วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ได้รับประทานแล้ว

พระดำรัสเรื่องกลอง จับใจให้ต้องทูลต่อไปหยุดไม่ได้ ตามที่ตรัสเล่าถึงประเพณีตีกลองของพวกชาวอาฟริกานั้น รู้สึกว่าของเขาดีมาก ทางเราแต่ก่อนก็เห็นจะตีผิดกันเหมือนกัน เช่นเราตีกลองเพล และตีเมื่อสวดมนต์จบ ก็ตีไม่เหมือนกัน พวกคริสตังที่บ้านเขาอยู่ใกล้วัด (ฝรั่ง) เขาได้ยินระฆังวัดตี เขาก็บอกได้ทันทีว่าเป็นการอะไร เช่นการแต่งงานหรือการตายเป็นต้น นั่นก็เพราะตีผิดกัน เมื่อได้ทราบทางเช่นนั้น เวลาไปวัดฝรั่งในพิธีงานศพก็ได้สังเกต เขาตีระยะห่างกันมาก ไปทางเดียวกับยิงปืนสลุต มีระยะห่างกันนาทีหนึ่ง กลองย่ำพระสุริยศรีนั้นเคยได้ยินตีด้วยมีโอกาสได้เคยผ่านหอกลองไปในเวลาเขาตีกลองหลายหน ซ้ำจำได้ว่าฝ่าพระบาทยังได้ตรัสออกเสียงล้อว่า “ฮ่า” แต่ตีบอกไฟไหม้นั้นออกจะไม่เคยได้ยิน หรือไม่เอาใจใส่ที่จะได้ยิน เพราะบ้านอยู่ใกล้ป้อมอินทรังสรรค์ พอได้ยินเสียงปืนใจก็ไปอยู่เสียที่ไฟ หาได้อยู่ที่กลองไม่ ลางทีเราก็จะตีผิดกันมาก่อนเหมือนกัน หากแต่เราละเลยในการตีให้สัญญาบอกหมายกันไปเสีย ด้วยมีทางที่จะบอกกันให้รู้ได้อย่างอื่นดีกว่าแล้ว การตีสัญญาให้รู้กันว่าตีอย่างไร หมายอย่างไรจึงพากันละเลยลืมไปเสียสิ้น

ทางที่กำเนิดเกราะขึ้นก็ออกจะคิดเห็น คงมาแต่ธรรมดาการต้อนสัตว์ไปสู่ที่หมายด้วยวิธีเอาไม้ฟาดรก ไม้ที่ฟาดไปถูกต้นไม้ลำไม้เข้าดังโกกกาก จึงได้คติมาทำกรับเกราะโกร่ง แล้วติดต่อออกไปเป็นกลอง เป็นเคาะเครื่องโลหะ เขาว่าในต่างประเทศเคาะหินกันก็มี เกราะที่แขวนไว้บนหอที่เกาะบาหลีเห็นเข้าก็อยากรู้ว่าเสียงมันจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าผิดกับเสียงเกราะของเรา เพราะเขาทำด้วยไม้จริง แต่จะขึ้นไปเคาะดูมันก็อยู่สูงหนัก จนกระทั่งไปเที่ยวที่เทวสถานซังเคะ จึงไปเห็นเขาแขวนไว้ในซุ้มต่ำๆ รายทางเข้าไป ดุจแขวนระฆังรายทางในที่ศักดิ์สิทธิ์ของเราฉะนั้น จะเว้นเสียไม่ได้ต้องแวะเข้าไปหาเสียง ไม้ตีเขาก็ไม่มีทิ้งไว้จึงได้ลองเคาะดูด้วยมือ แต่ก็ไม่ได้เสียง เพราะมันหนามาก ภายหลังไปดูละครที่เทวสถานบาตูบุหลัน พอไปถึงเขาก็ตีเกราะนั้นเป็นสัญญาเรียกละครออกเล่น เขาเคาะสองคนด้วยไม้ค้อนใหญ่ถนัดใจ มีเสียงคล้ายระฆังแต่ทึบกว่า สืบถามว่าเขาเรียกอะไร ได้ความว่าเรียก “ต็องต็อง” ก็เป็นเรียกตามเสียงซึมซาบดี ระฆังก็คงออกจากต็องต็องนั่นเอง หรือต็องต็องจะออกจากระฆังไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง สิ่งที่เหมือนกันอันน่าสงสัยมีหลายอย่าง เช่นกลองกับมโหรทึกก็เป็นลักษณะอันเดียวกัน อะไรจะเอาอย่างอะไรไม่ทราบแน่ แต่คิดว่ามโหรทึกเอาอย่างกลอง เพราะกลองมีมากกว่ามากนัก

ในการที่เอาเครื่องหลายอย่างเข้าตีผสมกัน ให้ฟังวิจิตรพิสดารขึ้นนั้น เป็นแน่ว่ามาทีหลัง แม้กระนั้นก็ดี ก็ยังเป็นสัญญาอยู่นั้นเอง เช่นหมายให้เดินช้าเดินเร็วเป็นต้น สังเกตได้เมื่ออ่านหนังสือเรื่องจีน เขาก็มีตีหมายเป็นสัญญาเหมือนกัน ถ้าตีกลองก็เป็นสัญญาให้ยกทัพเข้ารบ ถ้าตีม้าล่อก็เป็นสัญญาให้ถอยทัพ ตามที่ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีจะมีกลองทุกกองทัพเพื่อตีเป็นสัญญานั้น เห็นจริงตามพระดำริว่าสมควรที่สุดดังนั้น กลองสองหน้าคิดว่าเอาไปเพื่อตีเข้ากับกลองอื่นให้ดังวิจิตร ฟังพึงใจ ไม่ใช่เอาไปสำหรับตีเป็นสัญญาเรียกคนเข้ากระบวน หากยืมเอาใช้เป็นสัญญาเรียกคนขึ้นภายหลังเหมือนกันกับตะโพนก็เอาไปใช้ตีเข้าปี่พาทย์ เมื่อเขาจะลงมือทำปี่พาทย์ แต่พวกปี่พาทย์เที่ยวซ่านเซ็นอยู่ เขาก็เคาะตะโพนขึ้นเป็นสัญญาให้พวกทำปี่พาทย์เข้าวง หรือรถยนต์เมื่อเจ้าของจะไป แต่คนขับไม่อยู่กับรถ เขาก็บีบแตรรถขึ้นเป็นสัญญาเรียกคนขับฉะนั้น

ไชยเภรียังไม่เคยคิด เคยคิดแต่อินทเภรี เห็นความในพระราชพงศาวดารมีอยู่ว่า “ตีอินทเภรีเป็นปฐม” ทำให้เกิดสงสัยขึ้นว่าอินทเภรีจะหมายถึงกลองชะนะหรือมิใช่ ได้เอาใจใส่แสวงมา ทีหลังได้พบริ้วกระบวนแห่อะไรก็ลืมเสียแล้ว จำได้แต่ว่าเป็นครั้งรัชกาลที่ ๓ ในริ้วนั้นมีคนหามอินทเภรี ๒ คนตี ๑ จึงทำให้เข้าใจได้ว่าอินทเภรีเป็นกลองโดดใบเดียว ไม่ใช่กลองชะนะ ชื่อนั้นจะเป็นได้มาแต่กลองของท้าวแสนปม ซึ่งว่าพระอินทร์เอามาให้ หรือจะหมายถึงกลองซึ่งได้ยินจากสวรรค์ อันเคยได้เห็นใน “อินเดียนแฟรีเตล” ซึ่งฝรั่งเก็บเอามาแต่ง อย่างไรก็ไม่ทราบ ยังมีกลองอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏอยู่ในเทศน์มหาชาติกัณฑ์นครกัณฑ์ เรียกชื่อว่าอานันทเภรี มีคำอยู่ว่า “จึงให้เอาอานันทเภรีอันวิจิตร พิพิธด้วยกาญจนลดามาศ ไปตีป่าวประกาศแก่มหาชน” ตามถ้อยคำที่ปรากฏนี้เป็นว่า กลองนั้นเขียนทองเป็นลายเครือไม้ ไปเป็นอย่างเดียวกันเข้ากับกลองที่ฝ่าพระบาทตรัสถึงว่าได้ทรงพบ แต่กลองนั้นจะเรียกชื่อว่าอะไรก็ไม่ทรงทราบ ชื่ออานันทเภรีของเราก็ไม่เคยได้ยินว่ามี สังเกตความตามที่กล่าวในนครกัณฑ์ก็เป็นกลองโดด ไม่ใช่กลองชะนะซึ่งเป็นกลองหมู่ ทั้งการตีประกาศของเราที่ปรากฏก็ว่าเป็นตีฆ้องไมใช่กลอง เช่นมีคำว่า “ตีฆ้องร้องป่าว”

ทีนี้จะทูลพุ่งไปทางเมืองเขมร ได้อ่านหนังสือแจกเมื่องานพระศพพระองค์หญิงอาภา ปรากฏประเพณีเขมรในนั้นเป็นว่า ลูกเธอเกิดแต่พระมเหสีเทวีแล้วเรียก “สมเด็จพระ–––” ทั้งองค์ชายองค์หญิง ถ้าเกิดแต่พระสนมแล้ว ชายเรียกว่า “เจ้าพระยา–––” หญิงเรียก “นัก––” ชอบกลหนักหนาอยู่ คำ “เจ้าพระยา” นั้นแสดงชัดเจนอยู่ว่าเป็นเจ้า ส่วนคำ “นัก” นั้นออกจะไม่แสดงว่าเป็นเจ้า คำ นัก เคยพบหนังสือขอมมาแล้ว มีเขียนอยู่สองอย่าง คือ “อนก” กับ “นาก” เห็นจะอ่านเหมือนกัน พาให้เกิดยุ่งไม่รู้ว่าใครเป็นชั้นไหน จึงเกิดคำเติมเป็น “นักพระองค์–––” หรือ “นักองค์–––” ขึ้น ภายหลัง คำ “อนก” ดูจะเป็นคำมลายู เช่น “อนะวิยดา” นั่นก็แสดงว่าเป็นเจ้าหญิง คำเขมรกับคำมลายูมีซ้ำกันมาก จะเป็นด้วยเหตุใดไม่ทราบแน่

ในเรื่องนั้นมีกล่าวถึงเมืองละแวก ว่ามีพระอัฏฐารสอยู่ในวิหารจตุรมุข ๔ องค์ พระบาทเป็นศิลา พระองค์เป็นไม้ตะเคียน สมจะเป็นเดิมทำด้วยศิลาทั้งองค์นั่งห้อยพระบาทอย่างเดียวกับที่นครปฐม หักพังคุมไม่ติดหรือไม่คิดจะคุมของเก่า จึงทำด้วยไม้ต่อขึ้นไปเป็นอย่างอื่นน่าประหลาด แต่ที่ว่าทำไมเมืองละแวกจึงมีของอย่างเดียวกับนครปฐม จะว่าสร้างมาพร้อมกันก็ใช่ที่ อันพระนามพระเจ้าแผ่นดินเมืองเขมร มีคำว่า “ราม” หลายพระองค์ เห็นได้ว่าเอาอย่างไทยไป มีมาแต่ครั้งอยู่เมืองละแวกแล้ว เป็นการเอาอย่างไม่มีมูล มูลที่พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงพระนามว่า “ราม” นั้น เพราะครองกรุงอยุธยา ในประเทศเขมรไม่มีเมืองที่ชื่ออยุธยา หรืออโยธยา พระเจ้าแผ่นดินทรงพระนาม “ราม” จึงเป็นการไม่มีมูล ที่เราว่าเขมรเอาอย่างไทยนั้น พวกฝรั่งเศสเขาออกจะไม่ค่อยยอม แต่ฝรั่งพวกอื่นเขารู้สึกดี เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคมนี้ก็เห็นหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ เขาคัดหนังสือพิมพ์ไตมส์เมืองลอนดอน ซึ่งผู้ดีอังกฤษเขียนส่งไปลง กล่าวถึงเมืองพนมเพญ ใช้คำว่า “ปัว คอปี”

ข่าวกรุงเทพฯ งานค่อยน้อยลง วันที่ ๒๒ มีนาคมนี้ได้ไปสองงาน คือปัญจนสัตตมการที่พระที่นั่งดุสิตงานหนึ่ง กับไปทำบุญให้พระยาศุภกรณ์ที่บ้านท่านงานหนึ่ง แต่ไปล่าทั้งสองงาน วันที่ ๒๓ ไปในการพระราชทานผ้าไตรให้เจ้าภาพไปทอด ๕ ไตร แล้วทรงจุดฝักแคพระราชทานเพลิงแต่งเครื่องแบบปกติ วันที่ ๒๔ สำนักพระราชวังสั่งมา ให้เตรียมรับนายเรือ เรือรบอเมริกันอันเข้ามาเยี่ยมกรุงสยาม จะไปเซ็นชื่อเยี่ยมที่บ้านท่าพระ งานนี้ไม่หนักหนาอะไร เพราะตัวไม่ต้องเข้าเกี่ยวข้อง กำหนดเวลาให้มาว่า ๑๑.๒๐ น. แต่ขลุกขลักล่าไปเป็น ๑๕.๐๐ น. ว่าเรือติดสันดอนเข้าตามเวลาที่กำหนดไว้ไม่ได้

อนึ่งหมายสำนักพระราชวังออกมาใหม่ กำหนดการพระราชพิธีตรุษสงกรานต์และวันจักรี มีงานตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ถึงวันที่ ๒ เมษายน ตอนหนึ่ง วันที่ ๖ เมษายน อีกวันหนึ่ง มีรายละเอียดแจ้งอยู่ในใบพิมพ์หมายกำหนดการ อันได้ถวายมาให้ทราบฝ่าพระบาทกับหนังสือเวรคราวนี้ด้วยแล้ว

วานนี้ได้รับใบดำ บอกกำหนดจะพระราชทานเพลิง ศพท่านผู้หญิงอรุณกับพระสมรรคราชกิจ ที่เมรุวัดเทพศิรินทร์ วันที่ ๒๖ เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา แต่หมายสำนักพระราชวังยังหาได้มีออกมาไม่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ