เครื่องตั้งพระแท่นมณฑล

เครื่องตั้งพระแท่นมณฑล เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๒ ตั้งสิ่งใดบ้าง มีปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุ และมาปรากฏว่ามีสิ่งซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ อีกมาก บางสิ่งเพิ่มขึ้นเมื่องานบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๔ บางสิ่งซึ่งเพิ่มขึ้นต่อมาภายหลัง พึ่งจะได้ตั้งพระแท่นมณฑลงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อรัชกาลที่ ๕ เป็นครั้งแรก จึงควรจะกล่าวถึงเครื่องตั้งพระแท่นมณฑลด้วย แต่เพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่าน จะพรรณนาเป็นหมวดๆ และสิ่งซึ่งไม่มีอธิบายบอกเป็นอย่างอื่นนั้นเข้าใจว่าเป็นของเคยตั้งพระแท่นมณฑลมาแต่รัชกาลที่ ๑ คือ

หมวดพระเจ้า

๑. พระบรมสารีริกธาตุ (เมื่อรัชกาลที่ ๒ ทำที่ตั้งรับกรัณฑ์เป็นระย้ากินนร จึงเรียกกันว่า “พระธาตุระย้ากินนร” เดิมตั้งที่พระสงฆ์สวดมนต์พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันตกมาตั้งพระแท่นมณฑลเมื่อรัชกาลที่ ๔ และต่อมาทรงสร้างพระสถูปถมครอบนอกอีกชั้นหนึ่ง)

๒. พระพุทธบุษยรัตนฯ (ได้มาจากเมืองจำปาศักดิ์เมื่อรัชกาลที่ ๒ แต่พึ่งตั้งพระแท่นมณฑลพิธีเมื่อรัชกาลที่ ๔)

๓. พระแก้วเรือนทอง (ในหนังสืออื่นเรียกว่าพระเรือนแก้วก็มี เป็นพระหยก ได้มาเมื่อรัชกาลที่ ๓ เห็นจะตั้งพระแท่นมณฑลมาแต่ในรัชกาลนั้น)

๔. พระแก้วเชียงแสน (ได้มาเมื่อรัชกาลที่ ๔ พึ่งตั้งงานบรมราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ ๕ เป็นทีแรก

๕. พระชัยประจำรัชกาลที่ ๑

๖. พระชัยประจำรัชกาลที่ ๒

๗. พระชัยประจำรัชกาลที่ ๓

๘. พระชัยประจำรัชกาลที่ ๔ (พึ่งตั้งงานบรมราชาภิเษก ครั้งรัชกาลที่ ๕ เป็นทีแรก)

๙. พระชัยพิธี (พระทรงเครื่องยืนหล่อด้วยเงินหุ้มทองแต่ในรัชกาลที่ ๑)

๑๐. พระชัยหลังช้าง (ครั้งรัชกาลที่ ๑)

๑๑. พระนิรันตราย (ทรงสร้างสรวมพระทองคำของโบราณ เมื่อในรัชกาลที่ ๔ พึ่งตั้งงานบรมราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ ๕ เป็นทีแรก)

๑๒. คัมภีร์พระธรรม (คือพระไตรปิฎกย่อ สันนิฐานว่าจะพึ่งตั้งพระแท่นมณฑลเมื่อในรัชกาลที่ ๔)

หมวดพระราชสิริ

๑. พระสุพรรณบัฏ

๒. ดวงพระชันษา (จารึกพร้อมกับพระสุพรรณบัฏ)

๓. พระราชลัญจกร (แต่เดิมเรียกว่า “พระอุณาโลมทำแท่ง” คือทำแท่งครั่งประทับพระราชลัญจกรมหาอุณาโลม หมายความว่า พระราชโองการตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ โปรดให้ตั้งพระราชลัญจกรแทน)

หมวดเครื่องพระมุรธาภิเษก

๑. ครอบพระกริ่ง (บางทีจะได้เคยตั้งแต่ครั้งราชาภิเษก รัชกาลที่ ๔)

๒. พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ

๓. พระมหาสังข์ทอง

๔. พระมหาสังข์นาก (สร้างในรัชกาลไหนไม่แน่ แต่ไม่ปรากฏในหมายรับสั่งตลอดรัชกาลที่ ๓)

๕. พระมหาสังข์เงิน

๖. พระมหาสังข์ ๕ (รัชกาลที่ ๓)

๗. พระเต้าเบญจครรภใหญ่

๘. พระเต้าเบญจครรภรอง (รัชกาลที่ ๔)

๙. พระเต้าเบญจครรภห้าห้อง (รัชกาลที่ ๔)

๑๐. พระเต้าประทุมนิมิตรทอง

๑๑. พระเต้าประทุมนิมิตรนาก

๑๒. พระเต้าประทุนนิมิตรเงิน

๑๓. พระเต้าประทุมนิมิตรสัมฤทธิ์

๑๔. พระเต้าห้ากษัตริย์ (รัชกาลที่ ๔)

๑๕. พระเต้าบัวหยกเขียว (รัชกาลที่ ๔)

๑๖. พระเต้าบัวแดง (รัชกาลที่ ๔)

๑๗. พระเต้าจารึกอักษร (รัชกาลที่ ๔)

๑๘. พระเต้าศิลายอดเกี้ยว (รัชกาลที่ ๕)

๑๙. พระเต้าบังคลี

๒๐. พระเต้าเทวบิฐ (รัชกาลที่ ๔)

๒๑. พระเต้าไกรลาศ (รัชกาลที่ ๔)

๒๒. พระเต้านพเคราะห์ (รัชกาลที่ ๔)

๒๓. ครอบพระมุรธาภิเษก

หมวดเครื่องต้น

๑. พระมหามงกุฎ

๒. พระแสงขรรค์ชัยศรี

๓. ธารพระกร

๔. วาลวิชนี (พัดฝักมะขามก็เรียก)

๕. ฉลองพระบาท

๖. พระภูษารัตนกัมพล

๗. พระมหาสังวาล

๘. พระนพ

๙. พระสังวาลพราหมณ์

๑๐. พระธำมรงค์

๑๑. พระมาลาเพชร (หนังสือบางฉบับเรียกว่าพระชฎาเพชร)

๑๒. พระแส้หางช้างเผือก (เห็นจะแรกตั้งในรัชกาลที่ ๔)

๑๓. พระแส้จามรี

หมวดเครื่องพิชัยสงคราม

๑. หีบเครื่องพระพิชัยสงคราม

๒. หีบเครื่องพระมนต์พิเศษ

๓. พระมาลาเบี่ยง

๔. ฉลองพระองค์เกราะเหล็ก

๕. ฉลองพระองค์เกราะนวม

๖. เครื่องทรงลงยันต์ราชะ ๗ สี

หมวดพระแสง

๑. พระแสงดาบเชลย

๒. พระแสงจักร

๓. พระแสงตรีศูล

๔. พระแสงธนู

๕. พระแสงดาบเขน

๖. พระแสงหอกชัย

๗. พระแสงปืนคาบชุดข้ามแม่น้ำสะโตง

๘. พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย

๙. พระแสงดาบคาบค่าย

๑๐. พระแสงดาบใจเพชร

๑๑. พระแสงเวียด (เมื่องานบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๒ ทรงในงานไม่ได้เข้าพิธี)

๑๒. พระแสงทวน

๑๓. พระแสงง้าว

๑๔. พระแสงปืนคาบศิลาเคยทรง (คือพระแสงปืนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสำหรับพระหัตถ์ในการศึกสงครามมาแต่เดิม)

๑๕. พระแสงขอตีช้างล้ม

๑๖. พระแสงขอคร่ำด้ามไม้เท้า

๑๗. พระแสงชนักต้น

๑๘. พระแสงศร ๓ เล่ม (สร้างในรัชกาลที่ ๔ พึ่งตั้งงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นทีแรกเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕)

หมวดเครื่องสูง

๑. พระเศวตฉัตร (คือเศวตฉัตรพระคชาธาร)

๒. พระเสมาธิปัตย

๓. พระฉัตรชัย

๔. พระเกาวพ่าห์๑๐

๕. ธงชัยกระบี่ธุช

๖. ธงชัยครุฑพ่าห์

หมวดเครื่องราชูปโภค

๑. พานพระขันหมาก

๒. พระสุพรรณศรีบัวแฉก

๓. พระเต้าพระสุธารส

๔. พระสุพรรณราช

  1. ๑. พรรณนาไว้ในโคลงลิลิตพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถ้วนถี่

  2. ๒. ในรัชกาลภายหลัง ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ มาก็เพิ่มขึ้นอีกทุกรัชกาล

  3. ๓. ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง ตรงว่าด้วยงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็พรรณนาสิ่งซึ่งตั้งพระแท่นมณฑลไว้โดยพิสดาร แต่สังเกตเห็นว่าสิ่งซึ่งเกิดในรัชกาลที่ ๔ ตอนหลังก็มี เช่นพระเต้าเทวบิฐเป็นต้น จึงนึกสงสัยว่า หรือท่านจะได้หมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๕ ไปใช้เป็นหลัก โดยทราบจากสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์ว่า ทำอย่างเดียวกับครั้งรัชกาลที่ ๔ ก็มิได้สังเกตไปถึงสิ่งซึ่งเพิ่มขึ้นต่อภายหลัง

  4. ๔. พระชัยประจำรัชกาลอื่นนอกจากรัชกาลที่ ๑ สร้างภายหลังงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะฉะนั้นย่อมตั้งแต่พระชัยประจำรัชกาลก่อน

  5. ๕. บรรดาพระเต้าซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๔ ดูเหมือนจะใช้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นทีแรกเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ ทั้งนั้น

  6. ๖. ยอดแกะเป็นพระเกี้ยวยอด น่าสันนิษฐานว่าสร้างในรัชกาลที่ ๕ แต่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ท่านว่าตั้งพระแท่นมณฑลมาแล้วแต่ในรัชกาลที่ ๔

  7. ๗. เครื่องต้นแต่ ๑ ถึง ๕ กำหนดว่าเป็นเบญจราชกกุธภัณฑ์ แต่ในตำราราชาภิเษกไม่ตรงกันทุกตำรา ในปทุมชาดก ที่ธารพระกรว่าผ้ารัตกัมพล ที่วาลวิชนีว่าพระเศวตฉัตร ในหนังสือมหาวงศ์ที่ธารพระกรว่าเศวตฉัตร ในหนังสืออภิธานทีปิกา ที่วาลวิชนีว่าจามร

  8. ๘. แต่ ๑ ถึง ๘ เรียกพระแสงอัษฎาวุธ

  9. ๙. ที่เรียกพระแสงเวียด เพราะพระเจ้าเวียดนัม (องค์เชียงสือ) ถวายในรัชกาลที่ ๑

  10. ๑๐. พระเสมาธิปัตย พระฉัตรชัย พระเกาวพ่าห์ เรียกรวมกันว่า พระกรรม์ภิรมย์ เป็นฉัตรแพรขาวลงยันต์เส้นทอง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงสันนิษฐานว่า เดิมคงเป็นเครื่องหมายตัวแม่ทัพ คือ ทัพหน้า (วังหน้า) คัน ๑ ทัพหลวง (วังหลวง) คัน ๑ ทัพหลัง (วังหลัง) คัน ๑ ที่เอาขึ้นหลังช้างพระคชาธารก็คือฉัตรเครื่องหมายนี้เอง ฉัตรพระคชาธารวังหน้า ๕ ชั้น วังหลวง ๗ ชั้น วังหลังไม่เคยเห็น อาจเป็น ๓ ชั้นก็ได้ เวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่มีวังหน้าวังหลังจึงรวมเอาฉัตร ๓ คันมาไว้วังหลวงหมด เลยหลงทำเป็น ๗ ชั้นเหมือนกันหมดทั้ง ๓ คัน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ