๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๒๙ เดือนก่อนได้รับแล้ว มีค่าเปนอันมาก

ท่านบอกคำ กุฏิ และ กุฏี ในภาษาสังสกฤต เข้าใจแล้ว แต่กุดนกขุนทองเราก็ไม่ได้ทำหลังคาโค้ง และประตูช่องกุดที่ทำโค้งก็เปนของใหม่ เข้าใจว่าโค้งต่างๆ นั้นไม่ใช่วิธีของเรา เราจำเขามาจากต่างประเทศ ดูพจนานุกรมของอาจารย์ชิลเดอ ก็แปลให้ไว้เปนทีอย่างเดียวกัน คิดว่าคำ กะดี นั้นปนคำไทย หากแต่ไปคล้ายกับคำ กุฏี เข้า จึงเลยทึกเอาว่าเปนภาษามคธสังสกฤต ที่จริงเปนความหมายไกลกันมาก ที่ว่านี้ทำให้นึกถึงนกพิราบ ท่านก็เขียนว่า นกพิราบ ตามที่เราพูดกัน ลางคนเขียนเปนนกพิลาป ฉันเห็นไม่ควรอย่างเอก นึกโคลงได้นิดหนึ่ง ว่า พิราบพิลาครวญ (เหนจะเปนพระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิต) ดีอย่างยิ่ง

โม่หราก ที่ฉันบอกแก่ท่านนั้น มานึกได้ทีหลังว่าผิด เขาเขียนมาให้ดูเปนหน้าคน มีคอเล็กยาวอย่างนกยูง ตัวเปนม้า ดูเปนว่า โม่หราก นั้น ผูกผสมกันหลายอย่าง ทำให้นึกไปถึง สฟิง ของอียิปต์ นั่นก็คือนรสิงห์เราดื้อๆ นั่นเอง เห็นได้ว่านรสิงห์นั้นมีมานานแล้ว

ฉันยอมท่านแล้ว ในข้อที่ ป่า เปนว่ามากนั้น มาเลื่อนเปนไปต่อภายหลัง เหมือนหนึ่งคำว่าของเถื่อนก็หมายถึงของในป่า อันเปนของนอกกฎหมาย แล้วซ่อนกันเข้ามาในบ้านจึ่งเรียกกันว่าของเถื่อน คำ เรือก สวน ไร่ นา ที่เราใช้พูดกัน ฉันก็อยากทราบมานานแล้ว ว่ามีความหมายถึงอะไร ใครเปนเจ้าของ เพิ่งมาทราบเมื่อท่านบอกคราวนี้ว่าเปนคำของไทยใหญ่ หมายถึงลักษณะพื้นที่ซึ่งคนทำต่าง ๆ นอกจากป่า ดีมาก คำว่า ป่า ก็ยอมว่าเปนภาษาจีน คีอีกเหมือนกัน คำว่า ป่าช้า ฉันก็ตั้งใจแปลว่าจะหมายความว่าอย่างไร ท่านบอกว่า ป่าซ่า ก็เข้าใจไปชั้นหนึ่ง ว่าช้าง เขาก็เรียก ซ่าง ตรงกัน แต่ทำไมจึงเรียกว่า ป่าซ่า ก็แลไม่เหนความ คำที่เรียกว่าป่าช้านั้นได้สังเกตเมืองเก่า ๆ เหนเปนป่าจริง ๆ ไม่ใช่อย่างป่าช้าวัดสระเกศ มักอยู่ติดกับเมืองด้านหน้า ประตูด้านนั้นจึงเรียกว่า ประตูผี เข้าใจว่าเดิมป่าช้าวัดสระเกศของเราก็จะเปนเช่นนั้น หากบ้านเรือนคนขยายออกไป

เรื่องเมืองตงยู กับ ตองอู นั้นแน่อย่างท่านว่า คนที่เขียนแปลไม่ดูตาม้าตาเรือ แต่ความผิดถูกนั้นไม่สำคัญ สำคัญแต่ที่ตรงแฟแช่น เขาผิดก็ต้องผิดไปตามเขา ถ้าไม่เช่นนั้นก็ไม่เปนคน ที่จะถือเอาแบบบุราณนั้นติดจะเปนบ้า

การอ่านอย่างไรดูเปนหน้าที่ของเราเอง ถ้ารู้มากว่าพวกไหนเขาอ่านกันอย่างไรดีกว่ารู้น้อย แม้ภาษาอังกฤษเท่านั้นก็มีหลายอย่าง กรมหลวงประจักษ์ทรงตั้งชื่อไว้ว่า ฝรั่งเสียงสูง ฝรั่งอิหลิกขลิกขลัก ฝรั่งทินนอด เปนต้น ถ้ารู้น้อยก็จะต้องเซอะเปนธรรมดา จะไปคอยให้แผนที่เขียนเปนแบบแผนอะไรนั้นคงจะคอยเสียเปล่า เพราะต่างก็มีทฤษฐิเข้าหากัน แผนที่อังกฤษก็ประสงค์ให้เห็นเปนอังกฤษ แม้เยรมันฝรั่งเศสก็อย่างเดียวกัน มีเรื่องขันจะเล่าให้ท่านฟัง นายซันเดรสกี แกลาไปเยี่ยมบ้าน มีธุระอะไรก็ลืมเสียแล้ว นัดกันว่าวันนั้นแกจะมาอยู่เมืองมิวนิค จะมีโทรเลขสั่งอะไรไปก็ได้ ฉันก็ให้แต่งโทรเลขเปนภาษาเยรมันเพื่อจะได้สะดวก ลงตำแหน่งว่าเมือง มึนเซน ครั้นถึงวันกำหนดก็ส่งให้กรมโทรเลขมีไป รุ่งขึ้นกรมโทรเลขส่งคำโทรเลขคืนมาว่าตรวจบัญชีชื่อเมืองมึนเชนไม่มี ฉันจะบอกไปว่าคือเมืองมิวนิค ก็ล่วงวันมาเสียแล้วจะไม่เปนประโยชน์อะไรเลย พูดถึงแผนที่ก็มีเรื่องอีก เขาอันหนึ่งอยู่ต่อแดนพม่า เราเรียกว่า เขากระเหรียก พม่าเขาจะเรียกอะไรไม่ทราบ แต่คำแปลเขียนว่า ช่องเขาคอคาเรี๊ยค เรื่องชะนิดนี้ก็เคยมีแก่ตัวฉันมาทีหนึ่งแล้ว จะเล่าให้ท่านฟังอีก ไปเมืองมันดเล เที่ยวซื้อของด้วยวิธีใช้ใบ้ คราวหนึ่งมีพม่าคนหนึ่งเข้าไปในร้าน แกถามว่า ท่านจะต้องการอะไรจ้าก๋ะ ฉันจะช่วยเป็นล่ามให้ เราก็ดีใจ เราต้องการอะไรก็บอกแก แกเปนล่ามให้สำเร็จประโยชน์ไปโดยเร็ว ครั้นออกมานอกร้านฉันก็ขอบใจแก นึกว่าแกเคยเข้ามาอยู่เมืองไทยจึ่งพูดไทยได้ แต่แกบอกว่า เปล่า ไม่เคยมา ภาษาของฉันยังงี้เอง ฉันเปนเจ้าฟ้าหนองหมอน เล่นเอาต้องสืบทีหลังว่าเมืองหนองหมอนเปนอะไร ก็ได้ความว่าเปนเมืองไทยใหญ่ขึ้นพม่า อย่างเดียวกับเมืองบ้านหม้อ ซึ่งพม่าเรียกว่า บาโม แต่เมืองหนองหมอน เขาจะเรียกอะไรไม่ทราบ เพราะการไต่สวนล่าช้ามาเสียแล้ว เมืองอรขั่น ในแผนที่ก็เขียนเช่นนั้น แต่เราเรียกว่า ยักไช่ ขบแตกแต่ว่าพม่าเรียก ร เปน ย นอกนั้นขบไม่แตก เพิ่งเข้าใจเมื่อท่านบอกอธิบายคราวนี้ ทั้งที่ท่านบอกว่าพวกยักไข่เปนเหล่าเดียวกันกับพวกทวายนั้นก็ดีเต็มที ฉันไม่รู้เลยแต่ก่อนนี้

ในการหมายขีดที่หนังสือ ก็ยิ่งเปนเกจิอาจารย์ไปใหญ่โต ถ้าเรารู้ไม่ได้ว่าอาจารย์ไหน เขาคิดอย่างไร ก็จะต้องเซอะอยู่ยังค่ำ การออกเสียงเคลื่อนคลาศอาจเปนด้วยอะไรไปได้หลายอย่าง แต่ข้อใหญ่ใจความก็เปนอยู่เพราะหนังสือซึ่งตนใช้อยู่นั้นเขียนให้แจ่มแจ้งไม่ได้ อย่าว่าแต่เขียนภาษาต่างประเทศเลย เอาแต่ภาษาของตนเองก็เต็มที เพราะว่าไปยืมเขามา

เรื่องแม่เบี้ยงูนั้นให้รู้สึกเหนื่อยหน่ายไปทีเดียว ด้วยเคยได้คิดถึงร่มฉัตร อหิฉัตตกะ และ จวัก (หรือตวัก) อะไรเหล่านั้นมาพักหนึ่งแล้ว แต่ไล่ไม่จน สุภาสิตโบราณก็มีว่า เสือสิ้นจวัก สุนักข์จนตรอก คำว่า จวัก เปนภาษาอะไร แปลว่ากะไรก็รู้ไม่ได้ สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทรงพระดำริห์เห็นว่า เสือสิ้นป่า หมาจนตรอก เพื่อจะแก้หมาเปนสุนักข์ จวัก ซึ่งแปลไม่ได้ก็พลอยเข้ามา เพราะจะเรียกเปลี่ยนหมาให้เปนสุนักข์ พระดำริเช่นนั้นก็เห็นเข้าทีหนักหนา ในการที่เปลี่ยนเรียกหมาเปนสุนักข์ ก็ไม่เห็นมีศักดิ์อะไรดีขึ้น

มีคนบอกว่า กุหลาบ ก็เปนภาษาเปอเซีย คือ กุล (อ่าน ก เปน g) กับ อาป แขกเขาพูดหมายความถึงน้ำดอกไม้เทศ คือ น้ำกุล แต่เราไม่เข้าใจความหมายของเขา เลยถือเอาคำนั้นเปนชื่อดอกกุหลาบต้นกุหลาบไปเสียทีเดียว จะจริงหรือไม่ อยู่แก่ผู้กล่าว

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ