ เฉลียง จะเปนคำเดียวกัน เฉ ก็เป็นเสียง ง ขึ้นนาสิกค้างของคำ เฉียง ยังมีคำ เฉียง ในคำว่า ลาวเฉียง คิดด้วยเกล้าฯว่าจะเป็นอีกคำหนึ่ง จะหมายความว่า ลาวเชียง หากออกเสียงเพี้ยนเป็น เฉียง ไป เพราะถ้าจะแปลว่า ลาวเฉ ก็ไม่ได้ความ โรง ปลูกกับพื้นดิน ข้าพระพุทธเจ้ายิ่งคิดก็ยิ่งเห็นจริง โรงละคร โรงงาน มามีพื้นขึ้น เป็นเรื่องความเจริญในภายหลัง เดิมก็จะปลูกอยู่กับพื้นดิน พื้นไม้ พื้นฟาก จะมีก็แต่ที่ใช้เป็นที่นอน ซึ่งไม่ต้องการให้ใครขึ้นไปบนนั้นได้มากคน เพราะแบบบางไม่มั่นคง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เรือนซึ่งปลูกในที่ต่ำต้องยกพื้นสูงเพื่อหนีน้ำท่วม แต่เรือนซึ่งปลูกในที่สูงที่ต้องยกพื้นให้สูง ก็คงจะป้องกันสัตว์ร้าย

เรื่องเตาไฟไว้กลางห้องนอน ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นรูปถ่ายของเรือน พวกชาวป่าชาวเขาทำกันอย่างนี้มาก จะเนื่องด้วยอากาศหนาวมาก ต้องการความอบอุ่นของเตาไฟ เรื่องผ้าห่มจะเกิดมีขึ้นทีหลัง ชาติต่างๆ มีจีน อินเดีย ธิเบต และโรมัน นับถือเตาไฟ ถึงกับมีผีหรือเทวดาประจำเตาไฟ คอยให้ความดีความงามแก่คนในเรือนนั้น ก็น่าจะเนื่องมาแต่เดิมเตาไฟเป็นเครื่องให้ความสุขแก่คนจึงต้องนับถือบูชา ครั้นเมื่อเลื่อนลงมาอยู่ในถิ่นที่ซึ่งมีความหนาวบรรเทากว่า หรือมีเครื่องป้องกันหนาวแล้ว ความรู้สึกนับถือเตาไฟมาแต่เดิมก็ยังติดมา คติจีนถือว่า เจ้าประจำเตาไฟจะจดบันทึกความดีความชั่วของคนในบ้านไว้ เมื่อถึงวันก่อนสิ้นปีได้ ๗ วัน เจ้าเตาไฟจะนำบันทึกไป มอบแก่พระภูมิเจ้าที่ และเจ้าประจำเมือง (เจ้าพ่อหลักเมือง) ตามลำดับชั้น แล้วเจ้าประจำเมืองจะนำบันทึกขึ้นไปรายงานเง็กเซียงฮ่องเต้บนสวรรค์ ตอนนี้เรียกกันว่า ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์ ชาวจีนที่นับถือเจ้าเตาไฟมาก คือ ชาวกวางตุ้ง ต้องมีจุดธูปเทียนบูชากันทุกเวลาเย็น การปักธูปเทียน ปักย้ายทิศบ่อยๆ ชาวกวางตุ้งชี้แจงให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า ต้องปักให้ถูกทิศที่เจ้าสถิตอยู่ เพราะเจ้าย้ายที่อยู่ทุกฤดูกาล

ห้องครัวไทยทางถิ่นอื่นเรียกเป็นเตาไฟ ไม่เรียกว่าครัว เพราะครัวในภาษาไทยใหญ่ และพายัพ หมายความถึงสิ่งของ ของใช้ ที่ครัวในไทยกลางหมายความว่าที่หุงต้มอาหาร คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะนำเอาเครื่องใช้ไม้สอยซึ่งไม่เกี่ยวกับเครื่องนอนหรือผ้าผ่อนมาไว้ในโรงหุงต้มอาหาร คำว่า สอย ในคำว่า ใช้สอย ก็แปลก ของใช้แต้จิ๋วเรียกว่า ใช้ กวางตุ้งเรียกว่า โฉย รวมกันเป็นคำคู่ว่า ใช้โฉย ในภาษาแต้จิ๋วเรียกครอบครัวว่า เก คำว่า เถ้าเก หรือ เถ้าเก๋ ก็แปลว่าหัวหน้าครอบครัว แต่กวางตุ้งเรียก เภ ว่า กา ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูคำ เก หรือ กา ที่แปลว่าครอบครัว เขาว่าคำนี้ครั้งโบราณอ่านว่า คับ ทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงคำว่า ครอบครัว ครอบ กับ คับ เสียงช่างใกล้กันมาก ตัวหนังสือจีนเขียนคำ เก เป็นหมูมีหลังคาครอบไว้ ดูประหนึ่งว่า ในครอบครัวต้องมีหมูเลี้ยงไว้ด้วย

คำ กะได ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในคำไทยใหญ่ คงได้ความว่า เขาเรียก คั่นไหล หรือ ขัวไหล ไหล คำเดียวแปลว่า ลาด หรือเทลงมา ขัว แปลว่า สะพานหรือสิ่งที่ทอดข้าม ในไทยใหญ่ออกเสียง ด ไม่ได้ ได ก็ต้องมีระดับเสียงเป็นไม้จัตวา และใช้เสียง ล แทน คำว่า คั่นได และ ขัวได ถ้าพูดเร็วเสียงอาจกร่อนเป็น ขได ได้ แล้วคงแปลงเสียง ข เป็น กะ เป็น กระ โดยอาศัยคำอื่นที่ขึ้นตันด้วย กระ เป็นแนวเทียบ ลากเป็น กระได ไป ส่วนคำ กะได ในไทยถิ่นอื่นก็มี ในไทยย้อยเป็น ไล ไม่บอกระดับเสียงอ่าน ในไทยนุงและไทยขาวเป็น ได เดย และมีคำจีนกำกับไว้ด้วย คำนี้จีนแต้จิ๋วอ่าน ทุย แปลว่ากะได กวางตุ้งอ่านเป็น ท้าย เสียงใกล้กับ ได มาก ทุยท้าย ก็เป็นคำเดียวกัน ต่างแต่ใช้เสียงคนละสระเท่านั้น เป็นอย่างคำว่า อุ้ยอ้าย บุ้ยบ้าย คั่นกะได กวางตุ้งเรียกว่า ป๋านท้าย ป๋าน แปลว่า แผ่นกระดาน แผ่นแบน ถ้าเทียบ ป๋านท้าย กับ แผ่นได ก็ใกล้กันมาก เมื่อได้จับเอาคำต่างๆ ที่มีเสียงและความหมายใกล้กันมาเปรียบเทียบกันดูก็น่าปลาด เช่น ไหล ไถล ก็เป็นกิริยาที่เลื่อนลงมา กะได ไถ ไต่ ไหล่เขา ก็เป็นคำพวกเดียวกัน คำ ป๋าน ก็มี บาน แผ่น แป้น ปื้น ผืน แบน ถ้า5ออกเสียง แบน ให้ขึ้นนาสิกค้างก็เป็น แบ แผ่น ก็เป็น แผ่ เปลี่ยนแม่ กน ให้เป็นแม่ กด ก็มี แป็ดแป๋ เทียบได้กับคำว่า แบนแบ

ข้าพระพุทธเจ้าทราบซึ้งในพระอธิบายเรื่องคำว่า อัศจรรย์ และ อัฒจันทร์ ข้าพระพุทธเจ้าเคยหลงเข้าใจผิดเป็นว่า อัศจรรย์ จะเขียนผิดมาจาก อัฒจันทร หาได้เฉลียวคิดว่า อัฒจันทร ต้องเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก ควรเป็นที่รองเชิงกะได เป็นเรื่องลากเข้าความที่ทำให้หลงผิดได้สนิท ข้าพระพุทธเจ้ายังติดใจที่จะสืบสาวเรื่องอัศจรรย์ต่อไป

เรื่องอักขรวิธีที่ประทานความเห็นแก่ข้าพระพุทธเจ้า มีคุณค่าสำหรับเป็นแนวทางให้ข้าพระพุทธเจ้าเกิดความคิดเป็นอย่างยิ่ง เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้ เรื่องแก้สิ่งที่เคยชินกันมาเป็นแก้ยากอย่างยิ่ง เพราะผู้รู้สึกซึ้งในวิชาด้านเดียว ย่อมมองไม่เห็นด้านอื่น ฝรั่งว่าผู้รู้วิชาฉะเพาะด้านเดียว ถ้ารู้สึกซึ้งมักทำให้ผู้นั้นตามืด มีใจไม่กว้างขวาง ส่วนผู้ไม่รู้ก็ไม่อยากจะเปลี่ยน เพราะไปรบกวนกับความเคยชินของตน ในภาษาอังกฤษเองมีอักษรเพียง ๒๖ ตัว ในตำราภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งกล่าวว่ายังมีลางตัวที่เฝือ เช่น C. J. Q. X. นอกนี้อักษรบกพร่อง เพราะมีอักษร ๒๒ ตัวเท่านั้นที่ใช้แทนเสียงตั้ง ๔๓ เสียง ลางตัวก็ออกเสียงเป็นต่างๆ ลางตัวเมื่อเขียนไว้ก็ไม่ออกเสียง เขาให้ตัวอย่างอ่าน

A rough-coated, dough-faced ploughman strode coughing and hicoughing through the streets of Scarborough ในที่นี้มีเสียงสระ ough อ่านผิดกันทั้งนั้น แต่การแก้ไขตัวหนังสือเป็นเรื่องแก้ยากที่สุด ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายคำมลายูที่เคยใช้อยู่บ่อย ๆ โดยมากเป็นคำเกี่ยวกับภูมิศาสตร์คือ :-

Kuala ปากน้ำ

Sungei แม่น้ำ

Tanjong แหลม

Gumong, Bukit ภูเขา

Teluk อ่าว

Palau เกาะ

Laut ทะเล

Padang ทุ่งราบ

Padang Besar ทุ่งใหญ่

Kampong หมู่บ้าน

Negeri, Tanah, Desa เมือง ประเทศ แผ่นดิน

Guah คูหา

Salatan ทิศใต้

Tufan, Ribut, Tampias พยุ

ในคำเหล่านี้ มีผู้เดาว่า ภูเกต มาจาก บูกิ้ต ในภาษามลายูแปลว่า ภูเขา แต่ก็ยังไม่มีเหตุผลมาสนับสนุนว่าทำไมจึงเอาภูเขามาตั้งเป็นชื่อเกาะนั้น กำปง ซึ่งแปลว่า หมู่บ้าน ไปตกอยู่ในประเทศเขมรก็หลายแห่ง เช่น กำปงจาม บ้านแขกจาม กำปงชะนัง บ้านหม้อ เป็นต้น ตานะ ซึ่งแปลว่า แผ่นดิน คำว่า ตะนาวศรี มลายูเรียกว่า ตานะศรี สลาตัน ตกมาในภาษาไทยเป็นหมายความว่า พยุ เดิมก็จะหมายความเพียงเป็นลมใต้ คำ ตูฟ่าน แปลว่า พยุ เห็นจะเป็นคำเดียวกับไต้ฝุ่น ซึ่งในภาษาจีนว่า ลมใหญ่ ลมหลวง ตรงกับในไทยใหญ่ เรียก พยุ ว่า ลมหลวง เดี๋ยวนี้เขียน ลมไต้ฝุ่น เป็น ไตฟุน คงจะถอดคำเอามาจากคำอังกฤษ จะไม่ทราบว่าเดิมเรียกกันว่า ไต้ฝุ่น ส่วน ตัมเบียส ในภาษามลายูอีกคำหนึ่ง ซึ่งแปลว่า พยุ เห็นจะมาจากคำ tempest ในภาษาอังกฤษ พยุ ในปทานุกรมแก้เป็น พายุ ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วย เพราะ พายุ ก็เป็นแต่แปลว่า ลม ไฉนจะมาหมายความว่า ลมหลวง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นคำเขมรที่เขาถอดเป็นตัวไทยก็ใช้เป็น หยุะ ในพระบรมราชวินิจฉัยในรัชกาลที่ ๔ ว่า พยุ มาจาก หยุห ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าถูกมากกว่า พายุ

ที่ทรงพระเมตตาประทานอธิบายถึงคำ จำโนดโจตนา เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ ข้าพระพุทธเจ้าเขลา คิดไม่ถึงว่ามาทางเสียงเขมร ที่ทรงแนะถึงเล่ห์เหลี่ยมแห่งการเขียนป้าย ดีเป็นที่สุด แต่ก็ไม่สู้มีใครคิดถึงข้อเหล่านี้ ไปพะวงเสียด้วยเรื่องสีงามหรือไม่งาม มากกว่าเรื่องจะแลเห็นหรือไม่เห็น

ข้าพระพุทธเจ้าเคยซักถามญี่ปุ่น ซึ่งมาเป็นกรรมการร่วมงานกับข้าพระพุทธเจ้าถึงเรื่องผ้าปกคอทหารญี่ปุ่น เขาอธิบายว่าผ้าปกคอนี้ ทางทหารจ่ายให้ไว้ประจำตัวทหารทุกคน ถ้าต้องการใช้เพื่อกันแดด ก็เอาติดเข้ากับหมวกแก้บได้ ไม่มีข้อห้ามว่าใครจะใช้หรือไม่ใช้เวลาใดก็ได้ ทหารม้าฝรั่งเศสมีเป็นผมห้อยปกคอ เดิมก็คงเนื่องมาจากจะบังอาวุธดังที่ทรงพระดำริ ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นรูปนายทหารตาดโมกัลที่มาได้เป็นใหญ่ในอินเดีย เวลารบกันบนช้าง สวมหมวกมีรูปอย่างหมวกทรงประพาสของไทย ซึ่งคงจะได้แบบอย่างมาจากอินเดีย

เมืองกัลกัตตา ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านพบคำอธิบายว่ามาจากคำ กาลีฆาต ในภาษาฮินดี แปลว่า ท่าข้ามของพระนางกาลี ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่าจะเป็นคำชนิดลากเข้าความ จำพวกคำเช่น สัตตหีบ ก็ว่า หีบ ๗ ชั้น ที่พระเจ้าอู่ทองหนีห่าลงไปซ่อนอยู่ฉะนั้น คำในภาษาธิเบตซึ่งถอดออกเป็นตัวโรมัน มักมีอักษรตัวเล็กแซกอยู่กับอักษรตัวโต ไม่ทราบเกล้าฯ ว่าอ่านกันอย่างไร ภายหลังข้าพระพุทธเจ้าสอบถามพระฝรั่งชาติลัตเวียน ซึ่งเคยสำนักอยู่ในหอนาฬิกาสวนลุมพินี คงได้ความว่า อักษรตัวเล็กไม่ต้องออกเสียงอ่าน เขาลงไว้ด้วยก็เนื่องจากอักขรวิธีของหนังสือธิเบต เห็นจะอย่างตัวการันต์ในภาษาไทย

ที่ทรงเห็นว่า baht จะเขียนหลบคำ bad bat นั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เฉลียวคิดไปถึง เรื่องเสียง ง ในปักษ์ใต้ เป็น ฮ ทรงยกตัวอย่างคำ งั่ง เป็น ฮั่ง แปลว่าทองแดง ข้าพระพุทธเจ้าก็เพิ่งทราบเกล้าฯ ได้ค้นหาที่มาและคำแปลของคำนี้มาแต่ก่อนก็ไม่พบ มีแต่ในภาษากวางตุ้งอยู่คำหนึ่ง คือ หง่อง แปลว่า โง่เซอะ ความไม่เข้ากันกับรูปงั่งที่ทำด้วยโลหะ เรื่องเสียง ง เป็น ฮ นี้ ในภาษาไทยกลางก็มี เหงื่อ-เหื่อ (พ) งัว-ห้า (แต้จิ๋ว โหงว) งับ-หับ งาม ในภาษาไทยใหญ่แปลว่า ดี ดียิ่ง ไม่มีความหมายว่าในทางงดงาม ถ้าแปลง ง เป็น ฮ และแปลง ฮ เป็น ร ก็เป็น งาม-ฮาม-ราม ราม แปลกันว่า งาม เช่น นงราม ไม่โต ไม่ใหญ่ เป็นอย่างพอดี เช่น พิหารอันใหญ่ พิหารอันราม งามที่ไทยใหญ่แปลว่าดี คงจะเป็นความเดิมที่แท้ ยังมีคำคู่ เช่น ดีงาม คุณงามความดี แต่สิ่งใดเหมาะเจาะสิ่งนั้นก็เป็นงาม เป็นความหมายที่เคลื่อนที่ด้วยหลักคำอุปมาอีกต่อหนึ่ง คำว่าสวยงาม ไทยใหญ่ใช้ว่า ฮ่างหลี คือรูปร่างดี ทางพายัพ งาม ใช้ว่า หมดจด แต่ข้าพระพุทธเจ้าจำไม่ได้ถนัด สวย ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยพบในภาษาไทย แต่ในกวางตุ้งมีคำว่า โฉย แปลว่างาม ในภาษาอาหมมีคำ งอน แปลว่า งาม ผิดกับคำไทยกลางที่ งอน เป็นอีกความหนึ่ง

ในระหว่างข้าพระพุทธเจ้าค้นหาคำต่าง ๆ ในภาษาไทยใหญ่ พบคำ จอน แปลว่าเอาอะไรเสียบหรือแซกเข้าไว้ในระหว่างพื้นขนาบข้าง ทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงคำว่า กรรเจียกจอน จอนหู คำ จอน ในที่นี้คงแปลว่าเสียบ หรือ ทัด นั่นเอง

ที่ทรงสันนิษฐานว่า หน้าต่างซึ่งทำลายบานเป็นลายทรงเข้าบิณฑ์ในกรอบก็แสดงว่าม่าน พระดำรินี้ข้าพระพุทธเจ้าเห็นจริง เพราะเรือนทางภาคอีศาน นอกจากกั้นเป็นซ่วมไว้ ก็เปิดเป็นห้องโถง ต่อมาคงใช้ม่านกั้นแทนฝาเป็นแน่ ส่วนหน้าต่างอย่างสมัยใหม่คงจะไม่มี จะมีก็คงเป็นช่องโล่งใช้ม่านบัง ทางอีศานจึงได้เรียกหน้าต่างว่า ป่องเอี้ยม แปลว่า ปล่องเยี่ยม ในไทยใหญ่เรียกว่า ฮูลางเต็น ฮู-รู ลาง-กรอบ เป็นช่องที่ยกไว้ในที่สูง เต็น-ตะเกียง หรือ เทียน คำ เทียน ในภาษามลายูเป็น ทิยัน อาจเป็นคำมาจากอินเดียก็ได้ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ได้สอบค้น

ห้อง กับ ห้วง ทรงเห็นว่าน่าจะเป็นคำเดียวกัน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าถูกตามกระแสพระดำริแน่ นาปรัง กับ นาปลัง ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นไม่พบว่าเป็นภาษาอะไร เคยพบมาครั้งหนึ่งดูเหมือนจะเป็น ปรัง แต่ค้นซ้ำอีกก็ไม่เจอ ข้าพระพุทธเจ้าเคยเขียน ปรัง เสมอ ที่เขียนเป็น ปลัง ไม่เคยเห็น พระแกล กับ พระแกร พระกลด กับ พระกรด ข้าพระพุทธเจ้าเคยใช้ แกล และ กลด คิดด้วยเกล้าฯว่า แกร และ กรด จะไม่ถูก แต่ก็ไม่มีหลักฐานมายืนยัน นอกจากเคยเห็นหนังสือเก่าเขียนเป็น แกล และ กลด ทั้งนั้น ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในพจนานุกรมภาษามลายู ไพล่ไปเจอคำ กรส แปลว่า แขงแกร่ง มั่นคง แขงซื่อ เข้มงวด ดื้อ ปราศจากปราณี คำนี้เองจะเป็นคำเดียวกับ กรด ในภาษาไทย

ที่ทรงเห็นว่าวัดไตรมิตต์ ถ้าจะเปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนเป็นวัดสามไทยจะดีกว่า ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริ เพราะฟังเป็นคำไทย เรียกง่าย และมีตัวอย่าง สามพระยา สามพิหาร ดังที่ตรัสอยู่แล้ว คำที่ขึ้นต้นด้วย สาม ข้าพระพุทธเจ้าแปลไม่ออกอยู่ในคำว่า สามเพง จีนแต้จิ๋วว่ามาจาก สามเผง คือ ศานติทั้งสาม แต่เหตุไรจึงตั้งชื่ออย่างนั้น และศานติทั้ง ๓ มีอะไรบ้างก็ไม่มีอธิบาย จะเป็นเรื่องลากเข้าความมากกว่า คำ สามเพง ต้องเสียชื่อที่ตกไปเป็นคำในภาษาเขมร โรงเร็ยซำเพง หมายความว่าสถานที่นครโสเภณี ภาษาทางโคราช สามเพง หมายความว่า หญิงชั่ว แต่ก่อนนี้เมื่อด่าทอกันก็อ้างเอาคำ สามเพง ขึ้นมากล่าว ทั้งนี้คิดด้วยเกล้าฯ ว่า แต่ก่อนที่เที่ยวสนุกสนาน ก็มีแต่สามเพง หญิงนครโสเภณีซึ่งเป็นเงาตามตัวแห่งความเจริญของที่ซึ่งเที่ยวเตร่สนุกสนานกัน ก็ต้องมีแต่ในสำเพง สำเพงจึงพลอยเสียชื่อไปด้วย กลายเป็นคำติดอยู่ในภาษา

คำว่า ญี่ หรือ ยี่ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเคยค้นหาคำแปลมานานแล้วก็ไม่ได้ความ เช่น ยี่ส่าย ยี่เข่ง ยี่สุ่น ยี่หุบ ยี่สง ยี่โถ คำเหล่านี้คงเป็นคำจีนแต่เพี้ยนเสียงไปจึงค้นหาคำเดิมไม่พบ ญี่ เห็นจะเป็นภาษาจีนตามที่ทรงคาด เพราะในไทยใหญ่และไทยต่าง ๆ ใช้จำนวนถัดจากหนึ่งว่าสอง มากกว่าคำว่า ญี่

ที่ตรัสประทานคำ หนังดั้ง ให้ทราบเกล้าฯ เป็นประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้ามาก พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าพยายามค้นหาคำว่า ดั้ง ยังไม่พบ แต่ตัวอย่างที่ประทานมาในคำว่า ดั้ง ไม่พ้นจากความที่ตรัส คือ แปลว่า หน้า หรือจะมาจากคำว่า ดัง ในภาษาไทย ซึ่งหมายถึงจมูก ตกมาเป็นคำไทยกลางเพี้ยนเป็น ดั้ง หมายความถึงสันจมูก ซึ่งยื่นออกไปข้างหน้า แต่ที่กราบทูลมานี้อาจเป็นเดาลากเข้าความก็ได้ เขน ในปทานานุกรมเขียนเป็น เขล ว่าเป็นคำสํสกฤต แปลว่าเล่นสนุก การเล่นออกแรง การเต้น การเขย่ง การสั่น และว่า เต้นเขน เขียนผิด ควรเป็น เต้นเขล ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ปลงใจเชื่อ เพราะความยังไม่สนิท นอกจากจะมีเหตุผลแวดล้อมให้มากกว่านี้ ข้าพระพุทธเจ้าลำเอียงไปในทางว่า พวกเขน ก็คือ พลเขน ซึ่งเป็นพวกทหารเดินเท้าใช้อาวุธสั้น เมื่อใช้อาวุธสั้นและเดินดินก็ควรมีโล่เขนด้วย แต่ข้อสันนิษฐานของข้าพระพุทธเจ้านี้ ก็ยังไม่แน่นแฟ้นเหมือนกัน

ชื่อเมือง โปรม ว่ามาแต่ โปรัม ข้าพระพุทธเจ้าพบในหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่งอธิบายไว้ว่ามาจาก Brun ในภาษาเตลง พม่าเรียกเพี้ยนเป็น Pye ถ้าเป็นชาวยะไข่ซึ่งออกเสียง ร ได้ก็เป็น Pre หรือ Premye เมืองแปรเมืองนี้อยู่ใกล้ไปทางเขตต์แดนยะไข่ ยังมีเมืองที่ปรากฏในโทรเลขต่างประเทศอีกเมืองหนึ่งชื่อ Sandoway เป็นเมืองอยู่ในยะไข่ หนังสือพิมพ์เคยถอดออกมาเป็นเมือง สันโดเวย์ เมืองนี้ดูเหมือนในหนังสือ ราชาธิราช เขียนว่าทรางทรวย หรือ แทรงทรวย ข้าพระพุทธเจ้าก็จำไม่ได้ถนัด

เรื่องตัว ห การันต์ ที่ทรงพระเมตตาตรัสประทานมา ข้าพระพุทธเจ้าเพ็งได้ความรู้ในคราวนี้ว่า ที่โบราณเขียน ดำริ มี ห การันต์ มีเหตุผล ไม่ใช่เขียนโดยไม่มีหลัก แต่คำ เคราะห์ มี ห การันต์ เห็นจะเกินไป ในตำรานิรุกติศาสตร์แยกเสียงพูดที่เป็นเสียงอย่างน้อยที่สุดที่จะแยกอีกไม่ได้ว่า หน่วยเสียง (phonemes) ได้แก่เสียงพยัญชนะและเสียงสระเดี่ยว หน่วยเสียงนี้ เมื่อผสมกันก็เป็นพยางค์และคำ พยางค์นั้นต้องมียอดของเสียง คือจะเอาหน่วยเสียงมาผสมกันกี่ตัว เมื่อออกเสียงพรืดเดียว ต้องมีเสียงหนึ่งก้องกว่าตัวอื่น เรียกว่า ยอดเสียง ซึ่งได้แก่เสียงสระ เสียงนั้นจึงจะนับว่าเป็นพยางค์ได้ หน่วยเสียงที่ใช้เป็นเสียงผสมคำในภาษา เรียกว่าหน่วยเสียงมูลเดิม (Primary phonemes) ภาษาใดไม่ใช้ระดับเสียง หรือเสียงผันเป็นเสียงมีความหมายเป็นปกติในภาษา เช่น ในภาษาอังกฤษและสํสกฤต เป็นต้น เรียกเสียงผันนี้ว่า หน่วยเสียงรอง (Secondary phonemes) ถ้าในภาษาไทย ภาษาจีน ใช้เสียงผันมีความหมายในคำ เสียงผันก็กลายเป็นเสียงมูลเดิมไป

เรื่องเขียนคำ เกาะ ควรจะเขียน ก็อะ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นตัวหนังสือไทยใหญ่ เขียนมีสระเออยู่หน้า สระอาอยู่หลัง เช่น <img> = เอาะ <img> มีเครื่องหมายเรผะ อยู่เหนือ อา อ่านว่า ออ คิดด้วยเกล้าฯ ว่า เอาะ ออ ในไทยใหญ่เขาเขียนเป็นแนวเดียวกัน แต่ของไทยกลางเพียงเสียงสั้น เสียงยาวเท่านั้น ก็เขียนผิดกันไกล คงจะมีอะไรขัดข้องอย่างหนึ่ง ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าคิดยังไม่เห็น ส่วนสระเอาในไทยใหญ่เขียนเป็น อว <img> ตรงดั่งที่ทรงพระดำริไว้ ส่วน อัว เขาก็เขียนเป็น อุว <img> ตรงกับที่ทรงพระดำริเหมือนกัน เสียง ไอ เขียน <img> เสียง ใอ เป็น <img> (เอีย)

เรื่องการเขียนตามแบบปทานุกรมกระทรวงธรรมการ ได้เคยมีพระบรมราชโองการในรัชกาลที่ ๗ ให้เขียนตามนั้น แต่ครั้นแล้วก็แซๆ กันไป ในปทานุกรมฉะบับนั้น มีผู้ไม่เห็นด้วยหลายท่านในการเขียนคำลางคำ เพราะเป็นการลากเข้าหาอักขรวิธีในภาษาสํสกฤตและบาลีมากไป โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักที่ว่าภาษาไทยไม่ใช่ภาษาบาลีหรือสํสกฤต ข้าพระพุทธเจ้าแม้เป็นกรรมการชำระปทานุกรมอยู่ด้วยผู้หนึ่ง ก็ยังไม่เห็นพ้องด้วยในเรื่องหลักลงไม้ไต่คู้ และการประวิสัญชนีกันอย่างไม่เลือก พอเป็นคำไทยก็ใช้หมดทุกคำ แต่ข้าพระพุทธเจ้าเถียงไม่ขึ้นเพราะเป็นเสียงเดียว เรื่องซ้อนตัวสกดในภาษาบาลี ก็เพิ่งชักชวนพระสารประเสริฐให้เลิกใช้ซ้อนตัวสกดที่ไม่จำเป็นออกมาได้ แต่ก็เป็นเรื่องชวนได้ส่วนตัวเท่านั้น คำว่า ลูกปัด ก็เขียนเป็น ลูกปัทม์ ถมปัด ก็เขียนเป็น ถมปัมม์ ว่าใช้ ลูกปัทม์ มาพอกถมเข้าไป แต่ตามที่ข้าพระพุทธเจ้าสังเกต เครื่องถมปัดก็เป็นลงยาชนิหนึ่ง ดูรอยที่กระเทาะข้างในเป็นทองแดง ข้าพระพุทธเจ้าจึงไม่ปลงใจเขียนเป็น ถมปัทย์ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ปัด จะเป็นภาษาจีน แต่ยังไม่มีโอกาศสอบถามชาวจีน เพราะไม่ได้ตัวอย่างของไปให้เขาดู การเขียนหนังสือของข้าพระพุทธเจ้า เขียนตามที่เคยมือ ถ้าตัวใดเขียนผิดไปจากปทานุกรม เมื่อคนพิมพ์จะแก้ให้ถูก ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่พิถีพิถัน เพราะความต้องการอยู่ที่เขียนอ่านเข้าใจกัน ถ้าเขียนไปคนเดียว แม้จะเขียนถูกแต่คนหมู่มากเห็นว่าไม่ถูกก็แพ้คนหมู่มาก จะนำเข้าปรึกษาผู้รู้ ผู้รู้หรือก็รู้แต่บาลีสํสกฤต ย่อมเห็นไปทางนั้นทางเดียว ไม่กว้างขวางออกไปได้

ในลายพระหัตถ์มีข้อความอื่น ๆ อีก ที่ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้กราบทูลตอบ เพราะสอบคั้นยังไม่ได้พอใจข้าพระพุทธเจ้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ