วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ได้รับประทานแล้ว

พระดำรัสอธิบายถึงเมืองพาราณสีนั้น เข้าใจดีทีเดียว รามนครได้แก่ จังหวัดพระนคร พาราณสี ได้แก่ กรุงเทพฯ กาสี ได้แก่ สยาม

ชื่อพราหมณ์ผู้ใหญ่ในเมืองเขมร จำได้ว่ามีอยู่ในหนังสือขอม เรื่องราชาภิเษกพระเจ้ามณีวงศ์ ซึ่งเกล้ากระหม่อมได้แปลถอดถวายฝ่าพระบาทได้ทรงจัดให้ตีพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ จึงหยิบมาค้นดู พบชื่อเป็นสมเด็จพระอิสีภัทราธิบดี ไม่ใช่สูงแต่สมเด็จ คำอิสีก็สูงถนัดใจ ที่แกกราบทูลว่าพวกแกมาแต่พนมไกรลาศนั้นไม่สมเลย ถ้ามาแต่พนมไกรลาศควรจะเป็นศิเวส เมื่อเป็นวิษณเวสก็ควรจะกราบทูลว่ามาแต่เกษียรสมุทร

คำอุทานตามที่กราบทูลมาก่อน ซึ่งอ้างพระนามกรมหมื่นวรวัฒน์นั้น เกิดแต่การพูดกันถึงช่าง ว่าใครแข็งอยู่ในฐานที่เป็นครู และใครอ่อนอยู่ในฐานที่เป็นนักเรียน นั่นเป็นสาเหตุมาก่อน แล้วคำอุทาน เออ อ้าว อ้อ จึงตามมาเป็นเพื่อเหตุทีหลัง หาได้เจาะจงพิจารณาคำอุทานเป็นหลักไม่ เหตุฉะนั้นถ้าหากได้พิจารณาคำอุทานละเอียดต่อไปแล้วจะเห็นปรากฏความแปลกประหลาดอีกมาก ในคำฝรั่งที่ร้องว่า “oh” นั้น ของเราก็มีว่า “โอ้” ความหมายก็ตรงกัน คำ “ah” ของเราก็มีว่า “อ้า” แต่ความหมายดูเหมือนจะผิดกันไปเล็กน้อย เป็นความจริงอย่างพระดำรัส ที่ว่าเสียง อ หลุดออกมาได้ง่าย แต่แล้วกลายเป็น ห ฮ ไปก็ง่ายเหมือนกัน เช่นสร้อยโคลง คำว่า เฮย ก็คือ เอย คิดตามแนวนั้น โห่ ก็คือ โอ เห่ ก็คือ เอ ส่วนที่มีพยัญชนะอื่นมาแกมเข้าก็เห็นทาง เช่นเจ๊กร้อง “อั๊ยย่า” ก็เพราะตัวสะกดนำไป คำที่เรียกกันในโทรศัพท์ว่า “อาโหล” นั้นก็เป็นคำฝรั่งว่า “Hallo” ตัวสะกดนำไปเหมือนกัน ลางทีคำว่า เฮโล จะเป็น เฮลโล ก็ได้ ข้อที่ทรงสันนิษฐานว่า ลางทีจะมีคำเดิมเป็นภาษาอื่นมานั้น มีมูลไม่ใช่เหลวไหล

คราวนี้จะกราบทูลถึงคำว่า “ยาม” เคยตรวจค้นคำนี้มาแล้ว พบอย่างประหลาดใจที่สุด ท่านอธิบายไว้ว่า “ยาม” (คือ ยามะ) เป็นคำเดียวกับ “ยม” (คือยะมะ) ยม หมายถึงพญายม ผู้เป็นเจ้าแห่งความตาย ยาม (เติมลากข้าง) หมายเป็นผู้รับใช้ตามคำสั่งของพญายมไปทำให้ตาย นั่นก็คือทหารตรงตัวเป็นคำที่ฟังได้ เวลาที่เรียกว่ายามก็คือเวลาที่เปลี่ยนทหารรักษาการณ์ ตามที่เราเรียกว่า ย่ำรุ่ง ย่ำเที่ยง ย่ำค่ำ จะเป็น ยามรุ่ง ยามเที่ยง ยามค่ำ เราจะพูดเพาๆ ไป เอายามเป็นย่ำหรือคำไทยเราจะมีย่ำอยู่ก็ไม่ทราบ หนังสือเก่าใช้คำซ้อนว่า “ยำยาม” ก็มี แต่ที่พูดว่าย่ำ ก็มีแต่ รุ่ง เที่ยง ค่ำ สามกาละเท่านั้น ส่วนยามหนึ่งสองยาม สามยาม ไม่มีใครพูดว่า ย่ำ ส่วนกลองนั้นเคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเล่าว่า เขาเอาไว้บนประตูตีประโคมเมื่อเวลาทหารเปลี่ยนยาม ก็ได้แก่ประโคมยามนั้นเอง แล้วยังจำชื่อกลองซึ่งเขาเรียกกันไว้ได้ด้วย ว่าเขาเรียก “โน่ระบัด” จะเป็นภาษาอะไรก็ไม่ทราบ และประเพณีที่เอากลองไว้บนประตู จะเป็นประเพณีเมืองไหน หรือทั่วไปในอินเดียก็ไม่ทราบ

ละมั่ง ทราบแน่ว่าเป็นกวางชนิดหนึ่ง ซึ่งปลายเขาแผ่แบนดุจฝ่ามือแล้วแตกเป็นยอดสะพรั่งขึ้นไปดุจนิ้วมือ คำเครื่องเล่นเทศน์มหาพนก็มีว่า “ละมั่ง เขามันตั้งเป็นนิ้วมือ” แต่มันจะชอบนอนปลักหรือไม่ยังไม่ทราบ ทราบแต่วัวแดง อันเป็นวัวป่าชนิดเล็ก เขาว่ามันชอบนอนปลักเหมือนควาย ถ้าละมั่งชอบนอนปลักก็ได้แก่คำว่า “ฝังดิน” แต่ “กินเพลิง” นั้นกินไม่ได้แน่ ถึงระมาดก็กินไม่ได้

ตามที่ทูลมาถึงเรื่อง “ยกทองล่องจวนเจตคลี” นั้น ดีที่ได้ทราบว่า “สมปักล่องจวน” เป็นสมปักชนิดทองพื้นมีเชิงลาย คำ “เจตคลี” ซึ่งทรงสันนิษฐานว่าจะเป็นชื่อตำบลที่ทำผ้านั้นเข้าทีมาก แต่ต้องตราไว้พิจารณาดูอื่นเทียบเคียงต่อไปก่อน

พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ที่ทรงพระเมตตาตรัสเล่าถึงพระธาตุเชิงชุมแห่งสกลนครให้ทราบเกล้า ตลอดไปถึง “อรดีนารายณ์เชงเวง” ด้วย ทำให้ “หูผึ่ง” ได้ความรู้ขึ้นใหม่ ว่าศรีวิลัยของเขมรแผ่เข้าไปถึงสกลนครด้วย พระธาตุเชิงชุมปรากฏว่าเป็นโครงเขมรก่อต่อนั้น ก็เป็นอย่างเดียวกันกับพระธาตุพนมที่เมืองนครพนม นั่นก็ก่อต่อโครงเขมรเป็นไทยไสเหมือนกัน ชื่อ “นารายณ์เชงเวง” ดูเหมือนเคยได้ยินแต่จะเป็นอะไรอยู่ที่ไหนไม่ทราบเลย เมื่อได้ฟังพระดำรัสเล่าออกชื่อฟังแปลกหูก็อดอยู่ไม่ได้ ได้เปิดพจนานุกรมภาษาเขมรออกดูค้นแต่ก็ไม่ได้เรื่อง จะเดาก็มีแต่เหลว แม้กระนั้นก็อดไม่ได้ ชื่อเมืองกุสินาราย คิดว่าไม่ใช่ชื่อเมืองที่พระเจ้าเข้านิพาน น่าจะหมายถึงพระนารายณ์ ลางทีจะมีสถานพระนารายณ์อยู่ที่นั่นอย่างเดียวกันกับ “อรดีนารายณ์เชงเวง” ที่นครพนม คำ “กุสิ” ในแขวงนั้นเขาจะมีหมายอย่างไรหรือเปล่าก็ยังไม่ทราบ ถ้าคิดเดาแปลงคำนั้นก็คล้ายกับ “กุฏิ” ถ้าเป็น “กุฏินารายณ์” ก็เป็นได้ความเหมือนคาด เมื่อคิดคาดชื่อ “พระธาตุเชิงชุม” ก็เป็นความว่าที่ประชุมที่เชิงอะไรก็ไม่ทราบ สันนิษฐานว่าเชิงเขาอันจะขึ้นไปสู่สถาน “อรดีนารายณ์เชงเวง” นั้น

ในการที่จะเสด็จไปทอดพระเนตรเขาทำพิธีศราทธพรตถวายโป๊บแล้วจะมาตรัสเล่าประทานนั้นดีมาก อยากทราบอยู่ทีเดียวว่าเขาจะทำอย่างไรกัน ตั้งใจคอยฟังพระดำรัสเล่าประทานอยู่

ที่ในกรุงเทพฯ เวลานี้มีเต็มไปด้วยงาน

เมื่อวันที่ ๑๗ ก็มีงานพระราชกุศล ๕๐ วัน ที่บ้านเจ้าพระยายมราช

วันที่ ๒๐ ที่ ๒๑ ที่ ๒๒ หมายสั่งมีงานพระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า วันที่ ๒๒ ที่ ๒๓ ที่ ๒๔ หมายสั่งมีงานพระศพพระองค์เจ้าพิศมัย ดั่งได้ถวายใบพิมพ์กำหนดการมาให้ทราบฝ่าพระบาทแต่คราวก่อนแล้ว แล้วมีหมายสั่งออกอีกว่าวันที่ ๒๔ ที่ ๒๕ มีงานพระราชกุศลพระอัฐิและพระอังคารสมเด็จพระสังฆราชเจ้าที่วัดราชบพิธ แล้วมีหมายออกซ้อนอีกว่าวันที่ ๒๒ ที่ ๒๓ มีงานพระราชกุศล ๗ วันที่พระศพทูลกระหม่อมหญิงบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ดังใบพิมพ์หมายกำหนดการ ซึ่งได้ส่งมาถวายคราวนี้ด้วยแล้ว เมื่อมีงานแซกลำซ้อนกันดังนี้ ทางปฏิบัติก็ต้องแปรไปไม่เหมือนหมายบ้าง คือวันที่ ๒๒ นั้น คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปขึ้นหอนิเพธก่อน วางพวงมาลาของหลวงแล้วมอบการพระราชกุศลให้เจ้าภาพทำ ส่วนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปขึ้นพระที่นั่งดุสิต ปฏิบัติการพระราชกุศล ๗ วัน ที่พระศพทูลกระหม่อมหญิงต่อไป นอกจากที่กราบทูลมาแล้วนี้ ก็มีหมายสั่งงานรัชมงคลออกอีก กำหนดวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ และวันที่ ๑ ที่ ๒ มีนาคม มีรายละเอียดแจ้งอยู่ในใบพิมพ์ อันได้ถวายมาให้ทราบฝ่าพระบาทด้วยคราวนี้แล้ว และทราบว่าจะมีงานอีก ดังจะกราบทูลต่อไปนี้

วันที่ ๓ ที่ ๔ มีนาคม มีงานพระอัฐิพระองค์เจ้าพิศมัย กับทั้งสมเด็จพระพันวัสสาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทุติยสัปตมวาร ที่พระศพทูลกระหม่อมหญิงด้วย วันที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ งานพระศพพระองค์หญิงอาภา วันที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ งานพระศพพระองค์เจ้ารุจา วันที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ที่ ๑๒ งานศพเจ้าจอมมารดาทับทิม วันที่ ๑๒ ที่ ๑๓ ที่ ๑๔ งานศพแม่ใหญ่เทวกุล วันที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่๑๖ งานศพเจ้าพระยาอภัยราชา วันที่ ๑๖ ที่ ๑๗ ที่ ๑๘ งานศพท่านผู้หญิงวรพงศ์ กับท่านผู้หญิงวงศานุประพัทธเข้าคู่ แต่เจ้าพระยาวรพงศ์ขอถอนงานศพท่านผู้หญิงไป อ้างเหตุรังเกียจเผาวันศุกร์ เพราะฉะนั้นก็เหลือแต่ศพเดียว วันที่ ๑๙ ที่ ๒๐ ที่ ๒๑ หยุดตรุษไทย วันที่ ๒๒ ที่ ๒๓ ที่ ๒๔ งานศพพระยาศุภกรณ์

ฝ่าพระบาทจะทรงสังเกตได้ ว่าแม้แต่งานหลวงก็ซ้ำซ้อนกันอยู่มากแล้ว ซ้ำยังมีงานปลีกส่วนเชลยศักดิ์แถมเข้าอีกด้วย แต่ล้วนเขาก็มีปรารถนาจะให้ไปทั้งนั้น ลางงานก็จำต้องไปจริงๆ รู้สึกว่าอายุมากถึงปานนี้แล้ว ติดจะเหลือบ่ากว่าแรง

หนังสือเวรคราวนี้รู้สึกว่ายาวมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นปัญหาข้อใหม่ ซึ่งตั้งใจว่าจะกราบทูลก็ต้องงดระงับไว้คราวว่างต่อไปในวันหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ