วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๘ มกราคมนั้น หม่อมฉันได้รับแล้วจะทูลความบางข้อสนองลายพระหัตถ์ก่อน

เค้ามูลของ “พระแสงอัษฎาวุธ” ซึ่งทรงพระดำริขึ้นใหม่ก็เป็นหลักฐาน แต่หม่อมฉันเห็นว่ายังคงอยู่ในรอยตำราที่ว่า ๘ อย่างของอินเดียนั่นเอง เป็นแต่เกจิอาจารย์ที่นำตำรามาบอกอธิบายระบุอาวุธผิดกันหรือมิฉะนั้นตำราเดิมที่จารไว้ในใบลาน หรือที่พวกพราหมณ์ในประเทศนี้จำไว้จะสูญไปเมื่อบางสมัย เช่นเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเป็นต้น เมื่อไทยกลับก่อร่างสร้างตัวหาตำราที่มี “จด” ไว้ไม่ได้จึงต้องอาศัยสืบถามตามที่คน “จำ” ไว้ได้ จึงเกิดบกพร่องด้วย ผู้จำเข้าใจต่างกันพระแสงหว่างเครื่องเดิมก็คงเป็นอัษฎาวุธนั่นเอง

วินิจฉัยชื่อพระครู “อัษฎาจารย์” พราหมณ์นั้น หม่อมฉันเห็นชอบพระดำริว่ามา แต่ “หัสดาจารย์” หมายความว่าเป็นครูหัดช้าง สังเกตดูในกฎหมายทำเนียบศักดินา เดิมพราหมณ์ที่มีตำแหน่งในราชการดูเป็น ๒ พวก คือพราหมณ์ (ปุโรหิต) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญพระธรรมศาสตร์สำหรับพิพากษาคดี พวก ๑ พราหมณ์ (พิธี) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญศิลปศาสตร์ สำหรับฝึกสอนวิชาต่าง ๆ เช่น คชกรรมเป็นต้น พวก ๑ ภายหลังมา “เรียว” ลงโดยลำดับ จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พวกพราหมณ์ปุโรหิตสูญไป ต้องเอาพวกมหาเปรียญที่ลาพรตเป็นแทน พวกพราหมณ์พิธีก็เรียกแยกกันออกเป็น ๓ พวก พวกที่มาจากเมืองนครศรีธรรมราชเรียกว่า พราหมณ์พิธี พวกที่มาจากเมืองพัทลุงเรียกว่าพราหมณ์โหรดาจารย์ (ตำแหน่งพระครูอัษฎาจารย์อยู่ในพวกนี้) พวกพราหมณ์ที่มาจากเมืองเขมรเรียกว่า พราหมณ์พฤฒิบาศ มีเค้าที่รู้เป็นหลักแต่ว่าพราหมณ์พิธี กับพราหมณ์โหรดาจารย์ถือลัทธิศิเวส พราหมณ์พฤฒิบาสถือลัทธิวิษณุเวศและเรื่องคชกรรมชำนาญแต่พวกพราหมณ์พฤฒิบาศพวกเดียวดังนี้

พระวินิจฉัยที่ว่าเอาถ่อมาทำ “เส้า” สำหรับกระทุ้งให้จังหวะพายเรือนั้น เพราะเป็นคำเดียวกับ “เสา” ซึ่งพจนานุกรมภาษาไทยอาหม แปลว่าเป็นเครื่องค้ำ เช่น เสาเรือนเป็นต้นนั้น หม่อมฉันเห็นว่าถูกแท้ทีเดียว คือว่าในกาลครั้งหนึ่ง นายเรืออยากจะให้คนพายเรือพร้อม ๆ กันให้เรือแล่นเร็วขึ้น จึงฉวยเอาถ่อที่สำหรับใช้ค้ำและปักผูกเรือ อันจำต้องมีไปใช้ ขึ้นกระทุ้งให้จังหวะแก่คนพาย ให้เรือแล่นเร็วขึ้นได้ คนอื่นก็เอาอย่างจึงเลยใช้ “เสา” กระทุ้งเรือต่อมา ที่เอาขนสัตว์มาผูกเป็นชั้นๆ นั้น เป็นแต่เครื่องประดับให้ดูงามเหมือนกับ “ทวนไทย” เช่นที่ถือขี่ม้ารำในสนามหน้าพลับพลา แต่จะเป็นทวนไม่ได้ด้วยทวนไทยเหล็กแหลมสำหรับแทงอยู่ที่สัน ถ้าเอาทวนกระทุ้งเรือๆ ก็ทะลุ

หม่อมฉันได้ทูลไปแต่ก่อน ว่าหม่อมฉันกลับอ่านหนังสือเรื่องพระอภัยมณี เมื่ออ่านเรื่องนั้นหมดแล้วอ่านหนังสือบทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ต่อมา พบคำแปลกซึ่งเคยได้ยินเมื่อยังเป็นเด็กแต่ลืมไปเสีย เป็นคำแสดงความโสมนัส ว่า “ไชโย พ่อแก้วไหย้าหยวบหยวบ เผยไยไย เผยไยไพเอย” ดังนี้สังเกตดูมีคำภาษาไทยแต่ “พ่อแก้ว” ๒ คำ คำอื่นนอกจาก “ไชโย” เป็นภาษาอะไร ความหมายว่ากะไรขอให้ทรงพิจารณาดู คำว่า “ไชโย” ที่ไทยเราเองมาร้องแสดงความโสมนัสกันบัดนี้ ก็มีเรื่องตำนานน่าจะจดลงไว้ แต่เดิมมาเวลาคนหมู่ใหญ่จะร้องแสดงความโสมนัสย่อมสมมติให้คน ๑ เป็นผู้ชักโห่ คนนั้นร้องว่า “โห่” เล่นลูกคอไปหยุดเมื่อถึงระยะจะต้องหายใจ คนทั้งหลายอื่นก็ร้องรับว่า “ฮิ้ว” ดังนี้ เป็นประเพณีสืบมาแต่โบราณ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงทราบว่าพวกแขกอินเดียที่มารับจ้างอยู่ในกรุงเทพฯ โดยมากเป็นชาวโกศลนับถือศาสนาอย่างวิษณุเวศ ชอบเล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์ โดยถือว่าเป็นการเฉลิมเกียรติพระนารายณ์ได้บุญ ใคร่จะทอดพระเนตรจึงมีรับสั่งให้ไปชวนพวก “แขกยาม” มาเล่นโขนแขกทอดพระเนตรเนื่องในการเสด็จเฉลิมพระราชมนเทียรที่สวนจิตรลดา (จะเป็นเมื่อปีใดไม่มีอะไรสอบที่ปีนังนี้) พวกแขกยามก็ปีติยินดีรวบรวมฝึกซ้อมกันมาเล่นถวายทอดพระเนตร เล่นเรื่องรามเกียรติ์ตอนหนุมานเผาลงกา หม่อมฉันก็ได้ไปดูในวันนั้น สังเกตกระบวนเล่น เมื่อตัวละครเข้าไปหากัน เช่น เสนาเข้าเฝ้าทศกัณฐ์เป็นต้นออกอุทานเสียงดังเหมือนว่า “ยะโว” ก่อน แล้วจึงเจรจาทุกครั้ง สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงสังเกตว่าคำอุทานนั้นมิใช่อื่น คือ “ชโย” นั่นเองใช้เป็นอุทานอวยพรเสียก่อนจึงพูดกันต่อไป ใครๆ ก็เห็นพ้องด้วยพระบรมราชาธิบายทั้งนั้น คำโขนแขกนั้นเป็นมูลให้ทรงพระราชดำริต่อมาว่าเราควรจะใช้คำ “ชโย” แทนโห่ฮิ้ว เพราะคนมากอาจจะออกอุทานได้พร้อมกันในทันที และดังก้องกังวาลดีกว่า “ฮิ้ว” โปรดให้เสือป่าใช้ว่า “ชะโย” ก่อน แล้วผู้อื่นก็เอาอย่างใช้จนเป็นประเพณีทั่วไปทั้งประเทศ เมื่อหม่อมฉันมาพบคำ ไชโยพ่อแก้ว จึงนึกขันด้วยปรากฏว่า ไทยเราเคยใช้คำชโยเป็นอุทานมาก่อนแล้วช้านาน

สัปดาหะนี้ พระยาสุขุมนัยพินิจออกมาหาหม่อมฉันเมื่อคราวเมล์วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มาวิงวอนขอให้แต่งเรื่องประวัติเจ้าพระยายมราช หม่อมฉันไม่สามารถจะขัดได้ด้วยรักเจ้าพระยายมราช แต่รู้สึกเป็นความลำบากยากยิ่ง ด้วยเจ้าพระยายมราชเป็นอัจฉริยบุคคล ได้ดีมาหลายรัชกาล หม่อมฉันรู้เรื่องตระหนักเพียงในตอนรัชกาลที่ ๕ แต่ตอนท่านได้ดีในรัชกาลที่ ๖ ออกจากราชการในรัชกาลที่ ๗ แล้วกลับมาได้ดีในรัชกาลที่ ๘ หม่อมฉันอยู่ห่างกับท่านเสียแล้ว ยังคงรักใคร่กันแต่ในส่วนตัว ไม่รู้ว่าจะแต่งประวัติให้ดีได้ จึงแนะให้แบ่งเรื่องประวัติเป็นภาค หม่อมฉันรับจะแต่งภาครัชกาลที่ ๕ ส่วนภาคอื่นให้เขาไปหาคนอื่นที่รอบรู้กิจการในสมัยนั้น ๆ แต่ง แต่หม่อมฉันก็แย่อยู่แล้วด้วยต้องแต่งประวัติเจ้าจอมมารดาทับทิมอีกเรื่อง ๑ เกือบไม่มีเวลาเขียนเรื่องอื่นได้แล้ว จึงถึงทูลขอเขียนจดหมายเวรหมู่นี้ให้สั้นสักหน่อย แต่มันเป็นของเคยสนุกก็มักกลั้นไม่อยู่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ