วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๘ มีนาคม แล้ว

โกศใส่อัฐิเจ้าเชียงใหม่บรรจุในกู่นั้น หม่อมฉันได้เคยเห็นใบ ๑ ด้วยที่ในวัดพระสิงห์เดิมมีพระสถูปน้อยองค์ ๑ สร้างไว้ในลานวัด พระสถูปนั้นปรักหักพัง (ดูเหมือนพระศรีวิชัย) จะรับสร้างใหม่ เมื่อรื้อพระสถูปนั้นลง พบโกศพระอัฐิมีบรรจุอยู่ในนั้น พระราชชายาตรัสบอกว่า เป็นพระอัฐิของพระเจ้ากรุงลานนาองค์ ๑ ชื่อพระเจ้าสามฝั่งแกน หรือพระเจ้าแสนเมืองมา หม่อมฉันลืมไปเสียแล้ว ซึ่งเสวยราชย์อยู่ ณ เมืองเชียงรายเมื่อยังเป็นราชธานี คงบรรจุกู่หรือพระสถูปไว้ที่เมืองเชียงรายก่อน ครั้นนานมาที่บรรจุหักพัง พระเจ้าเชียงใหม่องค์ใดองค์หนึ่งจึงเชิญพระอัฐินั้นมาก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่ในวัดพระสิงห์ แต่เรื่องการที่ย้ายมานั้นหมดตัวผู้รู้ ต่อรื้อพระสถูปน้อยพบพระอัฐิจึงได้รู้กัน โกศนั้นทำเป็น ๓ ชั้น ใบชั้นนอกทองสัมฤทธิ์ ใบชั้นกลางเงิน ใบชั้นในทองคำ รูปสัณฐานเหมือนขวดกิมตึง ทรงผลแตงก้นตัด ฝาสวมลงมาถึงลิ้นเหมือนอย่างฝาผอบ อัฐินั้นเผาเหลือไว้ท่อนใหญ่ๆ ไม่เหมือนทางข้างใต้ หม่อมฉันถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป เขาบอกว่าคิดจะก่อพระเจดีย์อย่างเดิมบรรจุเสียใหม่ หม่อมฉันได้คัดค้านว่า น่ากลัวจะอยู่ไม่ได้ด้วยคนรู้ว่ามีโกศทองคำอยู่ในนั้น เผลอเมื่อใดก็คงถูกขุดลักโกศอัฐิ ถ้าจะทำพระเจดีย์ใหม่ควรก่อด้วยคอนกรีตให้ขุดยาก แต่จะได้ทำกันหรืออย่างไรหม่อมฉันไม่ทราบ เมื่อหม่อมฉันขึ้นไปในรัชกาลที่ ๗ ยังเก็บโกศและพระอัฐิไว้ในคลังมณฑล

กู่ที่บรรจุพระอัฐิพระราชชายานั้นอยู่ในวัดสวนดอก (บุปผาราม) นอกเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตก เป็นของพระราชชายาคิดรวบรวมอัฐิเจ้าเชียงใหม่ในวงศ์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งแต่ก่อนฝังแยกย้ายกันอยู่ที่ต่างๆ ไปรวมไว้ในบริเวณแห่งเดียวกัน สร้างกู่ขึ้นใหม่ทั้งนั้น แต่โกศใส่อัฐิที่บรรจุในชั้นนี้จะเป็นอย่างไร หม่อมฉันก็ไม่เคยเห็น

เรื่องชื่อปราสาทหินที่เมืองเขมร หม่อมฉันนึกว่าชื่อที่ขนานเดิมเห็นจะสูญเสียโดยมาก ฝรั่งเศสเอาชื่อที่ราษฎรเรียกกันเมื่อเป็นเมืองร้างมาช้านานแล้วมาลงบัญชี เช่นว่าปราสาทตาพรม ก็น่าจะมาแต่ตาพรมเคยทำไร่อยู่ที่นั่น บางทีก็เรียกเอาตามรูปอะไรที่แลเห็นได้ง่ายๆ ดังเช่นสระนาคพัน เพราะทำเขื่อนเป็นรูปนาคที่เกาะกลาง หม่อมฉันคิดสงสัยจนชื่อที่เรียกว่านครวัด เห็นจะไม่ใช่ชื่อเดิม ทำนองเดียวกับชื่อวัดในเมืองเราที่เรียกเชือนไปต่างๆ ก็มีมาก

หม่อมฉันรู้สึกยินดีที่ท่านโปรดเรื่องประวัติเจ้าจอมมารดาทับทิมเป็นอันคุ้มค่าเหนื่อยด้วยประการทั้งปวง คือ พระองค์หญิงประเวศที่เป็นเจ้าของงานก็โปรด ทั้งพระองค์ท่าน ซึ่งสามารถจะตัดสินในทางวรรณคดีได้ดีกว่าผู้อื่นก็โปรด งานเมรุต่างๆ ที่ตรัสเล่ามาในลายพระหัตถ์ ดูเผินๆ เหมือนจะไขว้เขวกัน แต่หม่อมฉันพิจารณาดูพอจะเข้าใจมูลได้ คือศพที่เป็นพระญาติเสด็จเข้าพระราชทานเพลิงในเมรุ ผู้ที่มิใช่พระญาติพระราชทานเพลิงด้วยฝักแค แต่นึกฉงนอยู่หน่อย ที่สั่งแต่งครึ่งยศในงานศพเจ้าพระยาอภัยราชา แต่แต่งปกติในงานศพเจ้าจอมมารดาทับทิม หม่อมฉันนึกว่า เจ้าจอมมารดาทับทิมเป็นพระสนมเอกได้รับตราปฐมจุลจอมเกล้า ดูไม่ต่ำกว่าเจ้าพระยาอภัยราชา แต่นึกไปก็เปล่าทั้งนั้น ที่สมเด็จพระราชชนนีจะทรงบำเพ็ญพระกุศล ๕๐ วันและ ๑๐๐ วัน ถวายทูลกระหม่อมหญิงนั้น หม่อมฉันนึกอนุโมทนาด้วยมาก

หมู่นี้ไม่มีเรื่องอะไรที่ปีนังสำหรับจะทูล ด้วยหม่อมฉันกำลังสาระวนแต่งหนังสือ หวังใจว่าส้มจัฟฟาที่ฝากเข้าไปถวายคงจะได้ทรงรับแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ