วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ พระยาอนุมานราชธน

(สำเนา)

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้าฯ ตรวจค้นหาคำอาทมาฏตามที่ทรงแนะแนวทางประทานมา ในลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๕ เดือนนี้ พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

ในชั้นต้น ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในพจนานกรมภาษามอญ คงพบคำที่มีเสียง ใกล้กันที่สุด ก็คือคำว่า เอาะห์ตะเมอะห์ แปลว่า บันเทอง ความไม่เข้ากันกับ อาทมาฏ ซึ่งในพระราชพงศาวดารมีเค้าคล้ายเป็นกองสื่อข่าว และในจดหมายเหตุเรื่องตีเมืองพุทไธมาศครั้งธนบุรีเรียกว่า กรมอาจารย์บ้าง กองอาทมาฏบ้าง (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๖ หน้า ๗ แล ๘)

ข้าพระพุทธเจ้าได้วานคนไปสืบถามพระที่วัดชนะสงคราม ได้รับตอบว่า “คำว่า สมิงอาทมาว สองคำนี้ ท่านเจ้าคุณสุเมธมุนี เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ว่าเป็นภาษามอญทั้งสองคำ และเป็นบรรดาศักดิ์มอญด้วย แต่คำในภาษามอญที่คล้ายคลึงคำว่า อาทมาฏ นั้น ท่านว่านึกไม่ได้ เป็นแต่เมื่อตอนคำสองคำ คือสมิงและอาทมาฏ เป็นสมิงอาทมาฏแล้ว แปลเป็นภาษาไทยได้ความว่า แม่กอง”

คำ อาทมาฏ เป็นอันได้ความแน่ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ว่ามีอยู่ในภาษามอญ จะเป็นคำเก่าของมอญ หรือคำเดิมได้มาจากภาษาทางอินเดีย จึงแปลกันไม่ออก ที่แปลว่านายกอง คงแปลเดาตามรูปความ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ว่าจะมาจาก อาตมารถ ในภาษาสํสกฤต ซึ่งพราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี ชี้แจงไว้ในหนังสือวรรณคดีสมาคมว่า มีอยู่ในภาษาทมิฬ เป็นภาษาปากใช้พูดกันเท่านั้น หมายความว่าลับ ความน่าจะเข้ากันได้กับลักษณะกองอาทมาฏ แต่ยังมีที่ขัดข้องอยู่ที่คำนี้ไม่ใช่เป็นคำที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในภาษาทมิฬ บางทีทมิฬจะได้ความหมายในคำนี้มาจากภาษาอื่นอีกต่อหนึ่ง ภาษาที่เกี่ยวข้องกับทมิฬและมอญ ก็มีภาษาเตลุคุหรือที่เรียกในภาษาปรากฤตว่า เตลิงค์ ว่าเป็นกำเนิดเดิมของคำว่า เตลง ที่ในหอสมุดมีพจนานุกรมเตลุคุ-อังกฤษ แต่ไม่ได้ให้ตัวโรมันไว้ ข้าพระพุทธเจ้าลองจดตัวพยัญชนะ และสระภาษาเตลุคุมาประกอบเทียบดู กับตัวเตลุคุที่มีอยู่ในพจนานุกรม แต่ก็ต้องละความเพียรเพราะไม่สามารถจะทราบได้ถึงรูปคำที่ประกอบขึ้นแล้ว ว่ามีตัดเติมกันอย่างไร ความรู้ในคำ อาทมาฏ จึงไปชงักอยู่เพียงว่า มีอยู่ในภาษามอญเป็นชื่อตำแหน่งเท่านั้น.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า

(ลงนาม) พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ