วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๔ เมษายน ซึ่งควรจะได้รับวันที่ ๑๖ เมษายน แต่หาได้รับไม่ นึกก็เข้าใจว่าคงพลาดล่าไปด้วยพัวพันกับโฮลิเดย์กู๊ดไฟรเดย์ คงจะคลาดไปเมล์หนึ่ง ก็จริงๆ ต่อวันที่ ๒๐ เมษายนจึ่งได้รับ จะกราบทูลเสริมต่อข้อความลางข้อในลายพระหัตถ์นั้น

เจ้ากับขุน ก่อนโน่นเห็นจะอยู่ห่างกัน สังเกตจากคำร้องเพลงซอของชาวพายัพมีว่า “บุญเจ้าใหญ่ ปลูกไพร่เป็นขุน” แสดงว่าขุนนั้นมาแต่ไพร่ เทียบตรงกันข้ามเจ้าก็มาแต่พระเจ้าแผ่นดินมีความเป็นไปคนละสาย ทางเจ้าเห็นจะดำเนินไปในทางเป็นพระราชาครอบบ้านครองเมือง ทางขุนเห็นจะดำเนินไปในทางปกครองกระทรวงทบวงการ ภายหลังทางเจ้าสิ้นอำนาจวาสนาไปจึ่งตกลงมาแย่งตำแหน่งกับขุน เป็นอันคลุกคละปะปนกันไป ตำแหน่งมหาอุปราชก็แปลว่ารองพระราชาจะตั้งขึ้นสำหรับขุนก่อนก็ได้ไม่ขัดข้อง แล้วจึงโอนไปให้เจ้าต่อภายหลัง คนในสมัยหลังดูเหมือนจะรู้สึกกันว่าตำแหน่งเสนาบดีสำคัญกว่าเจ้า จนถึงใช้ตำแหน่งเสนาบดีแทนชื่อ เมื่อเกล้ากระหม่อมได้พบเข้าเช่นนั้นก็เคยส่งข่าวไปถึงผู้เขียนโดยทางใดทางหนึ่ง ดุจส่งไปรษณีย์ ว่าเจ้านั้นสำคัญกว่าเสนาบดีเพราะเสนาบดีใครๆ ก็เป็นได้ เจ้านั้นไม่มีใครจะเป็นได้

ฝ่าพระบาทตรัสใช้คำเรียกกองอาตมาฏว่า กองสอดแนมนั้น รู้สึกจับใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นคำไทยทั้งเก่าด้วย เกล้ากระหม่อมลืมไปยึดเอาคำสมัยใหม่ว่า “จารบุรุษ” เลวไปมาก พระยาอนุมานคนหนึ่งแสวงในคำไทย เมื่อเร็วๆ นี้เองก็เคยปรึกษามาในคำ ศักดิ์สิทธิ์ แห่งเจ้าผี คำศักดิ์สิทธิ์เป็นแขกซึ่งมาทีหลัง ควรจะมีคำไทยใช้มาก่อน แต่หาไม่พบเผอิญเกล้ากระหม่อมนึกคำในเรื่องพระลอได้ ท่านว่าแรง มีคำอยู่ดังนี้ “ลองแต่ส่ำพอดี พอแรงผีแรงคน” บอกไปแกก็ชอบและรับเอา

ในเรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดินนั้น ยุ่งยากเต็มที พระนามยาวตั้งวาจะรู้ที่หยิบยกขึ้นอย่างไร ว่าคำใดเป็นพระนาม และคำใดเป็นสร้อยพระนาม สังเกตตามคำที่ใช้อยู่ในนั้นมีสามประเภท คือคำที่เคยใช้เป็นชื่อ (เช่น George) ประเภทหนึ่ง และคำที่หมายว่า พระเจ้าแผ่นดิน (ดุจ King) ประเภทหนึ่ง กับคำยกยอซึ่งจะพูดรวมลงได้แต่ว่าคำดีๆ อีกประเภทหนึ่ง คำที่เคยใช้เป็นชื่อนั้นยกได้แต่สองคำ คือ ราม กับ เอกาทศรถ คำที่หมายว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นมีมาก เช่น จักรพรรดิ บรมบพิตร เป็นต้น พระนามพระเจ้าปราสาททองที่ใช้เขียนอยู่ว่า สมเด็จพระรามาธิเบศรปราสาททอง ถ้าแปลก็เป็นว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระนามว่าราม ซึ่งสถิตอยู่ ณ เรือนทอง เป็นอันทรงพระนามว่าราม เหมือนเดิมมาคำสรรเพชก็เห็นไม่ใช่พระนาม ที่เป็นว่าพระเจ้าแผ่นดิน คำนี้ตีความกันมาแล้วหลายอย่าง แล้วก็เขียนยักย้ายไปตามความเห็น เป็น สรรเพชญ์ ก็มี เป็น สรรเพธ ก็มี ขอบพระเดชพระคุณที่โปรดประทานคำ สัพเพชังกูลวงศา ไปให้ได้ทราบเกล้า ได้ลองคิดตัดคำซึ่งสนธิกันออกเห็นเป็นดั่งนี้ สัพพ+อีศ+อังกูร+วงศา มีผิดพยัญชนะอยู่สองตัว คือ ช เป็น ศ แห่งหนึ่ง ซึ่งเสียง ส ย่อมสับกับเสียง ฉ ช ไปได้ด้วยง่าย เช่น สลาก เป็น ฉลาก หรือจะเอาที่ตรงทีเดียวก็เช่น หลวงเพศวกรรม ก็เป็นหลวงเพชวกรรม กับอังกูล เป็น อังกูร ร เป็น ล ผิดได้ง่ายไม่ประหลาดอะไร ที่เขียน สรรเพชญ์นั้นหมายเอาสัพพัญญู ที่จะคิดปรุงเทียบเป็นพระนามพระพุทธรูปขึ้นทางหนึ่ง แล้วหลงเอาพระนามพระพุทธรูปมาเขียนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เข้าใจว่าทูลกระหม่อมไม่ทรงเห็นพ้องด้วย โดยชื่อเจ้าหมื่นสรรเพธภักดีนั้นเข้าใจว่าทูลกระหม่อมทรงพระราชดำริแก้ สรรเพธ คือ สรรพ+เอธ คำเอธ แปลว่า จำเริญ รุ่งเรือง อันนี้ล้วนวินิจฉัยไปในทางถ้อยคำทั้งนั้น ถ้าจะวินิจฉัยในทางฟอมแห่งพระนามก็ไปอีกอย่างหนึ่ง วิธีปรุงพระนามครั้งกรุงเก่ากับยุคกรุงรัตนโกสินทร์เดินคนละทาง ครั้งกรุงเก่าจะออกพระนามครั้งไรต้องผูกคำใหม่ให้ต่างกันไปทุกครั้ง แต่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ผูกพระนามตั้งไว้เป็นสิ่งตายตัว แต่ก็รู้สึกความไม่สะดวกอยู่เหมือนกัน จึ่งแก้ไขเขียนใช้เป็นสามอย่างหรือสี่อย่าง คือเป็นพระนามเต็มอย่างหนึ่งพระนามย่ออย่างกลางอย่างหนึ่ง อย่างน้อยอย่างหนึ่ง แล้วอย่างปรกติอีกอย่างหนึ่ง แต่เป็นฟอมทั้งนั้น ผิดกันกับครั้งกรุงเก่าซึ่งไม่เป็นฟอม

บายศรี นี่จิตประหวัดมาแต่มิชชันนารีอเมริกันตั้งปัญหาทูลถาม บายแปลว่าข้าว ศรีแปลว่าขวัญ รวมกันเป็น ข้าวขวัญ อันนี้ก็ต้องกับคำสมโพช ซึ่งแปลว่าเลี้ยงอาหาร พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเคยทรงพระเมตตาโปรด ตัดรูปพิธีแต่งงานวิวาหมงคลทางแขกในหนังสือพิมพ์อิลลัสเตรชันพระราชทานมาให้ดู ในรูปนั้นมีหม้อซ้อนกัน ๗ ใบ ใหญ่ไปจนเล็ก มีไม้สามอันขนาบอย่างบายศรีของเราตั้งอยู่ขวาซ้าย พอเห็นก็เข้าใจทันทีว่านั่นคือบายศรี แต่บายศรีของเราไม่ใช่หม้อ ทำด้วยใบตองก็ไม่เป็นอื่นได้นอกจากเป็นกระทงอาหาร การกินอาหารด้วยกระทงก็เป็นแบบของพราหมณ์เหมือนกัน เขาใช้กระทงแทนถ้วยชามซึ่งเขาถือว่าสะอาดกว่า ด้วยไม่มีมลทินอาหารเก่าที่จะแปดเปื้อนได้ บายศรีแก้วทองเงินนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสอธิบายว่า ไม่ใช่พานแก้วพานทองพานเงิน บายศรีตองนั้นเอง แต่เขาเอาเครื่องอาภรณ์ต่างๆ มีสังวาลและแหวนเป็นต้น มาประดับเข้า เครื่องอาภรณ์ที่เอามาใช้ประดับประดา ถ้าฝังเพชรนิลจินดาก็เป็นบายศรีแก้ว ถ้าเป็นเครื่องทองล้วนก็เป็นบายศรีทอง ถ้าเป็นเครื่องเงินล้วนก็เป็นบายศรีเงิน ข้อนี้เห็นว่าถูกยิ่งนัก แม้บายศรีแก้วในกัณฑ์เทศน์มหาราชก็ปรากฏเป็นเช่นนั้น ที่ทางพายัพเขาเรียกบายศรีว่าพุ่มไม้นั้น เกล้ากระหม่อมก็ไม่เคยเห็นว่าเขาทำอย่างไร จะมีลักษณะคล้ายต้นไม้ดอกกระมัง

เห็นในหนังสือพิมพ์ว่า หญิงสิบพันขึ้นรถไฟมาปีนังก่อน แล้วราชเลขานุการจึ่งบอกมาทีหลัง ว่าเธอกราบถวายบังคมลามาตากอากาศในประเทศมลายู เหตุฉะนั้นจึงไม่เป็นโอกาสที่จะกราบทูลล่วงหน้ามาให้ทรงทราบ แต่หวังว่าเธอก็คงมาอยู่ที่ตำหนักฝ่าพระบาท เธอคงจะได้ทูลล่วงหน้ามาก่อนแล้ว อนึ่งหม่อมเจ้าสกลวรรณากรก็กราบถวายบังคมลาไปยุโรป แต่ไม่มีกำหนดวันว่าจะไปเมื่อไร เพิ่งเห็นหนังสือพิมพ์เขาลงเมื่อวานซืนนี้ ว่าเธอจะขึ้นรถไฟซึ่งออกจากกรุงเทพฯ วันที่ ๒๐ ที่ประจวบคิรีขันธ์ แล้วเธอจะเลยไปลงเรือที่สิงคโปร์ หรือจะลงเรือที่ปีนังก็หาทราบไม่

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ