วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

วันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ตั้งแต่จดหมายเวรฉบับนี้ หม่อมฉันจะทูลวินิจฉัยหน้าที่ออกญาธรรมา ออกญายมราช และออกญาราชภักดี ที่ท่านทรงปรารภตามอธิบายของบาดหลวงลับเบ เดอะ ชัวสี และหม่อมฉันได้ทูลขอผลัดไว้ในจดหมายเวรฉบับสัปดาห์ก่อน ว่าจะทูลสนองต่อไปนั้น

หน้าที่ของออกญาธรรมา หม่อมฉันเห็นว่ามาแต่ลักษณะการปกครอง ตั้งแต่ปกครองในครัวเรือนเป็นต้น ขึ้นไปจนปกครองคนในบ้านเมืองและปกครองทั่วประเทศเป็นที่สุด ถือว่าผู้ปกครองมีหน้าที่ ๒ อย่างเป็นหลัก คือป้องกันสัตรูภายนอกอย่าง ๑ รักษาสันติสุขภายในอย่าง ๑ เป็นเช่นนี้เหมือนกันทุกชาติทุกภาษาและทุกประเทศ ก็การพิจารณาและพิพากษาคดีตลอดจนลงอาญาแก่ผู้กระทำผิด เป็นการสำคัญอย่างยิ่งสำหรับรักษาสันติภาพภายใน จึงเป็นภาระของผู้เป็นหัวหน้า แต่หัวหน้าชั้นต่ำลงมาก็ว่ากล่าวได้ แต่บริวารของตนและมีอำนาจเพียงเท่าที่คู่ความยินยอม ไม่มีอำนาจที่จะว่ากล่าวถึงพวกอื่นหรือจะบังคับให้คู่ความจำกระทำตาม เพราะไม่มีอาญาสิทธิเหมือนพระเจ้าแผ่นดิน อำนาจการพิจารณาและพิพากษาตลอดจนบังคับคดีชั้นสูงสุด จึงตกอยู่แก่พระเจ้าแผ่นดิน เป็นเช่นว่านี้มาตั้งแต่เดิมทั่วทุกประเทศ ปรากฏในเรื่องต่างๆ แต่โบราณทั้งในพระไตรปิฎก พระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ เช่นพระเจ้าโสโลมอนในคัมภีร์ใบเบลของพวกยิวเป็นต้น จนถือเป็นธรรมเนียมทั่วไป ว่าราษฎรมีความทุกข์ร้อนอาจจะทูลร้องทุกข์แก่พระเจ้าแผ่นดินได้เป็นนิจ ว่าตามหลักฐานที่มีในเรื่องพงศาวดาร ในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชก็มีว่า ทรงพิพากษาคดีระงับทุกข์ร้อนของราษฎร แม้ที่สุดถึงติดกระดิ่งไว้ที่ประตูพระราชวัง ใครมีทุกข์ร้อนอาจไปลั่นกระดิ่งทูลขอให้ทรงช่วยได้ทุกเวลา ต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ก็ยังมีประเพณีอนุญาตให้ราษฎรเข้าไปตีกลองร้องทุกข์ถวายฎีกาถึงในพระราชวังได้เป็นนิจ แม้ในระเบียบเวลาพระราชากิจที่ใช้มาจนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระเจ้าแผ่นดินย่อมเสด็จออกขุนนางวันละ ๒ เวลา เวลาเช้าเสด็จออกพิพากษาคดี คือทรงบำเพ็ญพระราชกิจส่วนที่จะรักษาสันติสุขภายใน เวลาค่ำเสด็จพิพากษาการบ้านเมือง คือป้องกันข้าศึกศัตรูภายนอก ตรงกับหลักอย่างที่ว่ามาข้างต้น

ก็แต่ธรรมดาของการชำระความมีกิจที่จะต้องทำหลายอย่างประกอบกันทุกเรื่อง เป็นต้นแต่ ๑. รับฟ้อง ๒. เรียกตัวจำเลย ๓. ถามคำให้การ ๔. สืบพยาน ๕. พิพากษา ๖. บังคับตามคำพิพากษา พ้นวิสัยที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงทำได้เองหมดทุกอย่างทุกเรื่อง จึงต้องตั้งศาลและพนักงานสำหรับทำกิจนั้นๆ แทนพระเจ้าแผ่นดิน

ข้อที่ว่านี้มีกรณีแปลกเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ เมื่อรัชกาลพระเจ้ายอชที่ ๕ มีผู้ลงหนังสือพิมพ์ว่าเมื่อครั้งพระเจ้ายอชที่ ๕ ยังเป็นพระราชกุมารรับราชการเป็นนายทหารเรืออยู่นั้น ได้ลอบแต่งงานสมรสกับธิดานายพลเรือคน ๑ ครั้นมาได้เป็นรัชทายาทเมื่อดุ๊กออฟแคลเรนสพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ มาเศกสมรสกันกับเจ้าหญิงแมรี่ (คือที่เป็นพระราชินี) ในเวลาเมื่อหม่อมห้ามคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ รัฐบาลรับสั่งพระเจ้ายอชที่ ๕ ให้ปฏิเสธว่าเรื่องที่หนังสือพิมพ์กล่าวนั้นไม่มีมูลเลยทีเดียว หนังสือยังยืนยันจึงผู้แต่งถูกฟ้องในศาลในเวลาพิจารณาคดีเรื่องนั้น (ดูเหมือนจำเลยแกล้งอ้างพระเจ้ายอชเป็นพยาน) พระเจ้ายอชก็ยอมจะเสด็จไปเบิกความเป็นพยานที่ในศาล แต่ศาลไม่ยอมโดยอ้างว่าตามรัฐธรรมนูญนับว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้พิพากษาสูงสุด พวกผู้พิพากษาตามศาลเป็นแต่ผู้ทำการแทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นจะยอมให้พระเจ้ายอชอันเป็นผู้พิพากษามาเป็นพยานด้วยนั้นไม่ได้ คดีเรื่องนั้นพิจารณาได้ความว่าหนังสือพิมพ์กล่าวจะให้พระเจ้ายอชเสียหายโดยไม่มีมูล พิพากษาให้จำคุกจำเลย

ศาลยุติธรรมไทยเราแม้แยกเป็นหลายศาล ชั้นเดิมตั้งอยู่ในพระราชวังทั้งนั้น เพราะการพิพากษาคดีเป็นพระราชภาระอันหนึ่งของพระเจ้าแผ่นดินเป็นนิจ ผู้สำเร็จราชการในพระราชวังจึงได้เป็นผู้ตรวจตราบังคับบัญชาพวกขุนศาลตุลาการ หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง เป็นผู้กำกับบังคับบัญชาการในโรงศาลต่างพระเนตรพระกรรณ จึงได้นามว่าออกญาธรรมาธิกรณาธิบดีด้วยประการฉะนี้ แต่ในชั้นทันตาเราเห็น เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ไม่มีอำนาจว่ากล่าวศาลชำระความเลยทีเดียว ถอนอำนาจนั้นไปจากเจ้าพระยาธรรมาเมื่อใดหม่อมฉันไม่ทราบ จะทูลได้แต่เป็นเค้า หม่อมฉันเคยถามเจ้าพระยาภานุวงศ์ฯ ซึ่งหม่อมฉันนับถือว่าท่านจำเหตุการณ์ที่ท่านเคยเห็นได้แม่นยำ ว่าหม่อมไกรสรนั้นเหตุใดจึงมีอำนาจราชศักดิ์มากนัก หม่อมฉันพิจารณาดูตามเรื่องที่ปรากฏในพงศาวดารและตามคำผู้คนเก่า ดูไม่ปรากฏว่าหม่อมไกรสรได้ทำอะไรให้เป็นคุณความดีแก่บ้านเมืองสลักสำคัญอันใด เจ้าพระยาภาณุวงศ์ท่านบอกว่าเพราะหม่อมไกรสรได้ว่ากรมวัง อันว่ากล่าวบังคับบัญชาโรงศาล อาจให้คุณหรือโทษแก่ผู้อื่นที่ชอบหรือชังได้โดยทางศาล คนจึงพากันกลัวเกรงมาก คนที่รักมีน้อย อธิบายของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ส่อว่ากรมวังยังเป็นเจ้ากระทรวงศาลอยู่จนในรัชกาลที่ ๓

ออกญายมราชนั้น พิจารณาดูในทำเนียบศักดินาข้าราชการกระทรวงเมือง เป็นแต่หัวหน้าการปกครองท้องที่รักษาความสงบเป็นสำคัญ มีหน้าที่เช่นประกาศสั่งการต่างๆ แก่ชาวพระนครอย่าง ๑ กับจับกุมโจรผู้ร้ายและเป็นพนักงานลงอาญาโจรผู้ร้ายด้วยอีกอย่าง ๑ แต่หน้าที่ทางตุลาการ มีในกฎหมายธรรมนูญว่า “สรรพทำประการใดให้ตายไซ้ เป็นกระทรวงนครบาล ถ้าไม่ถึงตาย จำเลยเปนสมในขุนพรหมสุภา (ศาลหลวง) ได้พิจารณา” มีในพระธรรมนูญอีกแห่งหนึ่งว่าความอาญา ถ้าจำเลยเป็นสมนอก เป็นกระทรวง ขุนประชาเสพ (ศาลหลวง) ได้พิจารณา ถ้าจำเลยเป็นสมใน ขุนอินทอาญาได้พิจารณา ยังมีกฎหมายในลักษณะโจรหมวดหนึ่ง ๑๑ มาตรา เรียกว่า “ลักษณอาญานครบาลพิจารณา” เป็นคดีเรื่องทำเงินปลอม เรื่องทำให้เกิดไฟไหม้ เป็นพื้น ตามหลักที่กล่าวมานี้ส่อให้เห็นว่า ความนครบาลกับความอาญาถือว่าต่างกัน ศาลชำระความอาญาอยู่ในกระทรวงวังเหมือนกับศาลแพ่ง ศาลนครบาลที่อยู่ในกระทรวงเมืองชำระแต่โจรผู้ร้าย

จะว่าด้วยหน้าที่ออกญาราชภักดี จำต้องกล่าวถึงหน้าที่กระทรวงพระคลังก่อน พระคลังต่างๆ กำหนดว่ามีจำนวน “สิบสองพระคลัง” ขึ้นอยู่ในออกญาพระคลังทั้งนั้น ข้อนี้มีหลักอยู่ในคำเจ้าพระยาพระคลัง กราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดินเมื่อแรกราชาภิเษก “ถวายราชสมบัติทั้งสิบสองท้องพระคลัง” ดังนี้เป็นประเพณี คลังมหาสมบัตินับเป็นคลังหนึ่งใน ๑๒ พระคลังนั้น เป็นที่เก็บรักษามหัครภัณฑ์คือเงินทองเพชรพลอยเป็นต้น ออกญาราชภักดีเป็นอธิบดีพระคลังมหาสมบัติขึ้นอยู่ในออกญาพระคลัง รูประเบียบเดิมเป็นดังนี้ อนึ่ง แต่โบราณมาถือว่าเงินในพระคลังมหาสมบัติเป็นพระราชทรัพย์ของพระเจ้าแผ่นดิน แล้วแต่จะทรงใช้จ่ายในการพระองค์หรือในการแผ่นดินได้ตามพระราชหฤทัย มิได้แบ่งว่าเป็นเงินในพระองค์หรือเงินแผ่นดิน มีพระคลังในอีกคลัง ๑ ซึ่งท้าวทรงกันดารเป็นหัวหน้า ก็เป็นอย่างสาขาของพระคลังมหาสมบัติรักษาเงินที่สำหรับจ่ายใช้ในการพระราชนิเวศ เงินหมดเมื่อใดก็เรียกเอาเงินพระคลังมหาสมบัติมาเพิ่มเติม มิได้จำกัดจำนวนเงินว่าจะเรียกได้เพียงเท่าหนึ่งเท่าใด มูลของพระคลังข้างที่นั้นหม่อมฉันเคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า เดิมพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้มีกำปั่นเงินไว้ข้างพระแท่นที่บรรทมใบหนึ่ง สำหรับทรงหยิบพระราชทานผู้ใดหรือใช้จ่ายการอันใดโดยลำพังพระองค์เอง คือไม่ต้องบอกให้ผู้อื่นรู้ จะเป็นประเพณีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาหรือมามีขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ไม่ทราบแน่ เห็นจะเรียกกันว่า “เงินข้างที่” ทำนองเดียวกับเรียกเงินที่เอาตามเสด็จไปไหนๆ ว่า “เงินท้ายที่นั่ง” และคงแบ่งไปจากเงินพระคลังในนั่นเอง ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเก็บหอมรอมริบเงินซึ่งเป็นของส่วนพระองค์เพิ่มขึ้นในเงินข้างที่อีกมาก สำหรับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ และมีเงินซึ่งเรียกกันว่า “เงินถุงแดง” สำรองไว้สำหรับใช้ในเวลาบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ กำปั่นเก็บเงินข้างที่มีมากขึ้นหรือจะต้องเก็บในห้องหนึ่งต่างหากเหมือนอย่างคลัง จึงเรียกกันว่า “คลังข้างที่” เกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๒ แต่ดูเหมือนจะเรียกกันแต่ในราชสำนักฝ่ายในมาจนในรัชกาลที่ ๔ จึงเรียกปรากฏในทางราชการ อุทาหรณ์ที่หม่อมฉันนึกได้ คือใช้ในหนังสือพระราชทานที่วังแก่พระเจ้าลูกยาเธอชั้นใหม่ในหนังสือนั้นว่า ที่วังนั้นมิได้บังคับเรียกเอาที่โดยอำนาจราชการเหมือนอย่างสร้างวังมาแต่ก่อน ทรงซื้อที่ด้วยเงินพระคลังข้างที่อันเป็นของส่วนพระองค์เหมือนอย่างราษฎรซื้อขายกันตามประเพณีบ้านเมือง เพราะฉะนั้นขอให้วังนั้นเป็นสิทธิ์แก่พระเจ้าลูกยาเธอตลอดลงไปจนเชื้อสาย ถ้าหากรัฐบาลจะต้องการที่วังนั้นใช้ราชการ ก็ให้ซื้อตามราคาอันสมควร ที่ตั้งกรมพระคลังข้างที่ขึ้นเป็นกรมหนึ่งต่างหากนั้น เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ดูเหมือนกรมพระนราธิปฯ จะเป็นต้นคิด

แต่นี้จะทูลสนองลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ต่อไป

ข้อที่ว่า คำ “ไม้กางเขน” นั้นมาแต่ “ไม้กางแขน” ดูขันอยู่ ที่มีคำคล้ายคลึงกันกับเช่นนั้นอีกคู่ ๑ คือชื่อตำบล “สามเสน” ว่ามาแต่ “สามแสน” ถ้าขยายอรรถออกไปก็หมายความว่ามีไม้อย่างหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมเรียกกันว่า “ไม้กางแขน” คนภายหลังมาเรียกเพี้ยนไปเป็น “ไม้กางเขน” และมีชื่อตำบลเดิมเรียกว่า “สามแสน” คนภายหลังเรียกเพี้ยนไปเป็น” สามเสน” เช่นเดียวกัน เหตุใดจึงเกิดเรียกเพี้ยนไปเช่นนั้น เห็นว่าถ้าคำเดิมเป็นภาษาละว้าไทยมาเรียกเพี้ยนไป พอจะเป็นได้ แต่คำเดิมทั้ง “ไม้กางแขน” และ “สามแสน” เป็นภาษาไทยชัดๆ จะว่าเป็นเพราะไทยเรียกเพี้ยนหาได้ไม่ มีทางวินิจฉัยอีกอย่างหนึ่งซึ่งเห็นมีหลักฐาน คือคำ “สามเสน” เป็นชื่อคน ตามภาษามคธ คำ “เสน” เป็นชื่อโคตร (หรือที่เราเรียกกันบัดนี้ว่า นามสกุล) คำ “สาม” เป็นชื่อเฉพาะตัวอาจอ้างตัวอย่างนามเนื่องด้วยสกุล “เสน” มีปรากฏอยู่ในประเทศนี้อีกหลายแห่ง ในจังหวัดราชบุรีมีตำบลเรียกว่า “ธรรมเสน” มีทุ่งเรียกว่า “จิตตเสน” ในกรุงเทพฯ มีตำบลเรียกว่า “สามเสน” ที่พระนครศรีอยุธยามีวัดชื่อว่า “ญาณเสน” ยังมีที่อื่นอีกแต่นึกไม่ออกเห็นได้ว่ามาแต่ชื่อคนในสกุล “เสนะ” ทั้งนั้น เดิมอาจจะเคยเป็นที่สำนักของชาวอินเดียที่มาเป็นครูบาอาจารย์แต่ปางก่อน ครั้นนานมาเมื่อหมดตัวผู้รู้เหตุที่จริงจึงมีคนที่ตั้งตัวเป็นอาจารย์อวดรู้ แต่งนิทานขึ้นเป็นอธิบาย ดังเช่นว่า พระพุทธรูปมาจมน้ำ คนถึง ๓๐๐,๐๐๐ จึงลากเอาขึ้นบกได้ ตรงที่ลากพระขึ้นบกจึงได้นามว่า “สามแสน” แล้วมาเรียกเพี้ยนไปกลายเป็น “สามเสน” นิทานพวกนี้ยังมีมากกว่ามาก แต่ที่จริงนั้น ตำบลนั้นคงชื่อสามเสนมาแต่เดิม นามสามแสนเป็นคำคนขี้ปดตั้งขึ้นเมื่อภายหลัง ลองคิดต่อไปถึงคำไม้กางเขน หม่อมฉันนึกว่าเดิมเห็นจะมีไม้สำหรับใช้การอันใดอันหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ไม้กางเขน” ครั้นฝรั่งนำศาสนาคฤศตังเข้ามาตั้งที่พระนครศรีอยุธยา มาทำรูปไม้ Cross ที่พระเยซูถูกตรึงขึ้นเป็นเจดียวัตถุ จะเรียกชื่อในภาษาไทยเห็นรูป Cross คล้ายกับไม้กางเขน จึงเอานามไม้กางเขนของไทยมาเรียก Cross ถ้าหากฝรั่งคิดทำภาษาไทยก็คงเรียกว่า “ไม้กางแขน” และคนทั้งหลายคงเรียกว่าไม้กางแขนสืบมาเพราะเป็นคำเข้าใจง่าย ไฉนจะมาเปลี่ยนคำ “แขน เป็น “เขน” ให้ไม่ได้ความ วินิจฉัยที่มาทูลในเรื่องไม้กางเขน ติดขัดที่ไม่รู้ว่าไม้กางเขนอย่างเดิมของไทยรูปร่างเป็นอย่างไร และสำหรับใช้การอะไร จึงทูลวินิจฉัยได้เพียงเท่านี้

หนังสือแจกงานศพพระยานครราชเสนี (สหัส) นั้นหม่อมฉันไม่ได้รับ จะเป็นเพราะเจ้าภาพลืมหรือจงใจไม่ส่งมาให้ก็เป็นได้ทั้ง ๒ สถาน ด้วยเมื่อจะพิมพ์หนังสือประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้น พระยาอนุมานได้มีจดหมายมาถึงหม่อมฉัน ว่าเจ้าภาพส่งเรื่องประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชาไปให้พิมพ์ ความยืดยาวสงสัยเรื่องที่กล่าวถึงวงศ์สกุลบรรพบุรุษว่าจะมี “กุ” อยู่ในนั้น ปรึกษาว่าจะควรทำอะไร หม่อมฉันตอบไปว่าควรถือตามฉบับที่มีอยู่ในหอสมุดเปนสำคัญ ถ้าเจ้าภาพจะพิมพ์อย่างอื่นควรให้เขาพิมพ์เอง โดยความรับผิดชอบของเขา หอพระสมุดไม่ควรเข้าไปรับรู้ คือไม่ควรรับผิดชอบด้วย พระยาอนุมานจะเอาคำของหม่อมฉันไปบอกเจ้าภาพหรืออย่างไรไม่ทราบ

เรื่องรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่อยู่วัดจักรวรรดิ์นั้น หม่อมฉันได้เห็นแต่เมื่อพระพุฒาจารย์แรกหล่อใหม่ๆ ท่านบอกว่าหล่ออย่างรูปที่มีอยู่เมืองอุดงค์ แต่หาได้บอกว่าได้ให้ใครไปจำลองไม่ เมื่อหม่อมฉันไปเมืองเขมร ได้ไปถึงเขาพระราชทรัพย์ เมืองอุดงค์อันมีพระเจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุเจ้ากรุงกัมพูชามาแต่โบราณหลายองค์ ถามเขาว่าตัวเมืองอุดงค์อยู่ที่ไหน เขาบอกว่าอยู่ในหว่างภูเขานั้น แต่ไม่มีอะไรสลักสำคัญเหลืออยู่แล้ว เพราะรื้อขนย้ายเอาไปเมืองพนมเพ็ญเสียโดยมาก ที่ตัวเมืองอุดงค์เหลือแต่เป็นหมู่บ้านราษฎรอยู่แห่งหนึ่ง หม่อมฉันบอกมองสิเออร์เมลแยร์ ผู้เป็นเรสิดังว่า ได้ยินว่าสมเด็จพระหริรักษ์ (พระองค์ด้วง) ได้ให้ทำรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชาไว้ที่เมืองอุดงค์ หม่อมฉันอยากจะไปดูรูปนั้น มองสิเออร์เมลแยร์ เรียกกรมการเมืองอุดงค์มาไต่ถามต่อหน้าหม่อมฉัน พวกนั้นทุกคนบอกว่ารูปเช่นนั้นหามีที่เมืองอุดงค์ไม่ ก็เป็นอันจนใจจึงไม่ได้ไปถึงตัวเมืองอุดงค์ ครั้นกลับไปถึงเมืองพนมเพ็ญ หม่อมฉันถามพระองค์หญิงมัลลิกาเธอบอกว่ารูปนั้นมีจริง แต่เขาย้ายจากเมืองอุดงค์เอาไปไว้ที่วัดเมืองอื่น (เธอบอกชื่อวัดแต่หม่อมฉันจำไม่ได้) แห่ง ๑ เสียนานแล้ว พวกเมืองอุดงค์ชั้นหลังจึงไม่รู้ และหม่อมฉันจึงไม่ได้เห็นรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองเขมร

หม่อมฉันส่งรูปหมู่ฉายที่เกาะบาหลีมาถวายพร้อมกับจดหมายฉบับนี้ ๒ แผ่น แผ่นหนึ่งฉายที่ตรงประตูชั้นกลางทางเข้าเทวะสถาน รูปนี้อยู่ข้างมัว เพราะเทวะสถานบาหลีสร้างหันหน้าทางทิศตะวันตกทั้งนั้น เราไปตอนเช้าต้องฉายรูปทวนแสงเดดจึงมิใคร่ดี อีกรูปหนึ่งฉายที่ประตูชั้นนอกของเทวะสถานเมื่อขากลับออกมา ได้แสงแดดอยู่ข้างหลังจึงชัดรูปตัวคนเล็กไปหน่อยเพราะอยากจะให้เห็นรูปประตูแบบบาหลีเป็นสำคัญ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ