วันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ได้รับประทานแล้ว

ขอบพระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ที่มีพระดำรัสแถลงให้ได้ทราบตลอดเรื่องบุษบกไม้จันทน์

อันพระพุทธมนเทียรนั้น เกล้ากระหม่อมให้การถึงแผนผังไม่ได้ด้วยได้เห็นเมื่ออายุยังน้อย แล้วซ้ำไม่เอาใจใส่เสียด้วย จำได้แต่เพียงสามห้องว่ามีห้องใหญ่ตั้งพระเจดีย์ทอง กับอีกห้องหนึ่งเป็นที่ทำบุญพระบรมอัฐิ อีกห้องหนึ่งตั้งพระพุทธสิหิงค์น้อย

ห้องใหญ่ซึ่งตั้งพระเจดีย์ทองนั้นจำได้ดี ด้วยได้เดินผ่านมาก ทำไมจึงมีโอกาสได้ผ่านมากก็ไม่ทราบ รูปเทวดาเหาะซึ่งแขวนล้อมพระเจดีย์ก็จำได้ตามที่ทรงสันนิษฐานว่าจะทรงพระราชดำริให้เป็นพระจุฬามณีเจดีย์นั้นถูกแน่ตลอดจนเชิญพระเจดีย์ออกไปตั้งในพระพุทธปรางค์ปราสาทก็จำได้ จำได้จนเกิดเหตุหลงด้วยพูดกันว่าเอียง พระองค์ประดิษฐ์ฉุน ไปจูงพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาทอดพระเนตรว่าไม่เอียงด้วยท่านสำคัญว่าเป็นเจ้านายพวกเรา ตลอดจนเมื่อไฟไหม้พระเจดีย์ละลายก็จำได้ แล้วยังได้ทราบประวัติแห่งพระเจดีย์นั้นมาอีกด้วย ๒ เรื่อง

๑. พระองค์ประดิษฐ์เล่าให้ฟังว่า พระเจดีย์นั้นหล่อถึงสองครั้งจึงสำเร็จได้ครั้งแรกท่านก็ทำ พอทำหุ่นเสร็จถึงเวลาจะหล่อก็มีผู้กราบบังคมทูลว่า กรมหลวงวรศักดาพิศาลนั้น ทรงเชี่ยวชาญในการหล่อยิ่งนัก จึงตรัสสั่งให้ท่านเสด็จมาช่วยการหล่อ พระองค์ประดิษฐ์ฉุน ว่าท่านเป็นเจ้านายใหญ่โต ท่านก็จะมาบังหน้าเรา ความดีจะมีสักเท่าไรท่านก็จะเอาไปเสียหมด จึงตกลงคิดเอาตัวหนีเรียกเจ้ากรมปลัดกรมช่างหล่อมามอบตัวถวายแล้วท่านก็ละไปประทมเฉยเสียที่วัง ส่วนกรมหลวงวรศักดาพิศาลก็ตรัสสั่งเจ้ากรมปลัดกรมช่างหล่อ ว่าหน้าที่ใครเคยทำอย่างไรก็ทำไปสิ พระองค์ประดิษฐ์เล่าว่าถึงเวลาพระฤกษ์หล่อก็ทนประทมอยู่วังไม่ได้ ต้องแอบเข้าไปดู พอเห็นเททองไหลยืดลงไปราวกับว่าแตงเม ก็รู้ว่าเสีย จึงตรัสกับใครท่านออกชื่อแต่ลืมเสียแล้ว ท่านว่า “กูติดกรวน” พอถึงเวลาต่อยพิมพ์ตำรวจวังก็ไปเกาะจริงๆ ด้วยพระเจดีย์ขาดเสียไม่เป็นองค์ มีพระกระทู้ถามว่าทำไมจึงละทิ้งงานไปเสีย ก็กราบทูลว่าเพราะโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวรศักดาพิศาลมาดูการแล้ว จึงมีพระกระทู้ถามอีกว่าจะรับหล่อถวายใหม่ให้สำเร็จได้หรือไม่ จึงกราบทูลว่าถ้าไม่โปรดให้ใครมาวอแวก็สนองพระเดชพระคุณได้ นั่นแหละจึงโปรดให้พ้นโทษได้ทำถวายต่อไปใหม่จนสำเร็จ ท่านอธิบายว่าเจ้ากรมปลัดกรมช่างหล่อนั้น ใช่จะไม่รู้ได้เสียก็หามิได้ แต่เคยหล่อจำเพาะการในบ้านของตัว หลอมทองได้ที่เมื่อไรก็เทเมื่อนั้น การที่มาเข้าหล่อในที่มีฤกษ์จำกัดนั้นยากขึ้นมาก ต้องรู้คาดการหลอมทองเผาพิมพ์ให้เหมาะแก่ฤกษ์ ลางทีถึงฤกษ์แล้วยังไม่เสด็จออกก็ต้องแก้ไขไปให้ควรแก่การ เจ้ากรมปลัดกรมเหล่านั้นไม่มีปัญญาพอที่จะผ่อนผันให้การเป็นไปโดยสมควรได้

๒. อีกเรื่องหนึ่งได้ยินจากพระ แต่จะเป็นพระองค์ใดก็ลืมเสียแล้ว ว่ามีพระราชดำรัสเกณฑ์พระราชาคณะทุกองค์ ให้เลือกหาพระธรรมจำเพาะข้อที่ดีคัดขึ้นถวาย ถ้าทรงพระราชดำริเห็นว่าของใครดีก็จะทรงเอาเข้าบรรจุในพระเจดีย์นั้น ทำให้พระราชาคณะทั้งหลายพากันขวนขวายเลือกหาพระธรรมที่ว่าข้อไรจะดี ติดจะเป็นการแข่งขันกัน ต่างก็เลือกคัดเขียนข้อธรรมที่เชื่อว่าดีล้ำเลิศขึ้นถวายทั่วกัน กล่าวถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ว่าเขียน “นโม” ถวายขึ้นไปกราบทูลอธิบายว่า ธรรมที่ดีใดๆ พระราชาคณะทั้งหลายคงจะได้เลือกคัดขึ้นถวายสิ้นแล้ว แต่คงขาดประณามพระพุทธเจ้าอันเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะกล่าวพระธรรมข้อใดก็ต้องประณามพระพุทธเจ้าก่อน จึงได้เขียนประณามพระพุทธเจ้ามาถวาย แทนที่จะกริ้วกลับเป็นโปรด จึงรับของท่านบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ด้วยเรื่องนี้เล่าโดยประสงค์ จะแสดงว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์นั้นมีความคิดผิดมนุษย์แต่เป็นประวัติของพระเจดีย์นั้นเข้าด้วย จึงเก็บมาเล่าถวาย

ห้องที่ไว้พระพุทธสิหิงค์น้อยนั้น ได้ผ่านเข้าไปน้อยนักจึงจำได้แต่เพียงว่าตั้งในบุษบก จะเป็นบุษบกอะไรก็จำไม่ได้แน่ เมื่อได้ฟังพระดำรัสยืนยันรวมทั้งสืบอย่างอื่นเข้าประกอบด้วยจึงได้ความเป็นยุติลงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างบุษบกไม้จันทน์ขึ้นทรงพระพุทธสิหิงค์น้อยประดิษฐานไว้ในพระพุทธมนเทียร ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งรัชกาลนั้นทรงพระราชดำริจัดพระชนมวารถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เสด็จสวรรคตไปแล้วทุกพระองค์ โปรดให้ใช้พระพุทธสิหิงค์น้อย เป็นพระชนมวารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ครั้นเมื่อรื้อพระพุทธมนเทียร จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์น้อยย้ายไปไว้ในหอพระสุลาลัยพิมาน แต่จะเชิญบุษบกไม้จันทน์เข้าไปทรงตามเดิมหาได้ไม่ด้วยที่คับแคบ เจ้าพนักงานจึงเชิญบุษบกไม้จันทน์นั้นไปเก็บไว้ในหอพระมนเทียรธรรม ครั้นถึงรัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชดำริให้ทำที่ตั้งพระบรมอัฐิบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเสียใหม่ โปรดให้เชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ย้ายมาจากพระที่นั่งมหิศรปราสาท ขึ้นไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งจักรี จึงได้เชิญพระพุทธสิหิงค์น้อยอันเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารขึ้นไปประดิษฐานรวมไว้บนนั้นด้วย ส่วนบุษบกไม้จันทน์นั้น สมเด็จกรมพระสวัสดิซึ่งโปรดทรงสะสมของเก่าทอดพระเนตรเห็นเก็บไว้เปล่า จึงตรัสสั่งให้ยกไปตั้งที่ตำหนักถนนพระอาทิตย์ เพราะเป็นของเก่า เมื่อสิ้นบุญสมเด็จกรมพระสวัสดิแล้ว เจ้าพนักงานก็เชิญกลับไปไว้ ณ หอมนเทียรธรรมตามเดิมอยู่จนทุกวันนี้

พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ที่ทรงพระเมตตาโปรดแผ่พระกุศลในการที่ได้ทรงทอดกฐินพร้อมด้วยทายกทั้งหลายประทาน ขออนุโมทนาพระกุศลนั้นด้วยความยินดี การกฐินนั้นที่แท้ก็เป็นสองตอน คือรับผ้าและไทยธรรมต่อทายกแล้วอนุโมทนาตอนหนึ่ง แล้วจึงทำสังฆกรรมญัติให้แก่ใครอีกตอนหนึ่ง ทายกเขาย่อมมีเจตนาเพียงถวายทานเท่านั้น ส่วนการทำสังฆกรรมนั้นเป็นกิจของพระสงฆ์ ทำได้เงียบๆ ทายกเขาไม่เอื้ออะไร ที่ในกรุงเทพฯ ทำแยกเป็นสองภาคอย่างนั้นก็เคยมี การทำสังฆกรรมนั้นแหละจึงต้องการสีมาอย่างเบี้ยขาวเบี้ยแดงดูไม่น่าจะยากอะไรในเรื่องสีมา ตัวอย่างดูเหมือนทำในป่าซึ่งไม่ใช่ที่มีเจ้าของหวงแหนเท่านั้นก็ได้ ไม่จำต้องมีใครยกที่ให้ ตามวัดทางเหนือเห็นมีแพลอยอยู่หน้าวัดใช้เป็นโบสถ์ก็มี ได้ยินข่าวในกรุงเทพฯ ทางธรรมยุติ ว่าบวชกันในเรือกำปั่นซึ่งทอดสมออยู่ในแม่น้ำก็มี เพราะเหตุด้วยเรื่องรังเกียจสีมานี่แหละ จะพูดมากไปก็ไม่ควร ด้วยไม่มีความรู้พอ แต่อย่างไรก็ดี พระธรรมยุติที่ปีนังซึ่งต้องการทำสังฆกรรมให้เลิศก็มีเพียง ๕ รูปเท่านั้น ถ้าจะหาเรือสำปั้นสักลำหนึ่ง ไปลอยในสระแห่งใดแห่งหนึ่งทำสังฆกรรมจะไม่ได้เจียวหรือ จะอย่างไรก็อย่าจู้จี้ให้ชาวบ้านเขารำคาญใจได้เป็นดี ถ้าจู้จี้เขาก็สิ้นนับถือ ถ้าจะเอากันให้จริงจังจะต้องห้ามหมด ไม่ให้ทายกนำไทยธรรมอะไรมาถวายนอกจากผ้าขาวท่อนเดียว จึงจะต้องด้วยพระบรมพุทธานุญาต ถ้าทำดังนั้นก็เป็นบ้า นึกถึงสมเด็จกรมวชิรญาณตรัสถึงการหลบหลีกอาบัติว่าถ้าเขาไม่นิมนต์ไปเทศน์ เขาลาดธรรมาสน์ไว้ด้วยเบาะยัดนุ่น หม่อมฉัน (ตรัสแก่เจ้านายผู้ใหญ่) จะจับโยนลงมาเสียได้หรือจะได้เป็นบ้า ต้องจำทนต้องอาบัติเท่านั้น

อยากจะทราบว่า สถานซึ่งได้เสด็จพาไปดูอันมีพระพุทธรูปศิลาทำมาจากอิตาลีนั้น มีเกี่ยวข้องกับสมาคม “ญาโณทัย” และวัดศรีสว่างอารมณ์นี้บ้างหรือเปล่า

สมุดประชุมรูปภาพเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งประทานหม่อมเจิมนำเข้าไปนั้นหม่อมเจิมได้เอามาให้แล้ว

องค์หญิงประเวศกับกรมหลวงสิงห์จะมาปีนังด้วยรถไฟวันที่ ๕ เพื่อรับชายอุทัยเฉลิมลาภ กับกรมขุนชัยนาทจะมาปีนังด้วยเครื่องบินวันที่ ๖ เพื่อรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แขกของฝ่าพระบาทจะมากมายขึ้นอีก

คราวนี้จะกราบทูลเรื่องเมืองบาหลี สืบจากหนังสือเวร ซึ่งถวายมา เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคมนั้นต่อไป

การเซ่นเทพารักษ์ตามศาลที่สำคัญนั้น เขามีวันนัดให้ไปประชุมกันเซ่น เครื่องเซ่นที่ชาวบ้านนำไปเซ่นเจ้านั้น ออกจะแข่งขันกันอยู่ ตกแต่งของกินอันเป็นของแห้งเป็นพนมลงในภาชนะเช่นถาดเป็นต้น ตามปกตินั้นพนมก็สูงพอสถานประมาณ แต่อย่างดีแล้วพนมนั้นก็สูงมาก พิจารณาเทียบกับของไทยก็ได้แก่บายศรีเรานี่เอง บาย เป็นภาษาเขมร แปลว่า ข้าว ศรี เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ขวัญ สังเกตดูพนมเครื่องเซ่นนั้นทำข้าวตากเหมือนแจกันปักขนมเสียบไม้เทียมดอกไม้ปักบนนั้นก็มีมาก ทูนหัวนำไปตั้งไว้บนแคร่ซึ่งสำหรับตั้งเครื่องเซ่น ลางรายก็มีผ้าเป็นผ้านุ่งห่มไปด้วย เอาเที่ยวขึงแต่งตามศาล หรือตามที่ที่วางเครื่องเซ่น สุดแต่จะทำได้ อันนี้ก็เป็นประเพณีที่คล้ายไทย เราทำขวัญเรือนใหม่ก็มีผ้านุ่งห่มไปพันเสาเหมือนกัน แล้วผ้านุ่งห่มนั้นก็ย่อลง เหลือเป็นผ้าสีชมพูสักกระแบะมือหนึ่งก็ได้ แต่ชาวบาหลีหาได้ทำย่อหย่อนไปถึงเท่านั้นไม่ เมื่อเขาตั้งแต่งแล้วเขาก็นั่งกราบนบซบไหว้อยู่หน้าศาล คราวนี้ตาพราหมณ์ก็เข้าทำการขี่หลัง บูชาของซึ่งไม่ใช่ของๆ ตน แล้วทำน้ำมนต์ประให้แก่ผู้มาบูชา ลางทีก็มีปี่พาทย์มาประโคมที่ศาลเวลามีงานนัดนั้นด้วย แต่ใครจะจัดหามาหรือมาประโคมด้วยตนเองเพื่อได้อามิสย่อยก็ไม่ทราบ เห็นมาเท่านี้

(จะมีต่อไป)

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ