วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๕ พฤศจิกายนแล้ว

เรื่องประวัติพระเจดีย์ที่พุทธมนเทียร ท่านทรงทราบรายละเอียดดีกว่าหม่อมฉันรู้มาก เห็นเป็นการดีที่ทรงพรรณนาประทานมา เรื่องจะได้รวมอยู่ในจดหมายเวรไม่สูญไปเสีย เรื่องที่พระองค์ประดิษฐ์จับจูงพระกรสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโดยไม่รู้ตัวนั้น หม่อมฉันก็เคยทราบ แต่จำไม่ได้ว่าที่ไหน ที่บุษบกจันทน์เคยไปตั้งอยู่ที่หอมนเทียรธรรมนั้นก็จริง หม่อมฉันได้เคยเห็นอยู่ที่นั่นนับครั้งไม่ถ้วน แต่อย่างไรลืมเสียสนิททีเดียว ต่อท่านตรัสมาจึงหวนรำลึกขึ้นได้

หม่อมฉันตรวจพบรูปฉายพระพุทธมนเทียร (เห็นแต่หลังคา) มีอยู่ในหนังสือ “เรื่องตำนานสถานและวัตถุต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง” หม่อมฉันได้รวบรวมพิมพ์ในงานกรมหมื่นพงศาดิศรมหิศร์ฉลองพระชนมายุสมมงคล พ.ศ. ๒๔๖๘ สังเกตดูพระพุทธมนเทียร (อันทูลกระหม่อมทรงแก้ไขใช้ตำหนักทอง ๓ หลัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสร้างไว้นั้น) หลังที่ ๑ กับหลังที่ ๒ ดูเป็นเรือนแฝดอยู่ทางด้านใต้ หลังที่ ๓ อยู่ทางข้างเหนือต่อขวางอย่างเป็นมุข ว่าตามที่จำได้ ๒ หลัง แฝดข้างใต้ยาวตามโรงละคร หลังริมที่ตั้งบุษบกพระพุทธสิหิงค์น้อยและเป็นที่ทูลกระหม่อมพระราชทานพระธรรมเทศนาในวันพระ อันมีพระบรมรูปทรงศีลอยู่เป็นสำคัญ ถ้าเวลาดูละครทอดพระเนตรที่เฉลียงพระมนเทียรหลังนี้ หลังกลางที่ตั้งพระเจดีย์ยาวไปต่อท้ายจระนำพระพุทธรัตนสฐาน หลังมุขทางข้างเหนือเป็นที่ทำบุญพระบรมอัฐิต่อมาในรัชกาลที่ ๕ อีกหลายปี ตั้งบุษบกพระบรมอัฐิริมฝาด้านสกัดตรงกลาง มีบันได ๒ ข้างเป็นทางเสด็จลงจากพุทธมนเทียรหลังกลาง เพราะฉะนั้นพื้นหลังเหนือต้องต่ำกว่าหลังกลาง ส่อว่าเดิมเห็นจะเป็นที่พักของนางใน มิใช่ที่เสด็จประทับ

สมาคมที่ตั้งบำรุงพระพุทธศาสนาในปีนังอีกแห่ง ๑ นั้น เรียกว่า Penang Buddhist Association สร้างตามลัทธิมหายาน เดิมเห็นจะมีทุนรอนมากจึงสร้างใหญ่โตและถึงสามารถสั่งพระพุทธศิลาจากอิตาลีถึง ๒ องค์ ภายหลังหม่อมฉันมาได้ยินว่าสมาคมนั้นหาทุนได้ด้วยได้รับอนุญาตของรัฐบาลออกสลากกินแบ่งเดือนละครั้งเอากำไรมาสร้างวัด ต่อมาเกิดความว่าพวกสมาคมนั้นจัดการออกสลากกินแบ่งกลายไปคล้ายกับเล่นเบี้ย รัฐบาลจึงเลิกอนุญาต เดี๋ยวนี้จะเป็นอย่างไรหม่อมฉันไม่ทราบ พวกสมาคมญาโณทัยก็เป็นพวกพ่อค้าจีนบางทีจะแตกมาจากสมาคม ป.พ.อ. ก็เป็นได้ เมื่อเขาคิดจะตั้งสมาคมและเข้าไปขอพระไทยธรรมยุติกาหม่อมฉันไม่รู้ แรกรู้ก็เมื่อพระมหาภุชงค์ภับพระมหามุกข์ออกมาถึงปีนัง ถือลิขิตของสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ฝากฝังมายังหม่อมฉัน ก็ได้เป็นธุระบำรุงตามกำลังสามารถแต่นั้นมา

โดยปกติหม่อมฉันเริ่มเขียนจดหมายเวรวันพุธ แต่สัปดาหะนี้หม่อมฉันเริ่มเขียนแต่วันอังคาร เพราะวันพุธเวลา ยาม ๑ เป็นกำหนดเรือเมโอเนียซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดลจะมาถึง หม่อมฉันเตรียมจะพาลูกหลานลงไปเฝ้าวันพฤหัสบดีราว ๔ โมงเช้า นัยว่าเรือลำทรงจะออกจากปีนังไปในวันนั้นเวลาบ่าย ๔ โมง เวลานี้สมเด็จพระพันวัสสาโปรดให้หญิงแก้วคุมผลไม้ต่างๆ ของประทานสมเด็จพระนดาออกมา เธอมาพักอยู่ที่ซินนามอนฮอล กรมขุนชัยนาทก็เสด็จมาถึง พระสราภัยสฤษดิการ ขุนนิรันดรชัยที่รัฐบาลให้มารับเสด็จฯ ก็มาถึง ทั้ง ๓ นั้นก็ได้มาหาหม่อมฉันเมื่อวันจันทร์ วันพฤหัสบดีจะมีงานรับเสด็จจึงรีบเขียนจดหมายเสียก่อนวัน ๑

หม่อมฉันมีเรื่องศิลปะซึ่งเพิ่งรู้เห็นอย่างจริงแท้จะทูลเรื่อง ๑ บางทีศิลปะอย่างนี้จะไม่เข้าเรื่องที่ท่านโปรดเอาพระทัยใส่ ถึงกระนั้นนึกถึงโคลงกระทู้สุภาษิตของกรมหลวงวงศา มี ๒ กระทู้ว่า “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม” จึงเอามาทูลพอให้ทรงทราบประดับพระญาณแต่เรื่องออกจะยืดยาว ไม่มีสมาธิพอจะเขียนให้หมดเรื่องในเวลาที่มีสำหรับเขียนจดหมายฉบับนี้ได้ต้องขอประทานผัดไปทูลในจดหมายเวรฉบับสัปดาหะหน้า

หม่อมฉันส่งรูปทูลกระหม่อมชายทรงบาตร รูป ๑ รูปหมู่ฉายเมื่อรับเสด็จทูลกระหม่อมชาย รูป ๑ กับรูปหม่อมฉันใส่บาตรพระหลานรูป ๑ มาถวายด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ