วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๑๑ มีนาคม แล้ว

เรื่องเพลงตีกลองชะนะที่ประทานอธิบายมานั้นดีนัก ชวนให้คิดวินิจฉัยออกไปยืดยาวดังจะทูลต่อไป หม่อมฉันเคยอ่านหนังสือว่าด้วยประเพณีของพวกคนดำในอาฟริกา ว่าทุกตำบลบ้านย่อมมีกลองหรือโกร่ง ตั้งไว้บนที่สูง เช่น ยอดเนินเขาเป็นต้น และมีเพลงสำหรับตีส่งเสียงบอกเพื่อนบ้านให้รู้เหตุการณ์ เช่น เรียกเพื่อนบ้านมาช่วยในเวลามีศัตรูมาบุกรุก หรือมีภัยอันตรายร้ายแรงเกิดขึ้น ให้เตรียมอพยพหลบหนี และที่สุดบอกให้รู้ว่ามีคนต่างชาติยกไปทางนั้นๆ อาจจะบอกข่าวถึงกันได้เร็วแลบอกต่อๆ กันไปได้ไกลมาก ในเกาะบาหลีก็ยังมีหอโกร่งสำหรับบอกสัญญาเรียกลูกบ้านอยู่ทุกตำบลจนทุกวันนี้ กลองที่ไทยเราใช้กันพิเคราะห์ดู ก็สำหรับตีให้เสียงเป็นสัญญาต่าง ๆ เช่น กลองวินิจฉัยเภรีก็สำหรับตีถวายเสียงว่าจะถวายฎีกา กลอง ๓ ใบบนหอกลองก็ตีบอกสัญญาต่าง ๆ กลองตามวัดก็ตีบอกเวลาเพล และให้บุญชาวบ้านเมื่อสวดมนต์แล้วในเวลาเย็น กลองตีทุ่มยามก็สำหรับบอกเวลา กลองชะนะก็ตีบอกจังหวะเดิน หม่อมฉันอยากจะลงเนื้อเห็นว่าเดิมทีเดียวใช้โกร่งสำหรับตีเป็นสัญญา ต่อมาสามารถทำกลองเสียงได้ยินไกลกว่าโกร่งจึงใช้กลองแทน แต่กลองทุกอย่างเดิมทำขึ้นเป็นของสำหรับตีให้สัญญาทั้งนั้น แม้กลองแขกและกลองโนบัดเดิมก็จะใช้เพื่อประโยชน์ให้สัญญาอันเดียวกัน แต่กลองนั้นทำเป็นประเภทต่างกัน “กลองหนัก” เสียงดังแต่น้ำหนักมากต้องตั้งหรือแขวนประจำไว้กับที่ ประเภท ๑ “กลองเบา” อาจจะตะพายเอาไปตีในเวลาเดินทางได้ แต่เสียงไม่สู้ดังนัก

กลองชะนะกับกลองแขก และกลองโนบัดอยู่ในประเภทเดียวกัน และเดิมน่าจะใช้อย่างเดียวกัน คือ สำหรับตีนำหน้าใกล้ๆ กับผู้คุมพล คอยตีสั่งบอกกระบวนให้เดินช้าหรือเดินเร็ว มีปี่ไฉนด้วยอีกเลา ๑ สำหรับใช้ในกิจอย่างไรหม่อมฉันยังคิดไม่เห็น ถ้าคุมคนจำนวนน้อยใช้แต่กลองคู่เดียวก็ได้ยินทั่วไป ที่เป็นมูลของกลองแขกและกลองโนบัด ถ้าจำนวนคนมากถึงกองพันและกองพล ก็ต้องมีสัญญาหลายคู่เดินแยกกันไปกับผู้บังคับกองร้อย ทำนองเดียวกับกระทุ้งเส้าให้จังหวะนายเรือดั้งทุกลำ ฉะนั้นกระบวนเสด็จพยุหยาตรา หรือแม้กระบวนทัพถึงชั้นกองพล คงมีกลองชะนะหลายสำรับแต่เดินประจำกองร้อยละสำรับ คอยรับเสียงตีสัญญาบอกกันต่อๆ ไปตามกลองของแม่ทัพใหญ่ ที่เอากลองชะนะมาเดินเรียงเป็นถ่องแถวยืดยาวในกระบวนแห่เสด็จ เห็นจะเป็นเอามาแต่งเป็นเครื่องประดับ มิใช่ใช้เช่นนั้นในกระบวนทัพที่ไปรบพุ่งจริงๆ ส่วนกลองสองหน้านั้นกระบวนตียังส่อให้เห็นว่า สำหรับตีเรียกพลเข้าตาริ้ว ที่เอามาตีนำเพลงเดินช้าน่าจะเกิดในต่อภายหลังให้มีเสียงไพเราะนำเสด็จ ทำนองแตรวงนำทหาร

อนึ่งที่เรียกว่า “กลองชัยเภรี” กับ “กลองชะนะ” จะเป็นของอันเดียวกันหรือต่างกัน พิเคราะห์ชื่อก็หมายความอย่างเดียวกัน แต่เมื่อหม่อมฉันจัดมิวเซียมพบกลองเหมือนอย่างกลองละครชาตรี เป็นแต่ขนาดเขื่องกว่าสักหน่อยหลายใบ ที่หนังหน้ากลองลงยันต์เป็นลายทองทั้ง ๒ ด้าน ถามได้ความว่าเป็นของอยู่ในวังหน้ามาแต่ก่อน ฝีมือก็ไม่เก่านัก จึงคาดว่าเห็นจะทำขึ้นเป็นกลองชัยภีร์เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเสด็จไปตีเมืองเวียงจันทร์ในรัชกาลที่ ๓ คงทำแจกไปสำหรับกองทัพที่ยกไปครั้งนั้นทัพละใบ วิธีที่ใช้หม่อมฉันนึกว่าเห็นจะตีเป็นสัญญาเรียกรวมพลเมื่อจะออกเดินกองทัพ แต่ยังสงสัยไม่หายว่าที่เรียกกลองชะนะกับกลองชัยเภรี เดิมจะเป็นกลองอย่างเดียวกันนั้นเอง ที่มาทำขึ้นอย่างที่พบในวังหน้าจะคิดขึ้นต่อภายหลัง เมื่อเอากลองชะนะมาเป็นเครื่องแห่เสียแล้ว

เรื่องแต่งเครื่องเฝ้านั้น หม่อมฉันอยากจะทูลแย้งสักนิด ชื่อที่เรียกว่าเครื่องเฝ้านั้นแปลมาจากคำ Court Dress ภาษาอังกฤษสำหรับแต่งเฝ้าจริง แต่ประเพณีของเรา พวกข้าราชการทหารก็มีเครื่องแบบ ข้าราชการพลเรือนประจำการก็มีเครื่องแบบเครื่องเฝ้าก็เรียกสร้างขึ้น ก็มุ่งหมายสำหรับให้ข้าราชการนอกตำแหน่งแต่ง คล้ายกับที่เรียกว่า “เครื่องผีไม่มีศาล” ซึ่งราชองครักษ์แต่งแต่ดึกดำบรรพ์ พวกนอกตำแหน่งควรใช้ได้เหมือนกับเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนในตำแหน่ง มิฉะนั้นในเวลามีการงาน เช่น งานฉลองวันสมภพพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ ที่สถานทูตก็จะไม่มีเครื่องแต่งตัว ยืนไว้อย่างเป็นเครื่องผีไม่มีศาลจะดีกว่า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ