๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๔๘๕

นาย ย อนุมานราชธน

ได้รับหนังสือซึ่งลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ซึ่งตอบหนังสือฉันลงวันที่ ๖ ที่ ๒๙ มิถุนายน นั้นแล้ว จะต้องพูดซ้ำ ว่าการตอบช้านั้นไม่เปนไรในหนังสือที่ไม่เร่งร้อน แล้วแต่จะมีช่อง

ท่านให้คำตัดเปนตัวอย่างมาเปนกองสองกองนั้นดีมาก ลางคำฉันไม่รู้เลย ไม่ได้คิดไปถึง แต่อย่างไรก็ดี หามีพูดถึงคำต่อไม่ หรือควรจะถือว่ามีคำตัดแล้วก็ต้องมีคำต่ออยู่เปนธรรมดา

ตัวอย่างคำตัดซึ่งท่านบอกมานั้น ทำให้นึกถึงนิทานเก่าขึ้นมาได้เปนหลายเรื่อง ลางเรื่องควรจะเล่าให้ท่านฟัง เจ้านายเรียกเมียพระยาชลยุทธกันว่า แม่ดำ คำนั้นก็ออกจาก madame นั่นเอง เปนคำที่ใช้กันทั่วไปเหมือน แหม่ม แต่หลวงแม่เจ้า (คำดี เห็นจะเปนลาว) แกไม่เคยได้ยิน สำคัญว่าเปนคำไทยจึงตอกเข้าให้ว่า คุณหญิงดำ

เรื่อง รับ และ ทาน ซึ่งท่านว่านั้น มีคนเล่นตลกว่าต่อไปจะเปน ประ เล่นเอาฉันต้องหัวเราะ (เราะ กับ ร่อ ก็ผิดกัน เขียนเปน เราะ แต่พูดเปน ร่อ)

ที่ท่านว่าลากเอาคำของเราเข้าวัดนั้นถูกแล้ว แต่ลางทีจะเปนเพราะผู้ลากถนัดทางวัด ไม่ใช่เพราะคำ คำที่ผเอิญไปใกล้กันเข้ากับวัดก็มี จะต้องพิจารณาเปนคำๆ ไป มีคนว่าคำใดซึ่งพ้องกันเข้า จะต้องพิจารณาไปเปนสามทาง คือเอาอย่างกันนั้นอย่างหนึ่ง ครูเดียวกันนั้นอย่างหนึ่ง ผเอิญไปโดนกันเข้านั้นอย่างหนึ่ง ตามที่ว่านี้เห็นถูกทั้งนั้น คำ อเนจอนาต ซึ่งพระอายุปกิตเห็นว่ามาแต่คำ อนิจฺจํ อนตฺตา นั้นฉันเห็นด้วยเต็มตัว เปนภาษามคธลากเอาเข้าบ้าน จะต้องพิจารณาเปนคำๆ ไปเหมือนอย่างนี้

คำที่ตก อ และ อา เดี๋ยวนี้ก็เปนอันว่ารู้สึกกันขึ้นบ้างแล้ว เช่น หลวงภิรมย์โกษากร ก็เปลี่ยนเปน หลวงอภิรมย์โกษากร และ พระยานุภาพไตรภพ ก็เปลี่ยนเปน พระยาอานุภาพไตรภพ จะว่าพลาดไปด้วยเหตุใดก็ยาก ที่หลงตัวสกดไปก็มี เช่น คำ ณรงค์ ก็คือ รณรงค์ และ พยน ก็คือ ภาพยนตร์ นอกกว่านี้ก็มีอีกมาก เช่น กะจิบ กะจาบ ก็มาแต่ นกะจิบ นกะจาบ ตลอดถึง กะดุม ก็มาแต่ ลูกะดุม ภาษาบุราณเขาออกเสียงตัวสกดด้วย จะหาตัวอย่างได้ที่ชาวปากใต้เขาพูด สัมฤทธิศก เปน สัมะฤทธิศก

พูดถึงชาวปากใต้ พวกนั้นเขาถนัดตัดคำมาก เปนต้นว่าเรียก แก๊บ เท่านั้นก็แปลว่า ตแล็บแก๊บ คำนั้นก็คือ เตเลกราฟ อย่างเดียวกับท่านคิดคำ เรือเล

ตามที่ฉันถามท่านถึง สี่นอหาม ก็เพราะท่านถามถึง บโทน ไปเห็นคำ สามนอแห่ ใกล้กับ บโทนแห่ จึงย้อนถามกลับมา แต่ก่อนที่จะถามมาก็ได้ไล่เลียงคนที่บ้านแล้ว เคยได้ยินกันมาหลายคน แต่ก็บอกความหมายไม่ได้ ถ้าท่านสืบได้ความมาจะเปนดีอย่างยิ่ง ที่อธิบายว่า สี่นอหาม ได้แก่ภพทั้งสี่นั้น ฟังไม่ขึ้น เปนอธิบาย ยัด ให้เข้ากะบ้องแต๋ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีภิกขุผู้เรียนมาถามว่า มนุษย์ นั้นหมายถึงอะไร ผเอิญฉันรู้คำนั้น เขาว่ามาแต่กษัตริย์ มนุ ในเรื่อง มัตสยาวตาร จึ่งเล่าให้ท่านฟัง แต่แล้วก็รู้สึกว่าเขาเล่าเรื่อง ยัด ให้เข้ากะบ้องแต๋ง ก็เลยรงับ กลอนสี่นอหามนั้น ทราบได้แต่ว่า น นั้นหมายเปนคนแล้วก็ขึ้นแคร่แห่กัน แต่ความอื่นนอกไปจากนั้นรู้ไม่ได้

ท่านพูดถึงจะบอกรูปงัวแก่เด็ก ทำให้นึกลัดแลงไปหลายอย่าง แต่จะพูดแก่ท่านเพียงสองอย่าง ซึ่งพวกช่างเราหลายคนเรียกว่า คัดตะล็อก นั้น ถ้าใครเอาอย่างก็เปนจบ เพราะสัตว์แต่ละอย่างในสมุดนั้น เอาที่ง่าย ๆ เช่นงัวเปนต้น ก็ไม่เหมือนกับงัวบ้านเราเลย อีกเรื่องหนึ่งเคยมีพระราชบัญญัติเรื่องฆ่าโค เข้ามาสู่ที่ประชุมรัฐมนตรีแต่ก่อน กล่าวถึงพ่อโค แม่โค ลูกโค ในนั้น มีคนดีในคณะรัฐมนตรี ทักว่าอ้ายนี่แปลมาจากฝรั่ง เพราะฝรั่งเขาใช้คำเรียกพ่อโค แม่โค ลูกโค นั้นต่างกัน แต่ในภาษาเราเรียกว่า โค แล้วเปนแล้ว จะเปนพ่อโคหรือแม่โคลูกโคอะไรก็เหมือนกัน

คำ เจริน นั้นเขมรเขาแปลว่ามาก คำ จำเริญ ไม่มี คำนี้เปนคำไทย เราแปลกันว่า วัฒนะ เปนอันต่างรูป และต่างความหมายซึ่งกันและกัน

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ