วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรตั้งต้นต่อใหม่มาในคราวเมล์ที่มาถึงเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ กรกฎาคม นั้นแล้ว ในจดหมายเวรของหม่อมฉันซึ่งตั้งต้นใหม่ได้ส่งไปถวาย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กรกฎาคม ได้เล่าเรื่องขากลับจากเมื่อชวาทูลไป ยังมีเรื่องเบ็ดเตล็ดเนื่องด้วยไปเมืองชวา และเกาะบาหลีค้างอยู่บ้างจะทูลต่อในจดหมายฉบับนี้

เมื่อหม่อมฉันไปในเรือโอเฟีย Ophir ของบริษัท K.P.M. จากเมืองสิงคโปร์ เห็นในหนังสือพิมพ์เรียกว่า Tourism แปลว่าการท่องเที่ยว ซึ่งเขารวมเย็บไว้เป็นเล่มสำหรับคนโดยสารอ่านแก้รำคาญ มีรูปภาพนายโรงละครชวาแต่งตัวมีชายผ้านุ่งห้อยลงไปข้างหน้า และผ้าคาดสะเอวไว้ชายยาว ท่ารำตัวละครถือชายผ้าคาดยกขึ้นไปเสมอบ่าทั้ง ๒ ข้าง พอเห็นก็นึกทันทีว่าเป็นมูลของ “ชายไหวชายแครง” ซึ่งเราได้เคยค้นกันมาแต่ก่อน และเห็นเป็นยุติมาด้วยกันแล้ว ว่าผ้าห้อยหน้าละครไทยเดิมเป็นชายผ้านุ่ง คือชายแครงที่เรียกว่าจารบาดเป็นชายผ้าคาด คือชายไหว เหตุใดจึงเรียกว่า “ชายไหว” มาจับได้ในรูปภาพที่ทูลมานี้ ว่าเพราะใช้ชายผ้าคาดกวัดไกวในกระบวนรำ อันน่าจะเอาปกติของคนคาดผ้า มักใช้ชายผ้าคาดในกิจการบางอย่าง เช่นเช็ดหน้า เช็ดตัวเป็นต้น มาประดิษฐ์เป็นท่ารำ แต่ละครไทยเราไม่ใช้กระบวนรำอย่างนั้นจึงกลายเป็นห้อยหน้าจารบาดรัดสะเอว ขันอยู่หน่อยที่หม่อมฉันได้พยายามหารูปภาพนั้นตั้งแต่ไปจนถึงกลับจากเมืองชวา ด้วยอยากจะส่งมาถวายท่านก็หาไม่ได้ ได้แต่ทูลรูปตอนหัวของตาละครคนนั้นเขาทำไปรษณียบัตรส่งมาถวายกับจดหมายนี้ กับส่งรูปละครบาหลีที่หม่อมฉันฉายมาถวายด้วยอีก ๕ แผ่น แผ่นที่ ๑ รูปกำลังพวกนักท่องเที่ยวดูนางละครแต่งตัว แผ่นที่ ๒ รูปนางละครกำลังแต่งตัว เครื่องแต่งตัวนั้นนุ่งผ้าถุงแล้วเอาผ้าแถบยาวอีกผืนหนึ่งพันเวียนรัดตัวขึ้นไป แต่ตะโพกจนถึงรักแร้ ใส่กรองคอและกระบังหน้า แผ่นที่ ๓ รูปนางละครแต่งตัวเสร็จแล้ว แผ่นที่ ๔ รูปละครกำลังเล่นเรื่องพระอรชุนปราบครุฑ แผ่นที่ ๕ รูปนางละครออกจากเครื่องเมื่อเล่นแล้ว มีฝอยที่จะทูลอธิบายต่อไปอีกหน่อย คือการที่ไปดูนางละครแต่งตัวและไปดูเล่นละครนั้น บริษัท K.P.M. เขาจัดการและว่าจ้างพวกละครไว้เสร็จ ถึงวันและเวลานัดพวกนักท่องเที่ยวก็พากันไปตามโปแครมของบริษัท ไปแวะดูนางละครแต่งตัวที่บ้านแห่งหนึ่งก่อน แล้วขึ้นรถไปดูเล่นละครที่หน้าเทวสถาน เพราะตามบ้านไม่มีที่เล่นพอเล่นละคร

มีคดีที่ควรจะทูลอีกข้อ ๑ ว่าพวกชาวบาหลีเป็นช่างชำนาญหัตถกรรมหลายอย่าง ที่ทำฝีมือน่าดูนั้น คือแกะกะลามะพร้าวเป็นรูปภาพ และลวดลายต่างๆ อย่าง ๑ กับเหลาหุ่นไม้เป็นรูปคนอย่าง ๑ นอกจากนั้นมีเครื่องเงินจำหลัก เครื่องทอและจักสาน แต่ไม่น่าดูเหมือน ๒ อย่างข้างต้นของบาหลีที่ทูลมานี้ เดี๋ยวนี้มีคนชอบรับเอาไปขายแพร่หลาย แม้จนในเมืองปีนังนี้ก็มีร้านขายของบาหลี แต่มีความลับที่ควรทรงทราบไว้อย่าง ๑ ว่าของเหล่านั้นถ้าไปหาซื้อที่เกาะบาหลีมักจะได้ของดี และซื้อได้โดยราคาถูก ถ้าซื้อที่อื่น แม้ที่ในเมืองชวาเองราคาแพงขึ้นตั้ง ๒-๓ เท่า ที่เกาะบาหลีนั้นพวกชาวบ้านเอามาตั้งร้านขายที่โฮเต็ลก็มี เอามาเที่ยวยื่นขายตามเทวสถานก็มี

แต่นี้จะทูลความสนองลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ต่อไป

หลักการจับช้างนั้น หม่อมฉันเห็นพ้องกับพระดำริของท่านว่ามี ๒ อย่างเท่านั้น คือต้อนเอาเข้าจับในคอก เรียกว่า “วังช้าง” อย่าง ๑ กับไล่ตลุยจับในที่แจ้ง เรียกว่า “โพนช้าง” อย่าง ๑ กระบวนจับเป็นแต่ยักเยื้องในหลัก ๒ อย่างนั้นตามกำลังของผู้จับและภูมิลำเนาที่ช้างอยู่ วิธีวังช้างต้องลงทุนและใช้ผู้คนมากจึงมักเป็นแต่การหลวง หรือการของเจ้าบ้านพานเมือง แต่วิธีโพนช้างอาจทำได้ด้วยคนน้อย จึงเป็นวิธีที่พวกชาวเมืองชอบใช้หรือเป็นกีฬาของผู้มีศักดิ์สูง เช่นพระเจ้าแผ่นดินที่เชี่ยวชาญคชศาสตร์ หม่อมฉันเข้าใจว่าแต่โบราณมีวิธีคล้องช้างด้วย “ทิ้งเชือกบาศ” อีกอย่างหนึ่ง (ทำนองเดียวกับที่พวกอเมริกันคล้องวัว ผิดกันแต่คล้องเท้าแทนคล้องคอ) ที่ในกฎมนเทียรบาลมาตราหนึ่งว่า “ถ้าเสด็จทรงบาศไซร้ผู้ขี่กลางบรรดา (คือสำหรับ) ยื่นบาศนั้นให้ดูกาลเทศะ ถ้าเถื่อนต่ำตาเรียกบาศให้ยื่น ถ้าช้างพระที่นั่งต่ำตาเรียกบาศอย่ายื่น ฯ” น่าจะหมายสำหรับอย่างทิ้งเชือกบาศจึงมีคนกลางช้าง และใช้คำแต่ว่า “บาศ” ถ้าคล้องอย่างใช้คันจามน่าจะกล่าวว่ามิให้ยื่นคันจาม ดูก็ไม่หยาบคายอันใด หม่อมฉันจำได้ว่าเคยเห็นรูปภาพลายรดน้ำเขียนคล้องช้างด้วยทั้งเชือกบาศอย่างว่ามา แต่คงเป็นวิธีที่ยากมากจึงสูญไปเสีย คงคล้องแต่ด้วยใช้คันจาม

ที่มีผู้เขียนในหนังสือ “เรื่องของช้าง” ว่ามีวิธีจับช้างอีก ๓ อย่าง คือจับด้วยขุดหลุมพรางอย่าง ๑ ลงเรือจับช้างเมื่ออยู่ในน้ำลึกอย่าง ๑ กับแต่งให้ช้างพังนำเอาเชือกบาศไปล่อโลมให้ช้างป่าพิศวาส แล้วคล้องเอามานั้น เห็นจะกล่าวโดยเดาทั้งนั้น แต่ว่ามีเค้าเงื่อนของการเดาอันนั้น เผอิญหม่อมฉันได้เคยรู้เห็นดังจะทูลต่อไป

ข้อที่ว่าใช้เรือจับช้างในน้ำนั้น หม่อมฉันได้เคยเห็นครั้งหนึ่งเมื่องานจับช้างคราวกรมปราบเอาใบตาลผูกหางช้างสีดอใหญ่ที่เคยทูลเล่าแล้ว คราวนั้นช้างแตกโขงหลายตัว มีตัวหนึ่งเป็นช้างขนาดกลางสูงสัก ๓ ศอกเศษ ลอยน้ำลงมาจนถึงบางปะอิน พวกคนไปตามเสด็จรู้เข้าก็พากันลงเรือไปดู หม่อมฉันก็ไปกับเขาด้วย สังเกตดูช้างที่ลอยน้ำหยั่งไม่ถึงจะทำอะไรใครไม่ได้ทีเดียว พวกคนดูถึงเอาเรือเข้าเทียบกับตัวช้างทั้ง ๒ ข้าง มีตำรวจภูธรคนหนึ่งใจกล้าโดดขึ้นขี่หลังแล้วเลยเลื่อนขึ้นไปขี่คอ ช้างก็ทำไมไม่ได้ หม่อมฉันกลับเสียเพียงนั้น ในที่สุดจะเป็นอย่างไรแก่ช้างตัวนั้น หม่อมฉันจำไม่ได้นึกก็ไม่ออก ครั้งนั้นมีผู้ที่ได้ไปดูมากด้วยกัน คงเอาเรื่องนี้มาเล่า ผู้แต่งหนังสือสำคัญว่าเป็นวิธีจับช้างอย่าง ๑

เรื่องที่ว่าขุดหลุมพรางจับช้างนั้น มูลน่าจะมาแต่หนังฉายเรื่อง “ช้าง” ซึ่งท่านคงเคยทอดพระเนตรแล้ว เมื่ออเมริกันคนทำหนังเรื่องชื่อคูเปอร (ภายหลังมาทำหนังเรื่อง คิงคองอีกเรื่อง ๑) คน ๑ ชูดแซกคน ๑ แรกมาถึงกรุงเทพฯ มิสเตอร์ดิกสันเลขานุการทูตอเมริกันพามาหาหม่อมฉัน เอาหนังเรื่องคนอพยพเทครัวย้ายสถานที่เขาฉายในประเทศเปอร์เซียมาฉายให้ดูที่วังวรดิศ เป็นเหตุที่จะได้วิสาสะกัน เขาขอให้หม่อมฉันช่วยเขาหากจะมีขัดข้องในเวลาเขาทำหนังฉายในเมืองไทย หม่อมฉันก็รับว่าจะช่วยตามสามารถที่จะทำให้ได้ พบกันครั้งนั้นแล้วก็หายเงียบไปกว่าปี อยู่มาวันหนึ่งหม่อมฉันได้รับโทรเลขของอเมริกันทั้ง ๒ นั้นมีมาจากเมืองน่าน ว่าเจ้าตนหนึ่ง (ดูเหมือนจะเป็นเจ้าราชวงศ์) มีลูกช้างตัวหนึ่ง จะขอฉายรูปเจ้าของไม่ยอมให้ฉายขอให้หม่อมฉันช่วยด้วย หม่อมฉันไม่เห็นว่าน่ารังเกียจอย่างใด จึงมีโทรเลขถึงราชวงศ์โดยวิสาสะขอให้อนุญาตให้เขาฉายรูปลูกช้างนั้น ต่อมาหม่อมฉันได้รับโทรเลขอเมริกันผู้ฉายหนังขอบใจ และว่าได้ฉายรูปลูกช้างตามความประสงค์แล้ว เรื่องก็เป็นแล้วกันเพียงเท่านั้น ต่อหนังฉายเรื่อง “ช้าง” ส่งเข้ามาฉายในกรุงเทพฯ หม่อมฉันจึงทราบว่าอเมริกัน ๒ คนนั้น ไปคิดผูกเรื่องให้จับลูกช้างตัวนั้นได้ในหลุมพรางเหมือนอย่างจับสัตว์ป่าอย่างอื่น ก็เข้าใจเหตุที่เจ้าราชวงศ์รังเกียจ เพราะจะเอาลูกช้างตัวรักของแกไปลงหลุมแล้วผูกเชือกหิ้วขึ้นมา แกกลัวช้างจะฟกช้ำแตกหัก แต่ก็เป็นบุญที่ไม่มีเหตุเช่นนั้น

ข้อที่ว่าปล่อยช้างพังไปล่อคล้องช้างพลายเถื่อนนั้น ถ้าว่าเป็นอุปรมาก็ฟังได้ เพราะธรรมดาช้างป่าชอบตามกัน กระบวนแห่ช้างสำคัญหรือกระบวนเสด็จทรงช้างจึงย่อมมีช้างนำ และมักใช้ช้างพังเป็นช้างนำเพราะช้างพลายชอบตามช้างพัง ในการปกโขลงหรือคัดช้างพลายตัวสำคัญมาเข้าเพนียด ก็ต้องใช้ช้างพังพาโขลงหรือนำช้างพลายมาเข้าเพนียดเป็นประเพณีเท่านั้น

ภาษา “โพน” ของพวกจับช้างนั้น หม่อมฉันเห็นว่าน่าจะเป็นภาษาลาว (คือละว้า) ซึ่งเดิมใช้ภาษาเดียวกันกับมอญและเขมรจึงคล้ายภาษาเขมรมาก ข้อนี้มีเค้าเงื่อนที่เพิ่มอธิบายได้อีก ด้วยพวกกรมช้างแต่ก่อนถือว่า “ครอบ” (คือเป็นศิษย์) หมอลาวพวก ๑ ครอบหมอไทยพวก ๑ จะถือคติผิดกันเพียงใดไม่ทราบทราบแต่ข้อหนึ่งว่าหมอไทยถือว่า ใครคล้องช้างเผือกได้แล้วจะคล้องช้างอื่นต่อไปไม่ได้ มีตัวอย่างคือพระยาเพทราชา (เอี่ยม) ตั้งแต่คล้องช้างเผือกนางพระยาศิวโรจน์ได้เมื่อรัชกาลที่ ๔ แล้วก็เลิกคล้องช้างแต่นั้นมา แต่พวกหลวงคชศักดิ์ที่อยู่พระนครศรีอยุธยา ครอบหมอลาวไม่ถือคตินั้น เคยคล้องช้างเผือกมาแล้ว มาถึงเมื่อคล้องช้างเผือกพระเศวตวรสรรพางค์หน้าพระที่นั่งที่เพนียด หลวงคชศักดิ์คล้องได้อีก เรื่องคติหมอไทยกับหมอลาวโจษกันขึ้นในคราวนั้น หม่อมฉันจึงทราบ พวกโพนช้างที่พระยาเพชรพิสัยกล่าวถึง คือพวกที่มาคล้องช้างที่เมืองลพบุรีจะครอบหมอลาวทั้งนั้น พวกหมอไทยนั้นจะมีขึ้นด้วยประการใดได้แต่เดาทูล ว่าพระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยาเห็นจะโปรดให้รวมคติทั้ง ๓ คือ คติลาว คติเขมร และคติพราหมณ์ คัดข้อที่เป็นหลักสำคัญตั้งเป็นตำราหลวง จึงเรียกว่าอย่างไทย เดาได้แต่เพียงเท่านั้น

คำว่า “เพนียด” เห็นจะหมายความว่าคอกจับช้างรวมกันทุกส่วน คำว่า “วงพาด” เห็นจะหมายความว่าเฉพาะแต่คอกที่ต้อนช้างเข้าไปจับ ไม่นับถึงคอกใหญ่ข้างนอกที่สำหรับรวมช้างโขลงพักไว้

เขียนมาเพียงเท่านี้ถึงวันพฤหัสบดีที่จะส่งไปรษณีย์

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ