วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๑๗ เดือนนี้ ได้รับประทานแล้ว

เรื่องสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จถึงปีนังและออกจากปีนังตามที่ตรัสเล่าประทานไปนั้น เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า เกล้ากระหม่อมจะเล่าทางกรุงเทพฯ จำเพาะส่วนที่ไม่ปรากฏในหมายกำหนดการ ต่อจากหนังสือเวรซึ่งได้ส่งมาถวายเมื่อวันที่ ๑๙ นั้นต่อไป

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายนนั้น เป็นกำหนดเสด็จพระราชดำเนินไปทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะเฉพาะหน้าสงฆ์ พระสงฆ์ซึ่งนิมนต์มาประมาณเห็นจะสัก ๒๐ รูป ล้วนแล้วไปด้วยพระราชาคณะตามอันดับยศ มีสมเด็จพระสังฆราช (คือสมเด็จพระวันรัตน์) เป็นประธาน การจัดพระสงฆ์นั่งเป็นนั่งซ้อนกันสองแถวบนอาสนะสงฆ์ดุจสวดมนต์ฉะนั้น ที่หัวแถวมีสมเด็จพระสังฆราชนั่งโดดอยู่องค์เดียวเสมอแนวแถวหลัง ตรงหน้าสมเด็จพระสังฆราชทอดพระยี่ภู่บนอาสนะสงฆ์ เสมอกับแนวแถวหน้า

เวลา ๑๖.๓๕ น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขาวเสด็จมาขึ้นมุขโถงหน้าพระอุโบสถ มีหมู่คนเฝ้าถวายของ เป็นชาติและชนิดต่างๆ ออกจะเป็น ๑๒ ภาษา ของที่ถวายอยู่ในหีบ เห็นแต่นิดหน่อย เป็นใบโพธิ์ทำด้วยโลหะกาไหล่ทอง จะเป็นคนพวกใดก็คิดไม่เห็น ได้ยินพระยาอนุรักษ์ทูลเบิก จับได้คำแต่ว่า “กรรมการ” กรรมการอะไรไม่ทราบ ต่อกลับมาอ่านหนังสือพิมพ์จึงแจ้งเขาว่ากรรมการกับสมาชิกพุทธธรรมสมาคม

ต่อจากนั้นก็เสด็จขึ้นพระอุโบสถ ทรงนมัสการพระพุทธรูป แล้วเสด็จขึ้นประทับพระยี่ภู่บนอาสนะสงฆ์ ทรงประเคนดอกไม้ธูปเทียนแก่สมเด็จพระสังฆราช ทรงประนมพระหัตถ์ตรัสว่ากระไรก็ไม่ได้ยิน แล้วสมเด็จพระสังฆราชทูลว่ากระไรก็ไม่ได้ยิน แล้วพระสงฆ์ทั้งปวงพร้อมกันสวดอะไรก็จับคำไม่ได้ ถามคนที่อยู่ใกล้ตัวเขาบอกว่า “โส อตฺถลทฺโธ” จบแล้วทรงประเคนดอกไม้ธูปเทียนแก่พระสงฆ์ทั้งปวง แล้วเสด็จมาประทับพระราชอาสน์ คราวนี้รู้ด้วยญาณว่าพระสงฆ์สวด “จิรํ” (แทนอติเรก) “ภวตุ สพฺพ” และถวายพระพรลากลับแล้วเสด็จกลับหมดด้วยกัน สิ้นเวลาครึ่งชั่วโมงเท่านั้น

วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษเขาเชิญเสด็จไปทอดพระเนตรละครซึ่งพวกสมาคมแสดงถวายอย่าง “แปนเตอไมม์” เรื่อง “ซินเดอเรลลา” ที่โรงโขนหลวงสวนมิสกวัน เวลา ๑๖.๓๐ น. เขาเชิญเกล้ากระหม่อมด้วย แต่ไม่ได้ไป ขอตัวเขาด้วยชราทุพพลภาพ การเป็นไปอย่างไรจึงไม่สามารถจะทูลได้ด้วยไม่ได้เห็น

วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน มีการพระราชกุศลทักษิณานุปทานตามที่ถวายใบพิมพ์กำหนดการมา ในการนี้เชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิออก คือพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๖ พระองค์ กับสมเด็จพระบรมราชชนนี ๕ พระองค์ ประดิษฐานบนพระที่นั่งเศวตฉัตร กับประดิษฐานพระอัฐิสมเด็จพระราชบิดาที่เตียงลาแห่งพระที่นั่งเศวตฉัตรและประดิษฐานพระพุทธรูปคู่ด้วยพระบรมอัฐิบนบุษบกมาลา การพระราชกุศลก็ดำเนินไปตามหมายกำหนดการ เสร็จแล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาล แล้วเสด็จออกทางประตูสนามราชกิจกลับสวนจิตรลดา

วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน เสด็จเข้าไปเลี้ยงพระสดับปกรณ์ตามหมายกำหนดการ ที่สุดพระราชทานเหรียญสองสลึง แจกแก่ฝ่ายหน้าแล้ว เสด็จขึ้นแจกแก่ฝ่ายใน แล้วเสด็จออกทางประตูสนามราชกิจ กลับสวนจิตรลดา

เรื่องที่ฝังพระศพพระองค์เจ้าสนิทพงศ์นั้น พวกพ้องเขาเห็นเกล้ากระหม่อมข้องใจ เขาก็ช่วยวิ่งไปสืบมาบอก ได้ความว่าได้ซื้อที่จากกรรมการป่าช้า เป็นเนื้อที่กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๑๔ เมตร ทำอนุสรณ์ที่ฝังศพในนั้นมีขนาด ๙.๓๐×๘.๒๕ เมตร เกล้ากระหม่อมพอใจว่าสมควรแล้ว ซึ่งใครจะเข้าไปปะปนไม่ได้

เรื่องพระชัยฉันเวรที่ตรัสนั้นก็ถูกแล้ว แต่บัญชีพระพุทธรูปซึ่งตั้งพระแท่นมณฑล ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๔ ก็มีพระห้ามสมุทรอีกต่างหากถึง ๒ องค์ จึงทำให้ตัดสินใจลงเป็นแน่ไม่ได้

เรื่องศิลปะซึ่งแปลกมาใหม่ คือการแต่งหน้า อันได้ตรัสพรรณนาโดยยืดยาวนั้น ไม่ใช่เป็นของใหม่ทีเดียว พวกละครเขาแต่งหน้ากันมาก่อนนานแล้ว พวกไม่ใช่ละครเอาอย่างมาแต่งบ้างทีหลัง ที่ทรงพระดำริว่าจะไม่เป็นทางศิลปะที่เกล้ากระหม่อมใฝ่ใจนั้น ก็ทรงพระดำริคาดผิดอีก ที่จริงศิลปะทางนั้นเป็นหลักทางดำเนินของเกล้ากระหม่อมทีเดียว ปกติการหัดเขียนอย่างไทยเขาสอนให้เขียนหน้าภาพก่อน เกล้ากระหม่อมก็เรียนหมกมุ่นมาในทางนั้นจนอินทรีย์แก่กล้าก็ถึงเขียนหน้าภาพตัดเส้นให้เห็นเป็นไปได้ต่างๆ เป็นเสียใจ เป็นดีใจ เป็นคนแก่ เป็นคนหนุ่มสาว เป็นเด็ก ที่ทูลนี้หมายถึงหน้าพระนางตัวดีมิได้หมายถึงเขียนหน้าคนสามัญซึ่งภาษาช่างเขาเรียกว่าภาพกาก แต่รูปภาพยักษ์ลิงยังเขียนให้เป็นเช่นนั้นไปไม่ได้ แต่ได้ฟังนิทานเขาเล่า ว่าช่างเขียนพระระเบียงวัดพระแก้วห้องทศกัณฐ์โศก ครั้งรัชกาลที่ ๓ เสด็จออกทอดพระเนตร ตรัสติว่าไม่โศก ช่างจึงลบเขียนแก้ตัวใหม่ เสด็จออกทอดพระเนตรคราวหลัง ตรัสว่าดี ทีนี้โศกจริงแล้ว ช่างได้รับพระราชทาน ๕ ตำลึง เกล้ากระหม่อมไม่เชื่อ ซ้ำบ่นว่าก็มันเป็นกนกไปทั้งนั้น จะเขียนให้เห็นโศกไปอย่างไรได้ ต่อมาเกล้ากระหม่อมไปสนทนาเล่นกับกรมหมื่นวรวัฒน์ที่ตำหนักท่าน ท่านเอาหนังต่างๆ ที่ดีออกให้ดู มีหนังหลายตัวที่ถ่ายออกจากหนังพระนครไหวฝีมือหลวงพรหมพิจิตร (ใจ) เขียน เห็นดีเหลือเกิน แม้กระนั้นกรมหมื่นวรวัฒน์ท่านยังว่าคลายเสียแล้ว เพราะฉลักไม่ดี ตัวเดิมดีกว่านั้นมาก จึ่งจับใจไปเฝ้าเจ้าพระยาเทเวศร์ขอดูหนังพระนครไหว ท่านว่าดูเปล่าๆ ไม่เห็นดีดอก ต้องตั้งจอเชิดจึ่งจะเห็นชัด ท่านว่าหนังเดี๋ยวนี้ใส่ไฟด้วยใต้ สีไฟไม่งามแต่ก่อนเขาใส่ไฟด้วยกะลาสีไฟงามกว่า แล้วท่านจะจัดการให้ดู

วันหนึ่งท่านตั้งจอขึ้นที่หน้าท้องพระโรง สุมไฟด้วยกะลา มาได้ความรู้ขึ้นอีกว่าใส่ไฟด้วยกะลานั้นสีไฟงามเต็มที่ ไม่มีควันจอขาวสะอาดเหมือนที่ฝรั่งเขาเล่นหนังเงาคน นั่นเขาจะใช้ไฟอะไรไม่ทราบ คงเป็นฟ๊อดแฟ๊ดฟอไฟอะไรอย่างหนึ่ง แล้วท่านก็ให้เอาหนังขึ้นเชิดตามเรื่องในชุดนาคบาศ มีตัวภิเภกไปร้องไห้ทูลพระราม เห็นเข้าขนหัวลุก ร้องไห้จริงๆ เชื่อทันทีว่านิทานทศกัณฐ์โศกที่ได้ฟังมานั้นเป็นความจริง ได้สังเกตเค้าของท่านจำมา ทีหลังจะเขียนพระนางยักษ์ลิงอะไร ก็ตัดให้เป็นโศกเป็นเริงอะไรไปได้ทั้งนั้น

คราวนี้เจ้าพระยาเทเวศร์เล่นละครดึกดำบรรพ์ กรมหมื่นมหิศรหนุนให้เขียนแต่งหน้าตัวละครก็ลองดู ด้วยรู้ทางเขียนหน้าในกระดาษอยู่แล้วว่าอย่างไรจะงาม เมื่อมาเขียนแต่งหน้าคนเข้าก็แก้ไขไปหางามสำเร็จ สวยๆ ไปหมดด้วยกันทั้งนั้น จนกรมหมื่นมหิศรออกปากว่า ดูตัวละครเหมือนเป็นพี่น้องกันทั้งโรง ทั้งนั้นก็เป็นด้วยแต่งเข้าหาหลักที่งามอย่างเดียวกัน คุณหญิงนัฏกานุรักษ์คนหนึ่ง จะต้องถูกเขม่าป้ายขอบตา เพราะว่าตาแกเล็กกว่าคนปกติมาก ใครก็ไม่ยากเท่าเด็กหญิงจีบ นั่นตาแหกไปข้างหนึ่ง เพราะออกฝีดาษแล้วจะต้องเป็นตัวสังข์ตกเหวที่สำคัญด้วย เพราะเป็นเด็กกล้าสามารถกระโดดจากที่สูงลงร่างแหได้ไม่กลัวเลย จะหาตัวแทนไม่ได้ จึงต้องพยายามเขียนแก้ตาแหกให้เห็นเป็นตาดี ก็ได้สำเร็จ

ตามที่กราบทูลมานี้ คงจะเข้าพระทัยได้ ว่าศิลปะแต่งหน้านั้นเป็นทางดำเนินของเกล้ากระหม่อมมาทีเดียว แต่เมื่อมาเห็นผู้หญิงเขาแต่งหน้ากันเข้าก็ให้นึกสังเวช เป็นต้นว่าได้สีที่สำหรับทาปากมาก็ทาไปตามปากเดิมของตัว ถ้าคนปากบาง ดูก็มีสีสดงามขึ้น ถ้าคนปากหนาแล้วดูหน้าเกลียดหน้ากลัวพิลึก จะกราบทูลให้เข้าพระทัยก็คือคนที่ปากงามอยู่แล้วทาตามปากเดิมได้ ที่ปากไม่งามต้องทาแก้ คือทาจำเพาะแต่ที่จะเห็นงาม เหลือกว่านั้นไม่ทา ไม่มีสีก็ไม่ค่อยเห็น ทากันไปตามบุญตามกรรมนั้นจะหางามหาได้ไม่เลย ตามที่มีครูหัดให้คนรู้จักงามในการแต่งหน้านั้น เกล้ากระหม่อมโมทนาในใจด้วยเป็นอย่างยิ่ง

วิชาแต่งหน้าให้สวยนั้น ฝรั่งจะเรียกว่ากระไรก็ช่าง เกล้ากระหม่อมอยากจะเรียกว่าวิชา “สรีสำรวย” คำนี้เอาอย่างมาจากคำ “สรีสำราญ” ในภาษาเขมร “สรี” แปลว่า หญิง อักษรเคลื่อนตกมาจากคำ “สตรี” แห่งภาษาสํสกฤต “สำรวย” แปลว่าทำให้สวย “สวย” ว่างามเองโดยธรรมชาติ “สำรวย” ว่าแกล้งทำสวย “สรีสำราญ” ความว่าทำให้ผู้หญิงเบา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ