วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม แล้ว ขอได้โปรดตรัสบอกคุณโตด้วยว่า หม่อมฉันขอบใจมากที่เธอฝากปลาแห้งมาให้ วันรุ่งขึ้นแม่ครัวเขาทอดมาให้หม่อมฉันกินเวลากลางวัน พอเคี้ยวรู้รสอร่อยก็นึกถึงวันแรกกินปลาแห้งของคุณโตเมื่อเวลาถูกเขาเอาไปขัง เกิดชื่นใจเลยกินแต่ปลาแห้งสิ่งเดียวเป็นกับข้าวกลางวันวันนั้น จึงขออนุโมทนาคุณเป็นพิเศษ

เรื่องบุษบกจันทน์ที่ตรัสถามมานั้น หม่อมฉันรับรองได้ว่าเป็นของทูลกระหม่อมโปรดให้สร้างขึ้นสำหรับตั้งพระพุทธสิหิงค์น้อย ซึ่งทรงหล่อด้วยทองคำประดิษฐานไว้ในพระพุทธมณเฑียรถูกตามที่ท่านทรงจำได้ เพราะหม่อมฉันเคยได้เห็นมาแต่ยังเป็นเด็กเหมือนกัน ในพุทธมณเฑียรนั้นทรงสร้างพระสถูปกาไหล่ทองตั้งบนฐานชุกชีเป็นประธานอยู่กลางพระมณเฑียร มีเครื่องแต่งทำดูเป็นเค้าจะให้หมายว่าพระจุฬามณี เช่นมีหุ่นรูปเทวดาแขวนสายลวดจากเพดานรายรอบเหมือนอย่างว่าเหาะมาบูชาพระสถูป บุษบกจันทน์ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์น้อย ดูเหมือนจะตั้งอยู่ข้างตอนต้นมุขตะวันออก แต่ที่ตั้งนั้นออกจะคลับคล้ายคลับคลา

เรื่องประวัติของบุษบกจันทน์นั้น ถึงรัชกาลที่ ๕ ตัวไม้พุทธมณเฑียรผุพังพ้นที่จะซ่อมแซมให้คืนดีได้ต้องรื้อหมด โปรดให้เชิญพระสถูปกาไหล่ทองที่เป็นประธานไปตั้งไว้ในบุษบก ซึ่งว่างอยู่ในพุทธปรางค์ปราสาทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม อยู่ที่นั่นจนไฟไหม้ พระพุทธปรางค์ก็เลยละลายสูญไป ส่วนพระพุทธสิหิงค์น้อยนั้นถือเป็นพระพุทธรูปประจำวันพระชันษาของทูลกระหม่อมด้วย ก็เห็นจะเชิญไปไว้ด้วยกันกับพระประจำวันของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลอื่นๆ เข้าใจว่าอยู่ที่ในหอพระสุราลัยพิมาน ส่วนบุษบกจันทน์นั้น เมื่อรื้อพุทธมณเฑียรแล้วจะเอาไปไว้ที่ไหนหม่อมฉันหาทราบไม่ เป็นช้านานถึงรัชกาลที่ ๗ จึงได้เห็นไปตั้งอยู่ที่ตำหนักสมเด็จกรมพระสวัสดิ์วังใหม่ที่ริมแม่น้ำ เธอตั้งพระแก้วผลึกองค์ ๑ ไว้ในห้องรับแขก หม่อมฉันเห็นก็จำได้แต่ยังไม่ทันทูลถาม เธอก็ตรัสบอกว่าบุษบกนั้นเป็นของทูลกระหม่อมเคยทรงตั้งพระพุทธสิหิงค์น้อย

ในสมัยเมื่อสมเด็จกรมพระสวัสดิ์โปรดรวบรวม (เล่น) ของโบราณนั้น หม่อมฉันเคยได้ยินว่าเธอได้พระสุลีเศวตร เป็นผู้ช่วยเสาะหาของด้วยคนหนึ่ง จะเป็นพระสุลีหรือใครเป็นผู้ส่อหาทราบไม่ นัยว่าเธอเอาของหลวงออกมาจากพระบรมมหาราชวังหลายสิ่ง บุษบกจันทน์อยู่ในของพวกนั้น เวลาหม่อมฉันออกมาอยู่ปีนังได้ยินคำเล่ากันต่อมาว่าเมื่อสมเด็จกรมพระสวัสดิ์เอาของหลวงสิ่งใดมา พระสุลีเขาลอบจดไว้ ครั้นถึงสมัยเมื่อสมเด็จกรมพระสวัสดิ์เอาของเสด็จออกมาอยู่ปีนัง พระสุลีบอกรัฐบาล ๆ จึงให้ไปเก็บของหลวงบรรดาที่สมเด็จกรมพระสวัสดิ์เอาไปไว้ที่วังคืนไปหมด เรื่องที่ได้ฟังเล่าจะจริงเท็จเพียงใดหม่อมฉันไม่ทราบแน่ แต่พระองค์หญิงอาภาได้เคยตรัสบอกหม่อมฉันว่าถูกรัฐบาลให้ไปเก็บเอาของที่ตำหนักไปหลายสิ่ง เรื่องก็ลงรอยกัน หม่อมฉันทราบดังทูลมานี้

ที่ปีนังในสัปดาหะที่ล่วงแล้วมีการทอดกฐินธรรมยุตเป็นครั้งแรกควรจะเล่าถวายได้ หม่อมฉันเคยทูลไปนานแล้วว่าพวกพ่อค้าจีนเขาตั้งสมาคมเรียกว่า “ญาโณทัย” เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนา เขาขอพระสงฆ์ธรรมยุตออกมาสอนพระศาสนาและถวายวัด “ศรีสว่างอารมณ์” ให้เป็นที่พระสงฆ์ธรรมยุติอยู่ พระเถระสมาคมฝ่ายธรรมยุตได้จัดให้พระมหาภุชงค์กับพระมหามุกข์ออกมาด้วยกัน ๒ รูป และสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ได้รับฉันทะของพระเถระสมาคมมีลิขิตฝากฝังมายังหม่อมฉันด้วยโดยเฉพาะ หม่อมฉันก็ได้ช่วยอุปถัมภ์มา ตั้งแต่พระธรรมยุตมากรรมการเขาก็เลี้ยงดูดีทุกอย่าง หม่อมฉันกับพวกผู้ดีไทยที่มาอยู่ปีนังก็พากันช่วยอุปการะทั้งนั้น ครั้นทอดกฐินเธอได้มีลิขิตบอกไปยังพระเถระสมาคมธรรมยุต ได้รับตอบออกมาว่าการรับกฐินจะต้องทำสังฆกรรม มีความรังเกียจสีมาวัดศรีสว่างอารมณ์อยู่ แนะให้พูดชี้แจงแก่กรรมการให้เขาทอดผ้าป่าแทนกฐิน พระมหาภุชงค์มิรู้ที่จะทำอย่างไรเพราะเธอยังรู้ภาษาอังกฤษไม่พอจะพูดจาชี้แจงให้กรรมการเข้าใจได้ เธอจึงปรึกษาหม่อมฉันเป็นปัญหา ๒ ข้อ ข้อ ๑ เรื่องสีมาวัดศรีสว่างอารมณ์ ข้อ ๒ มีพระธรรมยุตอยู่ในปีนังแต่ ๒ รูป ถ้าจะรับกฐินจะหาคณะสงฆ์อย่างไร หม่อมฉันพิจารณาแล้ว บอกวินิจฉัยให้แก่พระมหาภุชงค์

ข้อ ๑ ที่รังเกียจสีมาวัดศรีสว่างอารมณ์นั้น หม่อมฉันได้ถามเรื่องประวัติของวัดนั้นจากพวกกรรมการได้ความว่า เมื่อจะสร้างวัดเจ้าของที่ดินได้ขออนุญาตต่อรัฐบาล โอนสิทธิเหนือที่ดินถวายเป็นพุทธศาสนสถาน รัฐบาลก็อนุญาตตามประสงค์ เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็สร้างวัดขึ้น ฝ่ายรัฐบาลก็ได้งดการเก็บภาษีที่ดินเหมือนวัดแห่งอื่นๆ และศาสนาอื่นๆ หม่อมฉันเห็นว่าควรถือเอาวัดนั้นเป็นสีมาได้ เพราะที่นี่เป็นอาณาเขตของประเทศอังกฤษ รัฐบาลเป็นผู้ทำการแทนพระเจ้าแผ่นดิน อนุญาตของรัฐบาลก็ควรจะใช้ได้อย่างพระบรมราชานุญาตในเมืองเรา

ในข้อสีมานี้ยังมีวินิจฉัยที่จะกล่าวอีกต่อไป เปรียบว่า ถ้าหม่อมฉันนิมนต์พระให้ไปทำสังฆกรรมที่ซินนามอนฮอล ทำไม่ได้โดยแน่แท้เพราะซินนามอนฮอลเป็นที่บ้าน แต่ที่วัดศรีสว่างอารมณ์เป็นสังฆาวาสโดยแน่แท้ เป็นแต่มีความสงสัยเรื่องหมายเขตสีมาว่าทำพิธีถูกต้องตามพุทธานุญาตหรือไม่ ต่างว่าทำสังฆกรรมโดยสำคัญผิดไป ผลก็มีเพียงไม่นับว่าเป็นสังฆกรรม และพระสงฆ์จะถืออานิสงส์กฐินไม่ได้ ก็อานิสงส์กฐินนั้นพระสงฆ์ธรรมยุตในกรุงเทพฯ ก็ไม่ถือกันมานานแล้ว การรับกฐินที่วัดศรีสว่างอารมณ์ก็เหมือนกับรับกฐินที่ในกรุงเทพฯ นั่นเอง แต่ถ้าไม่ยอมรับกฐินตามประสงค์ของพวกพวกกรรมการ ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นการทำบุญอย่างสำคัญอันหนึ่ง หม่อมฉันเกรงว่าจะทำให้เขาเสื่อมศรัทธาในพระธรรมยุต เป็นผลร้ายเสียยิ่งกว่ารับกฐินทำสังฆกรรมในสีมาซึ่งมีความสงสัย เธอก็เห็นชอบด้วยตามวินิจฉัยของหม่อมฉัน หม่อมฉันรับว่าจะไปเป็นผู้นำถวายผ้ากฐินเอง รู้สึกพวกกรรมการก็พากันปีติยินดีถึงเอาไปลงเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์

ข้อ ๒ คือที่จะหาคณะสงฆ์นั้น เผอิญประจวบเวลาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านให้พระมหาสังวาลพาพระดุษฎีดิศหลานชายหม่อมฉันออกมาให้ส่วนบุญไปพักอยู่ที่วัดศรีสว่างอารมณ์ และมหาภุชงค์ เธอมีโทรเลขไปขอพระที่วัดมัชฌิมาวาสเมืองสงขลาได้พระมหาโชติมาอีกองค์ ๑ เป็นอันมีคณะสงฆ์บริบูรณ์ ได้ทอดกฐินเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๓ ตุลาคม มีผู้คนทั้งไทยและจีนพากันไปมาก หม่อมฉันให้เขียนคำถวายกฐินดีดพิมพ์อักษรไทย และให้พิมพ์เป็นอักษรโรมันอีกส่วน ๑ เตรียมไว้แจกแก่พวกทายก ผ้าขาวองค์กฐินเป็นของหม่อมฉัน ผ้าไตรแลบริขารที่เป็นบริวารเป็นของพวกกรรมการเขาจัดมา ดูเหมือนจะเป็นราคามากอยู่ เวลาทอดกฐินหม่อมฉันให้คลี่ด้ายสายสิญจน์ให้ผู้ถวายถือต่อกันไปจนทั่ว การที่ได้พิมพ์คำถวายกฐินแจกนั้นเป็นประโยชน์มาก ว่าคำภาษามคธตามหม่อมฉันได้ทั้งไทยและจีน เมื่อเสร็จพิธีพระสงฆ์สวดอนุโมทนาแล้ว หม่อมฉันประกาศชี้แจงมูลของการพิธีกฐินเป็นภาษาอังกฤษให้พวกจีนเข้าใจ พอเสร็จการกฐินแล้วพวกกรรมการเขาเลี้ยงพระ พระมหาภุชงค์เธอขอให้นิมนต์พระมหานิกายวัดอื่นมาเลี้ยงด้วย ดูเป็นการงานครึกครื้นรื่นเริงทั่วหน้า หม่อมฉันมีความยินดีขอถวายพระกุศลให้ท่านทรงอนุโมทนาด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ