วินิจฉัยเรื่องพระเชตวัน

๑. อธิบายชื่อพระเชตวัน

ในพระสูตรต่างๆ เมื่อขึ้นชื่อพระเชตวันในภาษามคธ มักเรียกว่า “เชตวเนอนาถบิณฑิกสฺสอาราเม” ชื่อที่เรียกดังนี้มีนามศัพท์ ๔ คำประสมกัน คือ เชต วน อนาถบิณฑ อาราม หมายเป็นชื่อท้องที่ ๒ คำ เป็นชื่อบุคคล ๒ คำ แต่ละคำมีอธิบายดังกล่าวต่อไปนี้

คำ “วะนะ” (ไทยเราอ่านว่า วัน และมักแผลงว่า พน) ในพจนานุกรมบาลี ของอาจารย์ชิลเดอสแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Forest ไทยเราแปลว่า ป่า (ไม้)

คำ “อารามะ” (ไทยเราอ่านว่า อาราม) อาจารย์ชิลเดอสแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Garden ศาสตราจารย์ ริส เดวิดส์ แปลว่า Park ไทยเราแปลว่า สวน

คำ เชตะ (ไทยเราใช้แผลงว่า เชตุ) เป็นชื่อเจ้าองค์ ๑ ซึ่งอยู่ ณ เมืองสาวัตถี

คำ“อนาถบิณฑ” เป็นชื่อมหาเศรษฐีคน ๑ ซึ่งอยู่ ณ เมืองสาวัตถี และเป็นมหาอุบาสกในพระพุทธศาสนา

ถ้าแปลรวมกันก็ว่า “สวนของอนาถบินฑที่ป่าเชต” หรือถ้าแปลให้พิสดารออกไป ก็ว่า “สวนอันเศรษฐีอนาถบิณฑ สร้าง ณ ป่าเจ้าเชต” ดังนี้

๒. อธิบายเรื่องสร้างพระเชตวัน

เรื่องตำนานการสร้างพระเชตวันมีอยู่ในหนังสือแต่งในอินเดียเป็นภาษามคธมาแต่โบราณ กล่าวความวิจิตรพิสดารมาก ในวินิจฉัยนี้จะกล่าวแต่เนื้อความตามวิจารณ์ของฉัน หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง จะกล่าวตามความคิดเห็นในปัจจุบันนี้ ว่าเรื่องที่แท้น่าจะเป็นอย่างไร

ในหนังสือเรื่อง “อินเดียสมัยพระพุทธศาสนา” (Buddhist India) ของศาสตราจารย์ ริส เดวิดส์ (Prof. Rhys Davids) กล่าวว่าเมื่อก่อนหน้าพุทธกาลมีนักบวชเรียกว่า “อาชีวก” อยู่แล้วหลายพวก (เรียกในหนังสือเรื่องอื่นว่า “ปริพาชก” อาจารย์ชิลเดอสแปลว่า Religious Mendicant คือนักบวช ก็มี) พวกอาชีวกนั้นล้วนเป็นผู้ปรารถนาหาทางนิพพาน แต่ไม่เชื่อวิธีอย่างที่พวกพราหมณ์สอนมาแต่ก่อน จึงออกบวชเป็น “ภิกษุ” (หมายความว่าผู้สละทรัพย์สมบัติบ้านเรือนออกไปอยู่แต่ลำพังตัวอาศัยเลี้ยงชีพด้วยภิกขาจาร) เที่ยวสืบเสาะหาธรรมทางนิพพานด้วยประการอย่างอื่น อาจารย์ ริส เดวิดส์ จึงแปลศัพท์ “อาชีวก” ว่า The Wanderers พวกอาชีวกคนใดไปคิดเห็นเป็นยุติว่าจะถึงนิพพานได้ด้วยอุบายอย่างใด ก็เที่ยวสั่งสอนผู้อื่นตามถิ่นประเทศต่างๆ มีคนเลื่อมใสออกบวชเป็นบริวารมากบ้างน้อยบ้างเรียกชื่อรวมทั้งหมู่ว่า “สงฆ์” ตัวครูผู้สอนก็ได้เป็นศาสดาจารย์ ประกาศตั้งธรรมวินัยตามลัทธิของตนขึ้นเป็นศาสนาอันหนึ่ง ยกตัวอย่างดังเช่นพวกที่เรียกว่า “นิครนธ์” และ “เดียรถี” (พวกหลังยังมีอยู่ในปัจจุบันนี้) ฝรั่งเรียกว่า “เจน” (Jain) เป็นต้น หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ก็ออกทรงผนวชอย่างเช่นพวกอาชีวก และท่องเที่ยวแสวงหาทางนิพพานเช่นเดียวกัน จนได้ตรัสรู้พระโพธิญาณก็ตั้งพุทธบริษัทและประกาศตั้งพระพุทธศาสนา เสด็จเที่ยวทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ตามถิ่นและประเทศต่างๆ อย่างประเพณีของพวกอาชีวกทั้งหลายนั่นเอง แม้ต่อมาในสมัยพุทธกาลก็ยังมีอาชีวกพวกอื่นๆ ตั้งขึ้นอีก ลัทธิอาชีวกใดมีคนเลื่อมใสมากก็รุ่งเรืองแพร่หลาย ลัทธิใดที่คนสิ้นนับถือก็สูญไป

ก็พวกอาชีวกหรือแม้พวกพุทธบริษัท เวลาเที่ยวสอนศาสนาไปตามที่ต่างๆ นั้น ถือประเพณีเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือถ้าไปพักอยู่ ณ ถิ่นบ้านใดเมืองใด ย่อมพักอยู่ตามที่ว่างภายนอกบ้านนอกเมือง มักอยู่ตามชายป่าระยะทางพอเดินเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านได้ ฝ่ายพวกชาวบ้านชาวเมืองเมื่อรู้ว่ามีพวกนักบวชสอนศาสนามาพักอยู่ใกล้ ก็พากันออกไปไต่ถามทางธรรมและฟังเทศน์ทำบุญ เป็นประเพณีที่รู้และนิยมกันทั่วไปในสมัยนั้น ที่ชายป่าอันเรียกตามภาษามคธว่า วะนะ ดังเช่นเวฬุวัน ณ เมืองราชคฤห์ มหาวัน ณ เมืองกบิลพัสดุ์ และมิคคทายวัน ณ เมืองพาราณสี เป็นต้น แห่งใดเป็นจะเป็นที่มีผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของก็ดีหรือไม่มีเจ้าของก็ดี คงถือกันว่าเป็นที่อนุญาตให้พวกนักบวชพักได้เป็นสาธารณะทั่วไปทุกจำพวก บางคราวพวกนักบวชที่ถือศาสนาต่างกันพักอยู่ในที่ตำบลเดียวใกล้ๆ กันก็มี จึงปรากฏในพระสูตรต่างๆ หลายแห่ง ว่าพระพุทธองค์ได้เคยทรงสนทนาโต้ตอบกับศาสดาและคณาจารย์ของพวกอาชีวกมีชื่อบอกไว้ในพระสูตรก็หลายคน น่าจะสนทนาในเวลาเมื่อไปพักอยู่ในวะนะใกล้ๆ กัน หรือในวะนะอันเดียวกันดังกล่าวมาแล้ว

เริ่มเรื่องที่จะสร้างพระเชตวันนั้น เมื่อพระพุทธองค์เสด็จเที่ยวสอนพระศาสนาไปตามบ้านเมืองต่างๆ ในมัชฌิมประเทศมักเสด็จไปยังเมืองสาวัตถีเนืองๆ และมีผู้คนพากันเลื่อมใสมากในพวกชาวเมืองสาวัตถีนั้น มีมหาเศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่าอนาถบิณฑ์ เลื่อมใสในพระรัตนตรัยแรงกล้ากว่าผู้อื่นโดยมาก คงปรารภว่าชายป่าที่พระพุทธองค์เคยเสด็จประทับนั้นไม่สู้มีความผาสุก และบางคราวก็ต้องเสด็จอยู่ปะปนกับอาชีวกพวกอื่น จึงคิดจะสร้างอาราม (น่าแปลว่าวัด) ถวายให้เป็นที่พักแต่เฉพาะพระพุทธองค์กับพวกพระสงฆ์พุทธสาวก มิให้นักบวชพวกอื่นไปอยู่ปะปน เศรษฐีอนาถบิณฑ์เที่ยวเลือกหาที่ตามชายป่าไปเห็นแห่งหนึ่งเหมาะดี แต่ที่ตรงนั้นเจ้าเขตถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ เศรษฐีอนาถบิณฑ์จึงขอซื้อที่นั้นมาสร้างวัดถวายสำหรับพระพุทธองค์ประทับกับพระสาวกในเวลาเสด็จไปพักหรือจำพรรษา ณ เมืองสาวัตถี ในหนังสือซึ่งแต่งแต่โบราณ พรรณนาถึงวิธีที่เศรษฐีอนาถบิณฑ์ซื้อที่นั้นวิตถารมากจนไม่น่าเชื่อ เช่นว่าให้ราคาค่าที่ด้วยวิธีเอาแผ่นคะหาปะนะ (คือเงินตราที่ได้ในการซื้อขาย) ลงปูเรียงจนเต็มตลอดพื้นที่ๆ ซื้อนั้น แต่ก็ประหลาดอยู่ที่มีหลักฐานปรากฏว่าชาวอินเดียเชื่อว่าซื้อที่พระเชตวันด้วยวิธีเช่นนั้นมาแต่โบราณ ด้วยมีรูปภาพจำหลักศิลาเครื่องประดับพระมหาสถูปภารหุต (Bharahut) ซึ่งสร้างใกล้กับสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ราวเมื่อ พ.ศ. ๓๐๐ ทำเรื่องเศรษฐีอนาถบิณฑ์ซื้อที่พระเชตวันด้วยปูคะหาปะนะเป็นราคาดังกล่าวมา รูปจำหลักนั้นมีจำลองมาเขียนไว้อย่างหยาบๆ ที่ฝาผนังด้านหน้า พระวิหารวัดมกุฎกษัตริย์แห่ง ๑ มีเป็นรูปฉายแลเห็นได้ชัดพิมพ์ไว้ในหนังสือ Buddhist India ฉบับพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๑ หน้า ๙๙ อีกแห่ง ๑ ชื่อที่เรียกว่าเชตวันนั้นเห็นว่าอาจจะเป็นชื่อเรียกกันขึ้นใหม่เมื่อสร้าง หรือจะเป็นชื่อตำบลที่ชาวเมืองเรียกกันอยู่ก่อนแล้วว่า “ป่าเจ้าเชต” ก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ดี ดูเหมือนเมื่อในพุทธกาลพระพุทธเจ้าจะเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมากกว่าประทับที่แห่งอื่น ข้อนี้มีเค้าเงื่อนในพระสูตรต่างๆ ปรากฏพระธรรมเทศนาซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดง ณ พระเชตวันมีจำนวนมากกว่าทรงแสดง ณ ที่แห่งอื่น จึงน่าสันนิษฐานต่อไปว่าพระเชตวันอาจจะเป็นวัดแรกซึ่งสร้างขึ้นถวายเฉพาะแก่พระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นพวกพุทธศาสนิกชนในอินเดียจึงนับถือกันว่าเป็น “วัดเดิม” เมื่อสร้างพระมหาสถูปภารหุต จึงเอาเรื่องเศรษฐีอนาถบิณฑ์สร้างพระเชตวันมาจำหลักเป็นรูปภาพเข้าในเรื่องพระพุทธประวัติ เรื่องสร้างวัดอื่นหาเอามาจำหลักไม่

๓. อธิบายประวัติพระเชตวัน

แต่พระเชตวันเห็นจะรุ่งเรืองอยู่เพียงในพุทธกาล ด้วยเป็นที่ประชุมผู้คนไปเฝ้าพระพุทธองค์และไปฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งพระองค์ทรงแสดงในเวลาเสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้นเป็นอันมากเนืองนิจ แม้พระคันธกุฏีที่เสด็จประทับและที่พระสงฆ์อาศัยก็น่าจะอยู่สบายดีกว่าแห่งอื่น แต่เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระเชตวันไม่มีพระพุทธองค์ก็เปรียบเหมือนปราสาทขาดยอดเสียโฉม ยังเป็นแต่ที่สำหรับพระสงฆ์พุทธสาวกพักอาศัยในเวลาเดินทางและจำพรรษา ถึงการบำรุงรักษาเมื่อสิ้นอายุเศรษฐีอนาถบิณฑ์แล้วก็น่าจะเสื่อมทรามลงจึงไม่ปรากฏเรื่องประวัติของพระเชตวันแห่งเดิมนั้นต่อมา ยังมีกรณีอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยให้พระเชตวันทรุดโทรม ด้วยเมื่อพระพุทธองค์ทรงประชวรใกล้เสด็จเข้าพระนิพพาน พระอานนท์ทูลปรารภว่า เมื่อสิ้นพระพุทธองค์แล้วพวกพุทธสาวกจะพากันว้าเหว่ ด้วยมิได้เฝ้าแหนเห็นพระองค์เหมือนแต่ก่อน พระพุทธเจ้าจึงทรงพระกรุณาแนะนำไว้ ว่าถ้าใครเปลี่ยวใจเช่นนั้นก็ให้ไปปลงธรรมสังเวช ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งใน ๔ แห่ง คือที่พระองค์ประสูติในสวนลุมพินี ณ เมืองกบิลพัสดุ์แห่ง ๑ ที่พระองค์ตรัสรู้พระโพธิญาณ ณ โพธิมณฑลในแขวงเมืองคยาแห่ง ๑ ที่พระองค์ประทานปฐมเทศนาในมิคคทายวัน ณ เมืองพาราณสีแห่ง ๑ และที่พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ ดงรังที่เมืองกุสินารายแห่ง ๑ (แล้วแต่ใครจะไปแห่งใดได้สะดวก) จึงเกิดมีพระบริโภคเจดีย์ขึ้น ๔ แห่ง ใช่แต่เท่านั้น เมื่อถวายเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว เจ้าบ้านพานเมืองต่างๆ ขอแบ่งพระบรมธาตุไปสร้างพระสถูป บรรจุไว้ให้คนบูชาในบ้านเมืองของตน เกิดมีพระธาตุเจดีย์ขึ้นด้วยอีก ๘ แห่ง รวมเป็นพุทธเจดีย์เกิดขึ้นสำหรับบูชาแทนพระองค์พระพุทธเจ้า ๑๒ แห่ง พระเชตวันมิได้นับอยู่ในพุทธเจดีย์ พวกพุทธศาสนิกชนก็คงพากันนิยมไปบูชาพุทธเจดีย์ ๑๒ แห่งนั้นแทนไปยังพระเชตวันอย่างแต่ก่อน

๔. อธิบายประวัติพระพุทธศาสนาเมื่อล่วงพุทธกาล

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานนั้น พระพุทธศาสนายังเป็นแต่ศาสนา ๑ ใน ๔ ศาสนาซึ่งมีผู้คนในอินเดียนับถือมาก นอกจากพระพุทธศาสนายังมี ศาสนาพราหมณ์ ศาสนา ๑ ศาสนาของพวกอาชีวก ศาสนา ๑ ศาสนาของพวกนิครนถ์ศาสนา ๑ เป็นศาสนาใหญ่อยู่ในมัชฌิมประเทศด้วยกัน เป็นเช่นนั้นมากกว่า ๒๐๐ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๗๐ (ตามประมาณของอาจารย์วินเซนต์ เอ. สมิท (Vincent A. Smith) พระเจ้าอโศกมหาราชในโมรีย์ราชวงศ์ ได้เป็นพระเจ้าราชาธิราชในอินเดีย ทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนา ประดิษฐานพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ยกพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นจอมศาสนาทั้งปวงในพระราชอาณาเขต หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง พระพุทธศาสนาได้เป็นศาสนาสำหรับประเทศเป็นทีแรกแต่ครั้งนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอเนกปริยาย จะยกมากล่าวแต่ ๒ อย่างซึ่งเนื่องกับวินิจฉัยนี้ คือเรื่องสร้างพุทธเจดีย์อย่าง ๑ กับแผ่พระพุทธศาสนาอย่าง ๑

เรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างพุทธเจดีย์นั้น มีศิลาจารึกและโบราณวัตถุที่ยังเหลืออยู่เป็นหลักฐาน ว่าได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จบูชาถึงที่พระบริโภคเจดีย์ทั้ง ๔ แห่ง และให้ย้ายพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในพระสถูปแต่เดิมหลายแห่ง เอาไปรวมกันแล้วแบ่งเป็นส่วนละน้อย แจกให้ไปสร้างพระสถูปบรรจุไว้เป็นเจดีย์สถาน ณ ที่ต่างๆ ซึ่งได้ทรงแผ่พระพุทธศาสนาไปถึง (ในหนังสือเก่าว่าถึง ๘๔,๐๐๐ แห่ง) ข้อนี้เป็นมูลเหตุที่จะเกิดมีวัดแพร่หลาย และวัดจึงย่อมมีพระสถูปธาตุเจดีย์เป็นหลัก และมีวิหารสำหรับคนประชุมบูชาพระบรมธาตุ ๒ สิ่งนี้ทุกแห่ง สิ่งอื่นนอกจากพระเจดีย์กับวิหาร เช่นต้นโพธิ์พันธุ์พุทธคยาก็ดี กุฏิสงฆ์ก็ดี และโบสถ์ก็ดี มีแต่บางวัด เป็นแบบอย่างมาแต่ครั้งพระเจ้อโศกมหาราช

แต่มีคติอันหนึ่งซึ่งชาวอินเดียถือกันมาแต่เดิมว่าไม่ควรทำพระพุทธรูป เพราะฉะนั้นในลวดลายเครื่องประดับพุทธเจดีย์ซึ่งพระเจ้าอโศกหรือผู้อื่นสร้างในสมัยนั้นและต่อมาอีกนาน แม้จำหลักเรื่องพระพุทธประวัติก็ทำแต่รูปภาพผู้อื่น ตรงไหนต้องเป็นพระพุทธรูปก็ทำรูปสิ่งอื่นเป็นสำคัญแทนพระองค์ เช่นรอยพระพุทธบาท และดอกบัว เป็นต้น ตรงเมื่อเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ก็ทำแต่รูปม้าผูกอานเปล่า เรื่องต่อนั้นไปก็ทำเป็นรูปต้นโพธิ์ กงจักร พุทธบัลลังก์ และพระสถูป จำหลักให้เข้ากับเรื่องพระพุทธประวัติ เป็นเช่นนั้นมาจนใกล้จะถึง พ.ศ. ๔๐๐ จึงเกิดมีพระพุทธรูป ด้วยเหตุดังจะเล่าต่อไปข้างหน้า

เรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชแผ่พระพุทธศาสนานั้น จะต้องเล่าย้อนถอยหลังขึ้นไปสักหน่อยให้เข้าใจความคิดต่อกัน คือเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วไม่ช้า พระสงฆ์อริยสาวกประชุมกันที่ถ้ำในแขวงเมืองราชคฤห์ ช่วยกันรวบรวมพระธรรมวินัยบรรดาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอน และบัญญัติไว้ท่องจำสวดซ้อมพร้อมกัน เรียกว่า สังคายนานับเป็นครั้งแรก หรือปฐมสังคายนา แล้วถือพระธรรมวินัยตามที่ได้สังคายนาครั้งนั้นเป็นหลักพระพุทธศาสนาสืบมา ครั้นล่วงพุทธกาลได้สัก ๑๐๐ ปี เมื่อพระอริยสาวกที่ได้ทำปฐมสังคายนาถึงมรณภาพไปหมดแล้ว พระภิกษุชั้นลูกศิษย์หรือหลานศิษย์ได้เป็นคณาจารย์ เกิดความเห็นต่างกันขึ้นด้วยเรื่องแก้ขุทกะวินัย คือพระวินัยที่ไม่เป็นข้อสำคัญ พระสงฆ์พวก ๑ เห็นว่าควรแก้ได้ ด้วยพระพุทธเจ้าได้ประกาศอนุญาตไว้ให้เป็นสิทธิแก่พระสงฆ์ แต่พระสงฆ์อีกพวก ๑ เห็นว่าถ้าให้แก้พระวินัยได้แล้ว ก็คงแก้ไขกันต่อไปอีกในภายหน้า จะเป็นเหตุให้พระธรรมวินัยคลาดเคลื่อนเสื่อมเสียหลักพระศาสนาไปทุกที ควรให้คงอยู่ตามที่พระมหาเถรอริยสาวกได้ทำปฐมสังคายนาไว้แต่อย่างเดียว พวกข้างโน้นไม่ยอม ขืนแก้ไขไปตามความเห็น พระสงฆ์จึงแตกกันเป็น ๒ นิกาย เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ พวกที่ไม่ยอมแก้ได้นามว่า “เถรวาท” พวกที่แก้ได้นามว่า “อาจาริยวาท” พระสงฆ์พวกเถรวาทประชุมกัน ณ เมืองเวสาลี ทำสังคายนาพระธรรมวินัยตามที่พระอริยสาวกได้รวบรวมไว้อีกครั้ง ๑ นับเป็นสังคายนาครั้งที่ ๒ เรียกว่า ทุติยสังคายนา ต่อนั้นมากว่า ๑๐๐ ปี เมื่อถึงสมัยพระเจ้าอโศกทรงบำรุงพระศาสนา พระสงฆ์ในอินเดียมีเป็น ๒ นิกายดังกล่าวมา และในนิกายหนึ่งยังแยกกันเป็นต่างคณะออกไปอีกหลายคณะ พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใสในพระโมคลีบุตร ดิสสะเถร ผู้เป็นเจ้าคณะวิภัชวาทีในนิกายเถรวาท จึงทรงอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์นิกายเถรวาท ครั้งนั้นมีพวกพระสงฆ์นิกายอาจาริยวาท (ในหนังสือเก่าว่าพวกเดียรถี ความไม่ลงรอยกัน) ที่อยากได้ราชูปถัมภ์เข้าบวช (แปลง) เป็นนิกายเถรวาท แต่เมื่อแปลงแล้วยังประพฤติลัทธิเดิมของตน จนเกิดรังเกียจกันขึ้นในสงฆมณฑลซึ่งทรงอุปถัมภ์ พระเจ้าอโศกจึงให้กำจัดพวกภิกษุนิกายอื่นเสีย คงให้มีแต่พระสงฆ์เถรวาทนิกายเดียว แล้วทรงอาราธนาพระโมคลีบุตร ดิสสะเถร ให้เป็นประธานทำสังคายนา ณ กรุงปาตลีบุตรราชธานีอีกครั้ง ๑ นับเป็นครั้งที่ ๓ เรียกว่า ตติยสังคายนา พระธรรมวินัยที่ทำสังคายนา ๓ ครั้งนี้เป็นภาษามคธ ใช้เป็นหลักพระพุทธศาสนาสืบมา

เมื่อว่าต่อไปถึงลักษณะการที่พระเจ้าอโศก แผ่พระพุทธศาสนา แม้เรื่องที่ปรากฏในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกกับเรื่องที่กล่าวในหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกาต่างกันอยู่บ้าง แต่พิเคราะห์เนื้อเรื่องถ้าเรียงเป็นลำดับกันก็เข้ากันได้ คือ ในชั้นแรกพระเจ้าอโศกทรงตั้งกระทรวงธรรมการให้มีขึ้นในรัฐบาล เป็นเจ้าหน้าที่จัดการสั่งสอนประชาชน ให้ประพฤติตามพระธรรมในพระพุทธศาสนา และโปรดให้จารึกพระราโชวาทแสดงพระธรรมจำหลักศิลาประดิษฐานไว้ตามบ้านเมืองต่างๆ ในพระราชอาณาเขตเป็นอันมาก แห่งใดมีจำนวนคนเลื่อมใสพระพุทธศาสนามาก ก็ทรงอาราธนาพระโมคลีบุตร ดิสสะเถร ให้เลือกสรรพระเถระซึ่งรอบรู้พระธรรมวินัย เป็นสังฆนายกพาคณะไปยังที่แห่งนั้น เพื่อให้บรรพชา อุปสมบท แก่พวกชาวเมืองตั้งสังฆมณฑล ประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงอยู่ในที่นั้นสืบไป ในหนังสือมหาวงศ์ระบุนามพระมหาเถรที่เป็นนายกไปครั้งนั้น ๑๐ องค์ และว่าได้ประดิษฐานสงฆมณฑลประเทศต่างๆ ๙ ประเทศ บอกชื่อประเทศไว้ในหนังสือมหาวงศ์ด้วย พวกนักปราชญ์โบราณคดีได้เอาชื่อประเทศที่เรียกในหนังสือมหาวงศ์สอบกับแผนที่ ได้ความว่าอยู่ในแผ่นดินอินเดีย ๗ ประเทศ อยู่นอกอินเดีย ๒ ประเทศ แต่ในจารึกของพระเจ้าอโศกหากล่าวถึงเรื่องส่งคณะสงฆ์ไปยังที่ต่างๆ ไม่ วินิจฉัยเรื่องเพียงที่มีหลักฐานดังกล่าวนี้ เห็นว่าพระเจ้าอโศกคงแผ่พระพุทธศาสนาไปในพระราชอาณาเขตก่อน เมื่อทรงประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่าลักษณะการปกครองด้วยอาศัยพระธรรมตามพระพุทธศาสนา เป็นหลักเป็นประโยชน์และความสุขแก่บ้านเมืองได้จริง จึงแต่งราชทูตให้ไปทูลชักชวนพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นอันมีทางไมตรีให้ใช้แบบแผนอย่างเดียวกัน ในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกออกนามแต่ประเทศต่างๆ ที่แต่งทูตไปทางฝ่ายตะวันตกจนถึงยุโรป หาออกนามประเทศใดทางตะวันออกไม่ แต่ในหนังสือมหาวงศ์มีนามพระมหาเถรที่เป็นสังฆนายก ไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในประเทศทางตะวันออก ๓ องค์ คือ พระมหินทร เป็นราชบุตร (แต่ในหนังสือทางอินเดียว่าเป็นพระอนุชา) ของพระเจ้าอโศกไปยังประเทศลังกาองค์ ๑ พระโสณกับพระอุตรไปยังประเทศสุวรรณภูมินั้นด้วยกัน ๒ องค์ ที่ในหนังสือมหาวงศ์เรียกว่าประเทศสุวรรณภูมินั้น พวกมอญอ้างว่าเมืองสะเทิมในรามัญประเทศ แต่พวกนักปราชญ์โบราณคดีตีความว่าประเทศอินโดจีน คือแผ่นดินที่ต่อกับอินเดียไปจนต่อแดนจีนทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่เมืองมอญ ข้อนี้มีเค้าเงื่อนอย่างหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะมิใคร่มีใครได้สังเกต คือพระมหาเถรที่เป็นสังฆนายกไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่แห่งอื่น ไปแต่แห่งละองค์เดียวทั้งนั้น แต่ประเทศสุวรรณภูมิว่าไป ๒ องค์ด้วยกัน ข้อนี้ส่อว่าน่าจะเป็นพระสงฆ์ ๒ คณะ พระโสณเป็นนายกคณะ ๑ พระอุตรเป็นนายกคณะ ๑ มาประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ ที่ ๒ แห่งห่างไกลกันในสุวรรณภูมิประเทศ ถ้าพิจารณาประกอบกับโบราณวัตถุที่ยังปรากฏอยู่ น่าลงความเห็นเป็นยุติว่าที่ ๒ แห่งนั้น คือประเทศรามัญแห่ง ๑ กับประเทศทวาราวดี (ที่นครปฐม) แห่ง ๑ ทั้ง ๒ แห่งนี้ได้รับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และได้พระบรมธาตุมาสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุไว้ในครั้งนั้น สมดังพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งจารึกไว้ ณ พระปฐมเจดีย์ตามปริยายที่กล่าวมานี้ พึงเห็นว่าพวกลังกากับพระสงฆ์รามัญ และพระสงฆ์สยามสืบวงศ์เถรวาทอันเดียวกันมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๐ เศษทั้งนั้น

พระเจ้าอโศกมหาราชครองราชสมบัติอยู่ ๓๗ ปี สวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๓๐๗ ต่อนั้นมาเชื้อสายในโมรีย์ราชวงศ์ไม่สามารถจะปกครองราชอาณาเขตเป็นพระเจ้าราชาธิราชอยู่ได้ แผ่นดินอินเดียก็กลับแยกกันเป็นประเทศต่างๆ เป็นอิสระแก่กันหลายประเทศ แต่ส่วนชาวอินเดียนับถือพระพุทธศาสนาอยู่เป็นพื้นทั่วไป และมีพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นพุทธศาสนุปถัมภกต่อมาอีกหลายพระองค์ จะกล่าวถึงแต่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นในประวัติพระพุทธศาสนา

เมื่อราว พ.ศ. ๓๘๐ พระเจ้ามิลินท์ (ในมิลินทปัญหา) อันเป็นเชื้อสายฝรั่งชาติกรีก (Greek) พวกที่อพยพมาจากยุโรปแต่ครั้งพระเจ้าอเล็กแซนดรามหาราช ได้ครองอาณาเขตอันหนึ่งในอินเดียข้างฝ่ายเหนือเรียกว่าประเทศโยนก ตั้งเมืองศาคล (เดี๋ยวนี้เรียกว่าเมือง Cabul อยู่ในอัฟฆานิสถาน) เป็นราชธานี พวกโยนกเดิมนับถือเทวดาเป็นสรณะ ครั้นมาอยู่ปะปนกับชาวอินเดียไม่ช้านานเท่าใดก็เข้ารีตเลื่อมใสถือพระพุทธศาสนา เป็นมูลที่มีหนังสือเรื่องมิลินทปัญหาแต่งว่าด้วยพระเจ้ามิลินท์สนทนากับพระนาคเสนจนทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาปรากฏอยู่ พวกโยนกเคยทำเทวรูปบูชามาแต่ก่อน เมื่อมาถือพระพุทธศาสนาไม่ถือข้อห้ามเหมือนชาวอินเดียให้ทำพระพุทธรูปขึ้นบูชา ก็มีพระพุทธรูปขึ้นแต่สมัยพระเจ้ามิลินท์ (ฝรั่งเรียกว่า Menander) เป็นต้นมา ชาวอินเดียเลยเห็นชอบด้วยเอาอย่างไปทำแพร่หลาย จึงนับว่าเกิดมีพระพุทธรูปขึ้นแต่ในสมัยโยนกเมื่อราว พ.ศ. ๓๙๐

ครั้นถึงสมัยเมื่อราว พ.ศ. ๕๐๐ มีพวกกุสานะอพยพมาจากทางตะวันออก (ที่เป็นแดนประเทศจีนบัดนี้) มาแย่งอำนาจจากพวกโยนกตั้งราชอาณาเขตคันธารราฐขึ้น ตั้งเมืองบุรุษบุระ (เดี๋ยวนี้เรียกว่าเปษวาร) เป็นราชธานี พวกกุสานะเป็นชาวต่างประเทศเหมือนกับพวกโยนก เมื่อมาอยู่ปะปนกับพวกโยนกและชาวอินเดียที่ถือพุทธศาสนา ก็มาเข้ารีตด้วยอีกพวก ๑ ก็ในกุสานะราชวงศ์นั้นมีพระเจ้าแผ่นดินองค์ ๑ ทรงพระนามว่า กนิษกะ เสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๖๖๓ มีอานุภาพมากแผ่อาณาเขตได้กว้างขวางจนถึงมคธราฐ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก แสดงพระองค์เป็นพุทธศาสนปถัมภกเหมือนอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ถึงสมัยพระเจ้ากนิษกะ พระภิกษุสงฆ์พวกเถรวาทและอาจาริยวาทยิ่งถือลัทธิแตกต่างห่างกันมากออกไปอีก พวกพระสงฆ์นิกายเถรวาทยังถือหลักสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้คงมุ่งหมายมรรคผลเป็นทางนิพพาน แต่พวกอาจาริยวาทว่ามุ่งหมายเช่นนั้นเห็นแต่แก่ตัว สอนให้มุ่งหมายเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อจะได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์เสียก่อนแล้วจึงเข้าพระนิพพาน พระเจ้ากนิษกะให้ประชุมสงฆ์ทั้ง ๒ วาทะปรึกษาหารือเพื่อจะให้รวมเป็นนิกายเดียวกัน แต่ไม่ปรองดองกันได้ พระเจ้ากนิษกะทรงเลื่อมใสพระสงฆ์ฝ่ายนิกายอาจาริยวาท จึงอาราธนาพระมหาเถรในนิกายนั้น ปรากฏนามว่า พระอัสวโฆษ ให้เป็นประธานทำสังคายนา เมือง “กัสมิระ” (เดี๋ยวนี้เรียกว่าแคชเมีย) อีกครั้ง ๑ แต่นั้นสงฆมณฑลจึงถือคติต่างกันเป็น ๒ นิกาย พวกหมายเป็นพระโพธิสัตว์เรียกนามนิกายของตนว่า “มหายาน” หมายความว่าเป็นยานใหญ่ รับขนสัตว์ข้ามสังสารวัฏ เรียกพวกเถรวาทเดิมว่า “หินยาน” หมายความว่าเป็นยานเล็ก แต่พวกเถรวาทเรียกตนเองว่า สาวกยานหมายว่ายานของพระอริยสาวกแต่คนโดยมากเรียกว่าหินยาน จึงเรียกอย่างนั้นเป็นยุติต่อมาพระไตรปิฎกก็เกิดต่างกันเป็น ๒ ภาษา พวกหินยานคงถือพระไตรปิฎกภาษามคธ ซึ่งสังคายนาครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช แต่พวกมหายานแปลงพระไตรปิฎก จากภาษามคธไปเป็นภาษาสันสกฤต พระเจ้ากนิษกะก็แต่งทูตไปเที่ยวสั่งสอนยังนานาประเทศทำนองเดียวกับพระเจ้าอโศก แต่ราชธานีคันธารราฐตั้งอยู่ทางข้างเหนือ คราวนั้นพระพุทธศาสนาแผ่ไปทางข้างเหนือ จนถึงประเทศจีนในสมัยนี้

ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากนิษกะ การถือพระพุทธศาสนาจึงแยกกันเป็นลัทธิมหายานและลัทธิหินยานสืบมา

ราชวงศ์กุสานะเป็นใหญ่ในอินเดียมาจนราว พ.ศ. ๗๐๐ เศษ ครั้นประเทศคันธารราฐเสื่อมสิ้นอานุภาพแล้ว พระพุทธศาสนาก็กลับมารุ่งเรืองในมัชฌิมประเทศ ด้วยมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นพุทธศาสนูปถัมภกอีกหลายพระองค์ คือ ราชวงศ์คุปต ปกครองมคธราฐระหว่าง พ.ศ. ๘๔๓ จน พ.ศ. ๑๑๙๐ เป็นสมัยที่ศิลปวิทยารุ่งเรืองในอินเดีย และเมื่อตอนปลายสมัยนี้ หลวงจีนฮ่วนเจียงไปอินเดียในระหว่าง พ.ศ. ๑๑๗๑ จน พ.ศ. ๑๑๘๘ เขียนบันทึกไว้ (มีอยู่ในหนังสือประวัติฮ่วนเจียง Life of Hiuen Tsiang by S. Beal) ว่าในสมัยนั้นยังมีวัดและพระสงฆ์มากทั้งนิกายมหายานและนิกายหินยาน และเมื่อไปถึงเมืองสาวัตถีได้ไปยังพระเชตวัน ซึ่งอยู่นอกเมืองทางทิศใต้ห่างไปสัก ๕-๖ ลี้ สังเกตได้ว่าเดิมเป็นสังฆาราม แต่เวลานั้นหักพังร้างหมดแล้ว ความส่อให้เห็นว่าตั้งแต่ล่วงพุทธกาลมาพระเชตวันเป็นแต่วัดที่พระสงฆ์อยู่แห่ง ๑ ต่อมาถึงสมัยราชวงศ์ปาละเมื่อในระหว่าง พ.ศ. ๑๒๙๓ จน พ.ศ. ๒๓๕๓ ก็ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองขึ้นอีก แต่หาพบอะไรในสมัยปาละที่ระบุถึงพระเชตวันไม่ เพราะถึงชั้นนี้พวกพราหมณ์ฟื้นศาสนาของตนขึ้นแข่งพระพุทธศาสนา ชาวอินเดียที่เคยถือพระพุทธศาสนาไปเข้ารีตถือศาสนาพราหมณ์แต่อย่างเดียวก็มี ถือทั้ง ๒ ศาสนาด้วยกันก็มี คงถือแต่พระพุทธศาสนาก็มี แม้ในพระพุทธศาสนาก็มีภิกษุพวกตันตระเอาลัทธิอาถรรพเวทของพราหมณ์ อันเชื่อวิธีที่ทำให้เกิดดีและร้ายด้วยวิทยาคม เอาเข้ามาปะปนพระธรรมวินัยอีก นิกาย ๑ เป็นเช่นนั้นมาจนถึง พ.ศ. ๑๕๔๓ เมื่อสุลต่านมหมุดชาวอัฟฆานิสถานยกพวกถือศาสนาอิสลามเข้ามาตีได้อาณาเขตในอินเดียจึงเริ่มเกิดการทำลายล้างพระพุทธศาสนา ๆ จึงเสื่อมทรามมาจนหมดไปในอินเดีย

๕. อธิบายเรื่องพระเชตวันในลังกาทวีป

เมื่อฉันแต่งหนังสือ “เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้ตรวจเรื่องพงศาวดารลังกาหลายฉบับ เก็บเนื้อความอันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาและทางไมตรีในระหว่างลังกากับไทยที่ปรากฏมาแต่ก่อนเขียนไว้ในหนังสือเรื่องนั้นแล้ว ในวินิจฉัยนี้จะกล่าวแต่เฉพาะเรื่องอันเนื่องด้วยพระเชตวัน แต่ถึงกระนั้นก็จะต้องเล่าเรื่องพงศาวดารเมืองลังกายาวสักหน่อย เรื่องจึงจะติดต่อกันมาจนถึงพระเชตวันเข้ามามีในประเทศสยามนี้

ในพงศาวดารลังกาว่า พระมหินทรเถรไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ (เร็วกว่าประมาณของอาจารย์วินเซนต์ เอ. สมิท ๔๐ ปี) ว่ามีพระภิกษุอนุเถรไปด้วยกันกับพระมหินทร ๔ องค์ ระบุไว้ว่าชื่อ พระอิติยะองค์ ๑ พระอุติยะองค์ ๑ พระสัมพละองค์ ๑ พระภัทสาละองค์ ๑ ข้อนี้สมดังความเห็นที่ได้กล่าวมา ว่าพระซึ่งส่งไปยังประเทศต่างๆ เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกนั้นไปแห่งละคณะสงฆ์ มิใช่ไปแต่พระมหาเถรที่ปรากฏชื่อแต่องค์เดียว พระเจ้าเทวานับปิยดิศซึ่งเป็นพุทธศาสนูปถัมภกในลังกาทวีปองค์แรก คงแผ่พระพุทธศาสนาตามเยี่ยงอย่างของพระเจ้าอโศก จนพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปทั่วทั้งเกาะลังกา ส่วนพุทธเจดีย์ก็สร้างเช่นเดียวกันคือ มีพระสถูปธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ ซึ่งพระเจ้าอโศกประทานไป และขอพันธุ์พระศรีมหาโพธิ์ต้นที่เมืองพุทธคยาไปปลูก ณ เมืองอนุราฐบุรีราชธานี สมมุติเป็นพระบริโภคเจดีย์ให้มีขึ้นในลังกาทวีป ส่วนพระธรรมวินัยนั้น พระโมคลีบุตรดิสสะเถรก็คงเลือกคณะสงฆ์แต่ที่ทรงจำพระไตรปิฎกตามที่สังคายนาครั้งที่ ๓ ได้ขึ้นปากเจนใจทุกองค์ แต่การสอนพระศาสนาแก่ชาวลังกาลำบากกว่าในมัชฌิมประเทศ เพราะพระไตรปิฎกที่คณะสงฆ์ทรงจำมาเป็นภาษามคธ ซึ่งชาวลังกาไม่รู้กันโดยมาก วิธีสอนชั้นต้นเพื่อให้เห็นคุณของพระพุทธศาสนาคงต้องสอนด้วยภาษาสิงหลต่อเมื่อผู้ใดศรัทธาถึงออกบวชจึงเริ่มสอนให้ท่องจำพระไตรปิฎกภาษามคธ ถึงอย่างนั้นก็สำเร็จประโยชน์ด้วยมีพระลังกาสามารถทรงจำพระไตรปิฎกได้มากองค์ จนพระมหินทรเถรสามารถทำสังคายนาด้วยกันกับพระสงฆ์ชาวลังกาได้ (คือสวดพระไตรปิฎกภาษามคธที่จำได้พร้อมกัน) ณ กรุงอนุราฐราชธานี นับเป็นสังคายนาครั้งที่ ๑ ในลังกา แต่ต่อมาเมื่อล่วงรัชกาลพระเจ้าเทวานับปิยดิศและสิ้นพระมหินทรเถรไปแล้ว เมืองลังกาเกิดยุคเข็ญเสียบ้านเมืองแก่พวกทมิฬมิจฉาทิฐิซึ่งข้ามมาจากอินเดีย พวกทมิฬครองเมืองลังกาอยู่นานๆ เชื้อสายพระเจ้าแผ่นดินลังกาจึงรวบรวมรี้พลมารบพวกทมิฬตีเอาพระนครคืนได้ เป็นเช่นนั้นมาหลายคราว สมัยใดพระเจ้าแผ่นดินเป็นชาวลังกาฟื้นพระพุทธศาสนาขึ้น ถึงสมัยพวกทมิฬปกครองพระพุทธศาสนาก็เสื่อมลงเป็นดังนี้มาหลายร้อยปี แต่ชาวลังกายังนับถือพุทธศาสนาตามลัทธิหินยานที่พระมหินทรเถรสอนไว้

ถึง พ.ศ. ๗๕๒ เมื่อเกิดลัทธิมหายานขึ้นในคันธารราฐแล้วได้ ๘๐ ปี มีคณะสงฆ์ชาวอินเดียลงไปสอนลัทธิมหายาน (ในพงศาวดารลังกาเรียกว่า “เวตุลยาน”) ที่เมืองลังกา เวลานั้นพระสงฆ์ในลังกาแยกกันเป็น ๒ คณะ คณะ ๑ เรียกว่า “คณะมหาวิหาร” ด้วยอยู่วัดเดิมซึ่งพระเจ้าเทวานับปิยดิศสร้างถวายพระมหินทรเถร (ความบ่งว่าเป็นพระสงฆ์พวกที่อยู่ในราชธานี) อีกคณะ ๑ เรียกว่า “คณะอภัยคิรีวิหาร” เพราะเกิดขึ้นครั้งพระเจ้าวัฏคามินีเสียพระนครแก่พวกทมิฬเมื่อราว พ.ศ. ๔๓๐ หนีภัยไปเที่ยวหลบอยู่ตามหัวเมืองในมณฑลมลัยประเทศกลางเกาะลังกา ได้อาศัยพระภิกษุสงฆ์ในท้องถิ่นช่วยซ่อนเร้นและอุปการะด้วยประการต่างๆ อยู่ถึง ๑๔ ปีจึงสามารถรวบรวมรี้พลกลับมาตีเอาเมืองอนุราฐราชธานีคืนจากพวกทมิฬได้ เมื่อพระเจ้าวัฏคามินีชนะข้าศึกแล้วทรงรำลึกถึงคุณของพระสงฆ์ตามหัวเมืองที่ได้อุปการะมาแต่หนหลัง จึงพระราชทานที่กัลปนาและข้าพระแก่บรรดาวัดที่ได้ทำคุณแก่พระองค์ และทรงสถาปนาพระมหาดิศเถรซึ่งเป็นคณาจารย์ของพระสงฆ์พวกนั้นให้เป็นสังฆปรินายก (สังฆราช) มาอยู่ในราชธานี แต่พวกพระสงฆ์คณะมหาวิหารรังเกียจวัตรปฏิบัติของพวกภิกษุสงฆ์พระมหาดิศเถร (ความบ่งว่าเพราะเป็นพระสงฆ์ชาวบ้านนอก ซึ่งประพฤติพระธรรมวินัยผิดไปต่างๆ) ไม่ยอมร่วมสังฆกรรม พระเจ้าวัฏคามินีจึงสร้างวัดขึ้นใหม่อีกวัด ๑ เรียกชื่อว่าวัด “อภัยคิรีวิหาร” ถวายเป็นที่สถิตของพระมหาดิศเถรกับพวกภิกษุศาสนศิษย์ซึ่งตามมาอยู่ด้วย พระสงฆ์ในเมืองอนุราฐบุรีจึงแยกกันเป็น ๒ คณะแต่นั้นมา แต่ถือลัทธิหินยานอย่างที่พระมหินทรเถรได้มาประดิษฐานไว้ด้วยกันทั้ง ๒ คณะ ผิดกันแต่ด้วยวัตรปฏิบัติพระสงฆ์คณะอภัยคิรีวิหารไม่เคร่งครัดเหมือนพระสงฆ์คณะมหาวิหาร เป็นเช่นนั้นต่อมา ๓๑๒ ปี ถึงรัชกาลพระเจ้าโวหารดิศจึงมีพวกมหายานลงมาสอนถึงลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ. ๗๕๒ ดังกล่าวมาแล้ว มีพระสงฆ์คณะอภัยคิรีวิหารบางเหล่ารับลัทธิมหายานไปประพฤติ พวกพระสงฆ์คณะมหาวิหารกับเสนาอำมาตย์โดยมากเห็นว่าลัทธิมหายานเป็นมิจฉาทิฐิ ความทราบถึงพระเจ้าโวหารดิศ จึงตรัสสั่งให้เนรเทศพระสงฆ์ที่ถือลัทธิมหายาน ทั้งที่เป็นชาวอินเดียและเป็นชาวลังกาออกไปเสียจากพระราชอาณาเขต พวกนั้นก็พากันไปตั้งอยู่ที่เมืองทางปลายแหลมอินเดีย ต่อมาอีก ๑๗ ปีถึงรัชกาลพระเจ้าโคธาภัย พวกมหายานข้ามไปสอนที่เมืองลังกา และมีพระสงฆ์คณะอภัยคิรีวิหารเลื่อมใสอีก แต่ครั้งนี้มีพระสงฆ์คณะอภัยคิรีวิหารพวก ๑ อันพระอุสสิริยดิศเป็นหัวหน้าเลื่อมใสลัทธิมหายานแต่บางอย่าง (ที่ว่าแต่บางอย่างนี้ น่าสันนิษฐานว่าคือที่ทำพระพุทธรูปขึ้นบูชาเป็นข้อสำคัญอยู่ในนั้นด้วย) แต่เกรงว่าจะถูกเนรเทศไปกับพวกมหายานเหมือนหนหลัง จึงชวนกันแยกออกจากอภัยคิรีวิหารไปอยู่ที่วัดชื่อว่า “ทกุนุคิรีวิหาร” ถือวัตรปฏิบัติของลัทธิมหายานกับหินยานระคนปนกัน ต่อมาพระสงฆ์พวกนี้มีพระมหาเถรองค์ ๑ ชื่อ “สาคล” ตั้งวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์วัดทกุนุคิรีวิหารขึ้นเป็นลัทธิหนึ่งต่างหาก เมื่อ พ.ศ. ๗๙๕ เรียกว่าลัทธิ “สาคล” ในสมัยนั้นมีชาวลังกาคน ๑ ชื่อกาวิละ เคยเป็นครูพระเจ้ามหาเสนตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ข้ามไปบวชในอินเดียเป็นภิกษุมหายานได้นามฉายาว่า “สังฆมิตร” รู้ว่าพระเจ้ามหาเสนได้ครองราชสมบัติก็ข้ามกลับไปลังกาและได้เป็นพระราชครูของพระเจ้ามหาเสน แนะนำให้ทรงเลื่อมใสในลัทธิมหายานและเบียดเบียนพระสงฆ์ฝ่ายหินยานด้วยประการต่างๆ จนถึงวัดมหาวิหารร้าง แต่ชาวลังกาโดยมากยังนับถือทางฝ่ายลัทธิหินยาน พากันโกรธว่าพระเจ้ามหาเสนเป็นมิจฉาทิฐิจะเกิดเป็นขบถขึ้น พระสังฆมิตรก็ถูกฆ่าตาย พระเจ้ามหาเสนรู้สึกพระองค์ว่าได้กระทำผิด จึงให้เนรเทศพวกมหายานเสียอีกครั้ง ๑ แต่เวลานั้นพระสงฆ์คณะมหาวิหารเพิ่งจะกลับมาอยู่ที่เดิม ยังไม่มีพระมหาเถรผู้ใหญ่ พระเจ้ามหาเสนจึงทรงตั้งพระดิศเถรผู้เป็นหัวหน้าพระสงฆ์สาคลนิกายเป็นสังฆนายก แล้วสร้างวัดขึ้นใหม่ให้เป็นที่สถิตในราชธานีขนานนามว่า “วัดเชตวัน”

วัดเชตวันซึ่งพระเจ้ามหาเสนสร้างในลังกาทวีป เป็นวัดแรกที่ปรากฏว่าเอาชื่อ “พระเชตวัน” อันเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ ณ เมืองสาวัตถีมาใช้เป็นชื่อวัด คิดดูว่าจะเป็นเพราะเหตุใดพระเจ้ามหาเสนจึงตั้งชื่อว่า “วัดเชตวัน” เห็นมีเค้าเงื่อนด้วยในสมัยนั้นมีพระพุทธรูปและพระสงฆ์นิกายมหายานเกิดขึ้นทางอินเดียข้างฝ่ายเหนือเกือบ ๑๐๐ ปีแล้ว และปรากฏในเรื่องพงศาวดารลังกาว่าพวกมหายานเริ่มลงมาสั่งสอนถึงลังกา แต่พวกชาวลังกาโดยมากยังคงเลื่อมใสลัทธิหินยานขับไล่พวกมหายานไปเสียจากบ้านเมืองหลายครั้ง แต่มีพระสงฆ์พวกสาคละนับถือทั้งคติมหายานและหินยานระคนปนกัน ข้อที่ว่าระคนปนกันนั้นจะเป็นอย่างไร คิดดูเห็นว่าน่าจะเป็นด้วยพระสงฆ์มหายานนำคติที่ทำพระพุทธรูปขึ้นบูชาลงมาแต่ข้างเหนือ พวกที่ถือลัทธิหินยานเห็นว่าเป็นการละเมิดประเพณีเดิมที่ถือว่าไม่ควรทำพระพุทธรูป แต่มีพระสงฆ์พวกหนึ่งซึ่งพระอุสสริยดิศเป็นหัวหน้า เลื่อมใสบูชาพระพุทธรูปเช่นพวกมหายาน แต่คงถือพระธรรมวินัยตามลัทธิหินยานอยู่อย่างเดิม จึงว่าถือลัทธิทั้ง ๒ นิกายระคนปนกันเป็นเหตุให้เกิดเป็นคณะสาคละขึ้นต่างหาก เมื่อพระเจ้ามหาเสนตั้งพระมหาดิศเถรซึ่งเป็นเจ้าคณะสงฆ์สาคละเป็นสังฆนายก พระดิศเถรคงทูลแนะนำให้ทรงสร้างพระพุทธรูปขึ้นบูชาเป็นอุเทสกเจดีย์แทนสร้างพระสถูปบรรจุพระธาตุที่หาได้จากหาดทรายชายทะเล แต่ความคิดนั้นฝืนความนิยมของพวกพระสงฆ์คณะมหาวิหาร พระเจ้ามหาเสนจึงสร้างวัดถวายใหม่ตามอย่างพระเจ้าวัฏคามินีสร้างวัดอภัยคิรีวิหารแต่ปางก่อน ที่ให้ชื่อว่า “วัดเชตวัน” นั้น น่าจะเป็นวัดแรกที่ ประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นประธานแทนพระองค์พระพุทธเจ้า จึงเอาชื่ออารามที่ประทับของพระพุทธองค์ ณ เมืองสาวัตถี ซึ่งนับถือกันว่าสำคัญกว่าที่ประทับแห่งอื่นมาขนานเป็นนามวัด คิดไม่เห็นว่าจะเป็นเพราะเหตุอย่างอื่น แต่นั้นพระสงฆ์ลังกาก็แยกกันเป็น ๓ คณะ เรียกว่ามหาวิหาร คณะ ๑ อภัยคิรีวิหาร คณะ ๑ และเชตวันวิหาร คณะ ๑ ต่อมายอมรับประเพณีทำพระพุทธรูปขึ้นบูชาด้วยกันทั้ง ๓ คณะ จึงมีพระพุทธรูปแพร่หลายในลังกาสืบมาเหมือนกับที่ในอินเดีย

ได้กล่าวมาแล้วว่าประเทศลังกาไม่มีเวลาที่จะเป็นสันติสุขอยู่ช้านาน มิเกิดลำบากด้วยศัตรูภายนอกมาย่ำยีก็เกิดจลาจลด้วยพวกราชวงศ์ลังการบพุ่งแย่งชิงราชสมบัติกันและกัน สงฆมณฑลจึงระส่ำระสาย เพราะเหตุนั้น และวัตรปฏิบัติของภิกษุสงฆ์ก็เสื่อมทรามลงเป็นลำดับมา จนถึง พ.ศ. ๑๖๑๔ พระเจ้าวิชัยพาหุศิริสังฆโพธิมีชัยชนะพวกทมิฬได้เมืองลังกาคืนเป็นราชอาณาเขต ทรงปรารภจะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้คืนดีอย่างเดิมได้ความปรากฏแก่พระหฤทัยว่าในลังกาทวีปไม่มีพระสงฆ์ซึ่งทรงภิกษุภาวะโดยบริสุทธิ์ หรือถ้าว่าอีกนัยหนึ่ง คือสูญสิ้นศาสนวงศ์ซึ่งสืบมาแต่พระมหินทรเถรเสียแล้ว จึงให้มาขอสงฆ์นิกายมอญที่เมืองพุกามประเทศพม่าไปให้อุปสมบทบวชชาวลังกา ด้วยถือว่าพระสงฆ์นิกายมอญสืบศาสนวงศ์มาจากพระโสณและพระอุตรที่พระเจ้าอโศกมหาราชให้มาตั้งศาสนวงศ์ในสุวรรณภูมิคราวเดียวกัน และเป็นศาสนวงศ์เดียวกันกับพระมหินทรที่ไปยังลังกาทวีป พระเจ้าอนุรุธมหาราชซึ่งครองประเทศพม่าและมอญรวมกันในสมัยนั้น จึงจัดพระสงฆ์เป็นคณะปรกส่งไปเมืองลังกา ๒๐ รูป ให้ไปอุปสมบทชาวลังกาตั้งเป็นสงฆมณฑลขึ้นใหม่แล้ว พระเจ้าวิชัยพาหุศิริสังฆโพธิก็สั่งให้สึกพระลังกาเก่าเสียหมด แต่นั้นพระสงฆ์ในลังกาก็กลับเป็นคณะเดียวกันสืบมา

ถึง พ.ศ. ๑๖๙๖ (ภายหลังพระสงฆ์เมืองพุกามไปกลับตั้งศาสนวงศ์ได้ ๒๗ ปี) เกิดมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นมหาราชครองเมืองลังกา ทรงพระนามว่าพระเจ้าปรักกรมพาหุ สามารถปราบปรามศัตรูได้ลังกาทวีปทั้งหมด กับเมืองทมิฬในอินเดียข้างตอนใต้ไว้ในราชอาณาเขต เมื่อปราบปรามศัตรูราบคาบแล้ว พระเจ้าปรักกรมพาหุก็ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้ชำระหนังสือพระไตรปิฎกซึ่งนับว่าเป็นสังคายนาอีกครั้ง ๑ (พระไตรปิฎกที่ใช้เป็นหลักพระพุทธศาสนาอยู่ในเมืองพม่ามอญไทยบัดนี้ล้วนเป็นสำเนาพระไตรปิฎกซึ่งชำระเมื่อครั้งพระเจ้าปรักกรมพาหุได้มาจากลังกาด้วยกันทั้งนั้น) นอกจากชำระพระไตรปิฎก พระเจ้าปรักกรมพาหุเอาเป็นพระธุระอุดหนุนให้พระสงฆ์เล่าเรียน และรักษาพระธรรมวินัยเคร่งครัดเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น พระพุทธศาสนาก็กลับรุ่งเรืองขึ้นในลังกาทวีปจนเลื่องลือไปถึงนานาประเทศ เฉพาะสบเวลาที่พวกมิจฉาทิฐิล้างพระพุทธศาสนาเสื่อมสิ้นไปในอินเดีย พวกพม่ามอญไทยจึงหันไปนิยมลัทธิพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป ถึงพากันออกไปศึกษาพระธรรมวินัยและบวชเป็นพระภิกษุลังกาวงศ์ กลับมาสั่งสอนในบ้านเมืองของตน บ้างก็พาพระสงฆ์ลังกาเข้ามาเป็นครูบาอาจารย์ จำเนียรกาลนานมาพระสงฆ์ในเมืองพม่ามอญไทยก็รับลัทธิบวชเป็นลังกาวงศ์และถือคติตามนิยมของพระลังกาด้วยกันทุกประเทศ

๗. อธิบายว่าด้วยวัดเชตุพนในประเทศสยาม

วัดโบราณที่เรียกชื่อว่า “เชตุวัน” หรือ “เชตุพน” มีในประเทศสยามนี้หลายวัด และสร้างเป็นพระอารามหลวงแทบทั้งนั้น ในมณฑลพายัพมีวัดเชตวันที่เมืองนครลำปางวัด ๑ เชื่อว่าที่เมืองเชียงใหม่ก็คงมี แต่ฉันจำไม่ได้ ที่เมืองสุโขทัยก็มีวัดพระเชตุพนวัด ๑ อยู่นอกกำแพงเมืองทางทิศใต้ เป็นพระอารามหลวงใหญ่โตและทำอย่างประณีต ถึงเอาศิลาแท่งใหญ่ๆ มาถากทำเป็นรั้วรอบบริเวณโบสถ์วิหาร แต่พิเคราะห์ดูลักษณะเป็นวัดที่สร้างเมื่อไทยกำลังนับถือลัทธิลังกาวงศ์ทั้งนั้น แต่ที่พระนครศรีอยุธยาไม่ปรากฏว่ามีวัดพระเชตุพน ฉันได้ให้พระยาโบราณพยายามค้นหาก็ไม่พบ ถ้าไม่มีในพระนครศรีอยุธยาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็เห็นจะเอานามวัดพระเชตุพนที่เมืองสุโขทัยมาขนานนามวัดเชตุพนเดี๋ยวนี้

๘. อธิบายเรื่องสร้างวัดชัยวัฒนาราม

ในหนังสือพระราชพงศาวดารตอนรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ผู้แต่งไม่รู้เรื่องสำคัญทิ้งเสียอย่างหนึ่ง เอาแต่รายการอันเป็นความมากล่าว เช่นว่าโปรดให้ช่างออกไปถ่ายแบบอย่างพระนครหลวงและปราสาทกรุงกัมพูชาประเทศ เข้ามาให้ช่างทำพระราชวังที่ประทับร้อน ณ ตำบลริมวัดเทพจันท สำหรับเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท ดังนี้เป็นต้น เรื่องสำคัญนั้นฉันไปพบในหนังสือฝรั่งแต่งแต่จะเรียกชื่อว่าเรื่องอะไรฉันลืมไปเสียแล้ว ว่ากรุงกัมพูชาเคยเป็นประเทศราชขึ้นไทยมาแต่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจนตลอดรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่เมื่อถึงรัชกาลพระทรงธรรมกลับตั้งแข็งเมืองเป็นอิสระ กองทัพไทยลงไปตีก็พ่ายแพ้เขมรกลับมา ครั้นถึงรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ให้กองทัพไทยยกไปอีก คราวนี้เขมรยอมแพ้ได้เมืองเขมรกลับมาเป็นเมืองขึ้นอย่างแต่ก่อน เรื่องนี้เองเป็นเหตุให้พระเจ้าปราสาททองถือพระองค์เป็นพระเจ้าราชาธิราช ให้ไปถ่ายแบบโบราณวัตถุสถานที่เมืองเขมรเข้ามาสร้างเฉลิมพระเกียรติยศหลายอย่าง ว่าแต่ที่ฉันจำได้ในเวลานี้

(๑) ถ่ายแบบปรางค์หน้าคน ที่ประตูเมืองนครธมมาทำประตูพรหม

(๒) ถ่ายแบบพลับพลาสูงที่หน้าพระราชวังเมืองนครธมมาสร้างปราสาท เดิมให้ชื่อว่า “ศรียโสธร” ตามชื่อเมืองเขมร แล้วเปลี่ยนเป็น “จักรวรรดิไพชยนต์” คำจักรวรรดิเฉลิมพระยศ คำไพชยนต์มาแต่ปราสาทบายน

(๓) ถ่ายแบบปราสาทพิมานอากาศที่ในพระราชวัง หรือถ้ามิฉะนั้นปราสาทบาปวนมาสร้างพระนครหลวง ให้ชื่อภาษาไทยว่าพระนครหลวงตรงกับนครธม

(๔) วัดชัยวัฒนารามนั้น แต่ก่อนมาเราเข้าใจกันว่าเอาแผนผังพระเมรุกลางเมืองมาสร้าง ถึงมีผู้ปรารภกันว่าไฉนจึงเอาแบบพระเมรุมาสร้างวัด ต่อมาพิจารณาเมื่อได้ไปเห็นปราสาทหินที่เมืองเขมรแล้ว จึงคิดเห็นว่าตั้งใจจะจำลองนครวัด ที่ให้ชื่อว่า “ชัยวัฒนาราม” นั้นก็หมายความว่ามีชัยได้เมืองเขมรนั้นเอง

วัดชัยวัฒนารามนั้นฉันได้เคยเห็นถนัดเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทอดพระเนตรครั้ง ๑ พระยาโบราณเขาถางหมดจดตลอดวัด และได้ไปดูโดยลำพังตนเองในเวลาเมื่อถางเตียนอยู่อีกครั้ง ๑ สิ่งสำคัญของวัดชัยวัฒนารามมี แห่ง ๓ คือ

(๑) ปรางค์พระมหาธาตุมีพระระเบียงล้อมรอบ ตามมุมพระระเบียงมียอดปรางค์ สิ่ง ๑

(๒) ต่อบริเวณพระระเบียงออกมาข้างหน้ามีพระวิหารหลวงหลัง ๑

(๓) ต่อบริเวณพระวิหารหลวงออกมามีพระอุโบสถหลัง ๑ ดูเหมือนจะมีพระเจดีย์อีก ๒ องค์ อยู่ ๒ ข้าง ด้านหน้าพระอุโบสถด้วยแต่น้ำกัดตลิ่งพังเข้าไปถึงหน้าพระอุโบสถแล้ว เห็นแต่เป็นทรากของหักพังลงไปอยู่ในน้ำ

ที่บานแพนกกฎหมายเก่าตอนลักษณะมรดกว่าพระเจ้าปราสาททอง “บำเพ็ญพระราชกุศลถาปนาพระมหาวิหารและพระเชตุพนและพระมหาธาตุ” ก็เป็น ๓ สิ่งตรงจำนวนสิ่งสำคัญที่มีอยู่ในวัดนั้น เป็นแต่เรียกพระอุโบสถว่าพระเชตุพนจะเป็นเพราะเหตุใดข้อนี้ได้แต่คิดสันนิษฐาน เห็นเค้าเงื่อนว่าอาจจะเป็นด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๓ อย่างที่กล่าวต่อไปนี้ คือ

(๑) อาจจะเป็นแต่ถ้อยคำของลักษณะผู้แต่งบานแพนกกฎหมายนั้น เรียกพระอุโบสถว่าพระเชตุพนให้วิเศษกว่าเรียกพระอุโบสถ การที่อาลักษณ์ผู้แต่งบานแพนกเรียกชื่อแปลงให้แปลกกว่าสามัญอย่างนี้มีในกฎหมายหลายแห่ง ถ้าสังเกตดูพระนามพระเจ้าแผ่นดินหรือชื่อปราสาทซึ่งอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จประทับในเวลาดำรัสให้ตั้งกฎหมายก็เห็นจะได้ ว่าใช้สร้อยต่างๆ อันมิใช่มีจริงและชื่อปราสาทที่ไม่มีตัวปราสาทชื่อเช่นนั้นหลายแห่ง

(๒) อาจจะมีพระพุทธรูปเป็นของโปรดตั้งเป็นพระประธานที่ในโบสถ์ พระเจ้าประสาททองจึงดำรัสสั่งให้เรียกว่าพระเชตุพน

(๓) ที่ตรงสร้างวัดชัยวัฒนาราม ในหนังสือพระราชพงศาวดาร (ฉบับพระราชหัตถเลขา) ว่าเดิมเป็นบ้านของพระชนนี แต่ฉันเห็นพ้องกับพระยาโบราณว่าคงเป็นที่บ้านของพระเจ้าปราสาททองเมื่อยังเป็นขุนนาง เมื่อพระเจ้าปราสาททองได้เสวยราชย์ จึงทรงอุทิศที่จวนเดิมเป็นพุทธบูชาให้สร้างวัดและได้ลงมือสร้างมาแต่แรกเสวยราชย์ อาจจะทรงเจตนาจะให้เรียกวัดพระเชตุพน เพราะเป็นชื่อวัดใหญ่อันยังไม่มีที่กรุงศรีอยุธยาเหมือนที่กรุงสุโขทัย แต่แบบอย่างที่จะสร้างคิดไว้อย่าง ๑ มาเปลี่ยนแปลงเมื่อได้เมืองเขมร ให้สร้างพระมหาธาตุเป็นปรางค์ และเปลี่ยนนามวัดเป็นวัดชัยวัฒนารามเพื่อเฉลิมพระเกียรติ จึงให้เอาชื่อพระเชตุพนไปใช้เรียกพระอุโบสถ

ที่ว่ามานี้เป็นการเดาทั้งนั้น เชื่อได้เป็นแน่อย่างเดียวแต่ว่าพระเชตุพน ต้องเป็นสถานที่มีพระพุทธรูป สถานที่ไม่มีพระพุทธรูปเช่นพระสถูปหรือพระปรางค์ ก็ดี ศาลา ก็ดี จะเรียกว่าพระเชตุพนไม่ได้และไม่มี ที่เรียกเป็นชื่อวัดก็เพราะเหตุที่มีพระพุทธรูปเป็นประธาน หรือที่พม่าเรียกชื่อราชมนเทียรองค์ ๑ ว่าเชตวัน ก็เพราะเป็นที่ไว้พระพุทธรูปใช่แต่เท่านั้น ถ้าว่าตามนิตินัยพระพุทธรูปต้องเป็นรูปพระโคดมบรมศาสดาด้วยจึงสมควรชื่อว่าพระเชตุพน ถ้ารูปพระพุทธเจ้าองค์อื่นต้องเรียกชื่ออื่น เช่นว่าวัดพุทไธสวรรย์ จึงหมายความว่าเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าเป็นสาธารณะ ฉันคิดเห็นดังนี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ