วันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๖ สิงหาคมกับสมุดเทศนาพิมพ์เนื่องในงานฉลองพระชันษาทูลกระหม่อมชาย ๒ กัณฑ์ นั้นแล้ว รู้สึกยินดีอนุโมทนาในการพิธีภาคที่ทำ ณ วัดเบญจมบพิตร อันเป็นการสำเร็จเรียบร้อยทุกสถาน อยากรู้ว่ามีใครไปช่วยงานบ้าง หม่อมฉันหวังใจว่าคงมีพวกวังวรดิศไปด้วย เวลานี้หญิงจงยังคงอยู่ชวา เธอบอกมาว่าจะได้โดยเสด็จท่านไปเกาะบาหลีด้วย แล้วเธอจะกลับจากชวามาถึงปีนังราววันที่ ๑๐ กันยายน

ทับทรวงบาหลีนั้นชิ้นที่หายสูญมาแต่ชวา เพราะซื้อแล้วก็ให้คนใช้ห่อหิ้วมา และมาถูกยักย้ายยัดลงบรรจุในหีบซองไม่ได้เอาออกดู จนมาถึงปีนังแก้ห่อออกก็เห็นลิเป็นเช่นนั้น หาเศษลิก็ไม่ได้ แต่หม่อมฉันคิดน่าจะซ่อมได้ในกรุงเทพฯ ด้วยตัวอย่างข้างดียังมีอยู่ เป็นแต่จะต้องทำเทียม หม่อมฉันนึกว่าถ้าจีนใหญ่เทียมซุนกลับไปอยู่ในกรุงเทพฯ คงสามารถซ่อมให้ดีได้ บางทีจะมีช่างคนอื่นที่ท่านทรงรู้จักจะซ่อมได้เหมือนกัน หม่อมฉันยินดีที่ท่านโปรดของแกะด้วยกะลาที่เกาะบาหลี ยังมีอีกชนิดหนึ่งขนาดสำหรับทำเป็นเข็มกลัดคอหรือเป็นจี้ผูกคอ มีที่ทำงามๆ ซื้อได้เพียงอันละ ๗๐-๘๐ เซ็นต์เท่านั้น หญิงเหลือซื้อเอามาห้อยคอเล่นอยู่อันหนึ่ง

การที่ท่านจะเสด็จชวาโดยทางอ้อม ไปลงเรือที่ตำบลศรีมหาราชานั้น น่าสงสารพวกที่เข็ดคลื่น เพราะเวลานี้เป็นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่สันดอนคลื่นใหญ่กว่าฤดูอื่น แต่เมื่อลงเรือใหญ่ไปจากเกาะสีชังแล้วคลื่นก็จะน้อยลงตลอดจนถึงสิงคโปร์ แต่สิงคโปร์ถึงบาหลีไม่มีคลื่น เพราะมีเกาะต่างๆ บังคลื่นฤดูนี้แทบตลอดทาง ขาเสด็จกลับเป็นเวลามรสุมพอจะเปลี่ยน อาจจะไม่มีคลื่นเลยตลอดทางก็เป็นได้ ข้อสำคัญอยู่ที่จะต้องหาฤกษ์กลับจากบะเตเวียให้เรือมาถึงสิงคโปร์พอเหมาะกับเวลากำปั่นยนต์ของบริษัทอิสต์เอเซียติคลำที่จะเข้าไปกรุงเทพฯ ถึงที่นั่น อย่าให้ต้องรอคอยเรืออยู่ที่สิงคโปร์ หรือถ้าจะต้องรอก็อย่าให้นาน เพราะที่สิงคโปร์อากาศทั้งร้อนทั้งชื้นไม่สบายเลย เมื่อหม่อมฉันไปชวาครั้งหลังต้องไปพักที่โฮเต็ลแรฟเฟลรอเรือวัน ๑ ในห้องต้องเปิดพัดลมทั้งกลางวันกลางคืนตลอดเวลาที่พัก

หม่อมฉันมีเรื่องจะทูลนำเสด็จประพาสชวาอยู่อีกบ้าง จะทูลในจดหมายฉบับนี้ ว่าด้วยเกาะชวาทางตะวันออกในมณฑลสุรไบยา

๑. ที่ตัวเมืองสุรไบยามีสวนเลี้ยงสัตว์ สัตว์ในสวนนั้นมีแปลกตา ๒ อย่าง คือตัว (ฝรั่งเรียกชื่อว่ากระไรลืมไปเสียแล้ว) สัตว์ซึ่งเพิ่งพบใหม่ นักปราชญ์อ้างว่าเป็นต้นวงศ์ของมังกร อยู่ในสัตว์จำพวกเหี้ย ตัวโตผิวหนังเคอะคระอย่างหนังกระเบน เขาว่าสัตว์อย่างนี้มีเหลืออยู่แต่ที่เกาะหนึ่งในหมู่เกาะชวานี้แห่งเดียว สัตว์อีกอย่างหนึ่งคือลิงออรังอุตัง หม่อมฉันได้เคยเห็นมาแต่ก่อนหมายขนาดสำคัญว่ามันเล็กกว่าคน เพิ่งเห็นมีโตเท่าคนในสวนสัตว์นั้น แล้วไปเห็นหัวกะโหลกออรังอุตังในมิวเซียมที่บันดงหัว ๑ ก็โตเท่าหัวคน ประกอบกันเป็นอันได้ความรู้ใหม่อย่างหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีสัตว์แปลกๆ เช่นนกการะเวกเป็นต้นน่าดูอีกหลายอย่าง

๒. ที่เมืองมดโยเกอรโต ว่าเป็นราชธานีครั้งสมัยมัชปะหิต มีรูปศิลาทำเป็นนารายณ์ทรงสุบรรณแบบชวางามพอดู ตั้งเป็นประธานอยู่ในมิวเซียมหลังเล็กๆ แห่ง ๑

๓. ต่อเมืองมดโยเกอรโตไปราก ๑๙ ไมล์ รัฐบาลกำลังจะตั้งมิวเซียมของโบราณเมืองชวาทางฝ่ายตะวันออกขึ้นใหม่ เขาปลูกแต่เป็นโรงหลังคาจากขึ้นไว้หลายหลัง หลังหนึ่งเป็นที่รวมของได้อะไรมาก็ส่งรวมไว้ที่หลังนั้น มีผู้รู้เป็นพนักงานเลือกของแยกไปตั้งชั้นไว้เป็นหมวดหมู่ตามประเภทที่ในโรงหลังอื่นๆ มีของน่าพิจารณาหลายอย่างได้เห็นของที่ทำให้เกิดประหลาดใจสิ่งหนึ่ง คือมีตุ๊กตาเสียกระบาลเหมือนอย่างที่เมืองสวรรคโลกมากมาย ตุ๊กตานั้นทั้งรูปและขนาดและมีรอยต่อยคอหักเช่นเดียวกัน ผิดกันแต่เพียงปั้นด้วยดินเผาไม่เคลือบเหมือนที่เมืองสวรรคโลก เป็นอันได้ความรู้ว่าไทยกับชวาคงได้ตำราพิธีเสียกระบาลมาจากอินเดีย

๔. เทวะสถานปะนะตะรันนั้น แม้ไม่เป็นสิ่งวิเศษด้วยรูปสันฐานหรือฝีมือที่ทำก็ดี เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งว่าเป็นที่ฝังศพหรืออัฐิธาตุ เพราะนอกจากตัวเทวสถานและมณฑปใหญ่ มีมณฑปน้อยๆ แม้ที่สุดทำเป็นสันฐานหีบศพตั้งบนชั้น อยู่ในบริเวณเทวสถานนั้นหลายแห่ง

ศาสตราจารย์เซเดส์เข้าไปกรุงเทพฯ เลยไปแสดงปาฐกถายกย่องพระเกียรติพระองค์ท่านในข้อสำคัญอันหนึ่ง หม่อมฉันรู้สึกยินดีด้วย

จะทูลสนองคดีที่ตรัสถามมา ๒ เรื่องในลายพระหัตถ์ฉบับนี้ต่อไป

เรื่องพระแก้วผลึกองค์ที่เรียกกันว่า “พระแก้วเชียงแสน” นั้นได้มาจากเมืองเชียงแสนในรัชกาลที่ ๔ เมื่อกรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จเป็นจอมพลไปตีเมืองเชียงตุง ประทับอยู่ที่เมืองเชียงแสน ได้พระแก้วผลึกองค์นั้นเห็นทรวดทรงงามและเนื้อแก้วใสบริสุทธิ์ จึงส่งลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมฉันเคยเห็นสำเนาลายพระราชหัตถ์เลขาตอบกรมหลวงวงศาฯ ทรงชมพระแก้วนั้นมาก (แต่ไม่มีสำเนาลายพระราชหัตถเลขาอยู่ที่นี่) คงโปรดให้ทำเครื่องประดับตามเค้าที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าทรงทำเครื่องประดับพระพุทธบุษยรัตน์ แล้วตั้งบนพระแท่นมณฑปด้วยกันกับพระพุทธบุษยรัตน์สืบมา ในหมายรับสั่งงานบรมราชาภิเษกครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ ก็ปรากฏว่าตั้งพระแก้วเชียงแสนบนพระแท่นมณฑปด้วย ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ มีใคร (หม่อมฉันนึกไม่ออก) ถวายพระแก้วผลึกอีกองค์หนึ่ง เนื้อแก้วและรูปทรงงามถึงพระแก้วเชียงแสน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงโปรดให้ทำเครื่องประดับเช่นเดียวกันและตั้งบนพระแท่นมณฑปเป็นคู่กับพระแก้วเชียงแสนสืบมา เรียกว่า “พระพุทธบุษยรัตน์น้อย” ถึงรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้พระแก้วผลึกขนาดนั้นมาจากไหนไม่ทราบ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็โปรดให้เรียกว่า “พระพุทธวชิรญาณ” แต่เลวกว่า ๒ องค์ ที่ว่ามาก่อนมากทั้งรูปทรงและเนื้อแก้ว

เรื่องพระนากนั้น พระพุทธรูปที่เรียกกันว่า “พระนาก” ความหมายแต่ว่าทองที่หล่อสีคล้ายนากเท่านั้นเอง มีอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง ๔ องค์ คือพระนากที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม องค์ ๑ พระนากที่ (พระวิหารน้อยหน้าต้นโพธิลังกา) วัดมหาธาตุ องค์ ๑ เป็นพระประธานอยู่ในวิหารวัดประยูรวงศ์ องค์ ๑ อยู่ (ในหอพระบาง) ณ วัดจักรวรรดิ์ องค์ ๑ จะทูลเรื่องตำนานตามที่ทราบเป็นลำดับไป

๑. พระนากในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เป็นพระพุทธรูปยืน (ปางไหนจำไม่ได้) ขนาดราวๆ กับพระพุทธยอดฟ้าฯ ที่อยู่ในพระอุโบสถ เดี๋ยวนี้ตั้งเป็นพระประธานอยู่ในวิหารยอด พระนากองค์นี้คงเป็นพระสำคัญในพระนครศรีอยุธยามาแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดให้เชิญลงมาไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทรงสร้างหอหลัง ๑ เป็นที่ประดิษฐาน คงอยู่ตรงที่หอพระนากเดี๋ยวนี้ หม่อมฉันเคยนึกสงสัยว่าเหตุไฉนจึงย้ายพระนากไปไว้ในวิหารยอด และเอาหอไว้พระนากเดิมเป็นที่รักษาพระอัฐิเจ้านาย เมื่อได้ยินท่านตรัสครั้งหนึ่ง ว่าทรงสังเกตเห็นแบบซึ่งสร้างหอพระนากเป็นแบบครั้งรัชกาลที่ ๓ หม่อมฉันได้พระดำรินั้นเป็นเค้ามาคิดวินิจฉัยต่อไปก็เห็นว่าเรื่องตำนานหอพระนากจะเป็นดังนี้

มีจดหมายเหตุปรากฏว่าเมื่อรัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างหอพระที่ในวัดพระแก้ว ๓ หลัง คือหอพระเทพบิดร หลัง ๑ หอพระนากหลัง ๑ วิหารขาว (ว่าอยู่่ตรงวิหารยอดบัดนี้) เป็นที่เก็บพระพุทธรูปต่างๆ ซึ่งไม่สำคัญถึงจะต้องสร้างหอถวายต่างหากหลัง ๑ มีหอ ๓ หลังเช่นนั้นสืบมารัชกาลที่ ๓ วัดพระแก้วทรุดโทรมลงตามอาทัพพสัมภาระ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งวัด เวลานั้นหอและวิหารที่ว่ามาก็คงชำรุดทรุดโทรม ถึงจะต้องสร้างใหม่ทั้ง ๓ หลัง ชะรอยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพระราชดำริว่าสร้างให้เป็นวิหารงามๆ แต่หลังเดียว ตั้งพระพุทธรูปรวมกันไว้ในวิหารจะดีกว่า จึงโปรดให้สร้างวิหารยอดที่ตรงวิหารขาว และรื้อหอพระเทพบิดรหอพระนากของเดิมเสีย

เรื่องสร้างหอพระนากใหม่เป็นที่ไว้พระอัฐิเจ้านายนั้น พิเคราะห์ดูจะมีมูลมาอีกทางหนึ่งต่างหาก คือ เมื่อรัชกาลที่ ๑ เจ้านายยังมีน้อยพระอัฐิเจ้านายที่สูงศักดิ์ เช่นสมเด็จพระพี่นางและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอรักษาไว้ ณ หอที่ไว้พระอัฐิฝ่ายใน จนสร้างหอพระธาตุมณเทียร (ซึ่งท่านทรงสังเกตว่าเป็นแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๒) จึงเชิญไปไว้ในหอนั้นด้วยกันกับพระบรมอัฐิ ดังปรากฏอยู่บัดนี้ เว้นแต่พระอัฐิกรมพระราชวังบวรสถานมงคลกับกรมพระราชวังบวรสถานภิมุขนั้นให้ประดิษฐานไว้ที่วังหน้าและวังหลัง พระอัฐิเจ้านายชั้นรองลงมาเห็นจะเชิญไปรักษาไว้ ณ หอพระนากหลังเดิมและทำพิธีเปตพลีในหอนั้นตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๒ ก็คงใช้ประเพณีเช่นนั้น แต่ปรากฏว่าโปรดให้เชิญพระอัฐิกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์มาไว้ในหอพระธาตุมณเทียร โดยฐานเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ถึงรัชกาลที่ ๓ มีเจ้านายมากขึ้นและเป็นเจ้าใหญ่นายโตก็หลายพระองค์ จึงให้ใช้ประเพณีรักษาพระอัฐิวังหลังขยายออกไปถึงเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ ให้ลูกหลานรักษาพระอัฐิไว้ที่วัง หรือว่าอีกอย่างหนึ่งมีพระอัฐิอยู่ต่างวังเกิดขึ้นอีกพวกหนึ่ง ต่อมาเกิดลำบากในการรักษาพระอัฐิต่างวัง ด้วยเชื้อสายไม่มีกำลังพาหนะหรือพระราชทานวังแก่เจ้านายพระองค์อื่นเป็นต้น อันต้องคิดหาที่ไว้พระอัฐินั้น แต่หม่อมฉันคิดว่าตัวต้นกรณีที่สร้างหอพระนากขึ้นใหม่เป็นที่ไว้พระอัฐิเจ้านายนั้นน่าจะเกิดด้วยพระอัฐิกรมพระราชวังหลังเป็นเหตุ กรมราชวังหลังเสด็จทิวงคตแต่ในรัชกาลที่ ๑ พระอัฐิอยู่ที่วังหลังต่อมา ด้วยเจ้าข้างใน (ทองอยู่) องค์พระอัครชายา และกรมหมื่นนราเทเวศ กรมหมื่นนเรศโยธี กรมหลวงเสนีบริรักษ์ พระโอรส ๓ องค์ ยังอยู่มาจนรัชกาลที่ ๓ เมื่อเจ้านายเหล่านั้นสิ้นพระชนม์ไปหมดแล้ว วังหลังเป็นวังร้างจึงเกิดปัญหาว่าจะทำประการใดด้วยพระอัฐิกรมพระราชวังหลัง หม่อมฉันคิดว่ากรณีนั้นเอง เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างหอสำหรับไว้พระอัฐิเจ้านายตรงที่หอพระนากเดิมที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเชิญพระอัฐิกรมพระราชวังหลังมาไว้ เมื่อพระอัฐิกรมพระราชวังหลังมาอยู่แล้ว ผู้รักษาพระอัฐิเจ้านายต่างวังก็ส่งพระอัฐิเจ้านายพระองค์อื่นๆ เติมมา จึงเลยเป็นหอสำหรับไว้พระอัฐิเจ้านาย ข้อที่คนยังเรียกว่าหอพระนาก จะเป็นด้วยเคยเรียกติดปากมาแล้วก็ได้ หรือมิฉะนั้นเมื่อแรกสร้างหอหลังใหม่ในรัชกาลที่ ๑ จะคงตั้งพระนากไว้เป็นประธานในการพิธีเปตพลี พึ่งย้ายพระนากไปไว้ในวิหารยอดเมื่อรัชกาลที่ ๕ ก็เป็นได้

พระนากองค์ที่อยู่ในพระวิหารน้อยวัดมหาธาตุนั้น เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยขนาดหน้าตักสักศอกเศษ เดิมมีผู้ถวายทูลกระหม่อมเมื่อทรงสร้างพลับพลาจตุรมุขเป็นที่ประทับ ณ วังจันทรเกษม เรียกกันว่าพระนากมาแต่ครั้งนั้น โปรดให้ตั้งเป็นพระประธานในหอพระปริตซึ่งสร้างขึ้นที่ริมพลับพลา พวกข้าราชการกรุงเก่าเล่าว่าเสด็จขึ้นไปครั้งใดก็ทรงสักการะบูชาทุกครั้ง อยู่มาถึงรัชกาลที่ ๕ พลับพลาจตุรมุขกับทั้งตำหนักข้างในและหอพระปริตชำรุดทรุดโทรมเสาผุขาดจะพังลงตามกัน กระทรวงมหาดไทยกับเทศาภิบาลปรึกษากันเห็นว่าการซ่อมก็เหมือนกับต้องสร้างใหม่ จะซ่อมหมดทุกสิ่งไม่เป็นประโยชน์คุ้มค่าสิ้นเปลือง จึงตกลงว่าจะซ่อมให้คืนดีแต่พลับพลาที่เสด็จประทับ เพราะฉะนั้นจึงรื้อหอพระปริตเสีย พระยาโบราณเชิญพระนากไปไว้ในอยุธยาพิพิธภัณฑ์สถานกับพระพุทธรูปอื่นอีกหลายองค์ หม่อมฉันผ่านไปทีไรมันนึกถึงที่พระนากเคยเป็นพระพุทธรูปซึ่งทูลกระหม่อมทรงสักการะบูชามาแต่ก่อน แต่ก็มิรู้ที่จะทำอย่างไร จนเมื่อพระพิมลธรรม (เฮง) จะปฏิสังขรณ์พระวิหารน้อย ในวัดมหาธาตุที่ทูลกระหม่อมทรงสร้างตรงพระตำหนักที่ประทับเมื่อแรกทรงผนวช ท่านมาปรารภแก่หม่อมฉันว่าอยากได้พระพุทธรูปงามๆ ตั้งเป็นพระประธานในพระวิหารน้อยสักองค์หนึ่ง หม่อมฉันนึกขึ้นถึงพระนากที่วังจันทร์ ก็บอกแก่ท่านว่า “พระพุทธรูปเหมาะแก่ความปรารถนาของเจ้าคุณมีอยู่แล้ว” แล้วเล่าเรื่องประวัติพระนากให้ฟังท่านก็ยินดี หม่อมฉันจึงขอพระนากองค์ที่วังจันทรเกษมลงมาให้พระพิมลธรรม ตั้งเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารน้อยอยู่บัดนี้

พระนากองค์ที่ตั้งเป็นพระประธาน ในวิหารวัดประยุรวงศ์นั้นเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักรากสัก ๓ ศอก พวกราชินิกุลสายบุนนาค มีเจ้าพระยาภาษกรวงศ์เป็นต้น บอกว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ได้มาจากเมืองเหนือ แต่จะเป็นเมืองไหนหาทราบไม่ เรียกกันว่าพระนากมาแต่เดิม หม่อมฉันเคยดูสัก ๒ ครั้ง ก็ไม่เห็นงามต้องตา

พระนากที่วัดจักรวรรดิ์นั้น เป็นพระยืน (ปางใดจำไม่ได้) สูงสักศอกเศษ ขัดชักเงาปลั่งทั้งองค์ ข้อที่ว่าทูลกระหม่อมพระราชทานไปแทนพระบางนั้นหม่อมฉันเห็นว่าไม่จริง มีหลักที่จะคัดค้านด้วยความทรงจำ (ถ้าไม่ลืมลง) ดังนี้ เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้พระบางลงมาถวายเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๐ (พงศาวดารรัชกาลที่ ๓ หน้า ๗๐) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจที่จะรับไว้ในพระราชวัง ด้วยมีเรื่องตำนานว่าผีที่รักษาพระแก้วกับพระบางไม่ชอบกัน พระ ๒ องค์นั้นอยู่ด้วยกันมักเกิดเหตุร้าย จึงพระราชทานพระบางให้เจ้าพระยาบดินทรเดชารับไปไว้ที่วัดจักรวรรดิ์ ภายนอกพระนคร เจ้าพระยาบดินทรเดชาสร้างหอที่ไว้พระบางขึ้นหลัง ๑ หอนั้นหม่อมฉันจำได้ว่าทำเป็น ๒ ห้อง ห้อง ๑ มีประตูและบันไดลงทางด้านพระอุโบสถใหม่ ที่ฝาด้านในมีฐานชุกชีที่ตั้งพระบาง อีกห้อง ๑ ก็มีประตูและบันไดอย่างเดียวกันลงทางโบสถ์เก่า ที่ในห้องฝาด้านในก็มีฐานชุกชีที่ตั้งพระนาก ยังตั้งอยู่จนทุกวันนี้ ที่ทำหอเป็น ๒ ห้องส่อให้เห็นว่าพระบางกับพระนากเคยตั้งอยู่ในหอนั้นด้วยกันมาช้านาน ทูลกระหม่อมเพิ่งพระราชทานพระบางคืนไปเมืองหลวงพระบางเมื่อปีขาล พ.ศ: ๒๔๐๙ ก่อนสิ้นรัชกาลที่ ๔ เพียง ๒ ปี เมื่อพระราชทานพระบางไปนั้นหม่อมฉันยังเป็นเด็กได้ยินผู้ใหญ่เขาโทษกันว่า พระบางปาฏิหารย์เป็นเงาขึ้นไปติดอยู่ที่พระปรางค์ในวัดจักรวรรดิ์ อาจจะเป็นด้วยมีคนนับถือมากนั่นเอง จึงช่วยกันหล่อพระบางจำลองขึ้นองค์ ๑ ตั้งไว้ในหอแทนพระบางองค์เดิม ยังอยู่จนบัดนี้ หม่อมฉันยังจำได้ดังทูลมานี้

จดหมายเวรฉบับนี้จะถึงกรุงเทพฯ วันเสาร์ที่ ๑๓ สิงหาคมจวนแจกับวันที่ท่านจะเสด็จไปชวา หม่อมฉันจะงดจดหมายเวรไว้จนท่านเสด็จกลับจึงจะเขียนต่อไปใหม่ ถ้ากำหนดจะเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ วันใดเป็นยุติขอโปรดให้ทราบด้วย หม่อมฉันจะได้ตั้งต้นเขียนจดหมายเวรต่อไป

ท้ายจดหมายนี้ หม่อมฉันขอถวายพระแก่พระองค์ท่าน กับทั้งพระญาติและบริวารที่จะโดยเสด็จไปชวา ขอให้เป็นสุขสนุกสบายจงทุกประการ เทอญ.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ