๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๘๔

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือซึ่งลงวันที่ ๓๐ สิงหาคมนั้น ได้รับแล้ว แต่ตอบล่าไปเพราะไม่พร้อมเพรียง แล้วก็มาได้รับหนังสือลงวันที่ ๘ เดือนนี้อีกสองฉะบับ จึงจะรวมกันตอบทั้งสามฉะบับทีเดียว

ขอบใจท่านเปนอันมากที่ส่งอะไรต่ออะไรไปให้ รูปฉายลานทองนั้นได้ดูหนังสือแล้ว ในท้องความซึ่งมหาฉ่ำจดว่า อักษรไทยฝ่ายใต้ นั้น อ่านออกดีทีเดียว เปนหนังสือบ้านเรานี่เอง เว้นแต่ตัวเลขอ่านไม่ออก จะต้องเปนเลขทางอื่น ไม่ใช่ทางเรา ส่วนคาถาข้างท้าย ซึ่งมหาฉ่ำจดว่า อักษรไทยฝ่ายเหนือ นั้น ดูก็คล้ายหนังสือขอม อ่านได้ แต่ สํสารา เขียนติดกัน ขยับจะอ่านไม่ออก ถ้าไม่มีคำไขจดให้ไป

สำเนาภาษาอังกฤษเรื่องวันคืนเดือนปีของชาวโปลิเนเซียน ซึ่งท่านคัดให้ไปนั้นประโยชน์น้อย เพราะฉันรู้ภาษาอังกฤษน้อย ด้วยดูเอาเองไม่ใช่ความผิดของหนังสือ แต่อย่างไรก็ดีเหนว่ามีความกว้างไปมาก ที่ฉันจดให้ท่านมานั้น ฉันทูลถามสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ออกไป ท่านก็เรียกคนพื้นเมืองมาให้การ แล้วท่านก็จดประทานเข้ามา แต่หนักไปทางข้างคำนวณเพราะท่านถนัดในทางนั้น แล้วฉันมาตัดรอนแต่งเขียนส่งให้ท่านอีกชั้นหนึ่ง ชื่อปีที่ฉันเขียนให้ท่านเปน คาล นั้นผิดไป ที่แท้เปน ดาล ความผิดนั้นเปนของฉันเองที่ตาแก่ แลดูหัวเข้าเปนหัวออกไป

คำ สายสมร ซึ่งท่านบอกไป ฉันอาจบอกต่อให้แก่ท่านได้ด้วยความจำ เปนว่า สายสมรเอย ลูกประคำซ้อนเสื้อ ขอแนบเนื้อเจ้าคืนเดียวหน่อยเอย อีกตอนหนึ่งมีว่า เพลงนี้ก็ชื่อเพลงใด เพลงระบำและช่วยเจ้าไท อีกตอนหนึ่งมีว่า เพลงนี้ก็ชื่อเพลงซอ ถ้าตรงไหนผิดไปแล้วขอโทษ เพราะบอกด้วยความจำเท่านั้น ไม่มีต้นฉะบับอยู่ในมือที่จะพึงสอบได้

ที่บอกว่าความเปนอย่างไรนั้นเพราะได้เคยดูเดาคำมาอย่างคอหักคอลัน เพราะมีแตรวงเป่ากันมาก เรียกว่าเพลง สรรเสริญพระนารายน์ แต่เดี๋ยวนี้หายไปแล้วเพราะเก่าจืด ใครจะคิดขึ้นและยืดเอาอะไรเปนหลักก็หาทราบไม่ นึกว่าคงเอามาจากหนังสือของลาลูแบจึ่งตามดู พอเหนคำก็อ่านคำก่อน แต่เอาศัพท์ไม่ได้จึ่งต้องเดาดั่งบอกให้ทราบนั้น เมื่อรู้คำก็เหนว่าไม่ใช่เพลงสรรเสริญ จะได้ตรวจเนื้อเพลงหรือไม่ก็จำไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี เกรงว่าเขาจะแต่งโดยประสงค์จะพูดถึงการร้องรำทำเพลงที่ในกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น

คำว่า ซอ ทางพายัพเขาหมายเปนขับเข้ากับขลุ่ย ๓ เลา แต่คำว่า ซอ นั้นทางเรามากลายเปนเครื่องมือทำเพลงชะนิดหนึ่งไป อนึ่ง คำบอกพวกในลิลิตพระลอมีว่า ฝ่ายข้างญวนแพ้พ่าย ฝ่ายข้างลาวประลัย ฝ่ายข้างไทไชเยศ ญวน เหนจะหมายเอาชาวพายัพ ลาว เหนจะหมายเอาชาวอีศาน แต่ขัดกันกับหนังสือราชการชั้นหลัง ใช้คำว่า ลาวเฉียงลาวกาว ถือเอาเปนแน่ได้ว่า คำ ลาวเฉียง นั้นหมายถึงพวกพายัพ ลาวกาว นั้นหมายถึงพวกอีศาน (ลาวแกว?)

จะกลับกล่าวถึงเพลงสรรเสริญพระบารมีอีก ท่านเอาภาษาเข้าเทียบ เพราะท่านถนัดในทางนั้น แต่พวกปี่พาทย์เขาเหนไปอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าจะเปรียบ ฉันก็เปรียบว่า คนหนึ่งตั้งหน้าจะไปทางเหนือ อีกคนหนึ่งตั้งหน้าจะไปทางใต้ และทางที่จะไปนั้นก็ไม่ใช่เปนถนนเดียวกันด้วย แล้วจะกลายเปนอันเดียวกันหาได้ไม่

มีเพลงที่ชื่อว่าสรรเสริญพระบารมีอยู่โดยตรงเพลงหนึ่ง เปนเพลงมโหรี เอาจัดเข้าเปนเพลงตับ คือ สรรเสริญพระบารมี กินรีฟ้อน ศศิธรทรงกลด ดูเหมือนสามเพลง ฉันก็ได้มาแต่ชื่อ เนื้อเพลงนั้นไม่ได้ พวกปี่พาทย์มักไม่ได้เพลงมโหรี ฉันเปนพวกปี่พาทย์ ก็พลอยไม่ได้ด้วย (ที่ใช้คำว่า ได้ ในที่นี้ เปนภาษาปี่พาทย์ หมายความว่าทำเพลงนั้นได้) เมื่อรัชชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลนั้น ตรัสสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ให้ทรงแต่งเพลงแตรวง สรรเสริญเสือป่าถวาย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ทรงเหนว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีมีอยู่ ซึ่งจะเอามาเข้าเปนเพลงสรรเสริญเสือป่าได้ จึงทรงสืบเอาเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นมาทรงแต่ง แต่ฉันได้ตรวจเนื้อก็ไม่เหนใกล้เข้ามาในทางเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งแตรวงเป่าอยู่นั้นเลย เปนอย่างนิทานที่เล่ากันว่า ไปไหนมา สามวาสองศอก นั้นทีเดียว ประวัติเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่ว่านั้น เล่ากันวิถารพิลึก ว่าเจ้าจอมมโหรีคนหนึ่ง ขึ้นไปปลุกพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชชกาลที่ ๒ ในเวลาตึก นำเอาซอ (สามสาย) ขึ้นไปด้วย เล่าถวายว่าฝันไปว่าได้ทำเพลงแล้วก็สีซอถวาย จึงโปรดพระราชทานชื่อเพลงนั้นว่า สรรเสริญพระบารมี จริงเท็จอยู่แก่ผู้กล่าว แต่อย่างไรก็ดี เพลงสรรเสริญพระบารมีที่แตรวงเป่า ควรจะเปนเพลงนั้น ฉันเองก็ได้ฝันถึงเพลงแต่ไปคนละทาง ว่าไปได้ฟังเดี่ยวแขกมอญ ทางฆ้องเขาใช้ลูกหนึ่งซึ่งในฝันเหนว่าดีเต็มที จำไว้ได้ แต่เมื่อรู้สึกตัวตื่นขึ้นก็ไล่ลูกนั้นดู รู้สึกว่าเลวเต็มที เรื่องนี้ได้บอกแก่ครูพระประดิษฐ์ (ตาด) แกออกจะพอใจ พอใจที่ว่าหมกมุ่นอยู่ในการทำเพลงจึงได้ฝันถึงเพลง ใช่ว่าจะตื่นลูกในความฝันก็หามิได้ ด้วยแกรู้อยู่แล้ว ว่าความฝันนั้นย่อมเลวกว่าของจริง (ที่ใช้คำว่า ลูก ในที่นี้ก็เปนภาษาปี่พาทย์อีก หมายความว่าส่วนหนึ่งในเพลงหนึ่ง ตั้งใจจะพูดถึงตีสับเปลี่ยนลูกระนาด ลูกฆ้อง)

หนังสือซึ่งจะตีพิมพ์แจกในงานศพเจ้าพระยาวรพงศ์นั้น ถ้าเปนเรื่องตราจะเปนดี แต่เรื่องนั้นฉันยังกำลังตรวจอยู่ ไม่ใช่แต่อ่านเท่านั้น มีเขียนแก้ความด้วย ลางข้อก็ไม่รู้พอ ท่านจะต้องสอบหนังสือเก่าลางเล่ม ทั้งฉันก็มีความเหนไป ซึ่งลางทีท่านจะต้องรื้อเรียงใหม่ จะอย่างไรก็ดี เหนว่าจะใช้เรื่องนั้นตีพิมพ์แจกไม่ทัน เพราะงานเขากำหนดวันเร็วแล้ว จึ่งจะต้องใช้สองเรื่องที่ท่านให้ต้นฉะบับไป ในสองเรื่องนั้น ฉันเหนว่าเรื่องสุวรรณภูมิเปนดี เข้ากับเจ้าพระยาวรพงศ์ได้ ส่วนเรื่องกฎหมายเก่าแคว้นลานนานั้น ควรแต่แก่คนที่เปนผู้พิพากษา หาควรแก่เจ้าพระยาวรพงศ์ไม่ แต่การตีพิมพ์นั้น ไม่ใช่กิจของฉัน ฉันเปนแต่คนกลาง ต้องส่งต้นฉะบับไปให้คนจะตีพิมพ์เขาดู เขาจะตกลงหรือไม่ตกลงอย่างไร จะบอกทีหลัง

เรื่องคำนับของญี่ปุ่นซึ่งฉันให้ไปนั้น ท่านตัดสินว่าคำก่อนเปนคำของญี่ปุ่น คำหลังเปนคำจีน นั้นต้องกับความคิดฉันแล้ว คำว่า พัน ท่านว่าตรงกับ ฉิน เฉียน หรือ เสียน ในภาษาจีนนั้นก็ดีแล้ว แต่ขาดที่ไม่ได้ถามนายสุดว่า แสน ในภาษาอีศานแปลว่ากะไร ซึ่งฉันอยากจะรู้ความไว้ คำ ปิ่นโต ท่านว่าเปนคำญี่ปุ่นนั้นเข้าใจดีแล้ว ขอโมทนาในการที่ได้รู้ความจริง

คำไทยที่สกดตัวแปลก ไม่ใช่มีแต่สกด จ สกด ญ ร ล ก็มี ท่านควรจะสอบไปด้วยทุกอย่าง

คำ กลา พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรว่า ลาน คือพื้นราบแห่งที่ดินอันหนึ่งซึ่งปราบไว้ราบ ถ้าเปนเช่นนั้นคำ ตั้งกองกลาบาต ก็ดีกว่าคำ กลาปตฺร ซึ่งแปลว่าใบตอง เปนอันมาก

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ