วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๔ มิถุนายน แล้ว

จะทูลเรื่องหม่อมฉันจะไปชวา อันได้กำหนดวันเป็นยุติแล้ว ให้ทรงทราบก่อนเรื่องอื่น หม่อมฉันได้มีจดหมายทูลทูลกระหม่อม ปรารภเกรงท่านจะทรง “ฟก” ในคราวรับเสด็จสมเด็จพระพันวัสสา ไม่อยากจะให้ท่านทรงทรมานพระองค์พาหม่อมฉันไปเที่ยวเกาะบาลี ท่านมีลายพระหัตถ์ตอบตรัสมาว่า เมื่อรับเสด็จนั้นเหนื่อยแต่พระหฤทัย ส่วนพระองค์ทรงสบายดีไม่ลำบากอันใดที่จะพาหม่อมฉันไปเที่ยว เมื่อได้ทราบดังนี้ประกอบกับสิ้นที่จะหาเครื่องแก้หูตึงที่เมืองสิงคโปร์ ดังทูลไปในจดหมายฉบับก่อนนั้นแล้ว จึงกะวันที่จะไปชวาเป็นยุติดังนี้

วันอังคารที่ ๑๔ มิถุนายน โดยสารเรือกำปั่นยนต์ยุตแลนเดียไปจากปีนัง

วันศุกร์ที่ ๑๗ ถึงสิงคโปร์ ลงเรือไฟโอเฟียของบริษัทK.P.M. ออกจากสิงคโปร์ในวันนั้น

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ถึงเมืองบะเตเวีย ทูลกระหม่อมชายเสด็จมาลงเรือโอเฟียไปด้วยกัน ออกจากเมืองบะเตเวียในวันนั้น

วันจันทร์ที่ ๒๐ ถึงเมืองสุมารัง และออกเรือต่อไปในวันนั้น

วันอังคารที่ ๒๑ ถึงเมืองสุรไบยา วันนั้นตรงวันเกิดของหม่อมฉัน ทูลกระหม่อมจะเลี้ยงกลางวันประทาน แล้วขึ้นรถไฟไปเมืองมาลัง

วันพุธที่ ๒๒ ไปดูเทวสถานปะนะตะรัง แล้วกลับมาเมืองสุรไบยา

วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ ลงเรือไปเกาะบาหลีและเที่ยวที่เกาะนั้น ๓ วันแล้วกลับไปเมืองสุรไบยา

วันจันทร์ที่ ๒๗ ขึ้นรถไฟที่เมืองสุรไบยาเดินทางตลอดคืน

วันอังคารที่ ๒๘ เวลาเช้ากลับถึงบันดุง

กำหนดขากลับ

วันเสาร์ที่ ๙ กรกฎาคม ลงเรือไฟโอเฟียของบริษัท K.P.M. ออกจากบะเตเวีย

วันจันทร์ที่ ๑๑ ถึงเมืองสิงคโปร์ ลงเรือกำปั่นยนต์ยุตแลนเดีย ออกจากสิงคโปร์ในวันนั้น

วันพฤหัสที่ ๑๔ กรกฎาคม กลับถึงปีนัง

เมื่อเมล์คราวที่ล่วงมาแล้ว หม่อมฉันได้รับหนังสือพิมพ์แจกในงานศพพระยาราชนิกูลชุด ๑ ท่านคงได้ทรงรับเหมือนในเล่ม “รื่นระลึก” มีเรื่องโพนช้างซึ่งพระยาเพชรพิไชยศรีสวัสดิ์ (แม้น น้าของหญิงเหลือ) แต่งน่าอ่าน นึกว่าท่านก็คงทรงทราบแล้ว ตัวเขาได้ไปเห็นเองเมื่อยังเป็นที่พระเฑียรคราช ปลัดมณฑลนครสวรรค์ ออกไปตามคล้องพระเศวตวชิรพาหะในรัชกาลที่ ๖

วิธีจับช้างในเมืองเรา พิเคราะห์ในกฎมนเทียรบาล ตอนว่าด้วยอัยการช้างมี ๔ อย่าง ตั้งแต่โบราณจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้

อย่างที่ ๑ เรียกว่า “โพนช้าง” (เห็นจะหมายรวมการที่ทำทุกอย่าง) ในกฎมนเทียรบาลเรียกว่า “ต่อ” (เห็นจะหมายความเฉพาะตรงไล่คล้องช้างเถื่อน) มีใน ๒ มาตรา

มาตราหนึ่งว่า “อนึ่งพระที่นั่งเสด็จเข้าต่อเถื่อน และเถื่อนมีภาษีพระที่นั่งต่ำตา อย่าให้ควาญถวายขอ”

อีกมาตราหนึ่งว่า “ถ้าพระที่นั่งเข้าต่อเถื่อนคล้องกลางแปลงและช้างค้ำช้างค่ายเขื่อนทวนหอก และช้างติดสองข้างช้างพระนั่ง (ถ้าทรงคล้อง) และติดเถื่อนเติบ และช้างทวนหอกเข้าช่วยมิทันโทษถึงตาย” ที่ในเรื่องพงศาวดารว่าช้างพระเจ้าบรมโกศ เมื่อยังเป็นมหาอุปราช แทงช้างพระที่นั่งพระเจ้าท้ายสระ ก็คือเสด็จไปโพนช้าง เกิดเหตุในขณะไล่คล้องช้างเถื่อนเวลากลางคืน อย่างพระยาเพชรพิไสยเล่านั่นเอง

อย่างที่ ๒ เรียกว่า “วางช้าง” หรือ “วังช้าง” แต่เรียกกันเป็นสามัญ ในปัจจุบันนี้ว่า “ตั้งคอกจับช้าง” ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็กล่าวถึง แต่ไม่มีรายการชัดเจนเหมือนกล่าวไว้ในกฎมนเทียรบาล ว่า “อนึ่งเสด็จวางช้างให้ตั้งเขื่อนตั้งค่ายพรางและช้างอยู่ในเล่าไซร้ ให้ตั้งอาญา คือว่า ห้ามปากเสียงอื้ออึงต่างๆ อนึ่งถ้าค่ายทำแล้วมั่นคง และช้างออกหน้าที่ใคร ให้ตระเวนเสียบเสีย ถ้าช้างสำคัญฆ่าเสียทั้งโคตร”

วิธีจับช้างอย่างโพน และอย่างวังทำทั้งเป็นการหลวงและการเชลยศักดิ์ จับช้างกันทุกวันนี้ในท้องที่ๆ เป็นภูเขามาก เช่นในมณฑลพายัพและชุมพร ใช้อย่างวัง ต้องหาที่ซอกเขาตั้งคอกช้างเถื่อนเข้าออกเท่าใดจับหมด ในท้องที่อันมีที่ราบมากใช้จับด้วยวิธีโพนทั้งนั้น

อย่างที่ ๓ คล้องในเพนียดซึ่งเราเคยเห็นมาแต่เด็ก วิธีนี้หม่อมฉันเกิดฉงนเมื่อไปดูเพนียดที่เมืองลพบุรี ที่สร้างไว้กลางประตูเมืองทางด้านตะวันออก เห็นวงพาดเล็กนักไม่พอที่จะคล้องช้างอย่างเช่นเพนียดที่พระนครศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อหม่อมฉันไปเมืองเขมร ประจวบเวลาฝรั่งเศสขุดพบเพนียดที่นครธม สังเกตดูขนาดก็เล็กและอยู่ริมกำแพงพระนครเช่นเดียวกับที่เมืองลพบุรี นึกถึงคำพระยาโบราณกล่าวว่า เพนียดที่กรุงศรีอยุธยาเดิมก็อยู่ตรงวัดซองริมกำแพงพระนครเหมือนที่เมืองลพบุรีและเมืองนครธม ความที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารตอนจับขุนวรวงศาธิราช ทีหลังหม่อมฉันไปพบในหนังสือมองสิเออ เดยลาลุแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส แต่งเล่าเรื่องไปเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เมืองลพบุรี ว่าได้ไปดูจับช้างที่เพนียด พรรณนาว่าล่อช้างงาตัวใหญ่เข้ามาในเพนียดแล้วขังเลี้ยงไว้จนเชื่อง จะว่าเป็นแต่คำฝรั่งเล่าโดยไม่รู้วิธีจับช้างของไทย ความก็ไปพ้องกับที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถ์เลขา (เล่ม ๒ หน้า ๑๑๗) ตอนรัชกาลพระเจ้าเสือ ว่าเมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๑๐๖๔ (พ.ศ. ๒๒๔๕) ช้างพลายงาสั้นสูงประมาณ ๖ ศอกติดโขลงมาเข้าเพนียด โปรด “ให้กันช้าง” (งาตัวสั้น) สำคัญนั้นเข้าไว้วงพาด ให้ปรนปรือฝึกสอนให้ค่อยชำนิชำนาญ แล้วจึงนำเข้าไว้ในโรง ณ เพนียด” ดังนี้ น่าสันนิษฐานว่าเพนียดเดิมจะเป็นแต่สำหรับล่อช้างใหญ่ที่เป็นตัวสำคัญให้เป็นช้างโขลงเข้าไปอยู่ในวงพาด แล้วระบายช้างโขลงออกไปเสีย ขังไว้แต่ช้างตัวสำคัญที่ปรารถนา ไม่คล้องให้บอบช้ำจึงทำเพนียดขนาดย่อมแต่พอการ เพนียดใหญ่ที่ทะเลหญ้าน่าสันนิษฐานว่าจะสร้างต่อภายหลัง เพื่อจับช้างใหญ่ได้คราวละหลายตัวด้วยคล้องในวงพาด แล้วล่อเข้าผูกทามในซองอย่างเช่นเราเคยเห็น

อย่างที่ ๔ คล้องช้างโขลงกลางแปลง อย่างเราเคยเห็น เพื่อคล้องช้างขนาดย่อมๆ อาจจะคล้องทั้งเพนียดทะเลหญ้าและที่อื่น

การคล้องช้างใหญ่และคล้องช้างกลางแปลง เห็นจะทำแต่เป็นการหลวงทั้ง ๒ อย่าง

พระเจ้าแผ่นดินแต่โบราณที่โปรดคล้องช้างก็ปรากฏในหนังสือพงศาวดารหลายพระองค์ คือสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้น ต่อมาถึงราชวงศ์บ้านพลูหลวง คือสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าเสือ พระเจ้าท้ายสระ และพระบรมโกศ ก็โปรดทรงคล้องช้างทั้ง ๔ พระองค์ เพราะเคยอยู่ในกรมช้างมาแต่ก่อน จึงมีกฎหมายสำหรับเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงคล้องช้างอยู่ในกฎมนเทียรบาลหลายมาตรา

มาตราหนึ่งว่า “อนึ่งถ้าเสด็จทรงบาศไซ้ ผู้ขี่กลางบรรดายื่นบาศนั้น (มีคนขี่กลางช้างต่อแปลกอยู่ เห็นจะมีเฉพาะช้างทรง) ให้ดูกาลเทศะ ถ้าเถื่อนต่ำตา (ตรัส) เรียกบาศจึงให้ยื่นฯ”

มาตราหนึ่งว่า “อนึ่งถ้าเสด็จพานช้างในเพนียด ถ้ามหาดไทยชาววังขาด โทษเท่าหนีศึก” (มหาดไทยกับชาววังมีหน้าที่สำคัญอย่างใดในเวลานั้นคิดไม่เห็น)

มาตราหนึ่งว่า “ถ้าพระที่นั่งเข้าต่อ (คล้องช้าง) เถื่อนกลางแปลง และช้างค้ำช้างค่ายเขื่อนทวนหอก ช้างติดสองข้างพระที่นั่งและเถื่อนเติบ (ถ้า) และช้างทวนหอกเข้าช่วยมิทันโทษถึงตาย” ดังนี้

คำฉันท์สดุดีลาไพรของเก่านั้น แต่งครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแน่ เพราะมีหลักฐาน ๒ อย่าง คือที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดคล้องช้างมากอย่าง ๑ และเป็นสมัยที่ชอบแต่งฉันท์ด้วยอีกอย่าง ๑

จดหมายเวรจะหยุดชั่วคราวเพียงฉบับนี้ เมื่อหม่อมฉันกลับจากชวา จึงจะตั้งต้นต่อไปอีก

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ