คำถามที่ ๓ ว่ายศเจ้าพระยามีมาแต่เมื่อใด

ตอบคำถามที่ ๓ ว่ายศเจ้าพระยาที่ปรากฏเก่าที่สุด มีอยู่ในกฎหมายทำเนียบศักดินา ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตั้งเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ ในทำเนียบนั้นมีตำแหน่งข้าราชการชั้นสูงสุดเป็น “เจ้าพระยา” ๕ คน คือ

๑) เจ้าพระยามหาอุปราช ชาติวรวงศ องค์ภักดีบดินทร สุรินทรเดโชชัย มหัยสุริภักดี อาญาธิราช (เรียกโดยย่อว่า เจ้าพระยามหาอุปราช) คน ๑

๒) เจ้าพระยาจักรี ศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ (เรียกโดยย่อว่า เจ้าพระยาจักรี) คน ๑

๓) เจ้าพระยามหาเสนาบดี วิริยภักดีบดินทร สุรินทรฤาชัย อภัยพิริยปรากรมพาหุ (เรียกโดยย่อว่า เจ้าพระยามหาเสนา) คน ๑

๔) เจ้าพระยาสุรสีห์ พิศมาธิราช ชาติพัทยาธิเบศวราธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ (เจ้าเมืองพิษณุโลก เรียกโดยย่อว่า เจ้าพระยาพิษณุโลก) คน ๑

๕) เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชชัย มหัยสุริภักดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ (เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เรียกโดยย่อว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราช) คน ๑

มีเจ้าพระยาในทำเนียบข้าราชการแต่ ๕ คนเท่านี้ เป็นข้าราชการอยู่ในราชธานี ๓ คน เป็นเจ้าเมือง ๒ คน ถือศักดินาคนละ ๑๐,๐๐๐ เสมอกัน ขุนนางผู้ใหญ่ชั้นรองเจ้าพระยาลงมา เช่น จตุสดมภ์กรมเมือง กรมวัง พระคลัง กรมนาทั้ง ๔ หรือเจ้าเมืองอื่น ถึงถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ ก็มียศเป็นแต่เพียง “ออกญา” (ซึ่งมาแปลงเป็นพระยาเมื่อภายหลัง) เท่านั้น

อธิบายมูลเหตุที่ตั้งเจ้าพระยา กล่าวกันมาแต่ก่อนว่าเดิมตำแหน่งออกญาจตุสดมภ์ทั้ง ๔ เป็นหัวหน้าข้าราชการ เรียกว่า ขุนเมือง ขุนวัง ขุนคลัง ขุนนา ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ทรงจัดระเบียบข้าราชการแยกเป็นทหารฝ่าย ๑ เป็นพลเรือนฝ่าย ๑ จึงทรงตั้งอัครมหาเสนาบดีขึ้น ๒ คน คน ๑ มีนามว่า เจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม เป็นหัวหน้าข้าราชการฝ่ายทหาร อีกคน ๑ มีนามว่า เจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก เป็นหัวหน้าข้าราชการฝ่ายพลเรือนคน ๑ เหตุที่ทรงตั้งเจ้าเมืองพิษณุโลกกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเจ้าพระยานั้น แม้ไม่เคยได้ยินอธิบายแต่พอสันนิษฐานได้โดยมีเค้าเงื่อนอยู่ในพงศาวดาร ด้วยเดิมเมืองทั้ง ๒ นั้นเคยเป็นเมืองเจ้าปกครองคล้ายกับประเทศราช เมื่อลดลงมาเป็นหัวเมืองจึงกำหนดว่าเป็นเมืองเอก ให้เจ้าเมืองมียศเป็นเจ้าพระยาสูงศักดิ์กว่าหัวเมืองอื่น ๆ

แต่เจ้าพระยาในทำเนียบอีกคน ๑ ซึ่งเรียกว่า “เจ้าพระยามหาอุปราช” นั้น จะว่าราชการกรมใดหรือมีหน้าที่อย่างไร หาบอกไว้ในทำเนียบไม่ สังเกตได้แต่ว่าชื่ออยู่หน้าเจ้าพระยาคนอื่นๆ พิเคราะห์ดูน่าจะเป็นตำแหน่งพิเศษ สำหรับทรงตั้งเฉพาะตัวบุคคล อันเป็นบุรุษพิเศษมีขึ้นในบางสมัย มิใช่เป็นตำแหน่งมีประจำเหมือนอย่างเจ้าพระยาอีก ๔ คน ข้อที่ว่านี้พบเค้าเงื่อนชอบกล มีอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร “ฉบับพระราชหัตถเลขา” (ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๓ หน้า ๑๓๑) ตอนสมัยกรุงธนบุรี ว่าทรงตั้งเจ้าพระยาจักรี (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า

“จึงทรงพระกรุณาโปรดปูนบำเหน็จเจ้าพระยาจักรี ตั้งให้เป็นเจ้าพระยา (มิใช่สมเด็จเจ้าพระยา) มหากษัตริย์ศึก พิฦกมหิมา ทุกนัคราระอาเดช นเรศราชสุริยวงศ องค์อัครบาทมุลิกากร บวกรรัตนนายก ณ กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดี ศรีอยุธยา แล้วพระราชทานพานทองเครื่องยศเหมือนอย่างเจ้าต่างกรม ใหญ่ยิ่งกว่าท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง” ดังนี้

พิเคราะห์ความที่คัดมานี้ ทำให้คิดเห็นวินิจฉัยออกไปกว้างขวางดังจะพรรณนาต่อไปคือ

๑) เอาชื่อเจ้าพระยามหาอุปราชในทำเนียบศักดินาเป็นโครง คิดต้นนามแลสร้อยนามเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จะเทียบให้เห็น

เจ้าพระยามหาอุปราช ชาติวรวงศ
เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก นเรศรราชสุริยวงศ
องค์ภักดีบดินทร สุรินทรเดโชชัย
องค์อัครบาทมุลิกากร ทุกนัคราระอาเดช
มหัยสุรภักดี อาญาธิราช
ณ กรุง ฯลฯ ศรีอยุธยา บวรรัตนนายก

๒) ตามเรื่องพงศาวดารปรากฏว่า เมื่อเจ้าพระยาจักรีฯ เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแล้ว ยังคงเป็นตำแหน่งสมุหนายกว่าราชการกระทรวงมหาดไทย อยู่อย่างเดิมมาจนตลอดรัชกาลกรุงธนบุรี ข้อนี้ก็เป็นวินิจฉัยให้เห็นเหตุที่ในทำเนียบศักดินาไม่มีว่าเจ้าพระยามหาอุปราชได้ว่าราชการกรมไหน หรือมีหน้าที่อย่างไร เพราะผู้ที่ได้เป็นเจ้าพระยามหาอุปราชคงเป็นอัครมหาเสนาบดี ที่สมุหกลาโหมหรือสมุหนายกอยู่ก่อน เมื่อเป็นเจ้าพระยามหาอุปราช ก็คงว่าราชการกระทรวงเดิมอยู่ต่อไป เป็นแต่เพิ่มยศสูงขึ้นกับบางทีจะให้ถืออาญาสิทธิตามคำท้ายสร้อยชื่อว่า “อาญาธิราช” คืออาจสั่งให้ประหารชีวิตผู้กระทำผิดถึงมหันตโทษได้ด้วย

๓) ข้อที่ว่าเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ได้พระราชทานเครื่องยศเหมือนเจ้าต่างกรมนั้น ก็มีตัวอย่างอยู่ในพงศาวดารครั้งกรุงศรีอยุธยาว่าเมื่อพระเจ้าบรมโกศจะได้ราชสมบัตินั้น ต้องรบกับเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศร เป็นศึกกลางเมืองในระหว่างพวกวังหลวงกับวังหน้า พวกวังหลวงได้พระธนบุรีรับอาสาคุมพลไปตีวังหน้า พวกวังหน้าสู้ไม่ไหวจวนจะแพ้ จนพระเจ้าบรมโกศซึ่งยังเป็นพระมหาอุปราชอยู่ในเวลานั้นคิดจะหนี มีขุนชำนาญชาญณรงค์คน ๑ รับอาสาคุมพลออกต่อสู้พวกวังหลวง ชุนชำนาญกับพระธนบุรีเข้ารบกันตัวต่อตัว ขุนชำนาญฟันพระธนบุรีตาย พวกวังหลวงก็แตกหนี พระเจ้าบรมโกศจึงได้ราชสมบัติ เมื่อราชาภิเษกแล้วทรงตั้งขุนชำนาญชาญณรงค์เป็นเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ว่าราชการกระทรวงพระคลัง (กับทั้งหัวเมืองบรรดาเคยขึ้นกระทรวงกลาโหมมาแต่ก่อน) ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๒๙๖ เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ถึงอสัญกรรม กล่าวในหนังสือพงศาวดารว่า “โปรดให้แต่งศพอย่างเจ้าต่างกรม เรียกว่าพระศพ” ความตรงนี้ส่อให้เห็นว่าเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์คงได้พระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรมมาแต่แรกตั้ง อย่างเดียวกับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จึงทำศพอย่างเจ้าต่างกรม ข้อนี้เป็นวินิจฉัยให้เห็นอีกอย่าง ๑ ว่าที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนั้น ทำตามแบบอย่างอันเคยมีมาเมื่อครั้งกรุงศรียุธยา มิใช่คิดขึ้นใหม่

๔) ยังมีวินิจฉัยเนื่องในข้อที่ขุนนางได้พระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่อไปอีก น่าสันนิษฐานว่าแต่เดิม “เจ้าพระยา” ที่มีนามในทำเนียบทั้ง ๕ คน จะได้พระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้า จึงเรียกว่า “เจ้าพระยา” ข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในทำเนียบศักดินาหัวเมือง เจ้าเมืองพิษณุโลกกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชมีตำรวจสำหรับแห่เหมือนอย่างเจ้า แต่เจ้าเมืองอื่นหามีไม่

๕) ได้กล่าวมาแล้วว่าในทำเนียบศักดินา แต่เดิมเจ้าพระยามีเพียง ๕ คนเท่านั้น แต่ปรากฏในพงศาวดารว่าภายหลังมาพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งพระยาบางคนซึ่งทรงคุณวิเศษ ให้เป็นเจ้าพระยาก็มี ยกตัวอย่างดังเช่นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงตัวเจ้าพระยาโกษา (ขุนเหล็ก) และเจ้าพระยาวิชาเยนทรเป็นต้น เจ้าพระยามีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อาจจะเป็นด้วยเหตุนั้นชั้นหลังมาจึงพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรมแต่เจ้าพระยามหาอุปราช ที่เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ได้เครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรมก็คือ เทียบที่เท่าเจ้าพระยามหาอุปราชนั่นเอง เป็นแต่เลิกนามเจ้าพระยามหาอุปราชเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยามีราชทินนามพิเศษเฉพาะตัว คนทั้งหลายจึงเรียกตามสะดวกปากว่า “สมเด็จเจ้าพระยา” หมายความว่าเจ้าพระยาที่มีศักดิ์สูงกว่าเพื่อน อาจจะเรียกว่าสมเด็จเจ้าพระยามาแต่ก่อนเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์แล้วก็เป็นได้เพราะคำว่า “มหาอุปราช” พ้องกับ พระมหาอุปราช ซึ่งเป็นรัชทายาทจึงเปลี่ยนเป็นนามอย่างอื่น

๖) อันคำ “สมเด็จเจ้าพระยา” นั้นพบหลักฐานหลายแห่ง ซึ่งทำให้เห็นว่าเป็นแต่คำคนเรียก มิใช่ยศที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้ง ตรวจดูตลอดเรื่องพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินเคยทรงตั้งใครเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา” เพิ่งมาปรากฏว่ามีสมเด็จเจ้าพระยาต่อในสมัยกรุงธนบุรี แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ก็ว่าเป็นเจ้าพระยาแต่มียศเสมอเจ้าต่างกรม ข้อนี้ก็ส่อให้เห็นว่า “สมเด็จ” เป็นแต่คำคนเรียก ยังมีหลักฐานที่เห็นชัดกว่านั้นปรากฏอยู่ในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ตอนตั้งข้าราชการวังหน้า (ในฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๒๐) ว่า “สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลตรัสเอาพระยาพลเทพเดิม (คือครั้งกรุงธนบุรี) ให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยา” (วังหน้า) ข้อนี้จะเป็นดังว่าไม่ได้ด้วยทำเนียบยศข้าราชการวังหน้ามีแต่เพียงพระยาเป็นอย่างสูง แม้อัครมหาเสนาฝ่ายพลเรือน (ตรงกับเจ้าพระยาจักรีทางวังหลวง) ก็เป็นพระยาจ่าแสนยากร อัครมหาเสนาฝ่ายทหาร (ตรงกับเจ้าพระยามหาเสนาทางวังหลวง) ก็เป็นแต่พระยากลาโหมราชเสนา อย่าว่าถึงตั้งสมเด็จเจ้าพระยาเลย แต่เพียงเจ้าพระยาวังหน้าก็ตั้งไม่ได้ ครั้งนั้นกรมพระราชวังบวรฯ คงทูลขอพระยาพลเทพเก่าไปทำราชการวังหน้า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชดำริว่า พระยาพลเทพเป็นเสนาบดีชั้นจตุสดมภ์อยู่แล้ว จึงโปรดให้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยามีราชทินนามพิเศษเฉพาะตัว พวกวังหน้าจึงเอาแบบวังหลวงไปเรียกว่า “สมเด็จเจ้าพระยา” ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารเอาชื่อที่เรียกกันมาลงในหนังสือจึงกลายเป็นกรมพระราชวังบวรฯ ตรัสเอาพระยาพลเทพเดิมเป็นสมเด็จเจ้าพระยา กรณีเช่นว่ามานี้ยังมีต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ให้เห็นแบบอย่างอีกครั้งหนึ่ง เมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๑ เจ้าพระยาเสนา (บุนนาค) ถึงอสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงตั้งพระยาพลเทพ (ปิ่น บิดาเจ้าพระยาบดินทรเดชาสิงหเสนี) เป็นเจ้าพระยามหาเสนา ที่สมุหพระกลาโหม พอสิ้นรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ทรงตั้งเจ้าพระยามหาเสนา (ปิ่น) เป็นเจ้าพระยาอภัยราชา ให้ย้ายไปรับราชการวังหน้า พวกชาววังหน้าก็คงเรียกว่าสมเด็จเจ้าพระยา คำที่เรียกว่าสมเด็จเจ้าพระยาเป็นแต่คำคนเรียก มาจนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ซึ่งคนทั้งหลายเรียกกันว่า “สมเด็จองค์ใหญ่” และ “สมเด็จองค์น้อย” แต่นั้นสมเด็จเจ้าพระยาจึงเป็นตำแหน่งยศในทำเนียบขุนนาง แทนที่เจ้าพระยามหาอุปราชแต่โบราณ ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อีกองค์ ๑ เรียกกันแต่ว่า “สมเด็จเจ้าพระยา” สมเด็จเจ้าพระยาที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเคยมีแต่ ๓ องค์เท่านั้น และได้พระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรมทุกองค์ เครื่องยศนั้น คือ พานทองเครื่องยศอย่างเจ้าสำรับ ๑ พระแสงดาบสำหรับคนเชิญตามหลังเล่ม ๑ เสลี่ยงหามเป็นยานพาหนะอย่าง ๑ พระกลดสำหรับคนเชิญกั้นคัน ๑ ที่เรียกว่าเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรมแต่โบราณเห็นจะมีเพียง ๔ สิ่งที่กล่าวมา ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงเพิ่มฐานานุศักดิ์ของสมเด็จเจ้าพระยาขึ้นอีกอย่าง ๑ ให้มีจางวางทนายมียศเป็นหลวง คน ๑ ปลัดจางวางทนายมียศเป็นขุน คน ๑ สมุห์บัญชีมียศเป็นหมื่น คน ๑ เทียบกับเจ้ากรมปลัดกรม และสมุห์บัญชีของเจ้านายต่างกรมชั้นกรมหลวง อธิบายเรื่องเจ้าพระยาว่าตามหลักที่ได้พบประกอบกับความสันนิษฐานเห็นว่าจะเป็นดังกล่าวมานี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ