- เมษายน
- วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ทูลถามข้อความที่สงสัย จาก จ.ท. ประชุม มินประพาฬ
- —วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ สนิท สุมิตร
- วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —เรื่องสร้อยพระนามพระเจ้าแผ่นดิน
- วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —สำเนาพวกมิชชันนารีทูลถามปัญหาโบราณคดี
- —วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ พระยาอนุมานราชธน
- วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- พฤษภาคม
- วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๑/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชกุศลวิสาขบูชา
- วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —สำเนาลายพระหัตถ์ทูลกระหม่อมชาย
- วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- มิถุนายน
- กรกฎาคม
- สิงหาคม
- กันยายน
- ตุลาคม
- วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๕/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
- —ที่ ๖/๒๔๘๑ หมายกำหนดการทำขวัญขึ้นระวางเรือหลวง
- —ที่ ๗/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระกฐินหลวง
- วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๘/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชกุศลวันที่ระลึกรัชกาลที่ ๕
- —ย่อเรื่อง ปันหยี สะมิรัง
- วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —คำถามที่ ๓ ว่ายศเจ้าพระยามีมาแต่เมื่อใด
- วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- พฤศจิกายน
- วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —(สำเนาคำตอบปัญหาพระยาอินทรมนตรี)
- วันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๙/๒๔๘๑ หมายกำหนดการรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน
- —ที่ ๑๐/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีสมโภชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- —ที่ ๑๑/๒๔๘๑ หมายกำหนดการทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ
- —ที่ ๑๒/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน
- —ที่ ๙/๓ ๒๔๘๑ หมายกำหนดการรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน (เปลี่ยนแปลง)
- วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๙/๒ ๒๔๘๑ หมายกำหนดการรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน (เพิ่มเติม)
- วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ธันวาคม
- วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —เครื่องตั้งพระแท่นมณฑล
- วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๑๓/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีเปิดประชุมสมัยสามัญสภาผู้แทนราษฎร
- —ที่ ๑๔/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ
- วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —วินิจฉัยเรื่องพระเชตวัน
- วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —วินิจฉัยชื่อลำน้ำแม่กลอง
- วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- มกราคม
- วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๑๕/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชกุศล ๗ วัน ศพเจ้าพระยายมราช
- วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๑๖/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานธงประจำกอง
- —ที่ ๑๗/๒๔๘๑ หมายกำหนดการสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรป
- วันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- กุมภาพันธ์
- วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๒๐/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
- —ริ้วขบวนแห่พระศพ
- —ที่ ๒๑/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิศมัยพิมลสัตย์
- วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๒๒/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระศพสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์
- —ที่ ๒๓/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน และพระราชพิธีรัชมงคล
- มีนาคม
- วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๒๔/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์
- วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
บ้านซินนามอน ปีนัง
วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑
ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ
ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน กับรูปพวกชาวบาหลีเล่นกระจั๊กกระจั๊กแลหมายระเบียบการรับเสด็จ ๓ ฉบับที่ประทานมานั้น หม่อมฉันได้รับแล้ว ขอบพระหฤทัยมาก
จดหมายของหม่อมฉันฉบับนี้ จะตั้งต้นด้วยทูลเรื่องรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่ปีนัง เมื่อก่อนเสด็จมาถึง นายประสิทธิ์กงซุลเขาบอกหม่อมฉันว่าเรือเมโอเนียจะถึงกลางคืน ตัวเขาจะลงไปหาพระยาวิชิตวงศ์ฯ เพื่อเรียนพระราชปฏิบัติและเสนอการที่เตรียมรับเสด็จให้ทราบก่อน รุ่งเช้า ๘ นาฬิกาตัวเขากับผู้ที่มารับเสด็จจากกรุงเทพฯ จะพร้อมกันลงไปรับเสด็จเป็นทางราชการ เจ้าเมืองปีนังก็จะลงไปเฝ้ารับเสด็จเวลาเช้า ๙ นาฬิกา หม่อมฉันบอกเขาว่าเมื่อเสร็จการรับเสด็จทางราชการแล้ว ตัวหม่อมฉันจึงจะลงไปเฝ้าเวลาในระหว่าง ๙ จน ๑๐ นาฬิกา และสั่งเขาไปให้บอกพระยาวิชิตวงศ์ด้วย ว่าเมื่อเสด็จขึ้นบกนั้นขออย่าให้กะลงในโปรแกรมว่าจะต้องเสด็จมาบ้านหม่อมฉัน จะเสด็จมาหรือไม่ขอให้เป็นการแล้วแต่พระราชหฤทัย มาทราบเมื่อภายหลังว่าตั้งแต่เสด็จลงเรือเมโอเนียที่เมืองมาเซล์ พระชนนีได้ตรัสแก่พระยาวิชิตวงศ์ว่า เมื่อเสด็จถึงปีนังมีพระราชประสงค์จะเสด็จมาเยี่ยมหม่อมฉัน ก็เป็นอันสะดวกไป ส่วนพาหนะที่จะใช้รับเสด็จที่ปีนังนั้น รัฐบาลเขาให้เรือไฟช่วงของหลวงลำ ๑ ให้คอยรับใช้ตลอดเวลาเสด็จอยู่ปีนัง และมิสเตอร์กู๊ดแมนเจ้าเมืองเขาถวายรถยนต์ของเขาเองให้เป็นรถพระที่นั่งหลัง ๑ เป็นที่นั่งรองหลัง ๑ พระยารัตนเศรษฐีกับพระยารัษฎาธิราชภักดี ถวายรถยนต์สำหรับราชบริพารคนละหลัง ถ้าหากรถ ๔ หลังยังไม่พอนายประสิทธิ์กงซุลจะถวายเพิ่มเติมจนพอ เมื่อหม่อมฉันได้ทราบว่ามีพระราชประสงค์จะเสด็จมายังซินนามอนฮอล ก็ตระเตรียมรับเสด็จตามเห็นสมควรแก่การ
วันพุธที่ ๙ พฤศจิกายน เดิมเข้าใจกันว่าเรือเมโอเนียจะมาถึงเวลา ๒๑ นาฬิกา ได้ยินว่ากรมขุนชัยนาท พระสราภัย ขุนนิรันดรชัย ข้าหลวงที่มาจากกรุงเทพฯ จะลงไปเรือเมโอเนียในค่ำวันนั้น หม่อมฉันก็ขอยืมเรือยนต์ช่วงที่บริษัทอิสต์เอเซียติคเตรียมไว้ สำหรับหญิงแก้วซึ่งสมเด็จพระพันวัสสาโปรดให้คุมผลไม้ต่างๆ มาถวายพระเจ้าอยู่หัว และรับสั่งกำชับมาว่าเสด็จมาถึงเมื่อไรให้ถวายโดยเร็ว หาไม่ผลไม้จะเน่าเสีย จึงต้องยอมให้เธอลงไปส่งผลไม้ในค่ำวันนั้น ถึงกระนั้นผลไม้ที่เอามา ๒๐ กระเช้าเลือกตัดคัดแต่ที่ยังดีได้เพียง ๖ กระเช้าเท่านั้น แต่ก็ยังดีด้วยมาทราบภายหลังว่าอยากเสวยอ้อยมานานแล้ว ในพวกผลไม้ที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ อ้อยยังมีดี
ที่กำหนดว่าเรือจะถึงเวลา ๒๑ นาฬิกานั้น กัปตันมีวิทยุบอกเลื่อนเวลามาจนเที่ยงคืนจึงถึง ได้ยินว่าได้ลงไปเรือในค่ำวันนั้นแต่กรมขุนชัยนาทกับข้าหลวง ๒ คนและกงซุล เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรรทมหลับแล้ว ส่วนหญิงแก้วนั้นต้องรอไปต่อเช้าจึงได้ลงไป
วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤศจิกายน หญิงแก้วลงไปก่อนเพื่อน แล้วกรมขุนชัยนาทข้าหลวงและกงซุลลงไปเฝ้าเวลาเช้า ๘ นาฬิกา พวกหม่อมฉันลงไปถึงท่าเรือเวลา ๙ นาฬิกาเศษ พอเจ้าเมืองกำลังจะไปลงเรือช่วง แกชวนหม่อมฉันให้ไปพร้อมกัน หม่อมฉันตอบว่าแกไปในตำแหน่งราชการ หม่อมฉันไปเป็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับราชการ จะไปพร้อมกันหาควรไม่ หม่อมฉันจะคอยอยู่ที่ท่าจนแกกลับแล้วจึงจะไป เมื่อเจ้าเมืองกลับมาพอขึ้นจากเรือ ยิ้มเข้ามาหาเฉพาะตัวหม่อมฉัน พูดว่า “I congratulate you for having such a good boy as your king.” แล้วจึงเลยไปขึ้นรถ
พวกหม่อมฉันพากันลงเรือช่วงลำที่เจ้าเมืองไปนั้นออกไปยังเรือเมโอเนีย เมื่อไปถึงกัปตันเรือเมโอเนียกับพระสราภัยสมุหราชองครักษ์ลงมารับที่เชิงบันได พระยาวิชิตวงศ์คอยรับอยู่ที่ต้นบันได พ้นช่องบันไดเข้าไปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระภารดาและพระชนนีคอยรับอยู่ที่ดาดฟ้าทั้ง ๔ พระองค์ หม่อมฉันเข้าเฝ้าถวายความเคารพตามแบบเทศ แล้วนำผู้ที่ไปด้วยกันคือหญิงพูน หญิงพิลัย หญิงเหลือ เจ้าชายวิบูลย์ พระยามโนปกรณ์ พระยารัษฎา (แต่พระยารัตนเศรษฐีป่วยไปไม่ได้) เข้าเฝ้าเรียงตัว เมื่อทักทายกันทั่วหมดแล้ว พระเจ้าอยู่หัวดำรัสชวนหม่อมฉันเข้าไปนั่งในห้องรับแขก อยู่ด้วยกันแต่พระองค์พระภารดาและพระชนนีกับหม่อมฉันและลูกหญิง ทรงปราศรัยฉันเช่นเคยคุ้นกันมาแต่ก่อน หม่อมฉันเฝ้าอยู่สัก ๑๐ นาที ด้วยใกล้กำหนดจะเสด็จขึ้นบก เวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกา และจะต้องใช้เรือช่วงลำเดียวกัน อีกประการ ๑ ทราบว่าเมื่อเสด็จขึ้นบกจะเสด็จตรงมาที่ซินนามอนฮอล ก่อนเสด็จไปที่อื่นจึงต้องรีบกลับมาคอยรับเสด็จ จะเลยทูลต่อไปถึงของแปลกที่ได้เห็น กล่าวคือพวกช่างชักรูปทั้งที่มาจากกรุงเทพฯ และที่เป็นพวกหนังสือพิมพ์ที่ปีนัง เที่ยวติดตามเสด็จรุมตุ้มพวกหนังฉายตัวหลวงกลออกมาเอง นัยว่าจะเอาไปฉายให้คนดูในกรุงเทพฯ ก่อนเสด็จไปถึง ดูเขาก็ช่างคิดอยู่เห็นจะได้กำไรงาม เมื่อหม่อมฉันกลับมาถึงท่าเห็นมีพวกตำรวจกรมศุลกากรตั้งรายรับเสด็จทั้ง ๒ ข้างทาง ทรงพระดำเนินมาขึ้นรถและมีพวกพลเมืองมาคอยดูกันแน่นที่ในบริเวณท่าเรือ
เวลา ๑๐ นาฬิกาเศษ เสด็จมาถึงซินนามอนฮอล หม่อมฉันรับเสด็จที่ รถจอดแล้วเชิญเสด็จมาประทับในห้องรับแขก กรมขุนชัยนาทและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่นพระยาวิชิตวงศ์เป็นต้น ก็เชิญมานั่งในห้องนั้น ชั้นรองลงมาอยู่ที่ห้องกลางต่อมา หม่อมฉันเรียกลูกหลานที่อยู่นี่มาเฝ้าด้วยกันทั้งหมด เมื่อนำลูกหลานเฝ้าแล้วหม่อมฉันทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าหม่อมฉันเป็นคนสมัยเก่า ขอพระราชทานอนุญาตถวายความภักดีทั้งส่วนตัวและครอบครัวด้วยวิธีอย่างเก่า แล้วจึงถวายดอกไม้ธูปเทียนที่ได้จัดเตรียมไว้ เมื่อทรงรับไว้ในพระหัตถ์แล้วหม่อมฉันลงถวายบังคมกราบ พอกลับลุกขึ้นยืน พระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงทรงกราบตอบ จะทูลห้ามก็ไม่ทัน ต่อนั้นเจ้าชายวิบูลย์กับพระยามโนปกรณ์ก็ถวายดอกไม้ธูปเทียนด้วยทั้ง ๒ คน แล้วตั้งเครื่องวางและเลี้ยงผู้ที่ตามเสด็จ เสด็จประทับอยู่สัก ๒๐ นาที ถึงกำหนดเวลาประพาสจึงเสด็จไป หม่อมฉันไปส่งเสด็จที่รถแต่หาได้ตามเสด็จไม่ ทราบว่ากงซุลนำเสด็จไปประพาสสวนน้ำตกและวัดจีนที่ไอยะอิตำแล้วเสด็จไปประทับที่สถานกงซุล ให้พวกไทยที่มาเล่าเรียนหรือทำมาหากินอยู่ที่ปีนังรวมกันไปเฝ้า และเสวยกลางวันที่สถานกงซุลแล้วเสด็จกลับลงเรือเวลาบ่าย ๑๔ นาฬิกา พวกหม่อมฉันและผู้ดีไทยพวกอื่นพากันไปส่งเสด็จที่ท่าเรือ กรมขุนชัยนาทตามเสด็จลงไปส่งถึงเรือเมโอเนีย แล้วกลับขึ้นมาค้างคืนรุ่งขึ้นทรงเครื่องบินกลับไปกรุงเทพฯ ส่วนข้าหลวง ๒ คนเลยตามเสด็จไปในเรือจนถึงกรุงเทพฯ เรือเมโอเนียออกจากปีนังไปเวลาบ่าย ๑๕ นาฬิกา สิ้นเรื่องรับเสด็จเพียงเท่านี้
ทีนี้จะทูลสนองความบางข้อในลายพระหัตถ์ต่อไป เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน หม่อมสนิทวงศ์เสนี (ม.ร.ว. ตัน) จะไปยุโรปเขาแวะมาลาหม่อมฉัน หม่อมฉันได้ถามเขาถึงเรื่องพระองค์เจ้าสนิทวงศ์ซึ่งเป็นอาว์ของเขาสิ้นพระชนม์ เขาเล่าให้ฟังได้ความรู้เรื่องถ้วนถี่ขึ้น ว่าเดิมพระองค์เจ้าสนิทวงศ์ทรงศรัทธาไปปฏิสังขรณ์วัดโปรดสัตว์ เมื่อการปฏิสังขรณ์ยังไม่ทันแล้ว เกิดผิดใจกับสมภารวัดนั้นด้วยเหตุอย่างหนึ่งถึงทิ้งการปฏิสังขรณ์ และเลยไม่อยากเกี่ยวข้องกับพระแต่นั้นมา เมื่อเธอประชวรรู้ว่าจะไม่รอดเธอให้ถอนเงินของเธอที่ฝากธนาคารไว้ เอาแบ่งเป็น ๒ ส่วน ประทานหม่อมห้ามคนละส่วน (คือว่าไม่ทำพินัยกรรม) แต่ยังมีจีนเป็นลูกหนี้อยู่คน ๑ ซึ่งไม่สามารถจะหาเงินมาใช้ให้ทันประสงค์ของเธอได้ เธอจึงสั่งให้จีนคนนั้นทำที่ฝังพระศพของเธอแทนใช้หนี้ (ทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ทราบแน่) หม่อมสนิทวงศ์เสนีเล่าให้ฟังดังทูลมานี้ ที่เลือกที่ให้ไปฝังที่ป่าช้าจีนไหหลำนั้น หม่อมฉันเห็นว่าน่าจะเกิดแต่เกลียดพระจึงมิให้ฝังในวัด และบางทีป่าช้าจีนแห่งนั้นจะอยู่ใกล้ที่อยู่ของเธอก็เป็นได้ แต่ที่หม่อมฉันรู้ด้วยตนเองนั้นเธอเป็นคนมีทิฐิแรงมาก อาจจะเกิดทิฐิเนื่องจากทางอื่นอีกก็เป็นได้
เรื่องพระชัยตั้งพระแท่นมณฑลเมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทูลกระหม่อมตามที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ลงไว้ในพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ นั้น คงจดตามคำพวกภูษามาลาให้การเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ดังท่านทรงพระดำริแน่ เห็นชัดตรงที่ว่าตั้งพระชัยเนาวโลหะด้วยนั้นผิดแท้ทีเดียว พระพุทธรูปองค์ที่เรียกแต่ว่า “พระชัย” นั้นหม่อมฉันเคยพบในหนังสือเก่า จะเป็นหมายรับสั่งหรือในหนังสือเรื่องใดก็นึกไม่ออกในเวลานี้ ได้ความว่าคือพระยืนทองทรงเครื่ององค์ที่ตั้งพิธีสามัญ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์นั่นเอง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พระชัยพิธี” (เพื่อให้ผิดกับพระชัยประจำรัชกาล) เมื่อหม่อมฉันแต่งพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ เคยตรวจเครื่องตั้งพระแท่นมณฑลเมื่อบรมราชาภิเษก มีในร่างหมายรับสั่งซึ่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) แต่ง และโคลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งแต่ยังเป็นกรม ว่าครั้งนั้นตั้งพระแท่นมณฑลตั้งพระชัย ๓ องค์ พระชัย ๓ องค์นั้นอาจจะรู้ได้โดยไม่มีสงสัย คือ พระชัยพิธีองค์ ๑ พระชัยประจำรัชกาลที่ ๑ องค์ ๑ และพระชัยหลังช้างองค์ ๑ เพราะในเวลานั้นมีพระชัยแต่ ๑ องค์เท่าที่ระบุมา หม่อมฉันเข้าใจว่าพระชัยพิธียังตั้งพระแท่นมณฑลในการพิธี เช่นพิธีตรุษเป็นต้นมาเสมอจนชั้นหลัง
คราวนี้จะทูลเรื่องศิลปะแปลกซึ่งได้ทูลผัดไว้แต่จดหมายฉบับก่อน ศิลปะนั้นเรียกชื่อในภาษาอังกฤษว่า New art of Society Make-up หม่อมฉันอยากจะแปลให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “วิชาทำสวย” อธิบายว่าวิธีแต่งหน้าผู้หญิงให้สวยกว่าธรรมดามีร้านที่รับจ้างทำการนั้นแพร่หลายอยู่แล้ว เรียกว่า Beauty Parlour ในกรุงเทพฯ ก็ดูเหมือนมีแล้ว แต่ไม่วิเศษถึงที่หม่อมฉันจะเล่าถวายตามที่ได้เห็นแก่ตาตนเอง
วันหนึ่งหม่อมฉันได้เห็นในหนังสือพิมพ์ข่าวออกในปีนัง ว่ามีหญิงชื่อนางเวสต์ Mrs. West เป็นผู้ชำนาญวิชาทำสวย มาแต่เมืองฮอลลิวู๊ด (คือเมืองที่ทำหนังฉาย) ในอเมริกา จะแสดงวิชานั้นที่ห้างไวต์อะเว แอนด์ เลตลอ ในตอนเช้าจนเที่ยงทุกวัน ผู้ใดเคยซื้อของที่ห้างไวต์อะเวฯ จะดูได้เปล่าไม่ต้องเสียค่าเข้าประตู หม่อมฉันเกิดอยากดูด้วยเป็นวิชาใหม่อันเป็นแต่เคยได้ยินยังไม่เคยเห็นตัวจริง ชวนลูกหญิงก็พากันเบะปากไม่มีใครอยากดู หม่อมฉันจึงบังคับส่งให้หญิงพิลัยไปเป็นเพื่อนแต่คนเดียว ไปวันแรกเวลาเช้า ๑๑ นาฬิกา นายห้างไวต์อะเวฯ เคยรู้จักกับหม่อมฉัน รับพาขึ้นลิฟต์ไปถึงชั้นที่ ๒ ซึ่งจัดเป็นห้องแสดงวิชาทำสวย ด้านข้างในตั้งเก้าอี้สำหรับคนดูเรียงกันเป็น ๓ แถว เห็นหญิงสาวจีนนั่งดูอยู่กว่า ๒๐ คน ตรงกลางห้องเป็นที่นางเวสต์ผู้ชำนาญแสดงวิชา ต่อไปข้างหลังมีตู้อย่างเรียกว่า Counter ตั้งยาวตลอดด้าน บนหลังตู้นั้นตั้งขวดและกลักแป้งน้ำมันกับถรรพสัมภาระอย่างอื่นๆ อันเป็นของสำหรับใช้ทำให้สวยไว้ขาย เมื่อนายห้างเขานำหม่อมฉันให้รู้จักกับนางเวสต์ ๆ บอกว่าหม่อมฉันไปช้าเสียหน่อย ถ้าอยากจะเห็นเขาแสดงวิชาเต็มตำรา ขอให้ไปเวลา ๑๐ นาฬิกา หม่อมฉันไปอีกวันหนึ่งตามกำหนดจึงได้เห็นเขาแสดงวิชาทำสวยดังจะทูลพรรณนาต่อไปข้างหน้า ตรงนี้จะต้องทูลมูลเหตุที่นางเวสต์จะมาแสดงวิชาทำสวยเสียก่อน
เดิมที่เมืองฮอลลิวู๊ด Hollywood มีชายคนหนึ่ง ชื่อ แม็กสแฟ๊คเตอร Max Factors รับจ้างเป็นพนักงานแต่งหน้า Make up นางดาราหนังฉาย เมื่อทำการนั้นนานมาสังเกตเห็นว่าการแต่งหน้านั้น ถ้าแต่งตามเค้าหน้าตัวคน และใช้สีแป้งให้เหมาะกับผิวตัวคน แม้เป็นรูปฉายด้วยแสงไฟฟ้าก็อาจจะให้เห็นสวยกว่าผัดอย่างที่ทำกันมาแต่ก่อน แต่นั้นแฟ๊กเตอรก็พยายามทำเครื่องแต่งหน้าและคิดวิธีแต่งคนหน้าตาต่างกันให้สวยได้ดุจกันทุกประเภท คิดสำเร็จเลยมีชื่อเสียงอย่างว่าเป็นครูผู้เชี่ยวชาญในการแต่งหน้านางดาราทั่วทั้งเมืองฮอลลิวู๊ด จนสามารถตั้งห้างใหญ่ Studio สำหรับรับจ้างหัดหญิงสาวให้ทำสวยและทำเครื่องถรรพสัมภาระสำหรับทำสวยตามลัทธิของตนขายด้วยอีกอย่างหนึ่ง เมื่อทำการสำเร็จได้ถึงเพียงนั้นแล้วแฟ๊กเตอรคิดต่อไปว่า การแต่งหน้าให้สวยงามเป็นความประสงค์สามัญแก่ผู้หญิงทั่วไป ไม่เฉพาะแต่นางดาราหนังฉายเท่านั้นและวิธีการกับทั้งเครื่องแต่งหน้าที่ตนคิดประดิษฐ์ขึ้นดีกว่าที่ใช้กันมาแต่ก่อน จึงคิดจะขยายการหาผลประโยชน์ให้กว้างต่อออกไป ถึงรับฝึกสอนผู้หญิงสามัญให้รู้จักแต่งหน้าตามวิธีของแฟ๊กเตอร และขายแป้งน้ำและสิ่งอื่นๆ อันเป็นเครื่องแต่งหน้าซึ่งแฟ๊กเตอรคิดขึ้นใหม่ให้แพร่หลายไปทั่วโลก เพราะฉะนั้นจึงคิดวิธีเพิ่มขึ้นใหม่ด้วยหาพวกผู้หญิงสาวมาฝึกหัดให้เป็นผู้ชำนาญกระบวนการแต่งสวย แล้วให้คุมเครื่องถรรพสัมภาระสำหรับทำสวยอันห้างแม็กสแฟ๊กเตอรคิดทำขึ้นไปเที่ยวขายยังนานาประเทศ หาห้างที่จะรับเป็นเจ้าจำนำขายของที่แฟ๊กเตอรทำ เช่นห้างไวต์อะเวฯ เป็นต้น เมื่อหาได้แล้วก็ให้ผู้หญิงผู้ชำนาญไปตั้งสอนวิชาทำสวย ณ ห้างนั้นให้หญิงสาวชาวเมืองเลื่อมใสรู้จักใช้วิธีทำสวยของแฟ๊กเตอร และรู้จักใช้เครื่องทำสวยของแฟ๊กเตอร ถ้าว่าอีกนัยหนึ่งก็คือจะขายเครื่องทำสวยหากำไรในเมืองนั้นประจำเป็นนิจต่อไป ส่วนตัวครูสอนนั้นเมื่อสอนวิธีจนรู้กันในเมืองนั้นแล้วก็ย้ายไปสอนที่เมืองอื่นต่อไป
ทีนี้จะทูลพรรณนาถึงวิธีสอน เวลาเมื่อหม่อมฉันกับหญิงพิลัยไปถึงเห็นมีหญิงสาวจีนนั่งอยู่เกือบ ๓๐ คน มีผู้หญิงฝรั่ง (สงสัยว่าจะเป็นทนาย) นั่งเก้าอี้หงาย (คล้ายกับเก้าอี้ช่างตัดผม) ให้แต่งหน้ากำลังทาขนตาอยู่คน พอหม่อมฉันไปถึงสักประเดี๋ยวก็แล้ว คราวนี้ตัวครูจะแสดงวิชาด้วยแต่งตัวเองให้ดูเอาโต๊ะขนาดย่อมๆ ตัวหนึ่ง มีกระจกส่องและตัวอย่างเครื่องถรรพสัมภาระต่างๆ ของแฟ๊กเตอรตั้งบนโต๊ะนั้น และมีเก้าอี้เล็กสำหรับตัวครูนั่งตัว ๑ และมีหญิงสาวเป็นผู้ช่วยยืนอยู่ข้างๆ คน ๑ ตัวครูนั้นแต่งหน้าของตนไว้งามเต็มตำราก่อนแล้ว เวลาจะตั้งต้นแสดงวิชาไปนั่งที่เก้าอี้เปรียบเหมือนตัวละครขึ้นนั่งเตียงแล้วแสดงวิชาให้เห็นเป็นลำดับไป หญิงคนรับใช้ก็บอกอธิบายแก่คนดู หม่อมฉันได้จดโน้ตลักษณะที่แสดงมาดังนี้ คือ
๑. เอาแป้งหรือน้ำมันอย่าง ๑ สีขาวๆ ทาหน้าล้างแป้งและเขม่ากับลิ้นจี่ที่ทาหน้าไว้ออกหมด ให้เห็นว่าหน้าของแกโดยธรรมดาเป็นอย่างไร การที่แสดงนั้นเมื่อจะใช้ยาอย่างใดยกกลักให้ดูก่อนและบอกสรรเสริญคุณวิเศษด้วยทุกสิ่งไปแต่ต้นจนตลอด รวมความว่ายานั้นแฟ๊กเตอรทำดีกว่าที่ไหนๆ หมด
๒. เอายาอย่าง ๑ ทาหน้าบางๆ (ที่เรียกว่ายาในนี้ตามสะดวก) บอกอธิบายว่าแต่งผิวให้เรียบปราศจากริ้วรอย
๓. ผัดหน้าด้วยแป้งต้องเลือกอย่างที่สีสมกับผิวตัว เขาลองผัดแขนของเขาให้ดูข้าง ๑ ทิ้งไว้ตามธรรมดาข้าง ๑ ให้เห็นว่าถ้าใช้แป้งอย่างนั้นทำให้ตัวเป็นราศีดีขึ้น ไม่จ้อกวอก เหมือนผัดแห้งสามัญและบอกอธิบายว่าถึงเหงื่อออกสีนั้นก็ไม่หลุด จนอาบน้ำถูสบู่เมื่อใดจึงจะหลุด
๔. เอาสีคล้ำทาหลังตาให้เห็นเป็นลึกเพิ่มความขำ แล้วเอาแป้งที่ว่ามาแล้วทาประสานกับผิวตัวไม่ให้เห็นรอยต่อ
๕. ทาลิ้นจี่ที่แก้ม อธิบายว่าทาลิ้นจี่นั้นต้องทาผิดที่กันให้เข้ากับรูปหน้าจึงสวย ลักษณะที่ทานั้นแต้มเป็นริ้วๆ ก่อนแล้ว (เอาแปรงหรืออะไรลืมเสียแล้ว) ผัดระบายสีแผ่ไปให้เข้ากับหน้า อธิบายว่าต้องประสานให้เข้ากับผิวตัวอย่าให้เห็นว่าเป็นสีทา
๖. ผัดแป้งนวลชั้นนอก และเอาแปรงปัดให้แป้งจับอย่างบางๆ เสมอกัน
๗. เขียนคิ้ว
๘. ย้อมขนตา
๙. ทาริมฝีปากด้วยลิ้นจี่ สังเกตดูวิธีทานั้น ทาแล้วต้องเม้มปากระบายสีที่หัวต่อให้เหมาะ
๑๐. ผัดแป้งสีสมตัวที่คอตลอดจนอก (ถ้าใส่เสื้อเปิด) และที่แขน
๑๑. โปรยน้ำอบที่ผม และแต่งผม
๑๒. ยาสีคล้ามนั้นจะแต้มเป็นไฝ หรือจะทาที่ลูกคางให้แลเห็นเป็นร่องอยู่กลางก็ได้ตามชอบใจ
ยังมีวิธีอื่นเนื่องกับแต่งหน้าต่อไปอีกอย่าง ๑ เมื่อก่อนหม่อมฉันจะกลับตัวครูเขาเรียกหญิงพิลัยไปที่ตู้วางของขาย ทำกิริยาอย่างดูลักษณะหญิงพิลัยอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วเอาแบบฟอร์มที่เขาพิมพ์เตรียมไว้ออกมาเขียนบอกว่าหญิงพิลัยควรใช้แป้งชนิดนั้นผัดผิว และควรใช้ยาอย่างนั้นๆ สำหรับแต่งคิ้ว แต่งแก้มและที่อื่นๆ ดังพรรณนามาแล้วส่งให้เอากลับมา และแจกสมุดตำราให้ด้วยคนละเล่ม หม่อมฉันขอเพิ่มอีกเล่ม ๑ ส่งมาถวายทอดพระเนตรเล่นด้วยแล้ว
เมื่อดูกลับมาแล้วหม่อมฉันนึกว่าต่อไปข้างหน้าอีกสัก ๑๐ ปี เมื่อวิชาทำสวยเจริญหนักขึ้นเห็นจะต้องแก้พิธีแต่งงาน งดการรดน้ำอย่างแต่ก่อน เปลี่ยนเป็นให้เจ้าสาวล้างหน้า ดูให้เห็นว่าหน้าจริงเป็นอย่างไรเสียก่อนจึงค่อยแต่งงาน
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด