๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕

พระยาอนุมานราชธน

อ่านหนังสือพิมพ์บางกอกแตม วันที่ ๖ เดือนนี้ พบเขียนชื่อเมืองเป็น Toungoo เข้าใจว่าเปนอันเดียวกับ Tongu ถ้าเปนเช่นนั้นก็ราวกับรู้ว่าไทยเขียนคลาศเคลื่อน และถ้าเปนแก้เก่าก็เหนว่าเปนอังกฤษมากขึ้น แต่เหนมีท่าทีจะอ่านเปน ตอนกู ไปก็ได้ ถ้าจะให้หมดถ้อยร้อยความ ก็ควรจะเขียนแบ่งตอนเปน Toung-oo

ทั้งเหนในหนังสือบางกอกแตม เหมือนกัน แต่เปนวันที่ ๓ ก่อนขึ้นไป เขาลงข่าวว่ามีการ Sabotage ที่เมืองโยฮันเนสเบอก ระเบิดโรงไฟฟ้า เขียนชื่อไว้ว่า Vchonigpgn ในเรื่องนี้ติดจะบกพร่องมาก ดูพจนานุกรมภาษาอังกฤษหาคำ sabotage ว่าอ่านออกเสียงอย่างไรก็ไม่พบ ทีจะเปนคำใหม่ ทราบแต่ความหมายว่าเปนลอบแส้งทำลาย กับที่เรียกชื่อเมืองว่า โยฮันเนสเบอก ก็เรียกอย่างภาษาอังกฤษ ด้วยเข้าใจว่าจะเปนเช่นนั้น เพราะเปนเมืองขึ้นของอังกฤษ แต่ข้อเหล่านี้ไม่ได้ตั้งใจจะพูด ที่ตั้งใจจะพูดนั้นคือที่เขียน Vchonigpgn อ่านไม่ออก เขาจะอ่านกันว่ากะไร คงมีเสียงง่ายๆ เพราะลิ้นคนเราก็เท่ากับที่ควรพูดได้เท่านั้น หากเขียนให้พิศดารไปเอง

การอ่านนั้นยากมาก เช่นเขียนตัว h ไว้ข้างท้ายก็เปนเกจิอาจารย์ ลางอาจารย์ก็คิดให้เปนเสียงสั้น ลางอาจารย์ก็คิดให้เปนเสียงผันสูงต่ำ ถ้าเปนคำของเราก็พอจะเดาได้ แต่ถ้าเปนคำต่างประเทศ ซึ่งเราไม่เคยได้ยินก็อึกอัก เช่น เมือง Ipoh เขาตั้งใจจะให้อ่าน อิโป (ด้วยเขียนตัว h ไว้งามๆ) หรือตั้งใจจะให้อ่านว่า อิโปะ อิโป๊ะ อิโป่ อิโป้ หรือ อีโป อีโปะ อีโป๊ะ หรือ ไอโป ไอโปะ ไอโป๊ะ และอย่างอื่นอีกอย่างไรก็ไม่ทราบ เมื่อไม่ทราบแล้วก็ต้องเซอะอยู่วันยันค่ำ หลีกไม่พ้น

มีนิทานซึ่งฉันคิดจะเล่าให้ท่านฟังแล้วก็ไม่ได้เล่า แต่จะเล่าบัดนี้ ในท้องเรื่องมีว่านักเลงเหล้าเชิญขาเหล้าไปเลี้ยง แล้วผู้เชิญพูดว่า ไม่เข้าใคออกใคหรอก ฉันละค่อยยังชั่วก่าคนหมด คำนี้หมายเทียบกับขาเหล้าทั้งปวง ขาเหล้าคนหนึ่งเหนเปนขันก็เก็บเอามาเล่า แต่ฉันไม่เหนขันเลย เหนเปนธรรมดามนุษย์จะคิดอะไรก็ต้องเข้าแก่ตัวเปนที่ตั้ง ไม่มากก็น้อย แม้ผู้ทำจะทำด้วยคิดอย่างหนึ่ง แต่ผู้พูดคิดไปอีกอย่างหนึ่งก็ได้

นึกถึง ร ล ในภาษาเราว่าจะมีใช้สับสนกัน ได้อย่างภาษาสังสกฤตลางคำหรือไม่ก็นึกได้คำหนึ่ง คือ ท้องร่อง กับ ตกล่อง คำ ล่อง ก็มาแต่กระดาน นอกชาลผุะอันมีลักษณะยาว ๆ เหมือนกัน ถ้า ท้องร่อง จะเขียนว่า ท้องล่อง จะได้หรือไม่ นี่เปนความเหนอุตริ ปรึกษาท่านเปนการเล่น มีลางคนลางคำเขียนสับตัวกัน ฟังก็เข้าทีอยู่ แต่จะถือเอาว่าถูกก็เปนผิดไปจากที่เคยใช้

ฉันให้รู้สึกเดือดร้อนในการที่คำเปนนามกับกิริยาเหมือนกัน เช่น พิมพ์ เปนต้น จึงใช้คำที่เปนกิริยาว่า ตีพิมพ์ จะเปนคำที่ชาวเราพูดกันเช่นนั้นหรือควรจะพูดเช่นนั้นก็ตามที แต่ขัดกับกระแสพระราชดำรัสในรัชกาลที่ ๔ ว่า ตีตรา ตราแตก ปิดตรา ไม่เหน ให้ใช้ว่า ประทับตรา นั่นเปนชอบ แต่ฉันจะใช้คำตามนั้นว่า ประทับพิมพ์ ดูก็กะไรอยู่ ออกจะขวางโลก เคยเหนฝรั่งเขาใช้ตราดุนกระดาษปิดลงไป นั่นจะเรียกว่าปิดตราควรอยู่ มีสิ่งที่ควรสังเกตอย่างหนึ่ง ว่าทางประเทศตะวันตกบ้านเขาใช้ตราครั่ง จนมีคำสังสกฤตทางอินเดียว่า มุทฺรา แต่ทางตะวันออกบ้านเราใช้ตราเส้นแดง ๆ เราก็ใช้อย่างนั้นเพราะเอาอย่างข้างจีน กระแสรพระราชดำรัสในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งรู้สึกว่าผิดไปก็มี เช่น ทิ้งไฟ ตรัสว่าไฟดับ ให้ใช้ว่า วางเพลิง (คำว่า เพลิง เปนภาษาเขมร เขาเขียน เภลิง เปนการชอบอยู่ เพราะถ้าจะเขียน เพลิง จะต้องอ่านว่า เปลิง) ตามกระแสรพระราชดำรัสที่ว่าทั้งไฟ ไฟดับ นั้น ทรงพระราชดำริห์มาจากคำทิ้งขว้างแต่คำ ทอดทั้ง และ ทิ้งร้าง เปนต้น มือยู่ ทำให้รู้แน่ได้ในคำ ทิ้ง ว่าไม่ได้หมายความว่า โยน ว่า ขว้าง เปนความหมายว่าไม่เอื้อเฟื้อ

ในการเปลี่ยนชื่อวัดสามจีน ไม่ทราบต้นเดิมเขียนอย่างไร มาได้เหนแต่ชื่อซึ่งเขียน วัดไตรมิตต์วิทยาราม กันก็มี เขียน วัดไตรมิตรวิทยาราม ก็มี อย่าง มิตต์ นั้นไม่เคยเขียน เคยเขียนแต่อย่าง มิตร แต่ทราบว่า อย่าง มิตต์ นั้นเปนภาษามคธ อย่าง มิตร เปนทีว่าอย่างสังสกฤต แต่ที่แท้ไม่เคยดูว่าสังสกฤตเขียนอย่างไร จึงต้องเปิดพจนานุกรมของอาจารย์ชิลเดอขึ้นดูสังสกฤต ปรากฏว่า เขียน มิตฺตฺร ก็เข้าแบบของเราที่ตัวคู่แล้วตัดเสียตัวหนึ่ง แต่ชื่อวัดนั้นต้นเดิมจะผูกให้เขียนอย่างไรไม่ทราบ แต่ความไม่ทราบนั้นไม่ใช่สุดวิสัย คงจะมีอะไรที่จารึกไว้ที่วัดนั้นบ้าง หากไม่ได้ดูสังเกต แต่ทีหลังจะสังเกตเพื่อเขียนให้ถูก คำว่า เดิม เปนคำเขมร ก็หมายความว่าต้น นั้นเอง ที่พูดว่า ต้นเดิม ก็เปนคำคู่ แปลเหมือนกับ ยกเลิก

เราเขียนภาษาต่างประเทศลางทีก็ขัดข้องด้วยไม่มีตัวหนังสือจะใช้ เคยเหนในภาษาญี่ปุ่น ถ้าเขาใช้ตัว g แล้วเราก็ใช้ตัว ง ถ้าจะว่าไปเสียง ง ก็ใกล้กับเสียง g มาก แต่จะจับตัววางตายลงไปเหนไม่รอดเช่น god จะเขียน งอด ออกจะรับไม่อยู่ หรือจะยักเขียนเปน วอด อย่าง งัว เปน วัว ก็ไม่ไหวอยู่นั่นเอง สังเกตที่เขียน ภาษาอังกฤษกัน ตัว g ก็เปนไปหลายอย่าง ตกลงเปนถ้าไม่ได้ยินเขาอ่านแล้วจะออกเสียงไม่ถูก มีนิทานจะเล่าให้ท่านฟัง หมอกาวันแกเปนหมอประจำพระองค์ เสด็จไปไหนแกก็ต้องตามเสด็จไปด้วย แกรู้หนังสืออังกฤษดี เวลาเสด็จไปทางทะเลก็ต้องไปตกคลักอยู่ในเรือพระที่นั่งด้วยกันหมด เจ้านายที่เรียนภาษาอังกฤษก็ถือเอาแกเปนครู ถามภาษาอังกฤษคำโน้นคำนี้ แต่ลางคำแกก็บอกไม่ได้ว่าเขาอ่านอย่างไร หมอกาวันแกเปนชาวสก๊อช ก็นับเนื่องเปนพวกอังกฤษ เมื่อคำที่ครูไม่รู้แล้วศิษย์จะรู้ข้ามไปอย่างไรได้

พูดว่า กะ หนังสือก็เปน กับ เปน แก่ ตะ ก็เปน แต่ ต่อออกจะไม่มี ลา (ครึ่งยาวครึ่งสั้น) หรือ ล่ะ เปน แล เปน แล้ว และ กับ แหละ เปนสมัยใหม่ คำเก่ามี แหล่ แต่นั่นเปนอ่านผิด

ท่านบอกหลักฐานแห่งชื่อเมืองมฤทนั้นดีมาก ได้รู้มูลเดิม ชื่อ บางตนาวศรี เหนจะเปนด้วยเอาพวกตะนาวศรีไปไว้ที่นั้น ท่วงทีอย่างเดียวกันกับบ้านทวาย บ้านญวน บ้านเขมร

อ่านหนังสือพิมพ์ประมวญวัน เรื่องภาคกลางในยุโรป ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ เธอเขียนคำ โล่ ไม่มีตัว ห เธอบอกไขไว้ด้วยว่าโล่แต่ก่อนนี้ทำด้วยไม้ด้วยหนังไม่ใช่โลหะ ให้นึกชอบใจเสียนี่กะไรเลย ได้เคยมีความเหนตัดตัว ห หรือจะได้เคยเขียนตัดไปเสียด้วยซ้ำ เพราะเคยตรวจพจนานุกรมดูแล้วหลายกลับ ก็ไม่พบคำที่ควรจะเขียน โล่ห์ ทั้งนึกถึงโล่ของเราก็ทำด้วยหนัง เปนโลหะก็แต่เขนถม ซึ่งเหนใช้แต่การดีๆ มีผูกพระแท่นมณฑลเปนต้น ไม่ได้ใช้ทั่วไป จึงนึกว่าทำขึ้นจำเพาะให้ดูหรูหรา แม้อย่างกลมๆที่เรียกว่า เขน ซึ่งใช้อยู่ตามปกติก็ทำด้วยหนัง. สิ่งที่รับอาวุธของเรานั้นมีสามอยาง รูปกลมเรียกว่า เขน รูปเปนแผนอิฐเรียกว่า โล่ รูปห่อยาวเปนกาบกล้วยเรียกว่า ดั้ง ล้วนทำด้วยหนังทั้งนั้น คำ ดั้ง ฉันแปลว่าหน้า คิดมาแต่ เรือดั้ง ช้างดั้ง เสาดั้ง (เสาดั้ง ทึกเอาเปนเสาหน้านั้นเพราะคิดว่าแต่ก่อนท่านคงบัญญัติเอาด้านขื่อของเรือนเปนด้านหน้า คิดเทียบเอาโบถวิหาร) ดั้ง คิดว่าเปนของเราเดิม เขน นั่นเอาอย่างมาทางอินเดีย โล่ เอาอย่างมาทางฝรั่ง เขนหนัง ที่ว่านั้นมีลายทองเปนหน้าสิงห์โตคาบดาบด้วย แต่ไม่ใช่หน้าสิงห์โตจริง ๆ เปนกนกผูกให้เปนหน้าสิงห์โต ซึ่งเปนของแปลกอันฉันต้องจำ แล้วก็จำได้ด้วย

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ