๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๘๔

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๘ กันยายน และวันที่ ๖ ตุลาคม รวมสองฉะบับแล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ประเด็น ข้าพระพุทธเจ้าจนด้วยเกล้าฯ ได้สอบถามและค้นหาก็ยังไม่ได้ความ ที่ทรงเห็นว่าจะเป็น ประเด่น หรือไม่ใช่ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นได้ความเข้ากันได้ดี

ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งได้ทราบเกล้า ฯ ถึงคำ เฉลิม และ ฉลอง พระชันษา ว่าใช้ผิดกัน มหาฉ่ำบอกข้าพระพุทธเจ้าว่า ฉลอง เป็นตัวเดิม ถ้ามาจาก จอง จองก็จะต้องเป็น จำนอง การสมโพชในเขมรก็ใช้ว่า ฉลอง แต่ ฉลอง ในเขมรแปลว่า ข้าม อย่างที่ตรัส ส่วน เฉลิม ไม่มีในเขมร เฉลิมพระชันษาก็ใช้ว่า ฉลอง ส่วน เจิม ก็ไม่มี เขมรมีคำ เฉนิม แปลว่า เป็นที่น่าชม นางงามที่หนึ่ง เช่น สรีเฉนิมนคร เป็นต้น ความของ เฉนิม กับ ฉลอง กิพอปรับลงกันได้ แต่ไม่มีใช้ในความว่า เฉลิมชันษา ข้าพระพุทธเจสอบดูทางมอญและทางไทยถิ่นต่าง ๆก็ไม่ได้ความ มาเมื่อวานนี้พระสุธีวรคุณ วัดจักรวรรดิ์ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ภาษาไทยพายัพหลวงพระบางและอีศาน มาหาข้าพระพุทธเจ้า ได้ชี้แจงแก่ข้าพระพุทธเจ้าว่า เฉลิม เป็นคำไทยมาแต่ เสิม ส่วน ฉลอง นั้นทางเวียงจันทร์ใช้ว่า สอง เช่น สองวัด ก็คือ ฉลองวัด เข้าใจว่าจะไปจากสองของการนับนั่นเอง คือ สมโพชเป็นครั้งที่ไม่ใช่เป็นครั้งแรก คำอธิบายเรื่อง ฉลอง กับ สอง พอฟังได้ พระสารประเสริฐเห็นว่า สอง สนอง ฉลอง สำนอง ควรเป็นคำเดียวกัน คือตอบแทน (ครั้งที่สอง) เช่น ฉลองหรือสนองพระเดชพระคุณ ส่วน เฉลิม กบ เสิม ข้าพระพุทธเจ้าเห็นเข้ากันได้ดี ลางทีการแผลง เสิม มาเป็น เสลิม หรือ เฉลิม จะเอาวิธีแผลงมาจากหลักในภาษาเขมรก็ได้ คำว่า เพิ่มเติมเสิมศรัทธา และ เพิ่มเติมเฉลิมศรัทธา ก็เป็นความเดียวกัน มหาฉ่ำค้นคำ สอง ในเขมร ได้ความว่า ใช้หนี้ เลขลบ ตอบแทน แผลงเป็น สนอง สำนอง แปลว่า ตอบแทน

เรื่องคำแผลงของเขมร เช่น จอง เป็น จำนอง ข้าพระพุทธเจ้าเคยถามมหาฉ่ำว่า ทำไมจึงต้องใช้เสียง อัมนะ จะใช้เป็นเสียง อัน เช่น จอง เป็น จันนอง บ้างไม่ได้หรือ และทำไมต้องมีเสียง น ด้วย จอง จะเป็น จำมอง บ้างมิได้หรือ ก็ตอบได้แต่ว่าเคยใช้กันมาอย่างนั้น ในภาษาเขมรไม่มีอธิบายไว้ ข้าพระพุทธเจ้ามาได้ความจากตำรานิรุกติศาสตร์ว่า ภาษาที่ใช้คำอื่นเอามาติดต่อคำตัวตั้งนั้น มีวิธีติดต่อเป็นสามลักษณะ คือติดต่อหรือเติมเข้าข้างหน้าคำตัวตั้งได้แก่อุปสรรค เติมเข้าข้างหลังได้แก่ปัจจัย เติมเข้ากลางคำ ซึ่งในบาลีและสํสกฤตไม่มี มีแต่ลงอาคม ซึ่งเป็นการเติมเพื่อสะดวกในการออกเสียงเท่านั้น ไม่ทำให้ความหมายในคำเมื่อเติมเสียงแล้วแปลกออกไป ส่วนเติมกลางอย่างภาษาใช้คำติดต่อนั้น เป็นเรื่องแปลงความหมาย คำที่ใช้เติมกลางต้องใช้เสียงสระและพยัญชนะอนุนาสิก คือ ง น ม เพราะสะดวกแก่การออกเสียง เช่น ในภาษามอญ ป๊อต แปลว่า เจาะ แผลงเป็น ปาวหโนต แปลว่า เหล็กหมาด คำทั้งสองนี้ข้าพระพุทธเจ้าจดตามที่ผู้รู้ภาษามอญจดมาให้ ส่วนที่ในตำรานิรุกติศาสตร์เขียนเป็นตัวโรมันไว้เป็นดังนี้ put-pnut (p-nu-t) เมื่อเขาแยกไปไว้ดังนี้ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นวิธีของเสียง นุ เติมกลางคำ ถ้าจะเทียบ กราล เป็น กำราล เขียนเป็นตัวโรมันก็จะเป็น k-am-ral เห็นได้ชัดว่า อัม เป็นคำเติมกลาง ch-amn-ang จำนอง ก็เป็นเสียง อัมนะ เติมกลาง ในภาษามอญ-เขมร ใช้เติมหน้าแล้วเติมกลาง ภาษามลายูเติมหน้าและเติมหลัง ภาษาทมิฬใช้แต่เติมหลัง ภาษาเตอรกีใช้เติมหลัง และจะเติมต่อกันไปในคำเดียวหลายเสียงก็ได้

เรื่อง มือ มี อ แต่ มี ไม่มี อ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นขัน ในหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่ง กล่าวถึงเรื่องเสียงพยัญชนะและสระของอังกฤษว่าอ่านสับปลับเต็มที เช่น rough อ่านว่า รัฟ ตัว gh เท่ากับ f (ฟ) women อ่านว่า วีเม่น ตัว ๐ เท่า i (อี) tion อ่านว่า เชิ่น ตัว ti เท่ากับ sh (ช) เพราะฉะนั้นถ้าเขียนคำว่า fish จะต้องเขียนเป็น ghoti ตามแนวข้างบนนี้ ในศิลาจารึกพระร่วงก็ไม่ได้เติม อ ในคำว่า สือ แต่ในหนังสือครั้งสมเด็จพระนารายน์มี อ บ้าง ไม่มีบ้าง เห็นจะมาเข้ารูปมีตัว อ ภายหลังนี้ มีผู้อธิบายกันว่าที่เติม อ เพื่อไม่ให้หลงผิดอ่านเป็น มี ไป เพราะ มือกับ มี รูปคล้ายกันมาก นี่ก็เป็นแต่สันนิษฐานเท่านั้น ลางที มี ก็มี ย ซึ่งคงติดมาแต่บาลี ที่ออกเสียง อี ให้ลิ้นเลยขึ้นไปชิดเพดานปาก จึงได้เกิดเป็นเสียงเช่นนั้น การออกเสียงของไทยอย่างนี้ไม่มี

ที่ตรัสประทานเรื่องการเขียน บรร เป็น ประ และเรื่องไม้ผัดและลากข้าง เพราะเนื่องมาแต่ตัวหนังสือเขมรนั้น มีประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ข้าพระพุทธเจ้ากำลังเขียนตำรานิรุกติศาสตร์อยู่ คิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะแบ่งเป็นสองตอน ตอนหนึ่งว่าด้วยหลักนิรุกติศาสตร์ ตอนสองว่าด้วยภาษาไทยตามแนวนิรุกติศาสตร์ ข้าพระพุทธเจ้าเขียนตอนหนึ่งไปได้ ๔ บทแล้ว นับว่าใน ๔ ส่วนได้ลุล่วงไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่เขียนได้ช้าเพราะทำได้แต่ในเวลาว่าง แต่เวลาว่างนี้แปลก ถ้ามีเวลาว่างมากเช่นในวันหยุด ก็ไม่ใช้เวลาว่างเขียนหนังสือได้นัก เพราะไปใช้เป็นเวลาว่างเสียจริงๆ ที่เขียนได้มากก็เมื่อในเวลาอยู่ระหว่างไม่ว่าง เช่นมีธุระอื่นๆ จะต้องเขียนมาก พอเสร็จธุระนั้นแล้วก็ทำอื่นได้ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าที่ทำได้ในเวลาระหว่างเช่นนี้เป็นการพักหมกมุ่น เปลี่ยนเป็นหาความเพลินอย่างอื่น แม้เป็นเรื่องเขียนเดียวกัน อย่างหนึ่งเป็นงาน แต่อีกอย่างหนึ่งเป็นเล่น จึ่งเป็นไม่เหนื่อยไป ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯว่า ถ้าเขียนนิรุกติศาสตร์ภาคต้นไปได้สักครึ่งหนึ่ง ก็จะได้ถวายไปเพื่อพระเมตตากรุณา ดั่งที่เคยประทานแก่ข้าพระพุทธเจ้ามา ส่วนตอนสองจะพูดถึงลักษณะไทยเดิม แล้วกลายมาจนปัจจุบันนี้ได้อย่างไร เป็นเรื่องหนักอยู่ ข้อที่หนักก็เพราะภาษาไทยในรุ่นหลังปนกับเขมรจนเกือบจะเป็นภาษาเดียวกัน ถ้าไม่มีความรู้หลักในภาษาเขมรก็เป็นความลำบากมาก เพราะฉะนั้นหลักต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาษาเขมรที่ทรงพระกรุณาประทานข้าพระพุทธเจ้ามา จึงเป็นประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องคำ ซอ ในพายัพมี จ๊อย อีกคำหนึ่ง ใช้เข้าคู่กับ ซอ เป็น จ๊อยซอ ว่าเป็นเสียงร้องที่ไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้น จ๊อย กับ สร้อยเพลง จะเป็นคำเดียวกัน

ที่ทรงเห็นว่า เพี้ย พญา พระยา ฟ้า จะเป็นคำเดียวกัน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องตามกระแสพระดำริทุกประการ ฝรั่งเขียน เจ้าฟ้าไทยใหญ่ ก็เขียนเป็น sawbwa ซึ่งเขาคงเอาเสียงมาจากพะม่า ที่ไม่มีเสียง ฟ ใช้ ที่มีผู้เห็นกันว่า พระ จะมาจาก วร เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าจะเพราะเหตุผเอิญเป็นที่เสียงมาใกล้กัน และความในคำ วระ ก็แปลได้ความดี เลยอนุโลมให้รวมกัน คำ พระ ที่เพี้ยนไปจาก ฟ้า จึงหายไป เรื่องเสียง ฟ ในไทยใหญ่ อาหมก็ไม่มีใช้ เสียงเพี้ยนเป็น ม ว และ ผ พ ไป ในศิลาจารึกพระร่วงเขียนเป็น ผ้า ก็มี ฟ้า ก็มี เป็นคำซึ่งยังเขียนไม่อยู่ที่

เสียง ฟ ในตระกูลภาษาอินเดีย-ยุโรป มีแต่พวกภาษาเยอรมัน เช่น เยอรมัน อังกฤษ เดนมารค ฮอลันดา ถ้าในสสกฤต ละตินขึ้นต้นด้วยเสียง ป ในพวกภาษาเยอรมัน จะเป็นเสียง ฟ เช่น pitar-father; pedas (บาท) – foot, priya (สํสกฤต) - free (คำนี้ในความหมายเดิมหมายความว่า น่ารัก ความหมายมากลายเป็น สะดวก อำเภอใจ ในตอนหลัง) parna (บรรณ) - fern คำเทียบอย่างนี้ในนิรุกติศาสตร์เรียกว่ากฎของกริม เพราะนักปราชญ์เยอรมันชื่อนี้เป็นผู้ค้นพบ และไม่ใช่มีแต่เสียง ป กับ ฟ ถึงตัวอื่นก็มีเป็นแนวไป เป็นผลทำให้เดาถึงคำอื่นได้

คำ เจ้า เข้า เช้า เก้า เสียงยาวทุกคำ ผิดกับที่เขียนซึ่งเป็นเสียงสั้น แต่ เบ้า เบา เกา เต่า เสียงคงตามเขียน คิดด้วยเกล้าฯว่าพวกแรกจะเป็นเสียงอยู่ในระหว่างเสียง เอา กับ อาว หากไม่มีเครื่องหมายใช้เขียนจึงต้องเขียนเป็นเสียง เอา เสียงเติมในภาษาไทยเห็นจะศูนย์หรือกลายไปเพราะด้วยเรื่องเขียนดั่งนี้คงมีมาก

ขุน กับ กุน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นไปในทางว่าเป็นคำเดียวกัน ในภาษาจีนกวางตุ้งเป็น กวั้น แต้จิ๋วเป็น กุน แต่เสียงโบราณของจีนเป็น ขุน หรือ คุน ก็ได้ ถ้าว่าในเรื่องเสียงก็เป็นคำเดียวกัน กุน ในภาษาจีนแปลว่าพระเจ้าแผ่นดิน เจ้า หัวหน้า ก็ตรงกับ ขุน ในภาษาไทย ประกอบทั้งภาษาจีนกับภาษาไทยก็มีหลักภาษาอย่างเดียวกัน การติดต่อระหว่างไทยกับจีนก็มีมาช้านาน และไม่ใช่มีแต่ กุน กับ ขุน เพียงเท่านั้น ยังมีคำที่พ้องเสียงและความหมายกันอีก นับด้วยหลายร้อยคำ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า ขุน กับ กุน เป็นคำเดียวกัน แต่จะเป็นคำของจีนหรือของไทยมาแต่เดิม และฝ่ายไหนจะยืมเอาไป ยากที่จะวินิจฉัย คำ ๆ เดียวกันอาจเพี้ยนเสียงและความหมายไปตามท้องถิ่น เพราะด้วยสิ่งแวดล้อมและเวลา แต่ กุน กับ ขุน ยังมองเห็นเค้าอยู่

เรื่องตัดสินว่าคำไรเป็นภาษาใด ถ้าเป็นคำสามัญลางคำก็พอจะทราบเกล้าฯ ได้ เช่น เกิด ในเขมรก็มีไทยก็มี แต่ เกิด มีอยู่ในภาษาไทยทุกถิ่น ส่วน เกิด มีแต่เขมร มอญไม่มี ถ้า เกิด เป็นคำเดิมของเขมร ในมอญก็ต้องมีด้วย ที่ เกิด แผลงเป็น กำเนิด บังเกิด ก็คงเอาแนวในหลักภาษาเขมรมาใช้แก่คำไทย หรือไม่เช่นนั้นเขมรนำเอาคำว่า เกิด ซึ่งเป็นคำไทย ไปใช้ตามหลักในภาษาของเขมร คำว่า จมูก เดิน สองคำนี้เป็นคำในตระกูลมอญ-เขมรแน่ เพราะในภาษามอญและภาษาข่าก็มีคำสองคำนี้ หากเพี้ยนเสียงไปบ้าง ส่วนในภาษาไทยไม่มีคำว่า จมูก และ เดิน คงมีคำว่า ดัง ลัง และ ก้าว ย่าง และ เตียว ถ้าเดินด้วยเท้า ไทยใหญ่ใช้ว่า ไปตี๋น

คำว่า กลา ใน กองกุณฑ์กลากิจ คิดด้วยเกล้าฯ ว่าในที่นี้จะมาแต่คำ อุกลาบาต ซึ่งในคำกลอนหมายความว่า ไฟ หรือ ลูกไฟ ได้อีกทางหนึ่ง

เรื่องบัน เขียนเปลี่ยนตัวสกดไปตามตัวหลัง ข้าพระพุทธเจ้าลืมกราบทูลถึงเค้าที่เป็นเช่นนี้ คือเนื่องมาแต่อาการของลมในปากออกมาคั่งอยู่ แต่ถูกปากอุบไว้ ไม่ให้ออกมา ลมก็แล่นไปออกทางจมูก เป็มลมหายใจแรง ไม่มีเสียงก้อง ถ้าในขณะเดียวกันนั้นมีเสียงพยัญชนะในวรรคใดตามมาด้วย ลมที่อุบไว้ก็จะเกิดเสียงเป็นไปตามเสียงพยัญชนะในวรรคนั้น แต่เสียงคาบเส้นเป็นได้ทั้ง ง น และ ม เสียงอย่างนี้ในตำราไวยากรณ์ภาษาบาลีเรียกว่า อนุสาร ซึ่งเขียนเป็นรูปพินธุหรือนิคหิต ในพะม่าออกเสียง อนุสาร เป็น ม ไทยออกเสียงตามปาตีเป็น ง อย่างลังกา เช่น ปุํลิงค์ พะม่าอ่านเป็น ปุมลึงค์ ของไทยเป็น ปุงลิงค์ คำ วงศ์ ฝรั่งเขียนเป็น vamsa ก็มี vangsa ก็มี เสียง ญ น ม ถ้าไม่มีเสียง อุบ ตามออกมาด้วย เสียงก็แน่นอน คือเป็นเสียงอนุนาสิกเท่านั้น

ยังเสียงวิสรรคอีกเสียงหนึ่ง ซึ่งทำความลำบากให้เกิดเข้าใจผิดว่าเป็นเสียงสระ เพราะในหนังสือไทยถือว่า ะ เป็นเสียงสระ อะ อาจารย์อังกฤษซึ่งสอนวิชาโฟเนติกส์ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เคยบ่นแก่ข้าพระพุทธเจ้าว่า สอนนิสสิตให้เข้าใจถึงคำว่า เหมาะ คือเสียงพยัญชนะ moh ไม่ใช่เสียงสระเอาะ ก็ไม่มีใครเชื่อ ฝรั่งเขียน เคราะห์ เป็น graha ก็เนื่องมาแต่เสียงวิสรรคนี้ เป็นเสียงที่ลมแล่นมาแต่ปากช่องลูกกระเดือกโดยแรง แต่ถูกตัดเสียงลงในทันทีทันใด แล้วให้ระเบิดออกมา ถ้าลมที่แล่นออกมาไม่ถูกเส้นเสียงที่ปากช่องลูกกระเดือกตัดเสียง เสียงแล่นออกมาจากปากไปได้สะดวก เสียงนั้นเป็นพยัญชนะ อ ถ้าเสียงลมที่แล่นออกมากระทบเส้นเสียงที่ปากช่องลูกกระเดือก เกิดอาการสั่นสะบัด เสียงที่ออกมาก็เป็นโฆษะหรือเสียงก้อง ถ้าริมฝีปากห่อนิดในขณะลมพุ่งออกมา เสียงนั้นก็เป็นสระ อ ที่โบราณเขียน โลห เลห แล้วภายหลังเติมไม้เอกเป็น โล่ห์ เล่ห์ เห็นจะเกรงว่าจะอ่านไม่ถูก จึงต้องเติมไม้เอกลงไป เลยทำให้เสียงวิสรรคกลายเป็นระดับเสียงไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ