วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๒ มีนาคม ได้รับประทานแล้ว

เรื่องชื่อเมือง “กุสินาราย” ตามพระดำรัสอธิบายนั้นแยกเป็นสามคำ คือ “กุด-ฉิ-นารายน์” ทำความเข้าใจให้เด่นขึ้นมาก “กุด” หมายความว่าลำน้ำด้วน ก็มาตรงกับ “บาง” ทางเรา แต่ทางโน้นเขาได้ความดีกว่า “ฉิ” เป็น “สิ” นั้นไม่ประหลาดตัว ฉ เป็น ส หรือ ส เป็น ฉ นั้นเป็นได้โดยง่าย เช่น สลาก เป็น ฉลาก และ สิมพลี เป็น ฉิมพลี เป็นต้น แต่ยังไม่รู้ว่า “ฉิ” เขาหมายความเป็นอะไร ส่วนคำว่า “นาราย” เป็น “นารายน์” นั้นถูกตามคาดคิด รู้สึกดีใจ

เป็นพระเดชพระคุณที่ทรงพระเมตตาบอกรูปกลอง “โนบัต” ให้ได้ทราบเกล้า ทางมลายูนั้นให้หวั่นใจว่าจะเจือรีดฝรั่งเข้าไปเสียบ้าง ดั่งจะเล่าเรื่องถวาย เมื่อไปเที่ยวชวาได้พบแขกมาเป่าปี่ขอทาน ปี่นั้นก็เป็นปี่ชวาเรานี่เอง ผิดกันแต่กระบังลมซึ่งสวมอยู่ที่ปี่กับลิ้นต่อกัน ของเราเป็นรูปกลมดุจจาน แต่ของเขาเป็นรูปรีปลายแหลมงอน เมื่อเป่าปี่แล้วกระบังบิดปากงอนขึ้นไปดุจคนมีหนวดโง้งงอน งามกว่ากระบังลมของเรามาก เพลงที่เป่านั้นเป็นเพลงโหยหวนไม่มีจังหวะ ท่วงทีเป็นเพลงปี่ไฉนในวงกลองชนะของเราฉะนั้น อยากรู้ว่าปี่นั้นเรียกชื่อเป็นภาษาชวาว่ากระไร ถามเขาเขาบอกว่าชื่อ “ตรมเป็ด” สิ้นดีกันเท่านั้น คราวนี้จะกราบทูลถึงคำ “ไฉน” ได้ทราบมาทางทูลกระหม่อมชายว่าเป็นคำฮินดูหมายถึงปี่ทุกอย่าง ไม่จำกัดเป็นแต่ปี่ชนิดเล็กเช่นที่เป่าเข้ากับกลองชนะเช่นที่เราเข้าใจกัน เหตุที่ได้ทรงทราบมานั้น เป็นด้วยมีตาแขกคนหนึ่ง แกเป็นกวีหมกมุ่นอยู่ในกระบวนบทร้อง แล้วก็พาให้แกเอาใจใส่ในทางร้องและเครื่องปี่พาทย์ด้วย เที่ยวได้สืบสาววิธีร้องและเล่นปี่พาทย์ของชาติต่างๆ ที่สุดอยากรู้ทางข้างไทย จึงมีผู้เสือกไสแกไปถวายทูลกระหม่อมชาย เพื่อแกจะได้เห็นเครื่องปี่พาทย์อย่างไทยตามที่ทรงมีอยู่และฟังพระอธิบายด้วย ในการสนทนาวิสาสะแก่กันนั้น ทูลกระหม่อมชายจึงได้ทรงทราบจากคำที่แกทูลว่า “ไฉน” เป็นคำฮินดู หมายถึงปี่ทุกอย่าง ที่จริงควรจะรู้ เพราะชื่อหัวหน้าปี่พาทย์เวรหลวงก็ชื่อว่า “หมื่นไฉนไพเราะ” ซึ่งไม่มีปี่ไฉนอยู่ในวงปี่พาทย์เวรเลย อีกประการหนึ่งยอดพระเจดีย์ก็มีส่วนที่เรียกว่า “ปล้องไฉน” ไฉนไม่ได้ทำเป็นปล้องทำแต่ปี่ใหญ่ คือปี่ ปี่พาทย์ ยอดพระเจดีย์ก็หมายถึงปี่ใหญ่นั้นเอง อันเครื่องประโคมต่างๆ นั้น เดิมก็เป็นของโดดๆ เช่นกลองใบเดียวตีตูมๆ นั้นก่อน แล้วเอาสิ่งโน้นสิ่งนี้มาผสมกันเข้า จึงเป็นเครื่องประโคมอย่างประณีต มีเสียงต่างๆ ขึ้นแยกเป็นสองสาขา คือ “ดนตรี” หมายถึงเครื่องดีดสี (คือเครื่องสาย) กับ “ดุริย” หมายถึงเครื่องตีเป่า คำ “พิณพาทย์” หรือ “ปี่พาทย์” นั้นไม่ผิดทั้งสองคำ พิณพาทย์ว่าเล่นเพลงพิณ ได้แก่ดนตรี ปี่พาทย์ว่าเล่นเพลงปี่ ได้แก่ดุริยเครื่องดุริยแยกเป็น ๕ อย่าง เรียกว่า “เบญจดุริยางค์” อาจารย์จิลเดอรส์จำแนกให้ไว้ว่า กลองหนังหน้าเดียว กลองหนังสองหน้า กลองหนังรอบตัว กับเครื่องโลหะและเครื่องลม ติดตามก็เข้าใจได้ ๔ อย่าง เครื่องลมได้แก่ปี่ขลุ่ย เครื่องโลหะได้แก่ฉิ่งฉาบโหม่งเหม่ง กลองหนังหน้าเดียวได้แก่โทนรำมะนา กลองหนังสองหน้าได้แก่กลองละครตูมๆ แต่กลองหนังรอบตัวนั้นแหละจนปัญญา คิดหาเห็นว่าจะได้แก่กลองอย่างไรไม่ ได้แต่นึกรวบรัดลงว่าเป็นกลองสามเสียง คือสูงกลางต่ำ เทียบด้วยกลองแขกกลองมลายูก็มีเสียง จ๋ง ติ๋ง ทั่ง กลองชนะก็มีเสียง ปิ๋ง เปิง ครุ่ม กลองละครก็มี เท่ง ติ๋ง ต้อม แต่ล้วนสามเสียงหมดด้วยกันเว้นแต่ย่นย่อเป็นให้น้อยใบลงบ้าง หรือเพิ่มให้มากใบขึ้นบ้าง ที่เพิ่มมากใบขึ้นก็เป็นไปเพื่อให้งดงามหรือประณีตขึ้น คราวนี้จะทูลถวายในสิ่งแปลกๆ ซึ่งลางทีจะไม่ได้ทรงพระดำริรู้สึก อย่างหนึ่งละครนั้นแต่ก่อนคงใช้กันแต่โทนเหมือนอย่างละครชาตรี ปี่พาทย์นั้นเอามาใช้ภายหลัง เห็นปรากฏได้ที่ครูละครหัดศิษย์รำเพลงช้า ใช้ปากร้องว่า “จ๊ะ จ๋ง จ๊ะ ถิ่ง โจ๋ง ง่า ถิ่ง” และใช้ปากในเพลงเร็วว่า “จ๊ะถิ่ง ถิ่ง” เป็นเสียงโทนทั้งนั้นอันบทละครเขียนบอกไว้ว่า “โทน” นั้นก็ไม่ใช่ชื่อเพลงเป็นเพลงต่างๆ ซึ่งร้องแล้วตีโทนประกอบเข้าด้วย พูดถึงละครก็นึกขึ้นมาได้อีกอย่างหนึ่งพระรามเภรี เขาเป็นลูกหลวงพิษณุเสนี (ศีรษะล้าน) เชื่อได้ว่าเขามีความรู้หลัก เขาว่ากลองชนะซึ่งตี ปิ๋งเปิงครุ่ม เป็นชั้นสูงนั้น เป็นเพลงช้า ส่วนตีชนิดที่เรียกว่า “สามไม้หนีสี่ไม้ไล่” (คือ ปุปุปุ ครุบครุบครุบครุบ) ซึ่งใช้ตีในยศขุนนางนั้น เขาว่าเป็นเพลงเร็ว แต่ก่อนตีไปด้วยกันสองหน้าเป็น “ป๊ะ ปิ๋ง ปะ ครุบครุบครุบครุบ” ต่อเมื่อแยกไปเป็นยศขุนนาง ขี้เกียจเอาสองหน้าไปก็ใช้กลองเลวใบหนึ่งตี ปุปุปุ แทน จะจริงหรือไม่จริงก็ฟังเข้าทีมาก เกล้ากระหม่อมจึงฉวยเอาไปจัดให้ปี่พาทย์ ตีคอนเสิตตับพรหมมาศเช่นเขาว่านั้นเป็นเพลงช้าเพลงเร็วติดกัน

เป็นพระเดชพระคุณที่ทรงพระเมตตาโปรดตรัสเล่าไขความในการที่เขาทำศราทธพรตถวายพระโป๊บ ณ วัดโรมันคาทอลิก ตามที่ตรัสเล่าว่าเขาทำอย่างพิธีทำศพใครต่อใครกันมาตามเคยนั้น เข้าใจดีทีเดียวด้วยได้เคยเห็นมามากแล้ว ที่เขาทำมงกุฎโป๊บตั้งบนหลังหีบก็เห็นจะเป็นตามแบบที่เคยทำมา เมื่องานแห่พระบรมศพพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ แห่งเมืองอังกฤษ ก็ประดิษฐานมงกุฎบนหลังหีบพระบรมศพ แม้ศพนายทหารก็เคยเห็นเขาวางหมวกบนหลังหีบ คงเป็นทำตามประเพณีที่ใครมียศเพียงไรก็ใช้เครื่องสิราภรณ์วางบนหลังหีบศพนั้น

รูปหนังสือพิมพ์โฆษณานางระบำ ซึ่งตัดประทานเข้าไปนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดความประหลาดใจเลย ด้วยเคยสังเกตมา ขึ้นชื่อว่าระบำแล้ว เมื่อดำเนินตามสมัยใหม่เข้ามา ก็ยิ่งย่างเข้าไปสู่ทาง “ศิลปะ” มากขึ้นทุกที

ข้อที่มีพระหฤทัยสงสาร ในการที่ทอดพระเนตรเห็นรูปในหนังสือพิมพ์ ซึ่งเกล้ากระหม่อมต้องแต่งเต็มยศไปในการพระราชทานเพลิงพระศพนั้น ทำให้คิดถึงสมเด็จพระราชปิตุลาภายหลังเมื่อทรงพระชราแล้วนั้น แม้ต้องแต่งพระองค์เต็มยศแล้วก็ตรัสเล่น ๆ ว่า “ประโคม” (หมายถึงแต่งพระศพ) ฟังรู้สึกขบขันพอใช้ ฝ่าพระบาทเห็นจะยังไม่ทรงรู้สึกว่าการแต่งตัวเต็มยศนั้นหนักขึ้นเท่าไร เกล้ากระหม่อมเคยชั่งตัวเมื่อแต่งเครื่องเต็มยศอย่างนายพล มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นกว่าปกติถึง ๘๐๐ บาท ได้ลองชั่งแต่งครึ่งยศเครื่องเฝ้าเมื่อวันที่ ๗ เดือนนี้ มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ๑๘๘ บาท ถ้าเต็มยศก็จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกเห็นจะตกราว ๒๐๐ บาท เบาขึ้นกว่าเครื่องนายพลแบบเก่าร้อยละ ๗๕ ก็ดีขึ้นมากแล้ว เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าที่ทรงพระเมตตาตรัสแนะนำ ให้ไปงานศพทั้งปวงแต่วันพระราชทานเพลิงวันเดียว เกล้ากระหม่อมก็ทำใจไว้ว่าจะปฏิบัติเช่นนั้น แต่มีหลายศพที่จำต้องไปทำบุญให้ แม้กระนั้นเกล้ากระหม่อมก็เดินทางหลบหลีกไปเสีย นอกเวลาที่กำหนดทำบุญหน้าศพ ด้วยหากว่าถ้าการทำบุญนั้นต้องแต่งเต็มยศครึ่งยศจะได้ไม่ต้องแต่ง และไม่ต้องไปนั่งแป้นอยู่เป็นเวลานาน เสร็จกิจในตัวแล้วก็ได้กลับ

งานในกรุงเทพฯ ได้กราบทูลกำหนดมาตามที่ทราบแล้ว ส่วนที่ยังไม่ทราบก็ไม่ได้กราบทูล จึงจะกราบทูลรายละเอียดต่อไปในคราวนี้

วันที่ ๓ เวลา ๑๑ นาฬิกา ไปเป็นพยานชายประสมสวัสดิ์หมั้นหญิงเพี้ยน ที่ตำหนักพระองค์หญิงเหม เวลา ๑๖ นาฬิกา แต่งงานให้ลูกสาวชายสฤษดิเดช กับลูกชายพระยาสุรเสนาที่บ้านปลายเนิน เวลา ๑๗ นาฬิกา ไปพระที่นั่งดุสิต ในการสมเด็จพระพันวัสสาทรงทำบุญทุติยสัปตมวารตามหมายสำนักพระราชวัง ในงานนี้โปรดให้พระองค์หญิงประภาพรรณทำแทนพระองค์ ไม่ได้เสด็จมา รวมวันนี้เป็นสามงานสามเวลา

วันที่ ๖ มีงานทำบุญพระศพพระองค์หญิงอาภาที่วัง ในว่าเวลา ๑๗ นาฬิกา จะมีเทศน์และสดับปกรณ์ จะต้องไปทำบุญให้แก่เธอจึงไปเสียภายหลังเวลาที่กำหนดนั้นชั่วโมงหนึ่ง แต่ไปถึงก็กำลังมีเทศน์อยู่ จึงต้องไปนั่งแป้นอยู่ครึ่งเวลา กว่าจะเสร็จกิจแห่งตน วันที่ ๗ แต่งครึ่งยศไปเมรุ ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทอดไตรสดับปกรณ์ ๑๐ แล้วขึ้นพระราชทานเพลิง แล้วพวกเราก็ขึ้นถวายเครื่องขมาต่อไป ในงานนี้แจกหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๑ เป็นเรื่องเมืองเขมรและเมืองญวนทีจะดี แต่ฝ่าพระบาทคงได้ทรงต้นฉบับแล้วทั้งนั้น หวังว่าทางหอสมุดหรือทางเจ้าภาพเขาคงจะส่งมาถวาย

วันที่ ๘ ไปงานเชลยศักดิ์ เผาศพหม่อมราชวงศ์เผ่าเทพที่วัดมกุฎกษัตริย์ หม่อมแช่มมาลากเอาตัวไป และในวันนั้นเองสำนักพระราชวังก็ออกหมายว่าเจ้านายรัชกาลที่ ๕ จะทรงทำบุญตติยสัปตมวารถวายทูลกระหม่อมหญิงที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึงเข้าไปด้วยใจสมัคร รวมเป็นไปสองงานในวันนั้น

วันที่ ๙ แต่งเครื่องแบบปกติไปเมรุในการพระราชทานเพลิงพระศพองค์รุจา เวลา ๑๗ นาฬิกา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปเมรุทอดผ้าไตร ๑๐ สดับปกรณ์ แล้วขึ้นพระราชทานเพลิง ถัดนั้นพวกเราก็ขึ้นทอดเครื่องขมาพระศพต่อไป

แต่งแบบเครื่องเฝ้านั้นทุเลาเบากว่าเครื่องแบบอื่นมาก เสียแต่ถ้าไม่ใช่งานเสด็จพระราชดำเนินแล้วแต่งไม่ได้ ด้วยไม่มีมูลที่จะเข้าเฝ้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ