วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ แล้ว

หม่อมฉันจะทูลสนองเรื่องเสด็จไปในงานก่อน ได้เห็นพระรูปฉายในหนังสือพิมพ์เมื่อเสด็จไปในงานพระศพสมเด็จพระสังฆราช สังเกตพระรูปโฉมทรงสมบูรณ์ดีอยู่ก็รู้สึกยินดี แต่เห็นทรงเครื่องประดับราชอิสริยาภรณ์ รวมกันน้ำหนักจะไม่น้อยก็สงสาร ถึงจะต้องแต่งเต็มยศ เมื่องานเมรุมีต่อ ๆ กันไป ถ้าเสด็จไปช่วยเต็มตำราแต่ละงานต้องเสด็จไปวันทำบุญหน้าศพวัน ๑ วันเผาวัน ๑ เป็นงานละ ๒ วัน การที่ไปนั้นยังต้องเสด็จไปเข้าหมู่คนเกลื่อนกลุ้ม และต้องไปนั่งแป้นเปลืองกำลังทุกงาน หม่อมฉันอยากจะทูลขอให้เสด็จไปแต่วันเผางานละวันเดียว วันทำบุญหน้าศพโปรดให้ชายงั่วหรือใครเชิญพวงมาลาไปวางต่างพระองค์จะดีกว่าเสด็จเอง ถึงงานหน้าพระศพทูลกระหม่อมหญิงก็ควรเสด็จไปแต่ตอนเย็นวันเดียว พิเคราะห์ดูก็เห็นจะไม่มีใครติเตียนเพราะเคารพต่อพระชันษาแก่ชราอยู่ทั่วไป

เรื่องชื่อเมืองกุสินารายในมณฑลอุดร (หรืออีสาน) ที่ทรงปรารภนั้นหม่อมฉันพอจะทูลอธิบายได้ ด้วยมีในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ (หน้า ๓๖๒) ว่าโปรดให้ยกบ้าน “กุจ-ฉิ-นารายณ์” เป็น “เมืองกุจฉินารายณ์” (มิใช่กุสินาราย) และมีในพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ (หน้า ๓๗๓) ว่าโปรดยกให้ “บ้านแร่-กุดลิง” (บางแห่งเขียนว่า “กุฏิลิง”) เป็น “เมืองวานรนิวาศ” หม่อมฉันทราบเมื่อขึ้นไปมณฑลอุดรคำว่า “กุด” นั้น หมายว่าอยู่ริมลำน้ำด้วยทั้งนั้น

กลองโนบัตของมลายู ฝรั่งเรียกว่า State Drums หม่อมฉันได้เคยเห็นที่เมืองไทร เขาเอามาประโคมรับเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงครั้ง ๑ มีกลอง ๒ ใบกับปี่เลา รวมกันเป็นชุด ประโคมที่หน้าบะไลบะซา (คือหน้าท้องพระโรงของสุลต่าน) เขาบอกว่าเอาออกประโคมต่อเป็นงานใหญ่ ตัวกลองเป็นอย่างขึ้นหนังกรึงแน่นเช่นกลองละคร แต่รูปเป็นกลองสั้น (อย่างกลองนำหน้าแถวทหาร) มีสายแถบต่อจากกลองไปคล้องห้อยคอคนตี ตีด้วยไม้ ๒ อันอย่างกลองนำทหาร ปี่ก็เป็นอย่างปี่ชวานั่นเอง ชาวประโคมแต่งตัวหรูหราแต่เสียงประโคมโนบัตไม่ดังเท่าใดนัก ทูลอธิบายถึงกลองโนบัตเกิดประหลาดใจด้วยทางเมืองเชียงใหม่ก็มีเครื่องประโคมทำนองเดียวกัน สำหรับขึ้นหลังช้างนำเจ้าเชียงใหม่ มีกลองผูกสายห้อยอย่างเดียวกันกับกลองโนบัตมลายู ขนาดกลองก็เท่าๆ กัน ผิดกันแต่ตีด้วยไม้อันเดียว ใบ ๑ กับ “ไฉน” คือเอาปลายงาช้างตัดยาวสักคืบ ๑ เจาะรูติดลิ้นโลหะสำหรับเป่าที่ตรงกลางอัน ๑ กับฆ้องโหม่งใบ ๑ เรียกรวมกันว่า “กลองมงคล” หรืออะไรหม่อมฉันคลับคล้ายคลับคลาไปเสียแล้ว เกิดความคิดขึ้นมาว่าเครื่องประโคมด้วยกลองกับปี่ เช่นกลองโนบัตก็ดี กลองแขกและกลองมลายูก็ดี กลองมงคลก็ดี แม้จนถึงกลองชนะก็ดี น่าจะมาแต่ครูเดิมเดียวกัน และเป็นของสำหรับประโคมเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินทั้งนั้น กลองเดี่ยว ตั้งก็ตาม แขวนก็ตาม เป็นของอีกประเภทหนึ่งต่างหาก สำหรับแต่ให้ส่งเสียงดัง เช่นกลองวินิจฉัยเภรี ก็สำหรับแต่ให้เสียงดังเข้าไปถึงพระกรรณ เมื่อเสด็จประทับอยู่ในพระราชมนเทียร เป็นต้น

งานศราทธพรตที่พวกโรมันคาทอลิคทำถวายโป๊บนั้น ไม่น่าทูลพรรณนาเพราะตัวพิธีเหมือนอย่างทำฝังศพ คือตั้งต้นบาดหลวงผู้เป็นประมุขทำพิธีมาส Mass ก่อนเช่นกับพราหมณ์ทำอัตมสูตร อันต้องทำเป็นเบื้องต้นของการพิธีทุกอย่างหมด เมื่อทำพิธีมาสแล้วมีเทศนากัณฑ์ ๑ จึงทำพิธีศราทธพรตต่อไป ก็ไม่มีอะไร นอกจากพวกบาทหลวง ที่ทำพิธีมายืนตรงหัวหุ่นหีบศพ ซึ่งตั้งไว้บนชั้นที่กลางวิหาร แกว่งกะถางเครื่องเผาเนื้อไม้ให้ควันไปถึงหีบและโปรยน้ำมนต์ไปที่หีบ สมมติว่าเป็นการล้างบาปให้โป๊บพิธีการศพใคร ๆ ก็ทำอย่างเดียวกัน คราวนี้มีแปลกแต่ทำหุ่นรูปมงกุฎโป๊บตั้งไว้บนหลังหีบ และติดพระรูปของโป๊บไว้ข้างปลายหีบ กับแต่งห้อยแถบผ้าดำมีรูปมงกุฎโป๊บที่หน้าวิหาร และบักธงโป๊บสีขาวกับสีเหลืองต่อกันไว้บนหลังคามุขทางข้างวิหาร ทำพิธีราวสักนาฬิกาหนึ่งก็เสร็จ

หม่อมฉันเคยทูลว่าในหมู่นี้ที่ปีนังไม่มีอะไรสนุกพอจะไปดูให้หย่อนใจได้ หนังฉายก็ยังมีแต่เรื่องที่บำรุงราคะจริตอยู่เป็นพื้น เดี๋ยวนี้มีบริษัทฝรั่งมาเล่นระบำให้คนดูพวกหนึ่ง ว่าคนเล่นถึง ๑๐๐ คน เรียกค่าที่นั่งชั้นที่ ๑ ถึง ๓ เหรียญ พอหม่อมฉันเห็นภาพแถลงการณ์ในหนังสือพิมพ์ก็สิ้นอยากดู ได้ตัดรูปแถลงการณ์ถวายมาทอดพระเนตรด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ