วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

ตำหนักประเสบัน บันดุง

วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันกลับจากเกาะบาหลี มาถึงบันดุง เมื่อเช้าวันที่ ๒๘ มิถุนายนนี้ และได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๖ ซึ่งส่งมาทางไปรษณีย์อากาศนั้นด้วยในวันนี้ด้วยเหมือนกัน

หญิงพูนซึ่งต้องทิ้งไว้ที่เมืองสุรไบยานั้น อาการหายเจ็บเป็นปกติดี แต่กลับเป็นบุญที่ไปเมารถเสียเมื่อตอนก่อนไปเกาะบาหลี หาไม่ไปถูกข้ามเขาวกวนหนักกว่าเมื่อไปเมืองมาลัง ก็คงไปเจ็บที่เกาะบาหลีจะลำบากมากทีเดียว

เกาะบาหลีนั้นหม่อมฉันไม่เคยอยากไป เพราะได้อ่านพรรณนาและเคยเห็นรูปฉายที่ฝรั่งทำ นึกว่าไม่มีอะไรน่าดูยิ่งกว่าหญิงสาวเปิดนม กับการฟ้อนรำอย่างละครสมัยใหม่เช่นละครปราโมทัยของชวา กับเทวสถานที่สร้างใหม่ๆ ไปครั้งนี้ก็เป็นการสนองพระคุณทูลกระหม่อม ด้วยท่านจะเสด็จพาไปเองโดยฐานะเป็นแขกของท่าน แต่เมื่อได้ไปเห็น “หูผึ่ง” กลับความคิดเดิมหมด เป็นที่น่าดูอย่างยิ่งไม่น้อยกว่าเกาะชวา แต่ต้องดูเพื่อหาความรู้โบราณคดีจึงจะสนุก รวมทูลแต่ใจความ คือพวกชวาเกาะบาหลีนี้ โดยมากเดิมเป็นชาวกรุงมัชพหิต (ชาวทางตะวันออก) ในสมัยเมื่อถือศาสนาพราหมณ์ถูกพวกที่ไปเข้ารีตถือศาสนาอิสลาม เบียดเบียนต่างๆ ที่เป็นข้อสำคัญคือที่จะให้เข้ารีตเป็นอิสลาม พวกที่ยังเลื่อมใสศาสนาและลัทธิธรรมเนียมเดิม จึงอพยพพากันหนีข้ามไปอยู่เกาะบาหลีคงรักษาลัทธิและศาสนาและธรรมเนียมเดิม ประพฤติสืบมาจนทุกวันนี้ ครั้นนานมาหลายร้อยปี ลัทธิธรรมเนียมเดิมเสื่อม “เรียว” ลง ถึงกระนั้นก็ตั้งใจพยายามรักษาขนบธรรมเนียมเดิม ไม่นิยมการเปลี่ยนแปลงและไม่มีคนจำพวกอื่นเข้าไปแทรกแซม ประพฤติอย่างเดียวกันมาทั้งเกาะ ลักษณาการอันใดที่เราไปเห็นในเกาะบาหลีชวนให้คิดค้นถอยหลังขึ้นไปหาหลักเดิม มีมากมายหลายอย่าง ยกอุทาหรณ์เช่น ประเพณีที่ผู้หญิงเปลือยนม อันพึงเห็นในรูปภาพโบราณมีในอินเดียต่อมาจนประเทศเหล่านี้ การที่เอาผ้าห่มปกปิดและที่ละอายนมเกิดขึ้นต่อภายหลัง พวกชาวบาหลีเขายังประพฤติประเพณีเดิม สังเกตได้โดยไม่แสดงความละอาย หรือส่งราคะจริตอย่างหนึ่งอย่างใด น่าเปรียบกับนารีผลซึ่งถือว่าเป็นของเกิดมากับตัวเช่นนั้น แต่พวกชาวต่างประเทศอันราคะจริตครอบงำ ไปเห็นเข้าตื่นด้วยกิเลสของตนเอง เปรียบเหมือนพวกวิชาธร ที่แท้ควรละอายตนเองเสียอีก

อีกอย่าง ๑ คือ เทวสถานที่เกาะบาหลีล้วนเป็นของใหม่ภายใน ๔๐๐ ปีนี้ แม้ทุกวันนี้ก็ยังสร้างใหม่และซ่อมแซมของเดิมมีมากกว่ามาก แต่สังเกตเห็นได้ว่าก่อสร้างโดยประสงค์จะรักษาแบบเดิม ที่ผิดไปก็ด้วยความรู้เรียวลง ประหลาดเป็นข้อสำคัญอย่าง ๑ ที่วิธีก่ออิฐแนวสนิทอย่างปรางค์ขอมยังทำได้อยู่ที่เกาะบาหลี

กระบวนฟ้อนรำนั้นก็แยกไปอย่างหนึ่งต่างหาก จากชวาหรือชาติอื่นทางตะวันออก รู้ได้แต่ว่าเป็นศิษย์ชาวอินเดียด้วยกัน

หม่อมฉันเชื่อแน่ว่าท่านเสด็จไปเกาะบาหลีคงโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ป.ล. ถวายรูปหญิงบาหลีมาด้วย ๒ รูป รูป ๑ หาเหาให้กันเป็นธรรมดา อีกรูป ๑ ฝรั่งให้ถ่ายยั่วคนท่องเที่ยว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ