วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

จดหมายฉบับนี้หม่อมฉันจะทูลตอบลายพระหัตถ์ ทั้งฉบับลงวันที่ ๒ เมษายน ซึ่งไปรษณีย์ส่งมาช้าเกินกำหนด กับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๙ เมษายน ด้วยกันทีเดียว

พระดำริเรื่องพระราชลัญจกรต่างๆ นั้น ชอบกลนักหนา หม่อมฉันก็ไม่เคยคิดวินิจฉัยมาแต่ก่อน เป็นแต่เคยนึกฉงนสนเท่ห์เมื่อเห็นอธิบายบอก (ในหนังสือเรื่องอะไรนึกไม่ออก) ว่าพระราชลัญจกรองค์นั้นสำหรับประทับเป็นสำคัญในพระราชกิจอย่างนั้น ยกตัวอย่างพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้ว ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงประทานให้ใช้สำหรับโบราณคดีสโมสร ดำรัสว่าเดิมสำหรับประทับพระราชสาส์นไปเมืองจีนนั้นเป็นต้น คิดไม่เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างไร หรือเพื่อประโยชน์อย่างไร จึงต้องใช้พระราชลัญจกรต่างๆ มากมายเช่นนั้น เคยคิดวินิจฉัยแต่ตรา ๙ ดวง สำหรับตำแหน่งเจ้าพระยาพลเทพฯ พิจารณาอธิบายที่บอกไว้ในกฎหมาย “พระธรรมนูญ” เก่าดูเหลวเต็มที หม่อมฉันจึงสันนิษฐานว่าเดิมเห็นจะเป็นตราประจำตำแหน่งเจ้ากรมต่างๆ ซึ่งภายหลังรวมเข้าในกรมนา เจ้าพระยาพลเทพฯ จะสั่งการกรมใดจึงเอาตราเดิมสำหรับกรมประทับ ยังมีตัวอย่างต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่เป็นเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหกลาโหมในรัชกาลที่ ๓ ก็ใช้ทั้งตราบัวแก้วเละตราคชสีห์ และต่อมาเมื่อเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ฯ ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างตราสุริยมณฑลพระราชทานแล้วท่านก็ไม่ถวายคืนตราบัวแก้วกับตราพระคชสีห์ ทูลกระหม่อมทรงตั้งพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นที่สมุหกลาโหมฯ ต้องโปรดให้สร้าง “ตราศรพระขรรค์” ขึ้นใหม่ สำหรับใช้แทนตราพระคชสีห์มาจนสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ถึงพิราลัยจึงได้ถือตราพระคชสีห์ ถึง ร. ๕ โปรดให้ยกศักดิ์ตราศรพระขรรค์ขึ้นเสมอตราจักรมหาดไทย ยังมีกรณีต่อไปอีก ทูลกระหม่อมทรงพระดำริจะตั้งจมื่นราชามาตย์ (ขำ บุนนาค) คือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เป็นที่เจ้าพระยาพระคลังแต่แรกเสวยราชย์ แต่ติดด้วยเรื่องสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ไม่คืนตราบัวแก้ว ต้องทรงตั้งให้เป็น “เจ้าพระยาผู้ช่วย (โกษาธิบดี)” จนสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ถึงพิราลัยแล้ว จึงทรงตั้งเป็นเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี ได้ถือตราบัวแก้ว (แยกเป็นกรมท่าต่างหากจากกรมพระคลัง) งามนักที่พระราชลัญจกรเก่าๆ ต่างๆ เดิมจะเป็นตราสำหรับเจ้าครองเมือง ครั้นเลิกตำแหน่งเจ้าครองเมืองเปลี่ยนเป็นเจ้าต่างกรมในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ตราเหล่านั้นรวมอยู่เป็นของหลวง มีราชกิจอันใดเกิดแปลกขึ้นในรัชกาลภายหลังมา โปรดให้เอาตราเหล่านั้นใช้ จึงกลายเป็นพระราชลัญจกร ๆ เดิมน่าจะมีแต่ ๓ ดวง คือ ตรามหาอุณาโลม หมายว่าพระอิศวร ดวง ๑ ตราพระครุฑพ่าห์ หมายความว่าพระนารายณ์ ดวง ๑ ตราไอยราพต หมายความว่าพระอินทร์ ดวง ๑ เท่านั้น ตราหงส์พิมาน หมายความว่าพระพรหมนั้นน่าสงสัยว่าจะเพิ่มขึ้นในภายหลัง

เรื่องที่ถูกถามโบราณคดี หม่อมฉันทูลได้ว่าเป็นจริงดังทรงพระดำริ ถ้าถามมาด้วยจดหมาย ตอบสะดวกกว่าถามด้วยวาจา เพราะมีเวลาตริตรองค้นหาหลักฐาน ถามด้วยวาจาตอบแต่ด้วยความทรงจำที่ติดตัวอยู่ในเวลานั้นและเหนื่อยด้วย ที่มิชชันนารีอเมริกันมาถามเมื่อเร็วๆนี้ หม่อมฉันต้องตอบพักเดียวถึง ๓ ชั่วโมง พอเขาไปแล้วรู้สึกเหนื่อยถึงต้องลงนอน

คำ “อาทมาฏ” ซึ่งท่านประทานวิเคราะห์ว่าน่าจะมาแต่ “อาตมารถ” เข้าทีหนักหนา ความเห็นตรงกับผู้สอดแนม และได้หลักเป็นข้อสำคัญต่อไปว่า พวกอาทมาฏนั้นน่าจะมีมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ไทยรบกับพม่าติดพันกันจึงใช้มอญเป็นพวกอาทมาฏเพราะเมืองมอญอยู่ต่อแดนไทย และมีพวกมอญหนีพม่าเข้ามาอยู่กับไทยมาก จึงใช้ให้เป็นพนักงานไปสืบข่าวพม่าในเมืองมอญ

พระวินิจฉัยเรื่องตราจักรก็ชอบกลนักหนา หม่อมฉันจะลองเสริมพระวินิจฉัยด้วยหม่อมฉันเคยสงสัยในทำเนียบศักดินาพลเรือนมีชื่อ “เจ้าพระยามหาอุปราช ชาติวรวงศ์ องค์ภักดีบดินทร สุรินทรเดโชชัย มหัยสุริยภักดี อาญาธิราช” อยู่หน้าสมุหนายกและสมุหกลาโหม (แต่ไม่ปรากฏว่ามีตำแหน่งหน้าที่อย่างไร ก็นามว่า “มหาอุปราช” นั้นพ้องกับวังหน้า ไฉนจึงเอาไปใช้เป็นชื่อขุนนาง น่าสันนิษฐานว่า คำที่เรียกว่ามหาอุปราช จะมีอยู่ก่อนประเพณีที่เรียกเจ้าว่า “พระมหาอุปราช” เดิมเห็นจะหมายความว่าเป็นตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี เช่นเดียวกับคำว่าสมุหนายกและสมุหกลาโหม เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตั้งทำเนียบใหม่ให้มีอัครมหาเสนาบดีเป็น ๒ คน และโปรดให้สมุหนายกถือตราจักรที่เจ้าพระยามหาอุปราชเคยถือ จึงให้อัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือนมีชื่อว่าเจ้าพระยาจักรี จึงเหลือแต่ชื่อเจ้าพระยามหาอุปราชติดอยู่ในทำเนียบ

ประหลาดอยู่ที่ในหนังสือซึ่ง มองสิเออ เดอ ลาลูแบ ราชทูตฝรั่งเศสกล่าวว่า เมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ยังมีเจ้าพระยามหาอุปราช (ดูเหมือนว่า) เป็นผู้รักษาพระนครเวลาพระนารายณ์เสด็จไปประทับอยู่ ณ เมืองลพบุรี ในเวลาที่ทูตฝรั่งเศสมาถึงนั้น ข้อนี้พิจารณาดูเห็นว่า (เพราะในรัชกาลนั้นไม่มีพระมหาอุปราช) เจ้าพระยามหาอุปราชที่ฝรั่งเศสกล่าวน่าจะเป็นแต่คำคนเรียก อย่างเช่นที่เปลี่ยนเอาคำอื่นมาเรียกในภายหลังว่า “สมเด็จเจ้าพระยา” ข้อนี้มีปรากฏในพงศาวดาร ร. ๑ ว่ากรมพระราชวังบวรฯ ทรงตั้งพระยาพลเทพครั้งกรุงธนบุรีเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา” วังหน้า ความหมายเพียงว่าเป็นเจ้าพระยาศักดิ์สูงกว่าอัครมหาเสนาบดี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น คือเป็น “เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” แต่คนทั้งหลายเรียกกันว่า “สมเด็จเจ้าพระยา” เพราะทรงศักดิ์สูงกว่าอัครมหาเสนาบดี แต่คำสมเด็จเจ้าพระยายังไม่ใช้ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ คนจึงเอาชื่อเจ้าพระยามหาอุปราชที่ปรากฏอยู่ในทำเนียบมาเรียก เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศก็น่าจะเป็นชั้นเดียวกัน ในพงศาวดารจึงว่าเมื่อถึงอสัญกรรมโปรดฯ ให้ทำศพอย่างเป็นเจ้า เรื่องเป็นทำนองเดียวกันมามีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อีก เมื่อต้นรัชกาลที่ ๒ ทรงตั้งเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (ปิ่น บิดาเจ้าพระยาบดินทรเดชา สิงหเสนี) เป็นเจ้าพระยาอภัยราชา แต่ให้ไปรับราชการวังหน้า พวกสกุลสิงหเสนีเขาว่าเมื่อถึงอสัญกรรมโปรดฯ ให้ทำศพอย่างเจ้า ก็คือสมเด็จเจ้าพระยาวังหน้านั่นเอง ที่เอาคำสมเด็จเจ้าพระยามาใช้เป็นยศในทำเนียบราชการ น่าจะเพิ่งใช้ในรัชกาลที่ ๔ พร้อมๆ กับทรงสถาปนายศชั้น “กรมสมเด็จพระ” ขึ้นสำหรับเจ้านาย ทูลตำนานอ้อมค้อมมามาก ถ้าว่าแต่ใจความก็เห็นว่า เดิมเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีมีคนเดียว ชื่อว่า “เจ้าพระยามหาอุปราช” ถือตราจักรประจำตำแหน่ง ถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แยกการบังคับบัญชาราชการฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารออกต่างหากกัน มีอัครมหาเสนาบดีเกิดเป็น ๒ คน แทนตำแหน่งเจ้าพระยามหาอุปราชแต่ก่อน เจ้าพระยามหาอุปราชจึงมีแต่ชื่ออยู่ในทำเนียบ พระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์ทรงตั้งขุนนางผู้ใหญ่ที่มีความชอบมากเป็นเจ้าพระยามหาอุปราช หรือนามอื่นเพิ่มศักดิ์ให้สูงขึ้น มีตัวอย่างเช่นเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ดูก็เทียบที่เจ้าพระยามหาอุปราชแต่ก่อน แต่เจ้าพระยามหาอุปราชไม่มีหน้าที่อย่างใดแล้ว จึงโปรดให้ว่าที่โกษาธิบดี มาถึงสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกครั้งกรุงธนบุรีก็โปรดให้ว่าที่สมุหนายก (คงตามเดิม) ด้วย

เรื่องสร้อยพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น หม่อมฉันค้นพบในหนังสืออื่นนอกจากบานแผนกกฎหมายอีก ๓ แห่ง คือ

๑) ในศุภอักษรมีไปเมืองลังกาครั้งพระเจ้าบรมโกศ พิมพ์อยู่ในหนังสือเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป แห่ง ๑

๒) ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งพวกไทยที่ถูกกวาดต้อนไปเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาไป พรรณนาไว้ในคำให้การแก่พม่า แห่ง ๑

๓) ในหนังสือพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ เป็นพระนามตามที่จารึกพระสุพรรณบัฏ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เหมือนกันทั้ง ๓ พระองค์ หม่อมฉันให้คัดสำเนาถวายมากับจดหมายนี้ด้วยแล้ว สร้อยพระนามที่ส่งถวายมาคราวนี้ ดูจะได้หลักเป็นข้อสำคัญ (จากพระนามที่ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่า) อย่างหนึ่งว่า พระนามที่ขึ้นต้นว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” ที่จารึกพระสุพรรณบัฏพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ จะถ่ายแบบมาแต่พระนามที่จารึกพระสุพรรณบัฏของพระเจ้าบรมโกศ ด้วยใช้พระนามนั้นจารึกพระสุพรรณบัฏต่อกันมาทุกพระองค์ ตั้งแต่ขุนหลวงหาวัดและพระเจ้าสุริยามรินทร์ และบางทีพระเจ้ากรุงธนบุรีก็จะใช้พระนามนั้นเหมือนกัน เหมือนอย่างใช้พระนามย่อว่า “สมเด็จพระเอกาทศรถ” สืบต่อกันมาทุกพระองค์ฉะนั้น ถ้าความทรงจำของหม่อมฉันไม่ผิดไซร้ ยังมีต้นศุภอักษรสมเด็จพระหริรักษ์ พระเจ้ากรุงกัมพูชามีมาในรัชกาลที่ ๔ อยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ ใช้คำว่า “ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถ” ก่อน แล้วจึงมาเปลี่ยนเป็น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ต่อภายหลัง

เขียนมาเพียงนี้พอถึงวันกำหนดส่งเมล์ต้องงดเสียที

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ