- แถลงการณ์ของสำนักพิมพ์
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กันยายน ๒๔๘๖
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖
- ภาคผนวก
๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ยส
วันที่ ๒๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๕
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๔ วันที่ ๑๕ และวันที่ ๑๙ มกราคม รวม ๓ ฉบับ ประทานข้อความรู้ต่าง ๆ แก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกในพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ
คำกุฏิ ข้าพระพุทธเจ้าเปิดดูในพจนานุกรมสํสกฤศต-อังกฤษ ของเซอร์มอเนียร์วิลเลียมส ในคำ กุฏ แปลไว้ว่าโค้งคด กุฏิ และ กุฏี แปลไว้ว่าสิ่งโค้ง กระท่อม เรือน ในภาษาไทยมีคำใกล้เคียงกับ กุฏ อยู่สองคำ คือ ประตูช่องกุด กุดนกขุนทอง ถ้าจะอนุโลมว่ามาจาก กุฏ คือเปนกระท่อมที่มีหลังคาโค้งก็น่าจะได้ แต่ในภาษาทมิฬมีคำ กูฏ แปลว่า รังนก กุฏนกขุนทองอาจมาจากคำนี้ และอาจเปนคำเดียวกับ กุฏิ ในภาษาสํสกฤต ในภาษาอังกฤษมีคำ cottage กระท่อม cot กระท่อมเล็ก ห้องเล็ก ที่นอนมีขอบเขตต์ของเด็กเล็ก เปล และ cote กระท่อม หรือคอกสัตว์ คอกนกพิลาบ เช่น sheep cote, dove cote ทั้งสามนี้ว่ามาจาก cote ในภาษาอังกฤษเดิม แปลว่า กระท่อม แต่ไม่เทียบคำสํสกฤตไว้ จึงไม่ทราบเกล้า ฯ ว่าจะเปนธาตุเดียวกันหรือไม่
ป่า หมายความว่ามาก เช่น ป่าโทน ป่าถ่าน ป่าผ้า เป็นต้น คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเป็นความหมายขยายตัวออกไปเป็นขั้นที่สอง ข้าพระพุทธเจ้าสอบค้นคำ ป่า ในภาษาไทยถิ่นต่างๆ คงได้ความร่วมกันว่า ที่ว่างเปล่ามีต้นไม้ขึ้นเองมาก ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก เพราะฉะนั้น ป่า จึงต้องเป็นที่อยู่นอกเมืองนอกหมู่บ้าน ถ้าที่นั้น ได้ทำการเพาะปลูก มีกั้นเป็นขอบเขตต์ ไทยใหญ่เรียกว่า สวน นอกจาก สวน ไทยใหญ่ยังมีคำ เฮือก หรือ เรือก ใช้แทนคำ สวน ได้โดยลำพัง ถ้าเป็นที่เพาะปลูกในที่สูงที่ดอน เช่นตามไหล่เขาเชิงเขา ก็เป็น ไร่ ถ้าเป็นที่ยังไม่ได้เพาะปลูก มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นก็เป็น ป่าดง ถ้าอยู่ห่างไกลจากคนอยู่ก็เป็น ป่าเถื่อน wilderness เหตุดังนี้ ป่า จึงมีคำประกอบได้มาก เช่น ป่าสูง ป่าดิบ ป่าหญ้า ป่าไม้ เป็นต้น สุดแล้วแต่ลักษณะของที่นั้น โดยเหตุที่ ป่า มักมีต้นไม้ขึ้นเป็นดง คำว่า ป่า และ ดง จึงเลือนความหมายแปลว่ามาก และใช้ปะปนกันไป แล้วขยายวงความหมายที่ว่ามากด้วยต้นไม้ มาเป็นมากด้วยสิ่งอื่น ๆ เป็น ป่าตะกั่ว ป่าผ้า ดงผู้ร้าย ดงเสือ เป็นต้น ในภาษาอังกฤษเรียก ป่า ว่า wood, forest เรียกป่าดงว่า jungle ซึ่งในสำนวนอังกฤษ ใช้ขยายความหมายเป็นมากก็ได้ ในลางลักษณะ เป็นทำนองเดียวกับป่าหรือดง เหตุที่ความหมายย้ายที่จากที่นอกเมือง นอกบ้านซึ่งมีต้นไม้ขึ้นเอง ไม่มีการเพาะปลูก มามีความหมายว่ามากมาย คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เป็นด้วยอำนาจแห่งแนวเทียบ โดยนำเอาลักษณะหนึ่ง คือมีต้นไม้มาก ขยายวงมาให้อีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งมีสิ่งอื่นมากเป็นทำนองเดียวกัน คำว่า เถื่อน เดี๋ยวนี้ขยายความมาถึง ฝิ่นเถื่อน ปืนเถื่อน ของเถื่อน คนเถื่อน ซึ่งเป็นไปในทางซุกซ่อน ไม่ให้ใครรู้ใครเหน เป็นอย่างเดียวกับ สัตว์เถื่อน หรือ ตัวเถื่อน ซึ่งซุกซ่อนตัว ในภาษาจีนเรียกบ้านนอกว่า ซัวปา แปลว่า เขาและป่า ก็หมายความว่าป่าและเขา ย่อมเป็นที่อยู่นอกเมือง ในภาษาภาคพายัพและภาษาไทยใหญ่เรียกป่าช้าว่า ป่าเห้ว เห้วจะมีคำแปลว่าอะไร ข้าพระพุทธเจ้าสอบไม่ได้ความ เช่นเดียวกับคำว่า ป่าช้า (ในภาษาลาวพวนเรียกป่าช้าว่า ป่าซ่า เป็นอย่างเดียวกับภาคอิสาณ) แต่ก็แสดงอยู่ว่าที่ปลงศพย่อมอยู่นอกเมือง จึงได้ใช้คำว่า ป่า ทั้งนี้การจะควรสถานไร แล้วแต่จะทรงพระกรุณา
ชื่อเมืองตองยู กับ ตองอู เป็นเมืองเดียวกัน ผู้ถอดคำจากภาษาอังกฤษเป็น ตองยู คงจะไม่ได้เฉลียวนึกถึงคำว่า ตองอู อย่างเดียวกับเมืองสะเทิน เคยมีผู้ถอดจากภาษาอังกฤษเป็นเมืองท่าตน ก็เคยมี ทั้งนี้เป็นเพราะตัวหนังสือที่ใช้แทนเสียงสระในหนังสืออังกฤษทำหน้าที่แต่ละตัวหลายเสียงสระ ถ้าเป็นหนังสือใช้เขียนตามธรรมดา ก็อาจออกเสียงผิดพลาดได้ ต้องอาศัยฟังเสียงที่เคยใช้กันเป็นหลัก ถ้าคำใดที่ผู้พูดไม่คุ้นก็อาจออกเสียงผิดเพี้ยนไปได้ เช่น ในชื่อเมืองเป็นต้น เหตุนี้ถ้าต้องการให้อ่านถูกต้อง ก็ต้องใช้ตัวหนังสืออีกชุดหนึ่งเรียกว่า Phonetic alphabets ซึ่งใช้เป็นแบบสากล เช่นตัวหนังสือที่บอกไว้ในคำนำของพจนานุกรมสำหรับนำทางให้ออกเสียงอ่านให้ถูกต้อง ครั้นมาถึงเสียงของคำพูดในภาษาต่างๆ ที่ไม่ใช่ฝรั่ง ก็ต้องคิดจัดตัวโรมันเข้าปรับเทียบกับเสียงสระของภาษานั้นโดยฉะเพาะ โดยใช้เครื่องหมายไว้บนไว้ล่างเป็นจุดเป็นขีดหรือสร้างขึ้นใหม่โดยฉะเพาะก็มี ซ้ำแบบเทียบเสียงที่ว่านี้ ลางทีต่างอาจารย์ก็ไม่ลงกัน ต้องใช้ศึกษาเสียก่อนจึงจะเข้าใจ ถ้าเป็นภาษาที่ใช้ระดับเสียงมีความหมายในภาษา เช่น จีน ญวน และไทย ก็ต้องมีเครื่องหมายเพิ่มเป็นพิเศษขึ้นอีก แต่แบบเทียบเสียงเหล่านี้ใช้ฉะเพาะการศึกษา ถ้าเป็นคำที่ใช้กันธรรมดา เช่นในแผนที่หรือในหนังสือสามัญ ก็ไม่มีเครื่องหมายเหล่านี้ แม้แต่เสียงสั้นยาวก็ไม่บอกไว้ ต้องอาศัยอ่านเดากัน จึงได้มีอ่านถูกบ้างผิดบ้าง แต่ก็ฟังกันเข้าใจ เช่นเมืองตาก ฝรั่งอ่านเป็น มวงแทก ก็เคยมี ชื่อต่าง ๆ ในอินเดีย แหลมอินโดจีน และจีน เป็นชื่อที่ไทยเคยคุ้นมีอยู่มาก เมื่อฝรั่งจดเป็นตัวโรมัน ก็หมดความสามารถที่จะทราบได้ว่าเสียงใดเป็นถูก ซ้ำลางชื่อคำไทยแท้ ๆ พะม่าเรียกเพี้ยนไป ฝรั่งจดตามเสียงพะม่าก็ห่างออกไป เช่น Bhamo ซึ่งเป็นเมืองสำคัญในแคว้นไทยใหญ่ ก็คือเมืองบ้านหม้อ Momeik เมืองมีด Mone เมืองนาย Mohnyin หรือ Mohwyen เมืองยอง Wunsho เมืองเวียงเสือ Mogaung เมืองกลอง Kyawt เมืองจอด เป็นต้น เมืองยะไข่ ฝรั่งเรียกว่า Aracan พะม่าออกเสียง ร เป็น ย ก็จะเป็น อะยะกัญ ถ้าออกเสียง ญ ให้ขึ้นนาสิกก็เพี้ยนเป็น อะยะไกญ์ ไป เสียง อ เป็นเสียงช่วยให้ออกเสียง ร (อรรธสระ) ได้ในคำเดิม ตกมาถึงพะม่าตัดเสียง อะ ออกก็เป็นเสียง ยะไก หรือ ยะไข่ ไป คำ ยะไข่ พะม่าว่าเพี้ยนมาจาก ยักข์ และว่าเมือง ยะไข่ เป็นแดนของพวกยักษ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด เป็นตำนานพื้นเมืองซึ่งเพียรจะอธิบาย ต้นเหตุของคำว่า ยะไข่ ให้ได้ เช่นเดียวกับ ทวาย ไทยว่ามาจาก ท่าหวาย ส่วนพะม่าว่ามาจาก ขายมีดคาบ (วอย-ขาย ดา-ดาบ) ชาวทะวายกับชาวยะไข่เป็นชาติเดียวกัน และเป็นกึ่งหนึ่งของชาติพะม่า
ข้าพระพุทธเจ้าเคยพิจารณาเสียงสระของพะม่าที่ฝรั่งแต่งไว้ รู้สึกด้วยเกล้า ฯ ว่า สระของพะม่าสับปลับเต็มที ไม่แพ้อังกฤษ เช่น สระอะ ถ้าเป็นแม่กกและกง เสียงมักเพี้ยนเป็น เอ ถ้าเป็นแม่กนหรือกม เสียงมักเพี้ยนเป็น อู ถ้าเป็นแม่กดมี ส การันต์ เสียง อะ ก็เพี้ยนเป็น อิ ถ้าสกดด้วย ญ เพี้ยนเป็น อี และ เอีย สระอู ถ้ามีตัวสกดลางทีเป็น โอ สระตัวอื่นก็เป็นเช่นเดียวกัน ข้าพระพุทธเจ้าจึงหมดความเพียรที่จะอ่านตัวหนังสือพะม่า เสียงพยัญชนะก็ไม่ตายตัว เช่น ก ลางทีเป็นเสียงครึ่ง ก ครึ่ง g ถ้า ก เป็นตัวสกดเสียงมักเพี้ยนเป็น ต ข ถ้ามี ย หรือ ร ตามมีเสียงเป็น จ เสียงนี้ไม่แปลกเพราะ ก ย อ่านพร้อมกัน ก็เป็น จ ได้ ตัว ป ถ้าเปนตัวสกดและมีเสียงหน้าเป็นสระ อะ เสียง ป ก็เพี้ยนเป็น ต ถ้าเป็นสระตัวอื่น เสียง ป ก็กลายเสียง ก บ้าง เสียง บ บ้าง เสียง ม ถ้ามีสระเอียหรืออู เพี้ยนเป็น ง หรือ น
เกาะเซเลบีส ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านเป็น เซลีบีส บ้าง ซีลีบีส บ้าง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ถ้าออกเสียงตามหลัก e เท่ากับ เอ ก็ควรจะเป็น เซเลเบส แต่อ่านเป็น อีส จะติดมาแต่กรีก เพราะเมื่อลงท้ายในคำเช่น Hercules ก็อ่าน iz เสมอไป ข้าพระพุทธเจ้ายังนึกใฝ่ฝันว่า เมื่อไรจะมีปทานุกรมกำหนดเสียงชื่อต่างๆ ในภูมิศาสตร์ให้ลงรูปแน่นอนกันเสียที อย่างชาติต่าง ๆ เช่น จีน เป็นต้น ก็ได้วางกำหนดออกเสียงอ่านไว้แล้ว แต่เป็นเรื่องค่อนข้างยากไม่น้อย
ข้าพระพุทธเจ้าได้วานผู้รู้ภาษาญวน ที่ใช้หนังสือญวนด้วยอักษรโรมัน จดสระพยัญชนะและเครื่องหมายวรรณยุติให้ข้าพระพุทธเจ้าดังนี้
อา a
ออ o
บ b
ยา gia
อ้า ă
โอ ô
ก c (เฉพาะ a, o หรือ u ตามหลัง)
ฮ h
เอ้อ â
เออ o’
จ ch
ก k (เฉพาะ e, êหรือ I ตามหลัง)
แอ e
อู u
ย d
ค kh
เอ ê
อือ u’
ด d̄
ล l
อิ i
อี y
ค g (เฉพาะ a, o หรือ u ตามหลัง)
ม m
น n
กว qu
ต t
ว v
ง ng
ป p
ร r
ท th
ซ x
พ ph
ซ s
ตร tr
ญ nh
mà หม่า (แต่) má ม้า (แม่) ma้ หมา (หลุมศพ) mā (หม๊า) (ม้า) ma หมะ (ข้าวกล้า)
ข้าพระพุทธเจ้าพบคำ karccha ในภาษาฮินดูสตานี แปลไว้ว่า
ช้อนขนาดใหญ่ ว่ามาจาก kafcha ในภาษาเปอร์เซียซึ่งแปลว่าช้อน แม่เบี้ยของงู ซึ่งคงจะเอามาจากลักษณะที่งูแผ่แม่เบี้ยมีรูปคล้ายช้อนก็ได้ คำนี้คล้ายกับกระจ่าในภาษาไทย ซ้ำ จวัก (ซึ่งยังไม่ทราบเกล้า ฯ ว่าเป็นภาษาอะไร เสียงใกล้กับคำ กวัก) ก็นำไปใช้กับงู เป็นฉกจวักก็ได้
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า