วันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๒๑ เดือนนี้ มีข้อที่จับใจจะมาจะกราบทูลถวายจำเพาะข้อที่จับใจโดยลำดับ

ข้อคำว่า ชายแครง เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทางเกล้ากระหม่อมก็มีเรื่องเพิ่มเติมขึ้นอีก สาเหตุเป็นด้วยอ่านหนังสือพบคำว่า “ไม้กางเขน” จริงอยู่คำนี้มีผู้วินิจฉัยว่า ไม้กางแขน แต่เกล้ากระหม่อมไม่ลงเนื้อเห็นด้วย เพราะคิดว่ารูปพระเยซูตรึงไม้กางเขนนั้น จะเป็นของที่เราเพิ่งรู้เห็นทีหลัง ไม้กางเขนจะต้องเป็นคำไทยที่มีมาก่อน แต่จะเป็นสิ่งไรยังหาทราบไม่ ถ้าจะพิจารณาตามคำไม้ จะต้องเป็นทำด้วยไม้ กางเขน เป็นชื่อนก รวมกันก็ไม่ได้ความว่าอะไร จึงนึกย้ายไปเป็นไม้กางเขน คือไม้ทำไว้รีขวางอย่างไม้กางหันแล้วฉากเข็นไปใกล้ข้างคราด แต่ความคิดเหล่านี้ไม่มีหลักทั้งนั้น จึ่งได้ถามพระยาอนุมานไปว่าแกเคยพบคำไม้กางเขนที่ไหนมาบ้างหรือไม่ ด้วยแกเป็นคนแส่หาคำต่างๆ อยู่ทั่วไป แกบอกมาว่าแกตรวจคำไทยถิ่นต่างๆ ไม่พบคำ ไม้กางเขน เลย แกสงสัยในคำกาง ว่าจะเป็นพวก แกง แกเก็บคำพวก แกง ต่างๆ ส่งมาให้พิจารณา ในนั้นมีคำ ชายไหวชายแครง ซึ่งเราคิดกันมาแทบตายแล้วติดมาด้วย ก็มาสดุดใจทำให้ค้นคว้าต่อไปอีก คราวนี้ได้เปิดพจนานุกรมภาษาเขมรค้นดูพบมีคำ ชายแกรง ดีใจตรวจดูคำแปล เขาแปลให้ไว้สองอย่าง คือ ๑ เชิงตะพาบน้ำ ๒ ผ้ากันเปื้อนทองของหญิงละครเขมร หมดดี ฝรั่งเต็มที ที่เก็บมาทูลถวายนี้มิใช่อะไรได้ เพราะเห็นขันเท่านั้นเอง

คำว่า “วังช้าง” เป็นเหตุให้เกิดญาณหยั่งเห็นไปว่า วง วัง วาง เวียง เป็นคำเดียวกัน หากพูดเสียงเพี้ยนเท่านั้นหมายความว่ารั้วล้อม (จะทำด้วยไม้ซีก ไม้ซุง ต้นใหญ่ต้นเล็กอะไรก็เหมือนกันทั้งนั้น) คำนี้กินถึงคำใช้ในตำแหน่งจตุสดมภ์ด้วย เวียง หมายความว่ารั้วชั้นนอก วัง หมายความว่า รั้วชั้นใน ทั้งสองอย่างก็คือรั้วนั่นเอง เหมือนเพนียดกับวงพาด

การคล้องช้างด้วยวิธีทิ้งเชือกบาศเป็นวิธีเดิมมาทีเดียว มีชื่อเรียกกันว่า “บาศซัด” เป็นแน่ว่าทำยากมาก ภายหลังจึ่งแก้บ่วงบาศเสียบคันจามคล้อง เห็นจะได้สติมาแต่คล้องช้างในครอก คนอยู่นอกคอกเอาไม้เสียบบ่วงบาศสอดเข้าไปตามช่องไม้คอก ช่วยช่างต่อที่ในคอกคล้อง การคล้องด้วยคันจามแต่แรกเกล้ากระหม่อมก็เข้าใจผิด นึกว่าช้างยกเท้าขึ้นก็เอาบ่วงคล้อง แต่หาใช่ไม่ เขาว่าต้องเอาบ่วงสอดเข้าไปวางราบกับพื้นดินดักย่าง เมื่อช้างก้าวลงไปในบ่วงจึ่งยกขึ้น ทั้งนี้ก็มีลักษณะอย่างเดียวกับบาศซัดนั้นเอง

“ภาษาโพน” ซึ่งทรงสันนิษฐานว่าเป็นภาษาละว้า อันเกี่ยวเข้าไปในภาษามอญ ภาษาเขมรนั้น เห็นชอบตามพระดำริว่าเป็นถูกแท้ทีเดียว สังเกตภาษาที่เราพูดกับช้าง ใช้ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาของเรามากทีเดียว

ต่อไปนี้จะกราบทูลถึงข่าวทางกรุงเทพฯ ลางประการ

เมื่อวันที่ ๑๖ หญิงใหญ่กับหญิงกลาง (ในทูลกระหม่อมชาย) กลับโดยกระบวนรถไฟต่างประเทศเข้าไปถึงกรุงเทพฯ เพื่องานพระกุศลของทูลกระหม่อมชาย เกล้ากระหม่อมได้ไปรับที่สถานีรถไฟ มีเจ้านายพี่น้องหลายคนไปรับ หญิงใหญ่ไปอยู่กับหญิงสี่ ส่วนหญิงกลางไปอยู่กับชายถาวร

งานพระกุศลของทูลกระหม่อมชาย ซึ่งจะทำที่วัดเบ็ญจมบพิตร ในวันที่ ๓๑ กรกฎาคมนั้นชายถาวรเป็นตัวตั้งจัดการ ส่วนสิ่งใดที่ขัดข้องเกล้ากระหม่อมก็มีมือเข้าไปช่วยในสิ่งนั้น เพิ่งจะได้ทราบขึ้นในคราวนี้เองว่า คาถา “อทาสิเม” เป็นคำปลอบของพระภิกษุสงฆ์ ว่าควรจะดับความเศร้าโศกเสียในการที่ญาติตายไป เพราะฉะนั้นคาถานี้ก็ควรใช้แต่ในเวลาที่ญาติตายไปใหม่ๆ ที่เอามาใช้เพื่อญาติตายแล้วตั้งยี่สิบสามสิบปีออกจะ “กินกาว” นี่พระ (เห็นจะเป็นธรรมโกษา) ท่านกระต๊ากขึ้น ชายถาวรเก็บมาบอก เกล้ากระหม่อมก็ใจหาย ด้วยคาถานั้นได้ยินมาตั้งแต่เล็กแล้วแต่ก็ผ่านไป ไม่เคยพิจารณาเลยว่าในคาถานั้นว่ากระไร แล้วนี่พระท่านจะเอาอะไรมาสวด หรือจะย้ำไปตามเคยก็ยังหาทราบไม่

อนึ่งหนังสือพิมพ์ก็ลงว่า วันนี้หญิงอาภาก็จะกลับเข้าไปถึงกรุงเทพฯ กับรถไฟระหว่างประเทศ เกล้ากระหม่อมก็หนัก จะจริงหรือไม่จริงก็ไม่ทราบ จึ่งได้ให้ไปสืบก็ได้ความมาว่าจริง เกล้ากระหม่อมก็คิดจะไปรับเธอที่สถานีรถไฟ แต่จะไปได้หรือไม่ได้ยังไม่ทราบแน่ เพราะไม่ค่อยสบายอยู่ถ้าไปไม่ได้จะให้ลูกไปแทน

เมื่อวันที่ ๒๘ เขาเผาศพระยานครราชเสนี (สหัด) ลูกพระยาสิงห์ที่สุสานวัดเทพศิรินทร์ เกล้ากระหม่อมไม่ได้ไปเพราะไม่สบายอยู่ให้แม่โตไปแทนตัว กลับมาเอาหนังสือแจกมาให้ ๒ เล่ม ออกจะดี ๆ

๑. จดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชกาลที่ ๓ (ไม่เหมือนครั้งงานศพพระยาสิงหเสนี) เป็นสำเนาใบบอกและท้องตรา กับสำเนาหนังสืออันประกอบกัน จัดเป็นประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๗ และว่าหนังสือพวกนี้ยังมีอีกมาก อาจรวมตีพิมพ์ได้อีกหลายตอน

๒. ลำดับสกุลสิงหเสนี หนังสือฉบับนี้ทำความตะลึงพรึงเพริดให้เกิดขึ้นในใจเป็นอันมาก ไม่นึกเลยว่าสกุลสิงหเสนีจะเป็นสกุลใหญ่กว้างขวางยาวรีถึงเพียงนั้น ตระหนักใจอยู่เหมือนกันว่าเป็นสกุลใหญ่ แต่เท่าที่รู้อยู่ไม่ได้กะผีกของความเป็นจริง

ในสมุดทั้ง ๒ เล่มนี้มีรูปประกอบอยู่หลายรูป แต่ติดใจอยู่เพียง ๒ รูป คือรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) รูปหนึ่งเป็นรูปยืนแต่งตัวหรูหราเห็นก็รู้ว่าเป็นรูปเขียนใหม่ๆ ทันทีนั้นเองก็ปล่อยผ่านไป ใจไปจับเอารูปปั้นเข้า รูปนั้นนั่งชันเข่านุ่งผ้าลายเนื้อเถะ พอเห็นก็นึกว่าคงเป็นรูปนี้ที่เขาลือว่ามีในศาลเมืองเขมรแต่จะเป็นที่ไหนไม่ทราบ แต่ครั้นอ่านฝอยได้ความว่าเป็นรูปที่วัดจักรวรรดิ์นี่เอง ท่านเจ้ามาเป็นผู้สร้างว่าให้ช่างเขียนถ่ายอย่างที่ศาลเมืองอุดงมีชัยในเขมรมาแล้วให้ปั้นขึ้น มีช่างเขียนผู้ซึ่งไปเขียนถ่ายมานั้นกับท่านทองผู้เป็นภรรยาเจ้าพระยาบดินทรเดชาซึ่งยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้ดูแลแก้ไขให้เหมือนตัว (ช่างเถอะ) แล้วประดิษฐานไว้ในเก๋งข้างพระปรางค์อันเคยเป็นที่วางดอกไม้บูชามาแต่เก่าก่อน เมื่อได้ทราบเรื่องดังนี้นึกเสียดายว่าไปเมืองเขมรไม่ได้ไปถึงเมืองอุดงเป็นแต่เห็นยอดพระปรางค์หรือพระเจดีย์อะไรอยู่ไกลๆ เขาชี้บอกว่านั่นแหละเมืองอุดง แม้ว่าจะได้ไปถึงก็คงจะได้เห็นในรูปฝอยว่าสมเด็จพระหริรักษ์ (นักองค์ด้วง) ให้พระภิกษุชื่อสุกปั้นขึ้นไว้ด้วยปูนเพชร ประดิษฐานไว้ในศาลซึ่งเธอสร้างขึ้นใหม่เหมือนกันว่าอยู่ที่หน้าค่ายใหญ่ใกล้วัดโพธารามโดยความเคารพ ถึงไม่ได้ไปเห็นก็ไม่ถึงแก่เสียใจเพราะคิดว่าคงต้น

ถ้าหนังสือนี้เจ้าภาพไม่ได้ส่งมาถวาย จะโปรดให้เกล้ากระหม่อมส่งก็ได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ