๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ น (๒)

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๕

นายยง อนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๑๐ ได้รับแล้ว

ขอบใจมากที่อุตส่าห์ค้นคำเรียกเชื้อวงศ์ของพวกไทยต่างๆ จดส่งไปให้ทราบ . แต่เราจะเอาอย่างไม่ได้ นอกจากคำซึ่งมีในกฎหมายของเรา เพราะมีหลักที่อ้างว่า ของเรา คำเรียกเชื้อวงศ์ของพวกไทยต่างๆ ทีก็เอาอย่างมาจากพวกบ้านใกล้เรือนเคียงบ้าง หรือผูกเอาใหม่ก็จะมี อย่างไรก็ดี ความหมายในคำที่ใช้นั้นก็จะเดินมาเสียแล้ว แต่ไม่ว่าอะไร เรียนให้รู้มากไว้เปนดี

จะให้ตัวอย่างคำพูด ฉันไปเที่ยวเมืองชล พระครูวัดต้นสน แต่สีกแล้วแกมาหา แกใช้คำว่า บุตรเขยเลี้ยง เล่นเอาคิดเสียเทบตายว่าอะไร ทีหลังจึงคิดได้ว่าแกบวชจนเปนสมภาร สึกออกมาก็มาคว้าเอาแม่หม้าย ซึ่งมีลูกสาวติดจนมีผัวแล้ว จึงผูกคำนั้นขึ้น ที่จริงคำว่า พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง ลูกเลี้ยง นั้นดี เข้าใจได้ตลอดจนถึงคำ บุตรเขยเลี้ยง คำ พ่อตา แม่ยาย ฉันเข้าใจว่าเรียกตามเมียตามลูก ท่านบอกคำ อ่อน เปน ออ นั้นดีมากทีเดียว เคยได้ทราบแต่ อ่อน เปน หล่อน อนึ่งคำ นาย ก็นึกว่าเปนภาษามคธ มาแต่คำ นายก ตามความจริงจะอย่างไรไม่ทราบ แต่คำ นาย ที่เราใช้ ไม่ได้มาแต่คำ นายก แน่ เพราะเปนคู่กับคำ นาง แต่ไม่ทันคิดไปถึง คำใช้ของเราก็ชอบกล เช่นคำว่า ขุนนาง ก็หมายเปนแต่ว่าอมาตย์เท่านั้น แต่ตามคำแล้วมีเมียอยู่ด้วย นี่ก็ทำให้เหนว่าคำนั้นเดิน

๗ ชั่วโตตร สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ได้ทรงวินิจฉัยไว้ทราบแล้วว่าตัวเปนกลาง นับขึ้นไปสามชั้น ลงมาสามชั้น คำ ขอต ของอังกฤษก็เคยทราบว่า มาแต่ คอกงัว คำว่า วัง กับ เวียง นั้นก็เคยคิด เหนเปนคำเดียวกัน คำ ฉัน ท่านว่าแปลเอาความไม่ได้นั้น ทำให้ฉันได้หลัก จะเปลี่ยนให้ท่านใหม่ ฉนั้น ฉนี้ ไฉน คือ เช่นนั้น เช่นนี้ เช่นไหน นี่ก็รู้แล้ว แต่ยึดเอาคำ ฉัน เปนมั่นคงเสียเพราะเปนตัว ฉ เท่านั้น

คำว่า หมอตำแย นั้นชอบกลมาก หรือหนึ่งต้นตำแยจะใช้เปนยาให้ออกลูกง่ายก็ไม่ทราบ แต่ทีหลังนี้ออกชื่อ ตำแย แล้วก็หมายว่าทำให้คัน หมอตำแยจะว่าหมอคันก็กะไรอยู่ ที่ท่านวินิจฉัยถึงคำ มดหมอ นั้นดีมาก แต่ก่อนนี้ คนที่จะเปนหมอจะต้องรู้การเสกเป่านั้นแน่ คำ หมอ เราก็ใช้ไม่ว่าอะไร ไม่ใช่แต่แพทย์ หมอก็เปนอันที่ต้องรู้การเสกเป่าทั้งนั้น การซื้อเด็กของหมอตำแย ฉันเหนด้วยกับความเหนของท่าน

คำ สกาว ใน พระลอ แต่ก่อนเข้าใจว่า ขาว เพราะคำ หงอกสกาว นำไป บัดนี้มาคิดถึงคำ สินสกางสอดจ้าง ขึ้นได้ สกาง จะแปลว่ากะไร และลิลิตพระลอนั้น ข้างท้ายมีโคลงว่า จบเสร็จมหาราชเจ้า นิพนธ์ แปลกันว่าพระมหาราชครูแต่ง แต่มีความเหนอันหนึ่ง ว่าองค์พระนารายน์ทรงแต่งทีเดียว ความเหนก็ชอบกล คิดว่าที่บอกว่าใครแต่งนั้น เปนเติมทีหลัง เดากันเสียมาก

เขียน เยียน ถูกหรือ เยือน ถูก เราเขียนอยู่ทั้งสองอย่าง

กับคำว่า ผ้าม่วง นุ่งม่วง แต่เดิมทีจะมีแต่สีม่วงดอกกระมัง แต่มีคนคิดว่าคำ ม่วง จะเปนภาษาอื่นก็ได้ เปนความคิดดีอยู่ ท่านช่วยสอบด้วย ม่วง จะแปลว่ากะไร

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ