- เมษายน
- วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ทูลถามข้อความที่สงสัย จาก จ.ท. ประชุม มินประพาฬ
- —วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ สนิท สุมิตร
- วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —เรื่องสร้อยพระนามพระเจ้าแผ่นดิน
- วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —สำเนาพวกมิชชันนารีทูลถามปัญหาโบราณคดี
- —วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ พระยาอนุมานราชธน
- วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- พฤษภาคม
- วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๑/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชกุศลวิสาขบูชา
- วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —สำเนาลายพระหัตถ์ทูลกระหม่อมชาย
- วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- มิถุนายน
- กรกฎาคม
- สิงหาคม
- กันยายน
- ตุลาคม
- วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๕/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
- —ที่ ๖/๒๔๘๑ หมายกำหนดการทำขวัญขึ้นระวางเรือหลวง
- —ที่ ๗/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระกฐินหลวง
- วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๘/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชกุศลวันที่ระลึกรัชกาลที่ ๕
- —ย่อเรื่อง ปันหยี สะมิรัง
- วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —คำถามที่ ๓ ว่ายศเจ้าพระยามีมาแต่เมื่อใด
- วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- พฤศจิกายน
- วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —(สำเนาคำตอบปัญหาพระยาอินทรมนตรี)
- วันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๙/๒๔๘๑ หมายกำหนดการรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน
- —ที่ ๑๐/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีสมโภชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- —ที่ ๑๑/๒๔๘๑ หมายกำหนดการทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ
- —ที่ ๑๒/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน
- —ที่ ๙/๓ ๒๔๘๑ หมายกำหนดการรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน (เปลี่ยนแปลง)
- วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๙/๒ ๒๔๘๑ หมายกำหนดการรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน (เพิ่มเติม)
- วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ธันวาคม
- วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —เครื่องตั้งพระแท่นมณฑล
- วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๑๓/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีเปิดประชุมสมัยสามัญสภาผู้แทนราษฎร
- —ที่ ๑๔/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ
- วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —วินิจฉัยเรื่องพระเชตวัน
- วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —วินิจฉัยชื่อลำน้ำแม่กลอง
- วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- มกราคม
- วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๑๕/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชกุศล ๗ วัน ศพเจ้าพระยายมราช
- วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๑๖/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานธงประจำกอง
- —ที่ ๑๗/๒๔๘๑ หมายกำหนดการสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรป
- วันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- กุมภาพันธ์
- วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๒๐/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
- —ริ้วขบวนแห่พระศพ
- —ที่ ๒๑/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิศมัยพิมลสัตย์
- วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๒๒/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระศพสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์
- —ที่ ๒๓/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน และพระราชพิธีรัชมงคล
- มีนาคม
- วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๒๔/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์
- วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
ซินนามอนฮอล ปีนัง
วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑
ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ
จดหมายฉบับนี้หม่อมฉันเริ่มร่างในเรือ ตั้งแต่ออกจากชวามาด้วยกำหนดหม่อมฉันจะไปถึงปีนังณวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กรกฎาคม ตรงกับวันส่งจดหมายเวร ร่างไปเสียก่อนพอถึงปีนังก็จะได้ให้พิมพ์ดีดทันส่งไปรษณีย์ในวันที่ ๑๔ นั้น
บรรดาจดหมายที่หม่อมฉันมีถวายไป ตั้งแต่ออกจากปีนังมาแล้ว คงทรงสังเกตได้ว่าหม่อมฉันเขียนเองโดยด่วนทั้งนั้น ไม่มีร่างหรือสำเนาอยู่ที่หม่อมฉัน สำหรับสอบว่าได้ทูลเล่าเรื่องถึงเพียงไหน จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าได้ทูลมาเพียงกลับจากเกาะบาหลีถึงบันดุงเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน จึงจะทูลเรื่องแต่วันนั้นต่อมา เมื่อถึงบันดุงทูลกระหม่อมท่านทรงจัดให้หม่อมฉันอยู่ในตำหนักประเสบัน ห้องเดียวกับที่พระองค์ท่านประทับเมื่อเสด็จไปชวา ห้องต่อไปที่คุณโตเคยอยู่นั้น โปรดให้หญิงพูนกับหญิงพิลัยอยู่ หญิงเหลือนั้นอยู่ห้องเดียวกับหม่อมฉันตามเคย หญิงจงเธอไปถึงก่อนหม่อมฉันหลายวัน พักอยู่ห้องในตำหนักปันจรากันที่ต่อกับห้องเสวย ไปคราวนี้ก็ใช้เครื่องแต่งตัวชุดเดียวกับคราวก่อน แต่หม่อมฉันรู้สึกว่าเวลาหนาว เช่นวันไหนฝนตกหนาวกว่าเมื่อไปคราวก่อน น่าจะเป็นเพราะแก่ชราลงกว่าแต่ก่อน ตรงตามที่ท่านเคยทรงปรารภาว่าคนแก่รู้สึกหนาวแรงกว่าคนฉกรรจ์นั่นเอง
วันที่ ๒๙ มิถุนายน ตรงกับวันประวัติของทูลกระหม่อม เวลาเช้าพระญาติและบริวารชนถวายพรและถวายของขวัญ ประทานอนุญาตให้หม่อมฉันผูกด้ายขวัญคาดข้อพระหัตถ์ด้วย ตอนสายประทานสลากแก่ชั้นบริการชน กลางวันฉายรูปหมู่ หม่อมฉันให้ขยายรูปที่หม่อมฉันตั้งกล้องของหม่อมฉันให้นายชิตคนรับใช้ลั่นไกถวายมากับจดหมายฉบับนี้ด้วย ๓ แผ่น แผ่นสองพี่น้องนั้นกรมหลวงทิพยรัตนฯ เธอชวนให้ลงชื่อถวายด้วย เวลาบ่าย ๕ โมงมีงานสโมสรเชิญพวกฝรั่งที่ทรงคุ้นมาเพิ่มกับญาติด้วยหลายคน แต่เผอิญบ่ายวันนั้นฝนตก ผู้มาประชุมต้องนั่งเรียงกันที่เฉลียงหน้าห้องหลวงทิพ (ท่านคงทรงจำได้ว่าอยู่ตรงไหน) สองด้านเฉลียงทางด้านหลังตำหนักเล่นหุ่นชวาเป็นมหรสพ มีการเลี้ยงเครื่องว่างและประทานสลากแก่ผู้ที่มาประชุมทุกคน เลิกงานเวลาทุ่มเศษ ยินดีที่ได้เห็นทูลกระหม่อมทรงแข็งแรงเป็นปกติเหมือนแต่ก่อนหมดทุกอย่าง
พอเสร็จงานวันประสูติแล้วหญิงพิลัยก็ทำความ จะต้องเล่าถึงเหตุโดยพิสดารสักหน่อย คือเมื่อจะกลับจากสุรไบยามาเมืองบันดุงนั้นทูลกระหม่อมท่านว่าเช่ารถนอนให้มาแต่พวกเราทั้งหลัง รถนอนนั้นเป็นของบริษัทรถนอนซึ่งเพิ่งตั้งมาได้สักปีเศษ ทำวิจิตรพิสดารหรูหราต่างๆ ตามอย่างรถ wagon Lit ในยุโรปหมดทุกอย่าง สิ่งที่แปลกอันเป็นมูลเหตุให้เกิดความนั้น คือหน้าต่างรถปิดฝากระจกหมดเพื่อมิให้ฝุ่นหรือผงถ่านปลิวเข้ามาได้ถึงในรถ อากาศสำหรับหายใจเขาทำช่องกรองอากาศให้บริสุทธิ์เข้าทางข้างรถ บนเพดานมีพัดลมสำหรับดูดอากาศเสียส่งออกไปนอกรถ ในว่าอากาศในห้องนั้นเปลี่ยนใหม่ทุกนาที นอกจากนั้นมีพัดลมติดที่ในห้องอีกอันหนึ่งสำหรับให้ความเย็นที่ในห้องเมื่อพวกเราไปขึ้นรถนอน เขาเปิดเครื่องไฟฟ้าที่ว่ามาหมดทุกอย่าง ดูก็รู้สึกว่าสบายดี แต่เมื่อถึงเวลาเข้านอนหม่อมฉันรู้สึกว่าพัดลมที่ให้ความเย็นนั้นอยู่ข้างเย็นเกินไปด้วยลมเป่าจนไม่สบาย หาสวิชจะปิดพัดลมก็ไม่พบเพราะความหรูหราของรถนั้น หม่อมฉันทนไม่ไหว จึงเปิดประตูห้องออกไป เรียกคนประจำรถมาถามว่าจะปิดพัดลมได้หรือไม่ แกชี้สวิทให้ว่าจะปิดหรือจะผ่อนเพียงใดก็ได้เป็นแล้วกันไป แต่ฝ่ายหญิงพิลัยก็รู้สึกเช่นนั้น แต่เมื่อหาสวิชไม่พบเข้าใจว่าพัดลมนั้นอยู่ในกลไกที่เขาทำให้อากาศในห้องบริสุทธิ์ ก็เอาผ้าห่มคลุมตัวไม่ให้ถูกลม เปิดไว้แต่ศีรษะนอนมาจนตลอดคืน พอถึงบันดุงรู้สึกว่าตรงคอออกตึงๆ แต่ก็ไม่นึกว่าจะเป็นอะไรมากมาย พอเสร็จงานวันประสูติคอก็บวม ตัวร้อนปรอทขึ้นถึง ๑๐๐ ต้องเรียกหมอเซอเบ็กซึ่งเป็นหมอประจำพระองค์ทูลกระหม่อมมารักษา แกว่าเป็นโรคอะไรเรียกอย่างฝรั่งจำไม่ได้ แต่ก็คือคางทูมนั่นเอง ว่าจะฉายไฟฟ้ารักษาให้หายได้ในสี่ห้าวัน แต่ว่าโรคอย่างนั้นมักติดกัน แกสั่งให้หญิงพูนย้ายไปเสียจากห้องนั้น ไปอยู่ห้องเดียวกับพระองค์หญิงใหญ่ ณ ตำหนักปันจรากัน ส่วนหญิงพิลัยนั้นก็ให้อยู่แต่ในห้อง เพราะฉะนั้นตลอดเวลาที่อยู่บันดุงหญิงพิลัยต้องถูกขังอยู่ในห้อง เป็นแต่ให้คนเข้าไปเยี่ยมได้บ้าง จนวันที่ ๘ ก่อนวันจะกลับหมอจึงอนุญาตให้ไปไหนๆ ในบันดุงได้เห็นแต่สวนสวรรค์ของทูลกระหม่อมท่านทรงพาไปดู รอดที่เธอเคยไปบันดุงแล้วจึงมิสู้เดือดร้อนนัก
หม่อมฉันเองในตอนอยู่บันดุงก็มิใคร่จะได้เที่ยวนัก ไปดูแต่ที่บางแห่งซึ่งยังไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน วันไปดูภูเขาไฟปะปันดายังหม่อมฉันก็ขอตัวเพราะเคยเห็นแล้วเมื่อตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง หม่อมฉันไม่ไปทูลกระหม่อมท่านก็ไม่เสด็จ คงไปแต่หญิงจง พระองค์หญิงใหญ่พาไปด้วยกันกับพระองค์จุมภฏแลพันทิพย์
ถึงวันที่ ๙ กรกฎาคม เวลาเช้า ๒ โมงเศษออกจากตำหนักมาขึ้นรถไฟขากลับจากชวามาเป็น ๒ พวกด้วยกัน พระองค์หญิงใหญ่หญิงกลางกับนายนราภิบาล จะมาขึ้นรถไฟที่สิงคโปร์ไปกรุงเทพฯ พวกหม่อมฉันจะถ่ายลำลงเรือกำปั่นยนต์ยุตแลนเดียที่สิงคโปร์มาปีนัง ทูลกระหม่อมกับหม่อมสมพันธ์และพระองค์หญิงอินทุรัตน์มาส่งถึงเรือ และทูลกระหม่อมท่านจะเสด็จอยู่ที่เมืองบะเตเวียต่อไปอีก ๒ วัน เพื่อจะพาพระองค์หญิงเที่ยวด้วยเพราะเป็นเวลาโรงเรียนปิดเทอม
ลงเรือแล้วฉายรูปหมู่กันอีกพักหนึ่ง (รูปกำลังล้างอยู่เวลาเขียนจดหมายนี้) เรือออกจากท่าตันหยองเปรียกเวลาบ่าย ๕ โมง แล่นมาในทะเลชวาตอนหัวค่ำมีคลื่นเล็กน้อยพอหญิงพูนและหญิงเหลือเมา แต่ตอนดึกพอเข้าช่องบังคาแล้วคลื่นก็เรียบราบมาจนตลอดถึงปีนัง ถึงเมืองสิงคโปร์วันที่ ๑๑ เวลาโมงเช้า หม่อมฉันไม่เคยชอบเมืองสิงคโปร์มาแต่ไรๆ เพราะอากาศชื้นทั้งร้อนอับและฝนตกพร่ำเพรื่อแทบทุกวัน มาถึงคราวนี้ก็เป็นเช่นนั้นตามเคยทั้งประจวบเวลาฉุกละหุกด้วย พวกจีนที่ขับรถออมนิบัสของกรมเทศบาลสะไตรค์ กรมเทศบาลชวนพวกมลายูที่ขับรถแท๊กซี่ไปทำงานแทนพวกจีนกับพวกมลายู คนขับรถจึงเกิดวิวาทกัน ใครขึ้นรถของพวกมลายูก็มักจะถูกคว้างปา กัปตันเรือยุตแลนเดียนี้เองก็ถูกขว้าง แต่ขว้างกันเพียงในตำบลที่มีจีนอยู่มาก ถึงกระนั้นหม่อมฉันก็ตัดสินเป็นยุติว่าบ่ายวันนั้นจะไม่ขึ้นเที่ยวในเมืองสิงคโปร์ เผอิญเรือยุตแลนเดียเทียบท่าคอยอยู่แล้วจะออกจากสิงคโปร์ พอรุ่งเช้าวันที่ ๑๒ หม่อมฉันลงจากเรือออบเดนนอดก็ตรงขึ้นเรือยุตแลนเดียทีเดียว ร่ำลากับพระองค์หญิงทั้ง ๒ ที่เรือออบเดนนอด เธอจะอยู่ที่เมืองสิงคโปร์อีก ๒ วัน ตอนนี้เรือยุตแลนเดียจะไปเมืองมะละกาและปอทเสวตเตนแฮมตามเคย ถึงเมืองปีนังวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กรกฎาคมเวลาเช้า เห็นจะไม่ต้องทูลพรรณนาระยะทางเพราะท่านเคยเสด็จเองแต่ก่อนแล้ว
คราวนี้จะทูลเรื่องเบ็ดเตล็ดต่อไป เมื่อหม่อมฉันพักอยู่บันดุงได้รับลายพระหัตถ์ของท่านฉบับลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ส่ง ๒ วันถึงอีก เมื่อกลับมาถึงเมืองสิงคโปร์วันที่ ๑๑ ห้างอีสตเอเซียติคเขาเชิญลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๘ กรกฎาคม มาให้อีกฉบับ ๑ คงมาถึงวันที่ ๙ หรือที่ ๑๐ มารออยู่ที่ห้างนั้น หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เมื่อใดก็รู้สึกชื่นใจทุกครั้ง แต่ไม่ถึง “ปลาบปลื้ม” เหมือนกับฉบับที่ประทานพรเมื่อตรงวันเกิด
เรื่องบวชเจ้าชายตรีอนุวัฒน์ของกรมขุนมรุพงศ์ฯ เป็นมหานิกายนั้น หม่อมฉันเองออกรู้สึกข้องใจมาแต่แรกทราบข่าว ได้ยินว่าเจ้าภาพก็อยากให้บวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่พระยาชาติเดชบอกว่าถ้าจะบวชเป็นมหานิกาย บวชในวัดพระแก้วไม่ได้ หม่อมฉันนึกว่าพระยาชาติเดชเห็นจะไม่กล้าบัญชาเช่นนั้นโดยอำเภอใจ น่าจะเป็นเพราะสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ไม่ยอมเป็นอุปัชฌาย์มหานิกาย พระยาชาติเดชจนปัญญามิรู้จะแก้ไขอย่างไรจึงถือว่าเป็นการติดขัด ที่จริงแก้ได้ง่ายๆ นิมนต์พระสงฆ์นหานิกายมาเป็นคณะปรกก็แล้วกันเท่านั้น คิดดูถึงประเพณีเก่าซึ่งคนชั้นเรารู้กันอยู่ ในเจ้านายถือเป็นคติกันมาแต่ก่อนว่าถ้าเจ้านายไม่ได้ทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งคือไม่ได้เป็นนาคหลวง ก็เป็นนิมิตส่อความเลวทรามหรือเสียหายของเจ้านายพระองค์นั้น แต่ว่าทรงผนวชในวัดพระแก้วได้แต่เป็นสามเณรครั้งหนึ่ง กับเป็นพระภิกษุครั้งหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะทรงผนวชอีกจะทรงผนวชในวัดพระแก้วไม่ได้ ข้อนี้มีตัวอย่างเช่นสมเด็จกรมพระยาปวเรศเมื่อทรงเป็นสามเณรประชวรเป็นทรพิษต้องลาผนวช ครั้นหายประชวรแล้วกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพจัดการให้ทรงผนวชใหม่ อีกพระองค์ ๑ คือกรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ ว่าเมื่อพระชันษามากแล้วทรงผนวชแก้บนอีกครั้ง ๑ ก็ต้องทรงผนวชที่วัดสระเกศ ได้ฟังเล่ามาดังนี้ แต่ที่ได้เคยเห็นนั้น การทรงผนวชเจ้านายโดยปกติพระสงฆ์คณะปรกมหานิกายกับธรรมยุตปนกันเสมอ สมเด็จกรมพระยาปวเรศทรงเป็นอุปัชฌาย์ทั้งมหานิกายและธรรมยุต เหตุที่คณะปรกเป็นธรรมยุตล้วนน่าจะเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงผนวชเป็นสามเณรเป็นทีแรก จึงเอาเป็นเยี่ยงอย่างในการทรงผนวชพระเจ้าลูกยาเธอสืบมา ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงผนวชพระเจ้าน้องยาเธอคณะปรกก็เป็นธรรมยุตล้วนอย่างนั้น แต่ผู้อื่นเช่นหม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ถึงจะบวชเป็นธรรมยุตคณะปรกก็คงปนกันทั้ง ๒ นิกายเหมือนอย่างเดิม พิธีบวชนาคหลวงประจำปีจึงจัดเป็น ๒ วัน วันแรกทรงผนวชพระเจ้าน้องยาเธอ วันที่ ๒ บวชหม่อมเจ้าและหม่อมราชวงศ์ ถ้าบวชมหาดเล็กเป็นนาคหลวงจัดเป็นงานหนึ่งต่างหากใช้ลักษณะการทำขวัญด้วยบายศรีตองและมีผู้เชิญขวัญ ประเพณีตามที่ทูลมานี้คนสมัยนี้ดูจะไม่รู้กันเสียแล้ว ที่จะห้ามเจ้านายอันมิได้มีความเสื่อมเสียไม่ให้ทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นหาควรไม่
หม่อมฉันมีความขัดข้องอย่างประหลาด ในเวลาเมื่อไปเที่ยวเมืองชวาและเกาะบาหลีอย่างหนึ่ง ด้วยเรื่องหาของถวายฝากท่าน ไปถึงไหนก็บ่นแก่ลูกว่า ที่จะได้อะไรไปถวายฝากเสด็จอาว์ ยังไม่ทันพบของที่ต้องใจก็นึกขึ้น ว่าท่านจะเสด็จไปชวาในเร็วๆ นี้ จะได้ทอดพระเนตรของเหล่านั้นเอง ถ้าเลือกอะไรถวายไป เมื่อเสด็จออกไปชวาไปเห็นสิ่งนั้นยังมีดีกว่าที่หม่อมฉันเลือกถวายดูก็จะออกเสียไป จึงคิดหาอุบายแก้ไขความขัดข้อง ไปสำเร็จที่เมืองสุรไบยา พบแผนที่เกาะชวาและเกาะบาหลีที่เขาทำให้ใส่กระเป๋าเสื้อได้ เป็นของเหมาะดี เพราะธรรมดาแผนที่ถ้าทำสะเกลใหญ่และเห็นได้ชัดก็มักเป็นผืนใหญ่ถึงต้องทำกลักใส่ ถ้าทำให้สะเกลเล็กให้พกได้ก็ดูยาก แผนที่ๆ หม่อมฉันหาได้นี้เขาทำสะเกลใหญ่แต่ตัดเป็น ๓ แผ่น คือ ชวาฝ่ายตะวันตกแผ่น ๑ ชวาตอนกลางแผ่น ๑ ชวาฝ่ายตะวันออกแผ่น ๑ พับใส่ซองไว้ด้วยกันดูง่ายและเอาไปง่าย หม่อมฉันหาแผนที่เกาะบาหลีได้อีกแผ่น ๑ ใส่รวมไว้ในซองเดียวกันถวายเป็นของฝากจะได้ทอดพระเนตรไปในเวลาเดินทางไปชวา หม่อมฉันได้ส่งมาพร้อมกับจดหมายนี้ หวังใจว่าจะเป็นประโยชน์
หม่อมฉันเข้าใจว่าชายงั่วคงไปตามเสด็จด้วย เธอชอบเครื่องกลไกอยู่แล้ว ควรให้เธอรับหน้าที่เป็นช่างถ่ายรูป ด้วยมีที่น่าฉายรูปมากหม่อมฉันก็ฉายมามาก เมื่อถึงปีนังพิมพ์แล้วจะเลือกรูปที่แปลกๆ ส่งไปถวาย
หม่อมฉันกลับมาถึงปีนังเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กรกฎาคม เวลา ๓ โมงเช้า ได้ทราบว่าเมื่อหม่อมฉันไม่อยู่เกิดความในเมืองปีนังนี้ เหตุด้วยจีนเถ่าแก่คน ๑ ซึ่งเป็นผู้เคยเรี่ยรายเงินส่งไปช่วยจีนรบญี่ปุ่น แต่เอาเงินที่เรี่ยรายได้นั้นไปซื้อสินค้าญี่ปุ่นขายเป็นอาณาประโยชน์ พวกจีนรู้เข้าพากันโกรธถึงยิงเถ้าเกนั้นตาย แล้วเลยสมคบกันเที่ยวแย่งของตามร้านแขกร้านจีนที่ว่าขายของญี่ปุ่น เกิดเป็นทำนองจลาจลในถนนปีนังอันเป็นทำเลร้านขายของ ถึงต้องเรียกระดมโปลิศและวอลันเตียเข้ากีดกันและจับตัวพวกหัวหน้า เดี๋ยวนี้ว่าสงบแล้ว แต่พวกร้านขายของยังพากันหวาดหวั่นอยู่
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด