วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๙ มีนาคม ได้รับประทานแล้ว

พระดำรัสประทานพระดำริวินิจฉัยในเรื่องโกศเรื่องแต่งศพนั่งนั้นดีนัก เห็นตามต่อพระดำรัสไป ว่าการแต่งศพนั่งนั้น เดิมทีแต่งนั่งขัดสมาธิก่อน ภายหลังทำโกศเล็กลง จึงต้องรวบเข่าตั้งขึ้นไปเพื่อให้ลงโกศได้กลายเป็นแต่งนั่งหย่อง การแต่งศพสมภารวัดประดู่โรงธรรมให้นั่ง เห็นจะเอาอย่างจีน

ทูลถึงโกศเล็กก็นึกขึ้นมาได้ว่า ได้ไปเห็นที่วัดอะไรในเมืองไชยาก็นึกชื่อไม่ออกเสียแล้ว มีไม้ขุดเหลาเหมือนรูปโกศสลักสลาย แต่ไม่มีฝา ไม่มีเชิง ไม่ได้ผ่าเป็นสองซีก ซึ่งจะพึงเข้าใจได้ว่าเป็นประกอบโกศศพด้วย แล้วขนาดก็ติดจะย่อม อยากทราบว่าเป็นอะไรจึงได้ถามท่านสมภาร ท่านบอกว่าเป็นโกศศพท่านสมภารเก่าครั้งกระโน้น เกล้ากระหม่อมก็รู้สึกว่าท่านบอกโดยคาดคะเนเท่านั้น เห็นว่าจะเอาศพใส่ลงไปไม่ได้ ด้วยปากสิ่งที่เห็นเหมือนโกศนั้นกว้างประมาณศอกเดียวเท่านั้น แต่จะเป็นอะไรก็หมดทางที่จะรู้ได้

อย่างไรก็ดี เกล้กระหม่อมเห็นว่าโกศศพไม่ได้ออกจากโกศกระดูก ทูลปรึกษาฝ่าพระบาท ก็ทรงพระดำริเห็นเช่นนั้นด้วย เป็นสองความเห็นพ้องกันควรถือเอาว่าเป็นแน่ได้

เหตุที่เรามาเก็บอัฐิไว้ในบ้าน เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสอธิบาย ว่าเป็นประเพณีตั้งขึ้นในกรุงรัตน์โกสินทร์นี้เอง โดยเหตุที่เวลานั้นเป็นเวลาศึกสงคราม ไม่มีความแน่พระทัยว่าจะรักษากรุงเทพฯ ไว้ได้หรือไม่ ถ้าหากไม่ได้จะได้พาพระอัฐิแยกย้ายไป ในการที่ทำโกศพระอัฐิประกอบด้วยมหัฆภัณฑ์นั้นก็จำเป็นอยู่เอง ด้วยว่าเชิญออกตั้งออกอวดแขกอยู่เนืองๆ มีเหตุให้นึกขัน เมื่อครั้งงานพระศพพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เราทำพระโกศทองสำหรับทรงพระอัฐิเก็บไว้ในวังตามแบบทางกรุงเทพฯ ขึ้นไปให้เขา เขาหัวเราะ เขาว่าประเพณีทางเขาไม่เก็บอัฐิไว้ในบ้านดอก เขาเก็บอัฐิไปฝังกู่ในวัดกันทั้งนั้น แต่จะใส่สิ่งไรไปบรรจุนั้นยังหาเคยทราบไม่ เจดีย์ฐานที่บรรจุอัฐิก็เคยเห็น แต่เห็นแต่ห้องตรุที่บรรจุเปล่า ด้วยนักเลงดีขุดเอาของในนั้นไปเสียหมดแล้ว โกศอัฐิสองใบซึ่งตรัสอ้างถึงว่าอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานนั้นก็เสียทีไม่ได้สังเกตเห็น จะต้องไปดูให้รู้ไว้

ปราสาทอันเป็นสถานถาวรนั้นได้เห็นมามาก สังเกตได้ว่ามีสามอย่างทำราบๆ กับพื้นราบอย่างหนึ่ง ทำหนุนกี๋ประกอบด้วยฐานสูงต่ำให้เป็นลดหลั่นอย่างหนึ่ง กับทำบนเนินบนเขาอีกอย่างหนึ่ง นึกว่าวิธีอย่างทำราบๆ กับพื้นราบนั้นเก่าก่อนอย่างอื่นทุกอย่างหมด เพราะเป็นการทำง่ายพอกับประโยชน์ซึ่งต้องการ ถัดไปจึงเกิดความคิดทำขึ้นบนเนินบนเขาในที่สูง เพื่อจะได้เห็นไกล ให้คนได้เห็นมากขึ้น เป็นทางแผ่ศาสนาอย่างหนึ่ง แล้วยังตัดเขาก่อล้อมเป็นฐานประกอบด้วยบันได ให้ลดหลั่นเป็นชั้นเป็นเชิงงามขึ้นได้อีกด้วย ถัดมาจึงถึงวิธีทำอย่างหนุนกี๋ ก็คือเอาอย่างการทำบนเนินบนเขามาทำในที่ราบเท่านั้นเอง แต่อย่างนี้ถ้าเป็นสถานใหญ่โต ผู้ทำต้องเป็นผู้มีอำนาจมีกำลังจึงทำได้ แต่ลำดับอันคิดเห็นว่าอย่างใดเกิดก่อนหลังนี้ จะถือเอาสิ่งที่ก่อสร้างอย่างหยาบๆ เป็นของทำก่อนอย่างหนุนกี๋เป็นของทำทีหลังก็ไม่ได้ ทำเก่าทำใหม่ย่อมต้องยักย้ายไปตามกำลังตามต้องการ ตามอย่างต่างๆ ที่เคยทำมาสุดแต่จะสะดวก สถานที่ทำมาก่อนอย่างราบๆ แล้วก่อแก้เป็นหนุนกี๋ขึ้นทีหลังก็มี เช่นปราสาทบายนเป็นต้น อันชื่อสถานต่างๆ นั้นก็ฟังเอาแน่ยาก ลางชื่อก็จะเป็นชื่อเก่าจริง ลางชื่อก็เป็นชื่อใหม่เรียกตามที่มีนิมิตรเห็นปรากฏอยู่ เช่นบันทายกฏี บันทายแปลว่าค่าย กฏีแปลว่ากุฏเล็กๆ ที่ได้ชื่อตั้งนั้น ก็เพราะรอบนอกมีคูและกำแพงล้อมดุจว่าค่าย ข้างในมีกุฏเล็กๆ อยู่มาก เช่นนี้เป็นต้น ในเรื่องชื่อนั้นก็มีเรื่องที่นักปราชญ์ทางฝรั่งเศสเคยเคว้งคว้างมาแล้ว ด้วยเขาพบศิลาจารึกในนั้นมีว่า แรกสร้างนครธมได้สร้างปราสาทยโสธรคิรีขึ้นก่อน ปราสาทที่ชื่อยโสธรคิรีก็ไม่มี พวกนักปราชญ์ไม่รู้ว่าปราสาทไหนจึงชี้เอาปราสาทบายนเข้าก่อน แล้วเขาไปได้ศิลาจารึกมาอีก รู้สึกจากความในนั้นว่ายโสธรคิรีไม่ใช่ปราสาทบายน จึงย้ายไปชี้เอาปราสาทวิมานอากาศเข้า เดี๋ยวนี้ย้ายไปอีก ไปชี้เอาปราสาทภนมบาแคงเข้า เพราะพบรากกำแพงนครธมของเก่า เป็นแต่ก่อนนครธมใหญ่กว้าง อ้อมเอานครวัตรเข้าไว้ในกำแพงเมืองด้วย ภนมบาแคงอยู่กลางเมือง จึงได้ชี้เอาปราสาทภนมบาแคงเป็นปราสาทยโสธรคิรี การที่จะสังเกตให้รู้ว่าสถานไหนเป็นปูชนียสถานแห่งศาสนาใด ลางทีก็รู้ได้ง่ายลางทีก็รู้ได้ยาก เพราะชำรุดเสียแล้วมากนั้นก็อย่างหนึ่ง เพราะถูกซ่อมแปลงเปลี่ยนเทวสถานเป็นพุทธสถาน หรือแปลงพุทธสถานเป็นเทวสถานไปเสียนั้นก็อีกอย่างหนึ่ง เทวรูปถูกบวชเป็นพระก็ได้พบ พระพุทธรูปถูกสึกเป็นเทวดาก็ได้พบสุดแต่การแก้ไข ถ้าแปลงน้อยก็รู้ง่าย ถ้าแปลงมากก็รู้ยาก

ในเรื่องถอดเครื่องประดับกันทางอินเดียนั้น เป็นความจริงสมตามพระดำรัส เกล้ากระหม่อมเคยจะเขียนรูปนางวิสาขา เมื่อปรากฏตัวอยู่ในคณะสงฆ์คราวหนึ่งแล้ว เกิดสงสัยขึ้นว่าควรจะเขียนมีเครื่องอาภรณ์หรือไม่ โดยที่ปรากฏว่านางวิสาขามีเครื่องอาภรณ์อยู่มากมาย เช่น ลดามหาประสาธน์เป็นต้น ได้ปรึกษาพระเถร ท่านว่ามีความปรากฏในหนังสือ แม้ว่าอุบาสิกาจะเข้าวัดก็ถอดเครื่องประดับออกเสียแต่นอกวัด

ข่าวกรุงเทพฯ อันจะกราบทูลก็มีแต่งานห้าร้อยห้าพันอย่าง ต่อจากที่ได้กราบทูลมาแล้ว เมื่อวันที่ ๑๐ สำนักพระราชวังก็สั่งมา ว่านายพลแม่ทัพเรืออังกฤษทางเมืองจีน จะไปเซ็นชื่อเยี่ยมที่บ้านท่าพระ การนี้ไม่ลำบากอะไรด้วยตัวไม่ต้องไปเกี่ยวข้อง เป็นแต่สั่งคนใช้ให้เตรียมรับ

ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ถึงวันที่ ๑๖ มีงานศพสามงาน ล้วนแต่เกล้ากระหม่อมต้องไปทำบุญให้ทั้งนั้น แต่ไปเสียภายหลังที่เขากำหนดทำบุญหน้าศพชั่วโมงจริง การเป็นไปสำเร็จอย่างตั้งใจ กลับได้เร็วไม่ต้องไปนั่งแป้น ส่วนการพระราชทานเพลิงในสามงานนั้น มีสิ่งที่ผิดกันโดยรายละเอียดอยู่เล็กน้อย คือ ศพเจ้าจอมมารดาทับทิมนั้นทรงจุดฝักแค ศพแม่ใหญ่เสด็จเข้าเมรุ แต่บังสกุลมีเพียง ๕ น้อยกว่าเจ้าจอมมารดาทับทิมซึ่งมี ๑๐ ศพเจ้าพระยาอภัยราชานั้นมีบังสกุลพระราชทาน ๑๖ และเสด็จเข้าเมรุ งานนี้สั่งแต่งครึ่งยศ ผิดกว่างานก่อนสองงาน ที่สั่งแต่งเครื่องแบบปกติ หนังสือแจกงานศพเจ้าจอมมารดาทับทิมมีประวัติที่ทรงแต่งดีเต็มที ขอประทานรับไว้เป็นแบบอย่าง

ต่อไปเป็นงานศพท่านผู้หญิงวงศา มีงานรายละเอียดผิดกว่างานซึ่งมีมาแล้วหลายอย่าง วันที่ ๑๖ ตั้งศพทำบุญที่ศาลาดำรงธรรม วันที่ ๑๗ พระราชทานเพลิง จัดเป็นงานเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานผ้าไตร ๕ ไตรให้เจ้าภาพไปทอดบังสุกุล แล้วทรงจุดฝักแคพระราชทาน แต่งเครื่องแบบปกติ

นอกจากงานศพยังมีหมายสำนักพระราชวังสั่งแซกมาอีก คือวันที่ ๑๕ ที่ ๑๖ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ทรงทำบุญจตุตถสัตตมวาร ที่พระที่นั่งดุสิต องค์หญิงวาปีทำแทนพระองค์ งานนี้ไม่ได้เข้าไป เพราะต้องแต่งครึ่งยศไปในงานศพเจ้าพระยาอภัยราชาเสียแล้ว ฟก กับเวลาก็พ้องกัน หมายอีกใบหนึ่งกำหนดวันที่ ๒๒ ที่ ๒๓ สมเด็จพระราชชนนีจะทรงทำบุญปัญจมสัตตมวาร ที่พระที่นั่งดุสิต หญิงพิจิตรจะเป็นผู้ทำแทนพระองค์ในงานนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ