วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๗ ธันวาคมนั้นแล้ว

ที่ไฟไหม้พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรที่บางปะอินนั้น หม่อมฉันรู้สึกเสียดายเป็นอย่างธรรมดา ไม่ถึงเสียใจ เพราะความรู้สึกลึกซึ้งส่วนตัวยังมีต่อไปอีก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระกรุณาโปรดให้หม่อมฉันเป็นผู้พิทักษ์รักษาพระราชวังบางปะอินตั้งแต่แรกเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยใน พ.ศ. ๒๔๓๕ แต่ก่อนมาพระที่นั่งอุทยานยังไม่มีเครื่องตกแต่งเท่าใดนัก ดูเหมือนเมื่อรับซาเรวิชแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสสั่งให้พระยามหาโยธา (นกแก้ว คชเสนี) เมื่อยังเป็นราชทูตอยู่ ณ กรุงลอนดอน ให้ทำ “เฟอนิเชอ” เป็นเครื่องไม้มะโหคะนีส่งเข้ามาถึง เมื่อหม่อมฉันแรกรับหน้าที่ มีเครื่องตู้ โต๊ะเก้าอี้ขึ้นบริบูรณ์ ยังขาดแต่เครื่องแต่งประดับข้างใน หม่อมฉันจึงชวนพวกเจ้าในมณฑลพายัพกับพวกพระยามลายูให้หาของแปลกๆ ในพื้นเมืองถวายเป็นเครื่องประดับ ส่วนตัวหม่อมฉันเองเวลาไปเที่ยวตรวจหัวเมืองได้อะไรที่เป็นของต้องตาเห็นสมควรก็เอามาแต่งพระที่นั่งอุทยาน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ออกทรงสนุกด้วย ท่านคงจะยังทรงจำได้เวลาหม่อมฉันได้ของแปลกมา เคยทูลปรึกษาพระองค์ท่านว่าควรจะแต่งพระที่นั่งอุทยานได้หรือไม่ ถ้าเป็นของชำรุดหรือไม่ดีพอก็เก็บเอาไว้แต่งห้องกลางที่ศาลาลูกขุนใน พระองค์ท่านเองทรงบัญญัติศัพท์ “ห้องกลาง” สำหรับเรียกของแปลกแต่ไม่ดีถึงขนาด หม่อมฉันรักพระที่นั่งอุทยานในสมัยนั้นราวกับว่าแก้วตามาตลอดเวลา ๒๐ ปี ครั้นสิ้นรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๖ แต่แรกสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ยังโปรดเสด็จไปบางปะอินอยู่สัก ๒ ปี ในระหว่างนั้นฝรั่งคน ๑ ชื่อมิสเตอร์เบลี ต่อมาได้เป็นที่หลวงปฏิบัติราชประสงค์ ทูลแนะนำสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ให้แก้ไขพระที่นั่งอุทยานให้ทันสมัย เปลี่ยนเครื่องเฟอนิเชอหมด เครื่องเฟอนิเชอที่ทำมาใหม่ เป็นไม้ชำฉาคลุมด้วยผ้าดอกบ้างแพรบ้าง เปลี่ยนเครื่องไม้มะโหคะนีของครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงออกหมด เครื่องประดับที่หม่อมฉันได้พยายามรวบรวมจัดไว้ก็กระจัดกระจายหายสูญไปเกือบหมด หม่อมฉันยังเสียดายเทวรูปทองสัมฤทธิ์กาไหล่ทอง ๓ องค์ ชุดหนึ่ง ซึ่งขุดได้ที่ทับกวางเมื่อทำทางรถไฟอยู่จนทุกวันนี้ สืบก็ไม่ได้ความว่าไปตกอยู่ที่ไหน ตั้งแต่พระที่นั่งอุทยานถูกรื้อแย่งครั้งนั้นแล้วหม่อมฉันก็คลายรัก ทั้งตัวเองก็ออกจากหน้าที่พนักงานพิทักษ์รักษาแล้ว เวลาไปบางปะอินบางคราวแวะไปยังพระที่นั่งอุทยานก็ด้วยคิดถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเท่านั้น ดูเหมือนในรัชกาลที่ ๖ พระที่นั่งและตำหนักรักษาในพระราชวังบางปะอินถูกทอดทิ้งให้ทรุดโทรมมานาน แม้สระที่ประพาสก็ตื้นขึ้นจนใช้เรือไม่ได้ในฤดูแล้ง หม่อมฉันเคยได้ยินเจ้าพระยาวรพงศ์ปรารภว่าจะขุดสระและซ่อมแซมพระราชวังก็ขัดเงิน ไม่ได้ทำ ถึงรัชกาลที่ ๗ ดูเหมือนจะได้เสด็จไปประทับแรมที่บางปะอินครั้งเดียว เมื่อเสด็จไปบวงสรวงพระอดีตมหาราชที่พระนครศรีอยุธยา ต่อมาก็ได้ยินแต่ว่าจะซ่อมๆ แต่เข้าใจว่ายังทอดทิ้งอยู่อย่างนั้น การรักษาเป็นแต่อย่างจุกยาเพียงมิให้หักพัง น่าจะมีตัวไม้ผุอยู่ระหว่างฝาซึ่งทำเป็น ๒ ชั้นจะทาสีใหม่ในคราวนี้ เอาตะเกียงโฟ่ลนลอกสีข้างนอกเปลวไฟอาจจะลอดช่องเข้าไปติดไม้ผุข้างใน ช่างทาสีไม่รู้ตัว ไฟจึงไหม้พระที่นั่งกลางวันแสกๆ คิดไม่เห็นเหตุอย่างอื่นที่ไฟไหม้พระที่นั่งอุทยาน จึงทำให้เสียดายน้อยลงด้วยเป็นของทิ้งทรุดโทรมมาช้านาน โดยจะปฏิสังขรณ์ให้คืนดีอย่างเดิมก็เห็นจะต้องรื้อลงเปลี่ยนตัวไม้คล้ายกับสร้างใหม่ หม่อมฉันเห็นว่าตกกะไดพลอยโจนเสียเป็นดี (ทีก็จะต้องเป็นเช่นนั้น) คือเกลี่ยที่ตรงสร้างพระที่นั่งอุทยานทำเป็นสนามหญ้า ต่อไปถ้าพระเจ้าแผ่นดินโปรดไปประทับที่บางปะอินอย่างสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็จะได้ทรงสร้างพระราชมนเทียรขึ้นใหม่ตามชอบพระราชหฤทัย

เมื่อหม่อมฉันส่งจดหมายเวรฉบับลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ไปถวายแล้ว มีกิจไปเปิดดูหนังสือจดหมายเหตุของหม่อมราโชทัยเมื่อไปลอนดอน (ฉบับที่กรมหมื่นเทววงศ์พิมพ์) พบตำนานเรื่องทูตซึ่งหม่อมฉันแต่งพิมพ์ไว้ข้างหน้า ได้ความว่าเรื่องมองสิเออร์เดอโชมองคิดอุบายเข้าในเงาพระกลดนั้น หม่อมฉันจำไม่ได้ถนัด ทูลพลาดไป ที่จริงนั้นมีแต่พระกลดกั้นพระราชสาส์น เมื่อทูตฝรั่งเศสเห็นไทยเคารพพระราชสาส์นยิ่งกว่าตัวทูตและสืบรู้ประเพณีไทยแล้ว ทูตฝรั่งเศสคิดอุบายเอาเก้าอี้ไปตั้งนั่งอยู่ริมโต๊ะวางพระราชสาส์นในเวลาเมื่อข้าราชการไทยเข้าไปถวายบังคมพระราชสาส์น ให้เป็นถวายบังคมตนด้วยทุกครั้ง เมื่อถึงเขตพระนครพักอยู่ที่ทำเนียบ ณ ขนอนหลวงริมวัดโปรดสัตว์ จนวันจะเข้าเฝ้ามีเรือกระบวนแห่ และเครื่องสูงกลองชนะลงมารับพระราชสาส์น ทูตคิดอุบายให้บาทหลวงลับเบชัวสีเชิญพานพระราชสาส์นเดินเคียงไปด้วยกับทูต พนักงานเชิญพระกลดกั้นพระราชสาส์นก็ต้องเชิญกั้นทูตกับบาทหลวงด้วย

ที่ปีนังในสัปดาหะนี้เรือกำปั่นยนต์ของบริษัทอิสต์เอเซียติคชื่อซีแลนเดียลำต่อใหม่ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกลับไปยุโรปนั้น มาถึงปีนังเข้ามาจอดเทียบท่าอยู่ ๒ ชั่วโมง ห้างอิสต์เอเซียติคเขาออกใบเชิญพวกผู้ดีในปีนังลงไปชม และมีเลี้ยงเครื่องว่างด้วย หม่อมฉันได้ลงไปดูด้วยกันกับหญิงพิลัย เขาแก้ไขผิดกับกำปั่นยนต์ลำอื่นหลายอย่าง ดูเหมือนจะสังเกตความพอใจของคนโดยสารในสมัยนี้เป็นสำคัญ ว่าตามใจหม่อมฉันแก้ดีขึ้นก็มี เลวลงก็มี ที่ดีอย่างหนึ่งนั้นเขาทำดาดฟ้าตอนใต้ห้องกัปตันอีกชั้นหนึ่งเป็นที่สำหรับคนโดยสารพวกที่หาสมาธิ หนีเสียงเด็กและพวกเล่นหัวอึกทึกขึ้นไปอยู่ ที่เลวลงนั้นขยายโรงเหล้ากว้างขวางขึ้นสำหรับพวกขี้เมา ด้วยเดี๋ยวนี้มีทั้งผู้หญิงผู้ชายที่ชอบกินเหล้ามากขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อเรือซีแลนเดียเข้าไปถึงกรุงเทพฯ เห็นเขาจะอวดเช่นที่ปีนังนี้อีก ถ้าท่านอยากทอดพระเนตรโดยลำพังไม่ให้ปะปนกับผู้ใด ตรัสแก่ชายดิศก็เห็นจะจัดการถวายได้ ด้วยเรือพักอยู่ในกรุงเทพฯ หลายวัน

หม่อมฉันถวายสำเนาวินิจฉัยเรื่องพระเชตุพน ซึ่งแต่งให้พระองค์เจ้าธานีนิวัตร มากับจดหมายฉบับนี้ด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ