วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๓ เดือนนี้ ซึ่งประทานหญิงจงนำไปส่งเกล้ากระหม่อมไปรับหญิงประสงค์ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ไปพบหญิงจงเธอก็บอกให้ทราบว่าเด็จพ่อกำชับว่าให้ส่งวันนั้น เธอได้มอบให้หญิงอามแล้วกลับมาถึงรถหญิงอามก็ส่งให้ได้รับในรถ

เป็นครั้งแรกที่ได้ทราบ โดยลายพระหัตถ์นั้นว่าที่ปีนังก็มีตัวบึ่ง

ฝ่าพระบาทได้โชคดี ที่ได้ทรงต้อนรับทูลกระหม่อมชายมากเวลาด้วย บังเอิญทราบได้จากลายพระหัตถ์ทูลกระหม่อมชายอันมีประทานเข้าไปว่าเรือถึงปีนังเร็วไปวันหนึ่ง ในการที่ทรงจัดให้มีพิธีสงฆ์ถวายทูลกระหม่อมชายนั้น ไม่มีข้อควรสงสัยว่าจะดีพระทัยน้อย ด้วยที่ชวาไม่มีพระสงฆ์ซึ่งจะทรงทำได้เหมือน แม้ในลายพระหัตถ์ทูลกระหม่อมชาย ซึ่งประทานไปถึงเกล้ากระหม่อมก็มิได้ละเว้นที่จะทรงแสดงพระทัยปีติในการนั้นเลย ข้อที่ทูลกระหม่อมตรัสบ่นไม่พอพระทัยในการ ขึ้นบันไดนั้นไม่ประหลาดอะไรเลย ด้วยปกติของท่านสู้การปีนขึ้นที่สูงหรือทั้งปีนลงต่ำด้วยไม่ใคร่จะได้ ลางทีทำให้ถึงประชวรเพราะเหตุนั้น

เรื่องพระองค์เจ้าสนิทพงศ์ซึ่งหนังสือพิมพ์ลงนั้น ลงข่าวยกประเคนมาให้เกล้ากระหม่อมมากเกินไป ด้วยเขาไม่รู้ต้นสายปลายเหตุพอ ความจริงเกล้ากระหม่อมเกี่ยวข้องไปน้อยกว่านั้น คือเมื่อกลับจากไปเที่ยวชวา หญิงอี่เอาหนังสือซึ่งได้รับรวมไว้เมื่อเกล้ากระหม่อมไม่อยู่มาส่งให้หอบใหญ่ เปิดซองดูเห็นหนังสือราชเลขานุการในพระองค์ฉบับหนึ่ง บอกว่าสำนักพระราชวังถวายรายงานว่าพระองค์เจ้าสนิทพงศ์สิ้นพระชนม์ ดูสำเนารายงานสำนักพระราชวังที่ส่งมาก็มีเพียงว่า เจ้ากรมในพระองค์เจ้าสนิทพงศ์มาแจ้งความว่าเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว จะนำพระศพไปฝังที่ป่าช้าไหหลำ บางรัก ไม่ต้องการสิ่งใด สิ้นความเพียงเท่านั้น หนังสือนั้นเป็นหนังสือเก่าล่วงวันมานานแล้ว แต่เป็นเหตุให้สะดุดใจตรงว่าฝังที่ป่าช้าไหหลำนั้นฟังไม่สู้ดี จะเอาพระศพเจ้าไปฝังกับศพเจ๊ก ซึ่งเรียกกันว่า “ต๋องแต๋ง” หรือมิใช่ก็ไม่มีความปรากฏ และไม่มีใครใส่ใจที่จะรู้เลย ให้นึกอนาถใจ ครั้นจะไม่พูดบ้างตามที่เกิดสะดุดใจ ก็เป็นไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง จึงได้มีหนังสือตอบไปว่าได้กราบถวายบังคมลาไปเที่ยวเพิ่งกลับมาถึงได้พบหนังสือฉบับหนึ่งบอกไปว่า พระองค์เจ้าสนิทพงศ์สิ้นพระชนม์เป็นเหตุให้ตกใจในเบื้องต้น ด้วยไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ถึงเพียงนั้น แล้วเห็นความว่าจะนำพระศพไปฝังที่ป่าช้าไหหลำเป็นเหตุให้ตกใจในเบื้องปลาย การฝังพระศพไม่รับพระราชทานเพลิงนั้นทำได้ไม่ขัดข้อง แต่ที่ฝังต้องสมควรแก่เกียรติยศเจ้า อันป่าช้าไหหลำนั้นเป็นอย่างไรไม่เคยไปเห็น ได้ฟังแต่ชื่อย่อมทำให้หนักใจ แต่การก็ได้ล่วงเลยมาแล้วจึงเหลือเพียงสงสัยว่าพระศพเจ้านายควรจะมีการควบคุมบ้างหรือไม่ สิ้นความเท่านั้น ต่อมาได้รับหนังสือตอบว่า ได้นำความเสนอคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เห็นว่าที่พูดนั้นถูก จึงมีบัญชาให้ส่งไปให้นายกรัฐมนตรีปรึกษากรรมการพระราชสำนัก แล้วจะอย่างไรก็ไม่ทราบอะไรอีกนอกจากได้เห็นหนังสือพิมพ์ ซึ่งไม่ผิดกับฝ่าพระบาท

ข้อพยากรณ์ปริศนาข้อ ๕ ซึ่งทรงเรียบเรียงประทานพระยาอินทรมนตรีใหม่ ทรงพระเมตตาโปรดคัดสำเนาประทานไปให้อ่านนั้น เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ได้อ่านตรวจดูแล้วในตอนต้น ซึ่งกรมกล่าวถึงชื่อเทียบด้วยภาษามคธนั้น ติดจะกะพล่องกะแพล่งอยู่บ้าง แต่ตอนหลังซึ่งกล่าวถึงหน้าทีนั้นดีเต็มที่ยากที่ใครจะเจาะเห็นลงไปได้ ดีกว่าเก่าเป็นอันมาก

ทีนี้จะกราบทูลแสดงอาบัติ ตามที่กราบทูลถามมาด้วยเรื่องพระแก้วเชียงแสนว่าได้เมื่อไร ซ้ำทูลยืนยันมาด้วยว่าในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๔ มีตั้งแล้วในพระแท่นมณฑล นั่นเพราะเห็นในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๔ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่งมีดังนั้น เชื่อมั่นเพราะแต้มท่านดี ครั้นได้รับพระดำรัสบอกว่า กรมหลวงวงศาได้มาถวายเมื่อไปทัพเชียงตุงเป็นเวลาภายหลังบรมราชาภิเษกนาน จึงย้อนกลับไปตรวจหนังสือพระราชพงศาวดาวรอีกครั้งหนึ่ง ก็เห็นความซึ่งกล่าวในพระราชพงศาวดารนั้นวิปริตมาก มีความดังนี้

“ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ได้ตกแต่งข้างบูรพทิศ ตั้งพระแท่นแว่นฟ้ามีระบายตาด แล้วตั้งระย้ากินนรที่บรรจุพระบรมธาตุ ตั้งพระปฏิมาชัย ๑ พระพุทธบุษยรัตน ๑ พระแก้วเชียงแสน ๑ พระแก้วเรือนทอง ๑ พระชัยทอง ๑ พระชัยเงิน ๑ พระชัยนวโลหะ ๑ พระชัยผ้าห่มลงยาราชาวดี ๑ พระชัยพิธี ๑ พระห้ามสมุทร ๒ องค์ รวม ๑๒ องค์”

พระปฏิมาชัย หมายถึงพระชัยอะไรคิดไม่เห็น อะไรก็มีอยู่หมดแล้ว พระชัยพิธีเห็นจะเป็นพระชัยหลังช้าง พระชัยเงินได้แก่พระชัยรัชกาลที่ ๑ พระชัยทองได้แก่พระชัยรัชกาลที่ ๒ พระชัยผ้าห่มลงยาได้แก่พระชัยรัชกาลที่ ๓ พระชัยนวโลหะจะมีไม่ได้ ด้วยสร้างภายหลังบรมราชาภิเษก เมื่อพระชัยนวโลหะซึ่งสร้างทีหลังมีได้ พระแก้วเชียงแสนซึ่งได้มาทีหลังก็มีได้เหมือนกัน คิดว่าเจ้าพระยาทิพากรวงศ์คงถามภูษามาลาคนหนึ่งมีความรู้อ่อน เขาคิดอนุมานเอาโดยใจให้แก่ท่านอย่างเลอะเทอะ จนกระทั่งพระชัยองค์ใดของใครก็ไม่รู้เรื่องลำดับสับสนกันไปหมด

เรื่องที่กราบทูลมาออกจะไม่สนุก จึงจะเปลี่ยนกราบทูลเรื่องบาหลีต่อจากหนังสือเวรซึ่งถวายมาเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน นั้นสืบไป

การก่อในเมืองนั้นใช้ของสองอย่าง อย่างหนึ่งเป็นที่ว่าหินถากลงหน้าแต่เนื้ออ่อนกว่าหินมาก จึงจะเรียกว่าดินดานกับอิฐอีกอย่างหนึ่ง หรือลางทีก็ก่อปนกันตามที่แลเห็นนั้นเรียบร้อยมาก แต่ปรากฏน้ำฝนกัดร่อยไปได้ แสดงว่าเนื้อไม่แข็ง กำแพงบ้านก็ต้องเอาฟางปะไว้ข้างบน ได้สอบถามว่าของทั้งนั้นเอามาแต่ไหน เขาบอกว่าดินดานนั้นหาได้จากในแม่น้ำลำธารทุกแห่ง อิฐนั้นทำตามท้องนา ได้ไปดูเขาก่อศาลย่อมๆ แต่เป็นก่ออิฐอย่างเดียว มีผึ่งเล็กๆ เป็นเครื่องมือ สำหรับเฉาะอิฐให้เว้าแหว่งลงเหลี่ยมกับสิ่งที่ต้องการก่อ สอสำหรับก่อก็ใช้ดินที่พื้นข้างนั้นเอง ซึ่งเทวดาผสมไว้ให้เสร็จเป็นดินปนทราย เอาน้ำราดลงไปแล้วก็ควักเอาขึ้นมาละเลงก่อเท่านั้น สังเกตว่าอิฐของเขาแผ่นตรงๆ ไม่สู้มีบิดงอ คิดว่าถ้าจะก่อสิ่งใดให้เรียบร้อยคงจะฝนถากหน้าอิฐอีกทีหนึ่ง จึงเห็นสอน้อยที่สุด เมื่อก่อแล้วจึงถากแต่งอีกชั้นหนึ่ง ให้เป็นลวดเป็นบัว ตลอดถึงแกะสลักเป็นลวดลาย ในการที่ก่อไม่เห็นสอนั้นจับได้ว่าเขาทาสีตามสิ่งที่ก่ออีกทีหนึ่ง สอที่ก่อไว้บางเห็นน้อยอยู่แล้วก็กลายเป็นสีสิ่งที่ก่อเหมือนหนึ่งไม่มีสอ แปลว่าเขารู้ความจริงชาวเราไม่รู้ เข้าใจว่าปอนั้นเป็นประดุจการติดอิฐให้จับกันแต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ สอเป็นแต่หนุนกันโคลงเท่านั้น เมื่ออิฐมีหน้าเรียบมากก็ต้องใช้สอน้อยที่สุด

การเล่นมีหลายอย่าง แต่ที่พอใจชาวเมืองมากเห็นจะเป็นชนไก่ เมื่อเตรียมจะมีงานที่ไหนก็เห็นปลูกโรงใหญ่ขึ้นที่นั่นว่าเป็นที่ประชุมชนไก่ ได้ไปเห็นโรงซึ่งเขาปลูกขึ้นที่หน้าวังท้าวกัญชา (นี่เป็นชื่อที่ทูลกระหม่อมชายตรัสเรียกโดยสมมติ ที่แท้คือวังเจ้าผู้ครองเมือง เกียนยาร์ (Gianjar)

<img>

เขาผูกแผงกันแดดไว้ด้านขื่อ ดังนี้พอเห็นเข้าก็รู้สึกทันที ว่าสาหร่ายรวงผึ้งของเรามาจากแผงบังแดดนี้เอง แต่มาทำด้วยไม้จริง จำหลักลายเสียจนหลงไม่รู้ว่าอะไร การชนไก่นั้นทูลกระหม่อมชายได้ตรัสถามว่าจะไปดูหรือไม่ ได้ทูลตอบว่าถ้าแปลกกับเมืองไทยก็ไป ถ้าไม่แปลกก็ไม่ไปด้วยได้เห็นเขาชนในเมืองไทยแล้ว จึงตรัสว่าเห็นจะไม่แปลก ตามที่ตรัสเช่นนั้นก็ด้วยยังไม่เคยทอดพระเนตร แต่เสด็จไปด้วยจะทรงถ่ายหนังฉาย เกล้ากระหม่อมไม่ได้ตามเสด็จ ครั้นได้หนังมาทรงฉายให้ดู เห็นตีกันสองสามจึ๋งก็ตายไปข้างหนึ่ง ตรัสอธิบายว่าเขาผูกมีดที่เดือย การกระทำอย่างนี้ก็เคยได้ยินมา แต่สำคัญว่าเขาห้ามเลิกกันแล้ว ครั้นไปดูมูเซียมที่สิงคโปร์จึงได้เห็นมีดที่เขาผูกเดือยไก่ชน ยาวตั้งห้าถึงเจ็ดเซนต์ ทำเป็นมีดสองคม รูปเป็นพระขรรค์ก็มี เป็นกริชก็มี เห็นเข้าจึงเข้าใจได้ว่าเพราะอย่างนี้จึงตีกันสองสามจึ๋งก็ตาย

นอกจากเล่นชนไก่ก็เห็นเขาเล่นละคร อันละครในเกาะบาหลีนี้ดูทีเล่นเต้นรำเป็นครึ่งงิ้วครึ่งละครพม่า ไม่จำเป็นต้องบรรยายยืดยาว ด้วยได้ทอดพระเนตรเห็นมาแล้ว มีจับใจอยู่อย่างหนึ่งที่ตัวผี ย่อมแต่งใส่หน้ากากเสมอ ที่หน้ากากนั้นมีกระดาษแถมริมฉลักฉลุเป็นลาย แต่กลางตันมีสีแดงติดห้อยไว้ที่ปาก เห็นก็เข้าใจว่าหมายเป็นลิ้นเหมือนผีเปรตวันทองของเราก็ลิ้นห้อยอยู่เหมือนกัน แปลว่าครูเดียวกัน

การเล่นอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า กะจั๊ก-กะจั๊ก เพราะคนเล่นอันจะเรียกว่าลูกคู่นั้นร้อง กะจั๊ก กะจั๊ก เขาว่าเป็นการเล่นพื้นเมือง ยังมีอยู่แต่ที่ตำบลบ้านบะรูดุแห่งเดียว คนเล่นนับด้วยร้อยใครอยากเล่นก็เข้าไปขัดเขมรนั่งล้อมกันเป็นวงหลายชั้น ทางเล่นมีลักษณะคล้ายเพลงปรบไก่ของเรา มีต้นบทร้องเป็นเพลงอยู่กลางวง มีรองคอร้อง “โห่ง” เป็นจังหวะยาว ลูกคู่ซึ่งล้อมอยู่รอบร้อง “กะจั๊ก กะจั๊ก” เวลาต้นบทร้องอยู่ลูกคู่ร้อง “กะจั๊กกะจั๊ก” แต่เบาๆ เวลาสิ้นบทของต้นบทแล้ว ลูกคู่ก็ร้องดังขึ้นราวกับลูกคู่รับเพลงปรบไก่ของเราฉะนั้น แล้วออกท่าต่างๆ ชูมือขึ้นกวัดแกว่งก็มี นอนหงายทับกันออกมาทางนอกวงก็มี เวลาที่ต้นบทร้องอยู่ก็เป็นแต่นั่งโยกตัว สบที่ต้นบทก็ลุกขึ้นยืนรำด้วยร้องด้วยดุจยี่เก การลุกขึ้นรำในกาลหนึ่งเขาเรียกว่า “ราชากุมภกรรณ” หมายเอาว่าตัวรำมื้อนั้นเป็นตัวกุมภกรรณยกออกมารบกับลิง ด้วยลูกคู่ซึ่งร้องกะจั๊กกะจั๊ก นั้นเขาเห็นว่าร้องเป็นลิง แต่เกล้ากระหม่อมเห็นไปอย่างหนึ่งว่าต้องเป็นกรับ แทนการเล่นเพลงของเราใช้ตบมือเป็นจังหวะ ตามที่เห็นเช่นนี้ด้วยเอาคนที่ร้อง “โห่ง” มาเป็นหลัก เข้าใจว่าหมายจะให้เป็นฆ้องใหญ่เป็นอันทำเครื่องตีประกอบให้สำเร็จไปเป็นเครื่องประโคมด้วยปากทั้งนั้น สมเป็นของเล่นอย่างชาวบ้านประสาว่าไม่มีอะไร ได้ถวายรูปฉายมาด้วยรูปหนึ่ง ซึ่งตั้งใจจะให้เป็นเค้าพอเข้าพระทัยว่าการเล่นนั้นมีท่วงทีเป็นอย่างไร คนที่ยืนรำกลางวงในรูปนั้น ทูลกระหม่อมชายตรัสบอกว่า “อ้ายเพิ้ง” เป็นคนคนเดียวยังไว้ผมยาวอยู่อย่างโบราณ

การเล่นอย่างอื่น เห็นจะยังมีอีกมาก เช่นหุ่นและหนังเป็นต้น แต่ไม่ได้เห็นเขาเล่น ได้ไปเห็นแต่ตัวหุ่นตัวหนังที่เขาเก็บไว้ในมูเซียม ไปรู้สึกประหลาดใจที่ตัวหนังซึ่งเก็บไว้ในมูเซียมเกาะบาหลีนั้นเป็นรูปเป็นร่าง ไม่เก้งก้าง

พร้อมกับหนังสือเวรคราวนี้ ได้ส่งหมายกำหนดการรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับทั้งสมโภชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเพื่อทราบฝ่าพระบาทด้วยความเป็นไปในกาลนั้น แม้ว่ามีอะไรนอกเหนือออกไปก็จะกราบทูลมาให้ทราบทีหลัง การรับเสด็จที่ปีนังหวังว่าคงจะได้รับพระดำรัสเล่าประทานไปในวันหน้า คงจะชุลมุนกันที่เรือซึ่งเสด็จมาถึงช้าไปกว่ากำหนด เห็นหนังสือพิมพ์เขาลงว่าล่าไปถึง ๒๔ ชั่วโมง ส่วนทางกรุงเทพฯ เขาพูดกันว่า บริษัทเจ้าของเรือจะตัดโน่นตัดนี้ เอาให้ถึงเกาะสีชังตามกำหนดเดิมจงได้

เมื่อพิมพ์หนังสือนี้เสร็จแล้ว ได้รับหมายในเรื่องสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีก ฉบับ คือ ๑. ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ ๒. พระราชกุศลทักษิณานุปทานกับ ๓. บอกแก้เวลาที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะออกไปรับเสด็จ ได้ส่งหมาย ฉบับนั้นมาถวายเพื่อทรงทราบด้วยดีแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ