- กรกฎาคม ๒๔๘๕ น

วันที่ กรกฎาคม ๒๔๘๕

นาย ย. อนุมานราชธน

ได้ส่งร่างเรื่องตราตามที่ให้ไปตรวจนั้น กลับมาพร้อมด้วยบันทึกในบัดนี้แล้ว แต่ขอให้เข้าใจว่าทั้งหมดเป็นแต่ความเหนและบอกให้ทราบเท่านั้น ท่านจะทำอย่างไรก็ได้ตามแต่ใจท่าน

ในการที่ส่งคืนมาให้ช้าไปนั้น จะโทษเอาอะไรไม่ได้ นอกจากว่าทำแต่ตามเวลาที่ชอบใจจะทำ

ในท้องความได้แก้มาด้วยตัวดินสอดำ แก้ด้วยตั้งใจจะให้ใช้ก็มี เปนแต่ตั้งใจจะทักเท่านั้นก็มี ที่ตั้งใจจะให้ใช้นั้น ท่านจะเอาหรือไม่เอาก็ได้ แต่ที่ทั้งใจจะทักนั้น ท่านจะต้องดูสังเกต ส่วนฟุตโนตนั้นเกือบไม่ได้แก้ เพราะไม่เหนเปนประโยชน์อะไรที่จะทำ แม้ในท้องความก็เหนอาจจะเรียงยักย้ายไป ได้หลายอย่าง ความเหนฉัน เหนควรจะเรียงอย่างนี้

๑. กล่าวถึงพระราชลัญจกรซึ่งคงใช้อยู่ (ต้องนับเอาเวลานี้)

๒. กล่าวถึงพระราชลัญจกรเก่าที่เก็บ

๓. กล่าวถึงพระราชลัญจกรเก่า ซึ่งโปรดพระราชทานให้ใครไปใช้ประจำตำแหน่งหรือประจำตัว

๔. กล่าวถึงตราซึ่งโปรดให้ทำขึ้นใหม่โดยจำเพาะ แล้วพระราชทานไป

๕. กล่าวถึงพระราชลัญจกรเก่าที่ส่งคืน

๖. กล่าวถึงตราซึ่งโปรดให้ทำขึ้นโดยจำเพาะแล้วส่งคืน

๗. กล่าวถึงตราตำแหน่ง

๘. อธิบายถึงตราที่สงสัย กับตราที่หลงส่งคืน

เมื่อกล่าวถึงตราดวงใด ก็เอาตราดวงนั้นมาต่อไว้ ให้พลิกไปดูตัวอย่างได้ง่าย

จะพูดถึงฟุตโนตต่อไป เขาย่อมทำกันหลายอย่าง เปนจำเพาะหน้าก็มี เปนต่อกันเรื่อยไปก็มี ตกเปนแล้วแต่จะทำ จะอย่างไรก็ตามที เหนว่ามีฟุตโนตน้อยที่สุดเปนดี อันเรื่องตรานี้มีฟุตโนตว่า บันทึกพระราชลัญจกรลางองค์ เปนมากที่สุด ตามที่จดฟุตโนตอย่างนี้ไม่มีผลอะไร ไม่จดก็ได้ เปนการทำเอาอย่างฝรั่งเท่านั้น เขามีก็มีบ้าง แต่ที่แท้ผิดกันมาก

จะพูดแค่อย่างเดียวเพื่อไม่ให้ยาวเกินไป ได้สังเกตว่าที่ฝรั่งเขาจดฟุตโนตนั้น เหมือนหนึ่งสิ่งที่มีตีพิมพ์แล้ว เขาก็บอกแต่ตำแหน่งให้ผู้อ่านไปค้นเอาเอง คิดดูว่าทำไมเขาจึงทำดังนั้น ก็เหนเหตุว่าคนอ่านนั้นใจต่างกัน ลางคนก็อยากรู้ ลางคนก็เชื่อ จดไว้เปนการเผื่อให้คนที่อยากรู้จะได้ตามค้น ของเรามีสิ่งที่ตีพิมพ์แล้วก็แต่ในราชกิจจานุเบกษา จะอ้างไปลอย ๆ อย่างฝรั่งก็ได้ หรือจะคัดมาไว้กับสิ่งที่ไม่ได้ตีพิมพ์ อย่างที่ทำไว้นั้นก็ได้ เปนการช่วยผู้อ่าน ส่วนการที่ทำเปนภาคผนวกนั้น เปนอย่างไทย พูดถึงภาคผนวกก็ท้อใจเตมที ดูยากนัก มีแต่รายละเอียดลำดับไว้ในแฟ้ม ลางฉบับก็ซ้ำกัน ลางฉบับก็ไขว้กันกับที่ว่าไว้ในบานพแนก และทั้งหมดนั้นก็ไม่มีเลขหมายอย่างที่จดไว้ในบานพแนกด้วย

ทีนี้จะลเมอจดเลขไปตามบานพแนก

๑. ประกาศเปลี่ยนพระราชลัญจกร จุลศักราช ๑๒๑๖ (พ.ศ. ๒๓๙๗) ที่จดไว้ดังนั้น เหนไม่พอที่จะเข้าใจได้ ควรเติมคำลงที่ท้ายคำ พระราชลัญจกร ว่า พระบรมราชโองการ ด้วยจะเปนดี ทำให้เข้าใจแจ่มขึ้นได้

๒. พระราชกำหนดประกาศพระราชลัญจกร กรมพระราชวังบวรฯ ฯลฯ จุลศักราช ๑๒๓๖ (พ.ศ. ๒๔๒๐) ตามที่จดไว้ดั่งนั้น พิจารณาในท้องความเหนไม่ใช่เรื่องตรา เปนแต่มีตราก็คัดมาไว้ ก็ดีดอกที่จะรู้ได้ว่าในจุลศักราช ๑๒๓๖ นั้น ใครใช้ตราอะไรบ้าง แต่ที่จดพระราชลัญจกรไว้ในเบื้องต้นแห่งพระราชกำหนดนั้น ออกจะพิรุทธเปนดั่งนี้

(พระราชลัญจกร ไอยราพต)

พระราชลัญจกร พระราชลัญจกร

พระบรมราชโองการ ประจำแผ่นดิน

เซนพระราชหัตถ์ (จุฬาลงกรณ์)

จะคิดว่าหมายจะให้เปนอย่างไรก็แลไม่เหน

๓. ประกาศแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ว่าด้วยผู้ที่ใช้ตราไปหัวเมือง (พ.ศ. ๒๔๒๐) ตามที่เขียนเช่นนี้ไม่มีอะไรค้าน นอกจากจะบอกว่าประกาศฉบับนี้ตีพิมพ์แล้ว

๔. พระราชบัญญัติใช้ตราแผ่นดิน ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ.๒๔๓๒) เหนควรจะเติมคำว่า ห้าม แซกเข้าเปนว่า พระราชบัญญัติห้ามใช้ตราแผ่นดิน ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) เพื่อจะได้เข้าใจดี

๕. ประกาศตราสำหรับตำแหน่ง ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ควรจะต่อคำ ตำแหน่ง ไปให้เปน ตำแหน่งเสนาบดี กับทั้งผู้ที่มียศเสมอเสนาบดีเข้าอีก เพื่อความเข้าใจดีเหมือนกัน

๖. ประกาศใช้ตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ อธิบดีกรมศึกษาธิการ และตราตำแหน่งราชเลขานุการ ร.ศ. ๑๑๔ (พ.ศ. ๒๔๓๘) ทีนี้เหนควรตัดคำ ตราตำแหน่ง ออกเสีย

๗. ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องตราภูมิคุมห้าม ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ. ๒๔๓๙) ตามที่จดดั่งนี้ เปนอันว่าผู้จดได้แต่งใหม่ใช้ได้แล้ว

๘. พระราชลัญจกร และ ตราตำแหน่งที่ได้สมโภช ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ. ๒๔๓๙) ตามที่จดไว้ดังนี้เหนว่าดีแล้ว อีกฉะบับหนึ่งซึ่งว่าคัดมาแต่กองรักษาหนังสือนั้นก็ซ้ำกันกับที่จดไว้นี้ ท่านผู้ที่ทำภาคผนวกไม่เอาเข้าซ้ำ ก็ควรอยู่แล้ว

๙. ประกาศกลอนร่ายและโคลง ที่เก็บมาได้นี้ดีอย่างยิ่ง ที่จริงในการพิเศษเช่นนี้ก็มีประกาศพิเศษอยู่บ่อย ๆ แต่ไม่มีใครคิดเก็บเอามาเขียน

๑๐. เรื่องที่ประกาศ ถึงตรานารายณ์ยืนแท่นไปตามเสด็จยุโรปนั้น ฉบับนี้เปนอันซ้ำกันกับที่หมายเลข ๑๑ เข้าใจว่านี่เปนฉบับทรงร่าง ควรจะถือเอาฉบับที่ลงราชกิจจานุเบกษา

๑๑. ประกาศตราตำแหน่งราชเลขานุการ แห่งสมเดจพระบรมราชินีนารถ ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) เข้าใจว่านี่เปนฉบับที่ลงราชกิจจานุเบกษา ควรถือเอาฉบับนี้เปนยืน

๑๒. พระราชบัญญัติพระราชลัญจกรตามที่จดไว้เหนไม่พอ ควรจะเปนดังนี้ พระราชบัญญัติประทับพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ ๕ ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖)

๑๓. ประกาศให้เสนาบดีลงชื่อในท้ายท้องตรา นั่นเหนเปนดีแล้ว

๑๔. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยตำแหน่งเสนาบดี (พ.ศ. ๒๔๕๒) ฉบับนี้เหนเปนซ้ำกับฉบับซึ่งหมายเลข ๒๑

๑๕. พระราชทานพระราชลัญจกรพระนารายณ์บรรทมสินธุ สำหรับกรมมหาดเล็ก ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) แต่อยากให้เติมคำว่า หลวง ลงที่ท้ายคำว่า มหาดเล็ก ด้วย เพราะมหาดเล็กเจ้าก็มี จะได้ผิดกัน

๑๖. พระราชทานพระราชลัญจกรพระนารายณ์มัศยาวตาร สำหรับตำแหน่งเสนาบดีกรมทหารเรือ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ฉบับนี้อยากให้เลื่อนไปเปนเลข ๑๘ จะได้เปนหมวดหมู่กัน แต่ที่เรียงไว้นั้นถือเอาวันอ่อนแก่ก็เปนไปอย่างหนึ่ง

๑๗. พระราชทานตรานาคบัลลังก์แก่กรมและกองต่างๆ ในกรมมหาดเล็ก และพระราชทานตรามนูแถลงสารแก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) อยากให้เติมคำ หลวง ลงที่ท้ายคำว่า กรมมหาดเล็ก ข้ออธิบายก็เหมือนกับเลขที่ ๑๕

๑๘. พระราชทานตรานาคบัลลังก์ แก่กรมโยธามหาดเล็ก ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) เหนควรเติมคำว่า หลวง ตามกันไป

๑๙. จดว่า พระราชบัญญัติพระราชลัญจกร นั้น ตามที่จดดั่งนี้ เหนไม่ได้ความพอ ควรจดให้ได้ชุดกันกับเลขที่ ๑๒ เปนว่า พระราชบัญญัติประทับพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ ๖ ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ตามกันไป

๒๐. ประกาศตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง และเสนาบดีกระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๕๖ เหนควรเติมคำว่า เปลี่ยน ลงในระหว่างคำว่า ประกาศ กับคำ ตราตำแหน่ง

๒๑. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยตำแหน่งเสนาบดี (พ.ศ. ๒๔๕๗) นี่เปนซ้ำกับฉบับที่หมายเลข ๑๔ ไว้ ฉบับแรกนั้นดูเปนร่าง ฉบับนี้ดูเปนจริง แต่ระยะเวลาผิดกันถึง ๕ ปี ไม่ทราบว่าเปนด้วยเหตุใด แต่อย่างไรก็ดี ควรถือเอาฉบับที่ลงราชกิจจานุเบกษาเปนยืน จะเปนหลักดีกว่าฉบับร่าง แต่ต้องคัดไม่มีเส้นประ ที่เส้นประนั้นเข้าใจว่าเปนชื่อคนซึ่งกล่าวว่าใครอยู่ในเวลานั้นบ้าง กับเห็นว่าควรจะเติมคำว่า ตรา ลงหน้าคำว่า ตำแหน่งเสนาบดี ด้วย เพราะพระราชบัญญัตินั้นไม่ได้เจาะจงกล่าวถึงตำแหน่งเสนาบดี เปนกล่าวถึงเรื่องตรา แต่ข้อความอันกล่าวปรารภเปนโครงแห่งพระราชบัญญัตินั้นผิดไปจากความจริง แต่ก่อนนี้ใครเปนเสนาบดีก็เปนไปจนตาย นึกไม่ได้ว่ามีการโยกย้ายหรือลาออก เพราะเหตุดังนั้น การมอบตราตำแหน่งจึงตกเปนหน้าที่เสมียนตรา ส่วนพระราชกฤษฎีกาใหม่จะบัญญัติให้เปนอย่างไรก็เปนได้

๒๒. หน้าที่ทำและรักษาทะเบียนดวงตราใช้ในราชการกระทรวงต่างๆ ที่จดดังนี้ไม่มีข้อค้าน

๒๓. จดว่า แจ้งความกระทรวงมุรธาธร พระราชทานตราตำแหน่งวรรณคดีสมาคม และพระดุลพาห (พ.ศ. ๒๔๕๘) ตามที่จดไว้อย่างนี้ นึกดูถึงรายละเอียดซึ่งลำดับไว้ในแฟ้ม ก็มีประกาศกระทรวงมุรธาธร เรื่องโปรดให้ทำตราพระคเณศ จะโปรดพระราชทานเปลี่ยนตรามังกรคาบแก้วแก่วรรณคดีสมาคม เหนไม่ควรทิ้ง ควรเอาไว้หน้าข้อนี้

๒๔. ลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ตามที่จะจดต่อไปนี้ไม่ใช่คัดค้าน เปนแต่จะหมายไว้ ด้วยได้สังเกตเหนความในจดหมายนั้น เปนอันว่าพระราชลัญจกรหงส์พิมานนั้นไม่ได้ทำในรัชกาลที่ ๕ แต่จำได้ว่าทำในรัชกาลนั้น ทั้งเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ผู้กำดวงตราก็กล่าวรับรองซ้ำเข้าอีกด้วยว่าทำในรัชกาลที่ ๕

๒๕. จดว่า บันทึกพระราชลัญจกรลางองค์ แล้วจดตัวดินสอดำในวงเล็บว่า (ยังไม่ได้คัด) จะแปลว่ากะไรไม่ทราบ ดูก็เท่ากับว่าจะมีต่อไปแต่เปนรอยลบ จะอย่างไรแน่ก็ไม่ทราบ เมื่อตรวจรายละเอียดต่อไป ซึ่งลำดับไว้ในแฟ้ม อันควรจะเขียนต่อก็เหนมีคัดไว้ ๕ อย่าง คือ (๑) พระราชลัญจกรเก่า (๒) ตราสำหรับกระทรวงต่าง ๆ (๓) พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ ๗ รวมกับพระราชลัญจกรเก่า ๆ อันกล่าวถึงเวลาสร้างกับที่ใช้ ทั้งอื่นอึก กับ (๔) ว่าคัดมาแต่สมุดดำของเก่า ซึ่งเจ้าพนักงานรักษาไว้ เห็นเปนแก่นสารอยู่แต่พระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๗ กับที่ว่าคัดมาจากสมุดดำเท่านั้น นอกนั้นก็ไม่เหนเปนแก่นสารอย่างไรเลย

ในที่สุดความเหนมีว่า บรรดาฉบับที่มีตีพิมพ์แล้ว แม้ของเราจะเปนราชกิจานุเบกษาอย่างเดียวก็ดี จะทำตามที่กล่าวไว้ข้างต้นก็ได้ หรือจะคัดมาเปนการช่วยผู้อ่านก็ได้ อีกประการหนึ่ง บรรดาเรื่องซึ่งติดต่อกัน จะเก็บเอาเรียงไว้ให้เปนหมวดหมู่อันเดียวกัน ไม่ถือเอาวันแก่อ่อนก็ได้ ทำเช่นนั้นลางทีก็จะดีขึ้นเสียอีก

[ลายพระหัตถ์ฉบับนี้ พร้อมด้วยบันทึกเรื่องพระราชลัญจกร ในหน้าต่อไปนั้น ทรงร่างไว้แต่ พ.ศ. ๒๔๘๕ หากยังไม่โปรดให้ดีดพิมพ์ถวายเพื่อลงพระนาม ต่อเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ม.จ. ยาใจ จิตรพงศ์ จึงทรงให้คัดประทานสำเนาไปยังพระยาอนุมานราชธน โดยที่เห็นว่าเป็นเอกสารอันสำคัญยิ่งซึ่งยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อน จึงนำมาตีพิมพ์ไว้ในภาคผนวก รักษาอักขรวิธีตามต้นฉบับที่ทรงร่าง ไม่ถือตามสำเนาอันดีดพิมพ์ด้วยภาษาที่ใช้กันอยู่เวลานั้น]

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ