๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๕

นายยง อนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๕ สิงหาคม สองฉบับได้รับแล้ว ขอบใจมาก

เรื่อง หมาดำ นั้นขันมาก แต่ฉันไม่ได้ทราบเลย กรมหลวงประจักษ์ก็ไม่ได้ตรัสเล่าให้ฟัง

ท่านแยกแยะคำ หัวเราะ ไปเปนหลายอย่างนั้นดีมาก ทีนี้ได้รู้รากแก้วของคำนั้น อ่านกับเขียนลางคำก็ผิดกันไปมาก จะเปนด้วยอะไรก็เหนจะได้หลายอย่าง คำ ร้องแรกแหกกเชอ กลัวเดิมจะมีแต่ ร้องแรก แหกกเชอ จะเติมเข้าทีหลังด้วยกลอนพาไป คำที่ต่อเพราะกลอนพาไปนั้นมีมาก

คำ ริ ก็กลัวจะมาจาก ตริ แต่หมายความเปนอย่างอื่นไป

ชา กลัวภาษาเขมรจะเข้ามาปน แต่ก็ไม่แน่ เหนจะต้องพิจารณาเปนคำ ๆ ไป ฉันเคยพิจารณาคำ บัน บรร บัญ มาทีหนึ่งแล้ว ว่าเขมรเขาเขียนอย่างไร ก็สอบได้ว่า บรร นั้นเปนไทย ใช้แทน ประ เช่น ประจบ-บรรจบ หรือ ประจง-บรรจง เปนต้น ส่วนที่สงสัยในการที่ควรจะเขียน บัญ หรือไม่นั้นก็มีมูล เช่นคำ บังคับ เปนต้น นั่นก็เหน ได้ว่าเปลี่ยนเพราะตัวหลัง แม้ตามแนวเดียวกัน บัลลุ ก็ควรสกด ล แต่สอบสวนได้ความว่าทางเขมรไม่มี ตกลงเปนภาษาไทย

แปล สี่นอหาม นั้น ขอให้ท่านรวัง จะเข้าทางธรรมะก็ไม่ขัดข้อง ขอแต่อย่าให้เปนแปล ยัด เข้าทีหลังด้วยไม่รู้ความหมายเดิมก็แล้วกัน

พราหมณ์ศาสตรี ว่าอยู่บ้านแถวโบถพราหมณ์ ฉันก็ไม่เคยไปหา บอกเอาแน่ว่าอยู่ตรงไหนไม่ได้ แต่ถ้าท่านจะไปหาเพื่อถามก็คงหาพบ

ไม้เอกนั้นชอบกล ทางเขมรถ้าขีดลงไปที่ระหว่างลากข้างแล้วแปลว่าให้อ่านสั้น เพราะไม้ผัดเขาไม่มี ต้องใช้ลากข้างทั้งนั้น แต่ถ้ามีไม้เอกหลังลากข้าง ก็ให้อ่านเปนเสียงสั้นดุจไม้ผัด แต่เหนจะเปนของใหม่ ส่วนทางไทยป่าๆ ถ้าอักขระตัวใดมีไม้เอกข้างบนก็อ่านเปนเหมือนมีประหลัง

คำที่ชาติใดมีไม่มีของท่าน ทำให้ฉันได้สติขึ้น เพราะไม่เคยคิดมาเลย นึกถึงภาษาเรา เอาแต่คนในตระกูลก็ลักลั่นเต็มทีแล้ว เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลุง ป้า นั่นดูจะเปนหมายเอาลึงค์ ที่เราเขียน อาว แต่ที่ตัว ว ลงทันฑฆาตนั้นก็ไห้เปน อา เหมือนพูด ทำให้สงสัยจึงได้ไต่สวน ก็ได้ความว่ามีทั้ง อา และ อาว จำหน่ายไปว่า อา เปนผู้หญิง และ อาว เปนผู้ชาย ก็ไปทางแสดงลึงค์เหมือนกัน แต่คำ นำ ไม่ได้สอบ ไม่เปนทางแสดงลึงค์อย่างพวกเดียวกัน แต่ถ้ามีคำอื่นอีกเปนแสดงลึงค์ก็จะไม่ประหลาดเลย ส่วน ทวด (ซึ่งเรียกกันว่า ชวด) อันอยู่ในสายตระกูลเหมือนกัน แต่ไม่แบ่งให้รู้ว่าเปนหญิงหรือชายและเปนทวดทางฝ่ายใด จนกรมหลวงสรรพสิทธิทรงผูกเปนปัญหาถาม ว่า ทวดมีกี่คน ตกกันให้เปนรนาวไป เพราะไม่มีใครเคยได้คิด ทั้งคำว่า พี่น้อง ก็ยุ่งเหยิง ที่คลานตามกันออกมาก็เรียกว่า พี่น้อง ลูกของลุงป้าน้าอาก็เรียกว่า พี่น้อง ลางทีก็แถมคำเข้าว่า ลูกพี่ ลูกน้อง แต่คิดว่าเปนคำเติมใหม่ เพราะยุ่งหนักเข้า ไม่รู้ว่าใครเปนใคร ยังที่เราขอยืมคำมคธมาใช้ซึ่งเรียกว่า ญาติ นั้นภาษาเราก็เรียกว่า พี่น้อง หมดดีกันเท่านั้น ส่วนที่ต่ำลงไปอีกชั้นหนึ่งเรียกว่า เหลน แต่เหนจะไม่ถูก เพราะหนังสือไม่มีเขียน ถ้าหนังสือแล้วจะเปนต่ำลงไปกี่ชั้นก็เรียกว่า หลาน ทั้งนั้น

คำให้พร อ่านหนังสือเก่าๆ ก็มีผู้ขอพร จึงมีคนให้พร พรที่ให้ดูเปนง่ายๆ ไม่ใช่ให้ในสิ่งซึ่งให้ไม่ได้อย่างทุกวันนี้ เปนแน่ว่าความที่หมายนั้นเดินไป

ท่านค้นเอามาได้ว่าคำ สรวง แปลว่าผีนั้น ดีเต็มที ฉันก็เข้าใจผิดคิดว่า สรวง เปน สรรค์ คือ สวรรค์ แต่ครั้นได้ยินท่านแปลก็เหนด้วย แมนสรวง ก็แปลว่า ผีฟ้า คือ เทวดา คนเราถือผีเปนที่ตั้ง god ก็คือผี ทั้งนี้ก็สมด้วยคาถาที่ว่า พหุํ เว สรณํ ยันติ ปัพพตานิ วนานิ จ ก็คือถือผีเข้าว่าเปนสรณะ ข้อนี้ก็สมด้วยคำซึ่งท่านว่า พรานบนเจ้าป่าให้ได้สัตว์ป่า การถือผีนั้นจนเคยตัว แม้จะถืออะไรที่ไม่ใช่ผีก็เหยียดเปนผี จนเหนได้ที่มีลคอนมีหนังถวายพระชินศรี นั่นอะไร ไม่ใช่เหยียดพระพุทธรูปเปนผีดอกหรือ ไปอยู่ที่วังวรดิศ นอนฟังที่บ้านลคอนเขาตีโทน สำคัญว่าเขาซ้อมลคอนชาตรี แต่ถามคนที่อยู่ใกล้เคียงก็หาใช้ไม่ เปนว่าเดี๋ยวนี้มีการบนบานอะไร ก็ไปมีลคอนแก้สินบนที่บ้านลคอน พวกบ้านลคอนจัดเครื่องแก้สินบนไว้ให้เสร็จ พร้อมทั้งมีลคอนด้วยดีมาก ทีแรกนึกว่าคนทุกวันนี้เคลื่อนคลายไปจากการถือผีด้วยกันหมด แต่หาเปนเช่นนั้นไม่ การเคลื่อนคลายนั้นก็เปนอยู่ส่วนหนึ่ง แต่การที่ยังคงถือกันอยู่ก็คงมีอีกส่วนหนึ่ง เว้นแต่การเปลี่ยนเดินเปนอีกอย่างหนึ่งไปเท่านั้น

ตามที่ฉันจะทรงพระกรุณาในเรื่องที่ท่านเห็นว่าต้องอาศัยของเก่านั้น ฉันรู้สึกไปอย่างหนึ่งว่า คนสมัยไหนถือกันว่าอย่างไร เปนดีก็ตามไปนั่นแหละเปนถูก ไม่ใช่จะสำเร็จด้วยความคิด การกระทำก็ขัดข้องทีเดียว เช่นฉัตรพระโกษฐ์พระบรมอัฐิ ของเก่าทำไว้เปนฉัตรลายแทง (คือ ลายขวดลวดติดไข่ปลา) แล้วสาบผ้าขาว จะทำพระโกษฐ์พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นนั้นบ้าง แต่ทำไม่ได้เพราะไม่มีช่างลายแทง ด้วยไม่มีใครเขาต้องการกันนานมาแล้ว จนช่างไม่มี ต้องยักทำไปอย่างอื่น ที่คนเขาถือกันในเวลานั้นว่าดี เปนเลื่อยประโปร่ง ในประเทศที่เขาเหนว่าต้องอาศัยสิ่งที่เก่า ๆ ก็คือ เขาจะบำรุงให้บ้านเมืองของเขาเก่า แต่อาจจะทำได้เปนคน ๆ คือคนที่รักษาการเมืองอยู่ ช่างลายแทงก็ไม่ใช่จะหมดโลกไปทีเดียว เมืองที่เขายังนับถือการช่างเช่นนั้นอยู่ก็มี อาจหามาได้ แต่จะต้องหาเอามาเปนครู อันเปนประโยคพยายามมาก ต้องเปนคนที่บำรุงการเมืองอยู่จึงทำได้ ถ้าเปนคนฉาบฉวยเข้าไปทำชั่วคราว ก็ทำไปเช่นนั้นไม่ได้ การแต่งเพลงแต่ก่อนนี้ก็แต่งใหม่ไม่ได้ ต้องอาศัยเพลงเก่า เพราะคนเขาถือกันว่าอย่างนั้นเปนดี เดี๋ยวนี้กลับตรงกันข้าม ถือว่าเพลงแต่งใหม่เปนดีก็แต่งเพลงใหม่กันไป ในถ้อยคำก็ถือเอาอะไรเปนหลักฐานไม่ได้ คำ ศิลป แปลว่า แก้ผ้าก็ได้

นัยน์ตา ฉันคิดว่าถ้าเปนภาษาไทยก็หมายความว่า เปน ใน (ลูก) ตา ดำ ตา เปล่าๆ ก็มี ไม่ต้อง ในตา หรือ นัยน์ตา และเอาคำ นัด เปน นัดถุ์ นั้นจะอย่างไรดูก็อุตริ แต่อย่างไรก็ดี การคิดเดานั้นอาจถูกได้ผิดได้ ไม่แน่นอน

ที่ฉันเขียนว่า คำคู่ นั้นผิดไป ที่จริงควรจะเขียนว่า คำต่อ หรืออะไรเทือกนั้น แต่การตั้งชื่อคำ ฉันละไว้ให้ท่านตั้ง คำ เหลือ เราทุกวันนี้หมายกันว่าเกิน ช่วยเหลือ ก็ต้องว่าช่วยเกิน เปนของใช้ไม่ได้ ไม่ควรต่อ คำว่า หน่วง ก็หมายความว่าช้าไว้ เอาต่อเข้ากับคำ หนัก ก็ทำให้คำที่ว่าหนักนั้นคลายไป คำว่า ทด ฉันก็นึกเอาทดน้ำซึ่งแปลว่ากั้น กั้นการลองจะมีประโยชน์อะไร ตามที่ฉันพูดนั้นเปนแต่ตัวอย่าง อันที่จริงคำต่อนั้นมีมาก อะไรก็ไม่เจ็บเท่ากับ ชมเชย เชย คำนั้นใช้ในที่สังวาสเสียด้วย เช่น เชยแก้มแนมเนื้ออรไท เปนต้น

การทำอะไรด้วยคนหมู่มากนั้น เปนธรรมเนียมฝรั่ง เราเอามาใช้ของเขาก็ดี เพราะอาศรัยยึดเอาความเหนมากคนเปนยืน ทางเราจะทำอะไรก็มักทำด้วยคนคนเดียว ที่จริงการทำอะไรด้วยคนหมู่มากนั้นเริ่มทำมานานแล้ว แต่ถึงจะไม่เหมือนกับทางของเรา ทีหลังก็ลืม

นึกถึงหนังสือของเราฉันก็เหนขัน ลางทีเขียนกับอ่านก็ลงกัน ลางทีก็ไม่ลงกัน จะต้องพูดถึงต้นเค้า เช่นตัวเปล่าเราอ่านว่า พอ อย่างบังกาลีก็ได้ อ่าน พ อย่างบาลีก็ได้ เช่นคำ พยาบาล เปนต้น แล้วจะประหลังเปน พะ อย่างสังสกฤตก็ได้ เช่น พะพวกหลขันธ์ เปนต้น แต่ขอให้สังเกตว่าเขียนอย่างประหลังกับไม่ประหลังนั้น ถ้าเปนอักษรต่ำแล้ว ตัวเปล่ากับมีประหลังเสียงก็ผิดกันมาก จะเปนด้วยประหลังนั้นกระมัง จึ่งพาให้อ่าน พิ สูงไป

การเขียนรอหัน ก็อยากจะหาว่าเขียนหลง แต่ก่อนนี้ก็เขียน มรคา และ ธรมา กัน เปนเขียนอย่างสังสกฤต คนก็อ่าน มอ-ร-คา และ ทอ-ร-มา ครั้นมาเขียนเปน มรรคา และ ธรรมา-คนก็อ่านเปน มันคา และ ทันมา-การเขียน รอ หัน นั้นหลงมาจนถึงคำ สรเสริญ ก็เขียนว่า สรรเสริญ แต่จะมีใครอ่านตามหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่พูดกันว่า สรเสิน หรือ สั่งกเสิน นั้นมีแน่ แต่ไม่เปนไร อาจจะฝืนได้หรือไม่ได้ก็ไม่ทราบ ถ้าไม่ได้ก็เปนเขียนอย่างหนึ่งอ่านอย่างหนึ่งไป เหมือนหนึ่งเขียนว่า ภรรยา แต่อ่านเปน ภันรยา ไป อะไรก็ไม่เก่งเท่า ครรภ์ แต่อ่านว่า ครัน อันการสับปลับนั้นไม่มีที่สุด เช่น จักรพรรดิ กับ จักรวรรดิ ก็อ่านไม่เหมือนกัน ศักดิ์ก็เท่ากัน

ไม้ไต่คู้ นั้นเคยมีเรื่องมาทีหนึ่งแล้ว ซึ่งควรจะบอกท่านให้รู้เรื่องไว้ด้วย คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านถามความเหนฉัน ว่าคำใดควรเขียนไม้ไต่คู้และคำใดไม่ควรเขียน ทั้งนี้เพราะท่านเหนเขียนบ้างไม่เขียนบ้าง ยุ่งเต็มที ฉันก็ตอบท่านอย่างพุ่ง ว่าคำใดที่มีใช้ทั้งสองอย่าง เช่น เอ็น กับ เอน เปนต้น เอ็น จึงควรใส่ไม้ไต่คู้ ถ้ามีแต่คำเดียวเช่น เห็น ส่วน เหน ไม่มี ก็ไม่ต้องใส่ ผเอิญท่านเหนชอบด้วย

พบคำ หงญี วิฬารญี ในภาษาเขมร คิดว่าคำ หญิง ของเราคงเหมือนกับที่เขมรใช้ว่า ญี นั้น

อันหนังสือพิมพ์ทางข้างไทย พบ ร=ล ล=ร บ่อย ๆ แสดงว่าไม่รู้ ร ล แน่ มีมาก

นึกถึงอักษรสามหมู่ก็เหนขัน อักษรต่ำ ๒๔ ตัว (ไม่นับที่ถอนเอา ขอหยัก คอหยัก ออก) ก็ไม่เสมอกัน ที่เป็นคู่อักษรสูงนั้น ๘ ตัว ที่เอาไว้เขียนภาษาบาลีและสังสกฤต กับเขียนภาษาไทยอย่างอุตริ ๘ ตัว เขียนเอา ห นำให้เปนอักษรกลางอีก ๘ ตัว จึงรวมเปน ๒๔ อักษรสูงผันอย่างหางโค อักษรต่ำผันอย่างงากุญชร เข้ากันก็เปนผันอย่างอักษรกลางเต็มตัว ทีอักษรต่ำถูกเอกและอักษรสูงถูกโทก็เปนกลบลบหายกันไป จะทักไว้ในที่นี้ด้วยว่า อักษรสูง กลาง ต่ำ ลางตัวก็ไม่ต้องการผัน ยังแลไม่เหนเหตุอยู่แต่ว่าอักษรต่ำที่เอา ห เข้านำให้เปนอักษรกลางนั้น ทำไมไม่จัดให้เปนอักษรกลางเสียทีเดียว การแบ่งอักษรเปนสามหมู่นั้น ฉันไม่รู้ว่าของพวกไรเขามีบ้าง รู้แต่ว่าไม่มี ที่เรามีก็คงเปนด้วยเหนตัวซ้ำกันมาก

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ