วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ได้รับประทานด้วยดีแล้ว

เหตุที่ทำให้แม่น้ำตาย ตามพระดำรัสบรรยายไปในลายพระหัตถ์นั้นเป็นถูกแท้ที่สุด เมื่อเกล้ากระหม่อมขึ้นไปเที่ยวเมืองเหนือ ได้ยินเขาบอกว่าแม่น้ำเมืองเหนือนั้น ในฤดูน้ำหนึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปได้มาก แม้แต่เพียงฝั่งหนึ่งมีต้นไม้ล้มลง น้ำไหลมาพะต้นไม้เข้าก็แปรไปกัดตาหลิ่ง อีกฟากหนึ่งพังเข้าไปตั้งเก้าวาสิบวา เล่ากันจนว่ามีเรือนปลูกอยู่ริมฝั่งน้ำเซาะในคืนเดียวเรือนพังลงแม่น้ำไป โดยเจ้าของเรือนไม่รู้ตัวเพราะนอนหลับ

เกล้ากระหม่อมไปเที่ยวทางเหนือกรุงเก่า ไปจอดเรือพักอยู่ที่หน้าวัดไชโย เห็นเรือบรรทุกสินค้าลำใหญ่ๆ ต่างก็มาขุดทรายเพื่อเอาเรือล่องลงใต้น้ำนึกเห็นประหลาดจึงลงไปท่องดู เห็นน้ำตื้นเต็มที รู้สึกว่าแม่น้ำตรงนั้นจะตายเป็นแน่ แต่น้ำจะไปเดินทางไหน ขึ้นไปอีกก็ไปพบว่าน้ำเปลี่ยนทางไปเดินทางคลองกะทุ่มราย ได้ลองเอาถ่อหยั่งดูก็หาถึงก้นคลองไม่ จึงเชื่อว่าต่อไปคลองกะทุ่มรายจะกลายเป็นแม่น้ำ ส่วนแม่น้ำใหญ่ตอนไชโยนั้นจะตัน

พูดถึงแม่น้ำตาย ทำให้นึกไปถึงแม่น้ำยังเจ๋ในเมืองจีน ได้ยินอยู่เนืองๆ ว่าน้ำท่วมบ้านเรือนริมแม่น้ำนั้นผู้คนเป็นอันตรายมาก แล้วได้เห็นฝรั่งตีพิมพ์รูปแม่น้ำนั้นมาในหนังสือพิมพ์ มีคันดินถมไว้ริมแม่น้ำและว่าถ้าคันดินนั้นพังลงแห่งใดก็ทำให้น้ำบ่าเข้าท่วมบ้านเมือง นึกเสียว่าเพราะแม่น้ำยังเจ๋นั้นมันยืดยาวน้ำจะต้องไหลมามากจนต้องทำคันกั้นน้ำ เมื่อคันพังน้ำก็จะต้องท่วมอยู่เอง แต่ที่ไหนได้ เพิ่งจะได้ทราบจากข่าวที่ญี่ปุ่นรบกับเจ๊กซึ่งน้ำท่วมคราวนี้ ว่าแม่น้ำฮองโหและแม่น้ำยังเจ๋นั้น พื้นดินในท้องแม่น้ำมันสูงกว่าพื้นดินทั่วไปเสียแล้ว เพราะเหตุที่เมื่อน้ำล้นตาหลิ่งก็เอาดินมาปะเป็นคันกันน้ำไว้ น้ำก็พัดเอาทรายมาถมท้องแม่น้ำลงจนดินในท้องน้ำสูงกว่าระดับดินทั่วไป กลายเป็นแม่น้ำอยู่บนดิน นี่ก็เป็นเหตุให้น่าคิดอย่างหนึ่ง ว่าการทำเพื่อบังคับจะดีหรือปล่อยให้เป็นไปเองจะดี

ตามพระราชดำรัสชวนให้คิดถึงบางกอกนั้น เป็นสิ่งที่น่าคิดแต่ก็เป็นสิ่งที่ยากมาก แม้กระนั้นก็จะลองพุ่งทูลถวาย ลางทีจะมีขอที่เป็นเครื่องประดับพระปัญญาบารมีได้บ้าง ดังต่อไปนี้

บาง คือ คลองตัน เป็นแน่ว่าทำขึ้นเพื่อจะชักน้ำในแม่น้ำเข้าไปใช้ในที่ทำกิน มีเรือกสวนไร่นาเป็นต้น เกิดแต่มีผู้คนมากขึ้น จะต้องทำกินกันอยู่แต่ริมแม่น้ำหาพอกันไม่

ชื่อของบางนั้นก็เป็นชื่อง่ายๆ อาศัยเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งจะสำเหนียกกันได้ง่าย เช่นบางกอกก็คงมีต้นมะกอกอยู่ที่ปากบาง บางว้าก็คงเป็นที่ทำเข้าไปในสวนกล้วยน้ำว้า (ลางคนก็เดาว่าบางหว้า) อย่างเดียวกับชื่อหนอง เช่น หนองปลิงหนองปรือ ฉะนั้น แล้วชื่อบางก็ขยายออกไปกลายเป็นชื่อย่านชื่อตำบล นับแต่บางหนึ่งไปจนถึงอีกบางหนึ่ง ถ้าเป็นระยะยาวใหญ่ก็เกิดแบ่งเป็นสองขึ้น เช่น บางกอกใหญ่บางกอกน้อยหรือบางว้าใหญ่บางว้าน้อยเป็นต้น

อันว่าบางคือคลองตันนั้น อาจเปลี่ยนแปลงไปในภายหลังก็ได้ เช่น บางหนึ่งแต่แรกก็ขุดเข้าไปแต่สั้นๆ ครั้นผู้คนหนาแน่นขึ้น ขยายที่ทำกินออกไปอีกก็ขุดบางต่อไปให้ยาวเข้าไป ครั้นไปใกล้กับอีกบางหนึ่ง ซึ่งขุดชักน้ำมาแต่แม่น้ำแห่งหนึ่งเข้า ก็เลยขุดปลายบางให้ติดต่อทะลุถึงกัน เมื่อนั้นคลองตันก็กลายเป็นไม่ตันไปเสียแล้ว และลางแห่งที่ทำกินเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นไปอันไม่ต้องการใช้น้ำมาก บางก็ถูกทิ้งให้ตื้นเขินสูญหายไป คงเหลือแต่ชื่ออยู่เป็นชื่อตำบล

ตำบลบางกอกเดิมจะอยู่ที่ไหน จะเป็นตำบลบางกอกทั้งที่ปากคลองบางกอกน้อยและบางกอกใหญ่ด้วย เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อยังไม่ได้ขุดลัดก็เป็นแม่น้ำอ้อมไปมีระยะยืดยาว ย่อมจะมีชื่อตำบลเปลี่ยนไปหลายตำบลแล้ว จึงว่าตำบลบางกอกเดิมท่วงทีจะอยู่ข้างบน แถวปากคลองบางกอกน้อย เหตุที่เห็นเช่นนั้นก็เพราะคลองบางกอกน้อยมีชื่อเรียกอย่างนั้นแต่อย่างเดียว ส่วนคลองบางกอกใหญ่นั้นเป็นชื่อที่ติดจะลี้ลับ โดยมากเรียกกันว่าคลองบางหลวง สงสัยว่าที่นั่นเดิมจะชื่อตำบลบางหลวง การขุดลัดครั้งแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชาเห็นจะไม่ได้ขุดแผ่นดินดอน คงจะมีคลองลัดเล็กๆ ซึ่งเขาเดินเรือกันอยู่แล้วเป็นสิ่งนำทาง ขุดซ้ำรอยให้เป็นคลองกว้างขวางอย่างที่ฝ่าพระบาททรงขุดลัดเสนาบดีฉะนั้น คลองลัดเดิมน่าจะเป็นชาวบ้านขุดบางประจบกัน น่าสันนิษฐานว่าบางทางเหนือน้ำเป็นบางกอก ขุดบางทางใต้น้ำจะเป็นบางหลวง ครั้นขุดขยายในแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชาจนน้ำกัดกว้างกลายเป็นแม่น้ำไปแล้วก็เป็นแม่น้ำแนวสั้น ที่แถวนั้นจึงกลายชื่อเป็นตำบลบางกอกไปด้วยกันสิ้น แบ่งตอนบนเป็นบางกอกน้อย ตอนล่างเป็นบางกอกใหญ่

ตามที่สันนัษฐานถวายอย่างนี้ดูก็เข้าที แต่เท้าไปขวิดเสียที่วัดระฆังกับวัดอมรินทร์ชื่อว่าวัดบางว้าเหมือนกัน หมายความว่าทั้งสองวัดตั้งอยู่ในตำบลบางว้าด้วยกัน แต่ที่จริงวัดระฆังตั้งอยู่ในแม่น้ำบางกอก ควรจะเรียกว่าวัดบางกอก แต่กลับเรียกเป็นวัดบางว้า ทำเอาบางกอกหายกลายเป็นบางว้าไปสิ้น อันคำบางว้านั้น เดิมก็เป็นชื่อคลองตันอันหนึ่ง แต่ภายหลังกลายเป็นชื่อตำบลไป จะว่าวัดระฆังแต่ก่อนมีทางออกแม่น้ำเก่า ซึ่งเป็นคลองบางกอกน้อยก็ใช่ที่ ด้วยธรรมดาการสร้างวัดจะต้องสร้างในที่ซึ่งคนไปมาง่าย จะเข้าไปสร้างในบึงบางอันเป็นที่ลับนั้นเห็นจะเป็นไปไม่ได้ อีกประการหนึ่งวัดระฆังก็อยู่ห่างคลองบางกอกน้อยซึ่งเป็นแม่น้ำเก่านั้นมากนัก เห็นได้ว่าสร้างขึ้นในแม่น้ำบางกอกซึ่งเกิดใหม่นั้นทีเดียว ตั้งใจทำเป็นวัดเสียใหญ่ด้วย เห็นได้ว่าเป็นวัดสร้างครั้งกรุงเก่า ที่มีพระปรางค์แบบกรุงเก่าหุ้มดีบุกตั้งอยู่หน้าโบสถ์เก่าค่อนไปทางข้างเหนือน้ำ ที่เปลี่ยนชื่อจากวัดบางว้าใหญ่ไปเป็นวัดระฆังนั้น จะมีตำนานเล่ากันว่ากะไรก็ตามที แต่เห็นว่าการเปลี่ยนชื่อนั้นตั้งใจจะให้เหมือนกรุงเก่า ที่มีวัดระฆังอยู่ชิดวัง นี่ก็จะมีบ้างคือวังกรุงธนบุรี

ในท้ายลายพระหัตถ์ตรัสส่งให้บอกแม่โตว่าทรงยินดีด้วยที่ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์นั้น ได้บอกแล้ว แกดีใจสั่งให้กราบทูลถวายบังคมมาแทบฝ่าพระบาท

ได้พบกับนายเฟโรจีแล้ว ถามได้ความว่ามารถไฟแต่สิงคโปร์ไม่ได้ขึ้นจากเรือปีนัง ไม่มีเวลาจะข้ามมาเฝ้าฝ่าพระบาท แต่ได้พบหญิงพิลัยที่สถานีรถไฟ ว่าไปส่งใครเป็นผู้หญิงแก่ๆ ไปเมืองนอก หนูลูกสาวนายเฟโรจีนั้น สูงกว่าแม่ขึ้นไปอีก ไม่เป็นหนูเสียแล้ว

ได้ข่าวสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึงสิงคโปร์ น่ารำคาญเกิดอุบัติเหตุ ฝรั่งอเมริกันโดยสารเรือ “เสลันเดีย” ไปเป็นไข้ทรพิษขึ้นเรือต้องไปจอดที่ด่านกักโรค สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเลยต้องถูกกักไม่ให้เสด็จขึ้นบก ต้องตัดโปรแกรมอะไรทั้งหมด มีแต่หลวงวุฒิสารคนเดียวที่ลงไปเฝ้าได้ ด้วยต้องปลูกฝีเสียก่อน ข่าวว่าเรือจะมาถึงปีนังวันที่ ๑๙ เขาจะทำกันท่าไรให้นึกหนักใจเป็นอันมาก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ