วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๓ ธันวาคมแล้ว

หม่อมฉันจะทูลสนองพระดำริเรื่องพิธีพุทธมามกะตามความคิดของหม่อมฉันสักหน่อย แต่ไม่ประสงค์จะอ้างขึ้นไปถึงพุทธกาลอย่างสมเด็จพระมหาสมณะฯ ทรงพระดำริ จะว่าแต่ด้วยประเพณีในประเทศพม่ามอญไทย ซึ่งเป็นประเทศถือพระพุทธศาสนามาด้วยกันแต่โบราณ ดูมีวิธีถวายตัวเป็นพุทธศาสนิกชน เค้าเดียวกันกับพิธีพุทธมามกะแต่ก่อนเหมือนกันทั้งนั้น คือ

(๑) ถ้ามีเด็กชายเกิดในครัวเรือน เลี้ยงไว้จนถึงขนาดฟังความเข้าใจได้ หรือถ้าว่าอีกนัยหนึ่งถึงขนาดอาจจะอยู่ได้โดยลำพังตัว ผู้ปกครองย่อมพาไปถวายเป็นลูกศิษย์พระอยู่ที่วัด วินิจฉัยตอนนี้คือว่า เพื่อให้พระสอนให้รู้จักพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ การสอนอักษรศาสตร์เป็นแต่ส่วนประกอบ

(๒) เมื่อเด็กเห็นคุณและเกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้วก็ให้บรรพชาเป็นสามเณร

หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง ให้ไปเรียนให้รู้จักพระศาสนาเป็นขั้นต้น เมื่อเกิดเลื่อมใสแล้วจึงปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชนด้วยรับพระไตรสรณาคมเมื่อบวชเป็นสามเณร แล้วจึงลาสิกขากลับมาครองบ้านเรือน ประเพณีเดิมมีเพียงเท่านี้ เวลานี้ก็ยังใช้อยู่ในเมืองพม่ามอญและประเทศสยามข้างฝ่ายเหนือ เช่นในมณฑลพายัพเป็นต้น ในเมืองเหล่านั้นจึงถือกันว่าการบวชเป็นสามเณรนั้นจำเป็น แต่การอุปสมบทเป็นพระภิกษุนั้นสำหรับแต่ผู้ซึ่งยินดีที่อยู่ในภิกษุภาวะไปจนตลอดชีวิต ประเพณีที่ให้บวชเณรครั้ง ๑ แล้วให้บวชเป็นพระภิกษุอีกครั้ง ๑ เมื่ออายุครบอุปสมบท เป็นประเพณีเกิดขึ้นใหม่ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะการเข้าพระศาสนาก็กลายเป็น ๓ ตอน คือเป็นลูกศิษย์พระเรียนให้รู้จักพระศาสนา ตอน ๑ ถวายตัวเป็นพุทธศาสนิกชนด้วยบวชเป็นสามเณร ตอน ๑ และอุปสมบทเป็นพระภิกษุเพื่อแสวงหาความรู้ เช่น เรียนวิปัสสนาธุระเป็นต้นอีก ตอน ๑ หม่อมฉันเคยเห็นในหนังสือเทศนาพระราชประวัติ หรือได้ยินคำเล่ามา ว่าทูลกระหม่อมของเราเมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็โปรดให้ไปทรงศึกษาขั้นต้นต่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ที่วัดโมลีโลก เพราะฉะนั้นเมื่อทูลกระหม่อมเสวยราชย์เวลาเสด็จไปพระราชทานกฐิน ณ วัดโมลีโลก จึงเสด็จไปบูชารูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์องค์นั้น อันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเคยเป็นศิษย์เหมือนกัน ได้โปรดให้หล่อประดิษฐานไว้ ณ วัดโมลีโลก เลยเป็นประเพณีสืบมาในรัชกาลหลัง ๆ อย่างว่า “ไม่มีมูล”

เห็นจะเป็นในรัชกาลที่ ๑ เปลี่ยนวิธีฝึกสอนพระราชกุมารมาให้ทรงเรียนความรู้ขั้นต้นต่อราชบัณฑิตที่ในพระราชวัง ไม่ส่งไปเรียนที่วัดเหมือนแต่ก่อน แต่ยังรักษาประเพณีให้ทรงผนวชเป็นสามเณร และทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ตามเดิม จนถึงรัชกาลที่ ๕ ถึงสมัยเมื่อตั้งโรงเรียน จึงเปลี่ยนการศึกษาของพระราชกุมารชั้นที่เรียนต่อราชบัณฑิตไปเป็นเข้าโรงเรียนแทน แต่ส่วนการเรียนให้รู้จักพระพุทธศาสนาอันเป็นขั้นต้นนั้น ถึงโรงเรียนในสมัยเมื่อแรกมีก็ไม่เอาใจใส่สอนนัก พระราชกุมารก็เคยอยู่ในราชสำนักมีโอกาสได้ความรู้มากกว่าพวกอื่น และยังต้องทรงผนวชเป็นสามเณร และเป็นพระภิกษุมาตามประเพณีอย่างเดิม

ครั้นถึงสมัยเมื่อพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระเจริญวัยขึ้น ๔ พระองค์ คือ กรมพระจันทบุรี กรมหลวงราชบุรี กรมหลวงปราจิณ กรมหลวงนครชัยศรี สมัยนี้ถือว่าความรู้อย่างฝรั่งจะเป็นการสำคัญของบ้านเมืองในภายหน้า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริจะส่งพระเจ้าลูกยาเธอไปทรง ศึกษาวิชาการในยุโรป แต่ไม่อยากจะให้เสียประเพณีเดิมจึงโปรดให้ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๑๕ วัน ทั้ง ๔ พระองค์ แล้วจึงส่งไปยุโรป ต่อมาถึงคราวจะส่งพระเจ้าลูกยาเธอไปยุโรปอีก ดูเหมือนครั้งนี้มีเวลาตระเตรียมน้อยวัน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสปรึกษาสมเด็จพระมหาสมณะฯ ว่าการทรงผนวชเป็นสามเณรนั้น ก็เพื่อจะแสดงพระองค์เป็นพุทธศาสนิกชนเป็นสำคัญ จะคิดทำพิธีอย่างใดให้สำเร็จประโยชน์นั้น โดยไม่ต้องทรงผนวชเป็นสามเณรได้หรือไม่ สมเด็จพระมหาสมณะฯ จึงทรงประดิษฐ์พิธีพุทธมามกะขึ้นแล้วใช้มาทั้งเป็นงานหลวง และผู้อื่นจะส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศก็ทำตามเสด็จต่อมา มูลเหตุของพิธีพุทธมามกะมีมาดังนี้

จะทูลวิจารณ์ลักษณะพิธีพุทธมามกะต่อไป ดูเหมือนสมเด็จพระมหาสมณะฯ ท่านจะเอาหลัก ๕ อย่างตั้งเป็นพิธี คือ ทำต่อหน้าคณะสงฆ์ อย่าง ๑ นวกะบอกความประสงค์ต่อคณะสงฆ์ อย่าง ๑ พระผู้เป็นสังฆนายกสอนให้เห็นคุณของพระพุทธศาสนา อย่าง ๑ พระสังฆนายกนำให้รับพระไตรสรณาคม อย่าง ๑ พระสังฆนายกบอกให้สมาทานเบญจศีล อย่าง ๑ หลักทั้ง ๕ อย่างนี้ก็หลักเดียวกันกับบรรพชาเป็นสามเณรนั่นเอง เว้นเสียแต่ที่เกี่ยวกับผ้ากาสาวพัสตร์ และสมาทานองค์ศีลซึ่งเกินกว่านิจศีลเท่านั้น พิธีพุทธมามกะนี้หม่อมฉันเห็นว่าควรจะให้เด็กไทยไม่ว่าจะไปเมืองนอกหรือไม่ไปทำทุกคน เพราะการบวชเป็นสามเณรมีแต่จะน้อยลง ควรจะเตรียมพิธีพุทธมามกะขึ้นไว้แทนให้คนรู้ตัวว่าได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ควรจะแก้ให้ดีขึ้นกว่าเก่าอย่างหนึ่ง คือเมื่อก่อนจะทำพิธีควรให้มีการสอนนวกะให้เกิดความเลื่อมใสเสียก่อน แล้วจึงทำพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชนด้วยรับพระไตรสรณาคม ประหลาดอยู่ที่ทางศาสนาคริสตังเขาก็ทำคล้ายๆ อย่างว่ามานี้ คือเมื่อแรกเด็กเกิดในสกุลที่ถือศาสนาคริสตัง เขาให้ทำพิธีพรมน้ำ Baptism (หมายเพียงว่าอยู่ในวงศ์คริสตศาสนา เพราะเด็กยังไม่รู้ความ) ครั้นเติบใหญ่ถึงขนาดรุ่นหนุ่มรุ่นสาว เขาให้เรียนและสอบความศรัทธาในข้อสำคัญ อันถือเป็นหลักของความศรัทธา Article of Faith เสียก่อน แล้วจึงทำพิธีญัตติ Confirmation ว่าคนนั้นเป็นสมาชิกในพวกคริสตังโดยแท้จริง

การที่รับศีล ๕ นั้นตามดำริของพระมหาเถรองค์ ๑ ที่ทรงเล่ามา หม่อมฉันคิดดูเห็นไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะศีล ๕ เรียกว่า “นิจศีล” หมายความว่าเป็นศีลซึ่งสาธุชนควรสังวรอยู่เสมอ ไม่ต้องไปขอร้องแก่ใครและไม่ต้องมีใครให้ แม้อุโบสถศีล ถ้าสมาทานโดยลำพังตัวก็เป็นถือศีลนั้นอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นพระผู้นำให้คนสมาทานศีล ย่อมเป็นผู้บอกองค์ศีลแก่ผู้ที่ยังไม่รู้ หรือเตือนผู้สมาทานอยู่แล้วให้รักษาศีลให้บริสุทธ์ และผู้ที่กระทำศีลของตนให้ด่างพร้อยให้สมาทานเสียใหม่ ล้วนเป็นการทำคุณทั้งนั้น ที่สมเด็จพระสังฆราชนำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงสมาทานเบญจศีลนั้น หม่อมฉันเห็นเหมาะ เพราะเสด็จไปอยู่ในประเทศที่ถือศาสนาอื่นตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ยังไม่ได้สมาทานนิจศีลในพระพุทธศาสนา การที่นำให้ทรงสมาทานเบญจศีลต่อหน้าสงฆ์ย่อมเป็นคุณทั้งแก่พระองค์และพระศาสนา

เขียนมาถึงเพียงนี้พอถึงวันพฤหัสบดีกำหนดจะส่งเมล์คำตอบพระองค์เจ้าธานีฯ เรื่องพระเชตวัน ซึ่งหม่อมฉันทูลว่าจะถวายสำเนาก็แต่งยังไม่แล้ว ด้วยต้องตรวจหนังสือมาก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ