วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๒๓ เมษายน แล้ว

ที่ทรงปรารภคำ “เจ้า” กับคำ “ขุน” นั้น หม่อมฉันเห็นด้วยดังทรงพระดำริ คือว่า เจ้า ต้องเป็นยศโดยกำเนิด ขุน เป็นยศที่ตั้งแต่ง ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็แยกกันไว้ชัดเจนว่า “ลูกเจ้า ลูกขุน” เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นขุนจะเป็นเจ้าหรือมิใช่เจ้าก็เป็นได้ ตัวอย่างยังมีอีก เช่นคำว่า“เจ้าขุนมุลนาย” ก็คงมาแต่เขียนควง เจ้า ขุน มุลนาย ดังนี้

หม่อมฉันค้นพระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาที่ใช้ในกฎหมาย พบเค้าเงื่อนในพระราชกฤษฎีกาครั้งพระเจ้าอู่ทอง ๒ แห่ง

แห่ง ๑ อยู่ในกฎหมายลักษณะตุลาการ ขึ้นต้นว่า

“ศุภมัศดุ (พ.ศ.) ๑๙๐๐ ศกวอนนักสัตว เดือนเจ็ด แรมค่ำหนึ่ง สมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว เสด็จ (สถิตย์) ในบุษบกมาลามหาปราสาทอุดรทิศ (พระ) เสาวคนธกุฏี หมื่นโชตบังคมทูลพระกรุณา” ฯลฯ

อีกแห่ง ๑ อยู่ในกฎหมายลักษณะลักพา ขึ้นต้นว่า

“ศุภมัศดุ (พ.ศ.) ๑๘๙๙ (ศก) มะแมนักสัตว เดือนอ้าย ขึ้น ๗ ค่ำ พุฒวาร บริเฉทกาลกำหนด จึงนายสามขลาเสมียนพระสุภาวดี บังคมทูลแต่สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี ศรีบรมจักรพรรดิ ราชาธิราช บรมบพิตร พระเจ้าอยู่หัว” ดังนี้

ส่อให้เห็นว่าพระนามที่ใช้ในพระราชกฤษฎีกาเมื่อแรกตั้งนั้น คงใช้แต่ว่า “สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” อย่างอังกฤษว่า His Majesty the King เท่านั้น แม้พระราชกฤษฎีกาที่ตั้งชั้นหลังมาจนในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เช่นในกฎหมายตอนพระราชบัญญัติ ก็ใช้คำว่า “สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” พระนามเช่นว่า “สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี” เป็นคำแทรกเข้าภายหลังเมื่อล่วงรัชกาลนั้นแล้วบางทีช้านัก คือเมื่อรวบรวมพระราชกฤษฎีกาต่างๆ เข้าเรียบเรียงกัน จึงต้องแทรกพระนามลงเพื่อให้รู้ว่าเป็นพระราชกฤษฎีกาของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ไหนแต่ปางก่อนตั้งไว้ อาลักษณ์พนักงานชำระฉบับพระราชกฤษฎีกามาเป็นคราวๆ เปลี่ยนตัวอาลักษณ์ผู้ชำระ อันความรู้และความนิยมต่างกันและสำนวนก็ต่างกันไป หม่อมฉันยังติดใจต่อไปถึงศักราชที่ลงในกฎหมาย สังเกตดูในกฎหมายบรรดาที่ตั้งในรัชกาลพระเจ้าอู่ทองใช้พุทธศักราชแม่นยำ กฎหมายที่ตั้งเมื่อตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยามาก็ใช้จุลศักราชแม่นยำ แต่กฎหมายที่ตั้งตอนกลางระหว่างนั้น ใช้ศักราชหลายอย่างและสอบดูมักจับผิดไปเนืองๆ ชวนให้หม่อมฉันคิดว่า เมื่อตั้งกฎหมายน่าจะใช้แต่ปีสิบสองกับนักษัตรกับศก ตามแบบที่ไทยใช้กันมาแต่เดิม จะให้เพิ่มเลขศักราชลงต่อเมื่อภายหลัง ในเวลาเมื่อชำระพระราชกฤษฎีกา ผู้ชำระที่รู้จริงก็เทียบศักราชกับปีและศกได้แม่นยำ ที่ไม่รู้จริงหรือมีเหตุอย่างอื่นเช่นเมื่อพระเจ้าปราสาททองสอบศักราช ก็ลงศักราชพลาดไป และใช้ศักราชตามนิยม ใช้มหาศักราช เช่นใช้เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยบ้าง ศักราชโหรเรียกว่า “จุฬามณี” บ้าง

ข่าวทางปีนังในหมู่นี้ จะทูลเรื่องเจ้านายที่มาปีนัง ต่อจากที่ทูลไปในจดหมายฉบับก่อน เจ้าหญิงสุวรรณากุมารี ในกรมไชยา เธอมาหาหม่อมฉันด้วยกันกับพวกหญิงครูอีกหลายคน ล้วนเป็นครูในโรงเรียนราชินีทั้งนั้น ครูผู้ใหญ่ที่ควบคุมเป็นน้องของนายประสิทธิ์กงซุล ดังทูลไปแล้ว ต่อมาถึงวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ เจ้าหญิงสิบพันมาถึง บอกว่าเจ้าชายสกลขึ้นรถที่จังหวัดประจวบมาคราวเดียวกัน พูดกับเธอว่าอยากจะมาหาหม่อมฉัน แต่เห็นจะเป็นด้วยเรืออัลเซียซึ่งเธอไปยุโรปรีบออก พอรับคนโดยสารที่มารถไฟจากกรุงเทพฯ แล้ว จึงมิได้มา หญิงสิบพันนั้นประหลาดที่ธาตุของเธอช่างไม่ชอบกับปีนังเสียเลย เมื่อมาคราวก่อนมาพักอยู่ซินนามอนฮอล ๒ คืน นอนไม่หลับ ขึ้นไปอยู่บนเขาปีนังก็ไปนอนไม่หลับ ต้องรีบกลับกรุงเทพฯ มาคราวนี้มาพักอยู่ซินนามอนฮอล ๓ วัน ก็มีอาการนอนไม่หลับเหมือนหนหลัง เดี๋ยวนี้ไปอยู่ที่แคมะรอนฮิลด้วยกันกับมิชชันนารีอเมริกันที่คุ้นกับเธอ ดูเหมือนค่อยสบายขึ้น พระองค์ชายเฉลิมพลทิฆัมพรมาหาหม่อมฉันเมื่อวันที่ ๒๗ ว่าจะไปยุโรปด้วยเรือเมล์ญี่ปุ่นวันเสาร์ เธอไปราชการกรมตำรวจกับเพื่อนนายตำรวจอีก ๒ คน ว่าจะไปตรวจการตำรวจประเทศต่างๆ รอบโลก ชายนิพัทลูกหม่อมฉันอยู่ในข้าหลวง ๓ คน ซึ่งกระทรวงพระคลังให้ไปตรวจการเก็บภาษีอากรในอินเดีย และเมืองพม่า จะกลับมาถึงปีนังวันอาทิตย์ที่ ๑ พฤษภาคมนี้ รุ่งขึ้นจะกลับกรุงเทพ ฯ

หม่อมฉันหวังใจว่า ท่านคงจะได้รับสมุดรูปภาพอินเดียกับทั้งพรที่หม่อมฉันถวายเมื่อตรงวันประสูตินั้นแล้ว สมุดรูปอย่างนั้นเดิมชายนิพัทส่งมาให้หม่อมฉันจากกัลกัตตาเล่ม ๑ พอเห็นก็ได้ออกปากว่าต้องหาอีกเล่ม ๑ สำหรับเป็นของเฉลิมพระขวัญตรงวันประสูติถวายท่าน คิดว่าจะเก็บไว้เป็นความลับจนกระทั่งวันประสูติ แต่เมื่อหนังสือมาถึงทราบว่าหญิงเหลือเอาความลับไปเสียก่อนแล้ว หม่อมฉันจึงส่งไปให้หญิงใหญ่นำถวาย เวลาหม่อมฉันเขียนจดหมายนี้ น้ำใจเกิดความรักกับทั้งประสงค์ที่จะให้ท่านเจริญพระชันษายั่งยืนพร้อมด้วยความสุขสำราญสืบไปให้ช้านาน ขอจงทรงรับพรทั้งนี้ด้วยอีกโสดหนึ่ง

ได้เห็นในหนังสือพิมพ์เลื่องลือถึงการที่จะจับช้าง เป็นกีฬาอย่างมโหฬารที่เมืองลพบุรีในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ หม่อมฉันคิดถึงแม่ขึ้นมา ด้วยครั้งหนึ่งมีละครม้า Circus เข้ามาเล่นในกรุงเทพฯ หม่อมฉันชวนท่านไปดู ท่านไม่ไปตอบว่า “เคยดูแล้วแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในเวลานี้ใจหม่อมฉัน และอยากจะอ้างว่าพระหฤทัยท่านด้วย ก็เห็นจะเป็นเหมือนแม่ว่า

เทียมซุน “จีนใหญ่” มาลาหม่อมฉันไปสิงคโปร์แล้ว บอกว่าไม่มีทางที่จะหากินที่นี่ จะลองไปหาดูที่สิงคโปร์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ